เคยนับไหมว่าในแต่ละปีคุณอ่านหนังสือกี่เล่ม? หรือคุณยังอ่านหนังสือกันอยู่ไหม?
TK Park ขออาสาพาคุณไปสำรวจโลกของนักอ่านขั้นเทพ 9 คน พวกเขาเก่งในระดับที่อ่านหนังสือได้เกิน 100 เล่มในรอบปีที่ผ่านมา มาดูกันสิว่าเขาอ่านอะไร ใช้ชีวิตแต่ละวันเชื่อมโยงกับการอ่านหนังสือขนาดไหน เล่มไหนกันที่เขาชอบเป็นพิเศษในปีนี้ และหากใครยังไม่มีมิชชั่นปีหน้า เราอยากชวนทุกคนมาตั้งเป้าหมายอ่านหนังสือ100 เล่มในปี 2021 กันเถอะ
คณุตม์ พลดุล
อาชีพ รับราชการ และ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
เป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วนะครับ เดิมชอบหนังสือ Non-fiction ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่งมาอ่านวรรณกรรมเมื่อ 3 - 4 ปี จากการได้อ่านหนังสือ พี่น้องคารามาซอฟ (The Brothers Karamazov) สำหรับข้อดี พวก Non fiction มีประโยชน์อย่างมากกับงานประจำของผม คือผมรับราชการ ทำงานด้านทรัพยากร วิเคราะห์แผนและนโยบาย จัดทำโครงการ มีไอเดีย ผลิตโครงการที่มีประโยชน์มากมาย มีกรอบความคิด เป้าหมาย และแนวทางที่แน่ชัดในการทำงาน ส่วนข้อดี ของวรรณกรรม คือ เป็นเสมือนแบบจำลองความคิด และชีวิตของตัวละคร มาสู่ภายในตัวเอง เช่นหากเราประสบความทุกข์ยากอย่างตัวละคร เราจะทำอย่างไร? ประสบการณ์ที่เราได้รับจากตัวละคร จะช่วยให้ตัดสินใจได้เหมาะสมยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญาและแนวคิด ก็มีแทรกในวรรณกรรมที่ลึกซึ้ง
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
จะอ่าน 3-4 เล่ม สลับกัน จบบททีก็จะเปลี่ยนที เพื่อไม่ให้จมและเบื่อในการอ่านนานๆ จะคละหมวดหมู่กัน อาทิ เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ วรรณกรรม เป็นต้น ส่วนใหญ่จะอ่านตอนกลางคืน วันละ 1 - 3 ชั่วโมง วันไหนติดลมหรือเป็นวันหยุดยาวก็อาจจะ 4-6 ชั่วโมง
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
ถ้าปีก่อน ตอบได้อย่างไม่ลังเล ชอบหนังสือ "วิทยาศาสตร์แห่งความสุข : สำรวจความสุขและความหมายของชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เขียนโดย โจนาทาน เฮดต์ แปลโดย โตมร ศุขปรีชา ของสำนักพิมพ์ซอลท์มากครับ เพราะเป็นหนังสือที่เป็นสะพานเชื่อมโยง "ความสุข" กับการอธิบาย "วิทยาศาสตร์" และ "ปรัชญาและปรีชาญาณของนักปราชญ์ศาสดาในอดีต" ส่วนปีนี้ ผมขอเลือก "พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา" ของ "ออร์ฮาน ปามุก" รู้สึกประทับใจ วิธีการเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดสูง ตีแผ่แบบสัจนิยม สำหรับทัศนคติ ความเชื่อ อารมณ์ วัฒนธรรม ความรู้สึกสั่นไหวของตัวละครได้ดีเยี่ยม เห็นภาพความจ่อมจมกับความผิดหวังของชนชั้นสูง เศษหักพังของตะกอนแห่งความสุข ที่เก็บเป็นของสะสมส่วนตัวในพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ที่พยายามขืนฝืนกาลเวลาที่ผ่านล่วงไปนะครับ
ปิยวัฒน์ ลิมปิวรรณ
อาชีพ เภสัชกร
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
ผมอ่านปีละ 200 กว่าเล่มครับ โดยเฉลี่ย 1 เล่มไม่เกิน 1 วัน ยกเว้นเล่มที่เกิน 300 หน้า อาจจะมากกว่า 1 วัน ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วตั้งแต่ประถมจนปัจจุบัน รู้สึกว่ายิ่งอ่าน เรายิ่งมีความรู้เยอะ ก่อนหน้ามาใช้บริการ TK Park ซื้อหนังสือ 40-50 เล่มต่อปี ปัจจุบันซื้อเก็บเป็นบางเล่ม การอ่านหนังสือของผมเปลี่ยนไปตามวัย ตอนเด็กเน้นอ่านวรรณกรรมเยาวชน ช่วงวัยรุ่นอ่าน นิยาย เพิ่มเข้ามาก็เช่น เพชรพระอุมา เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ คินดะอิจิ พอเริ่มทํางาน จะอ่าน How to สุขภาพ เพิ่มเติมมา
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
การแบ่งเวลาอ่าน ง่ายๆ เลย ก็คืออ่านเมื่อว่าง อย่างน้อยต้องมีช่วงเวลาว่างไม่ว่าจะเป็นก่อนทานข้าว นั่งรถโดยสารสาธารณะ อย่างน้อย 15-30 นาที ก็จะมีเวลาอ่าน และก็เวลาก่อนนอนสัก 30-60 นาที ส่วนวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ จะอ่านทั้งเช้า เย็น ครั้งละไม่ตํ่ากว่า 1 ชั่วโมง อีกอย่างผมอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน ตั้งแต่เขายังอยู่ในครรภ์ ทุกวันนี้ก็ยังอ่านอยู่ครั้งละ 5-10 นาที ตอนนี้ลูก อายุ 10เดือน หยิบหนังสือมาดูเองแล้วครับ
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
หนังสือที่ชอบที่สุดของปีนี้ คือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน ผู้เขียน ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ เพราะเป็นหนังสือสอนเรื่องการทําธุรกิจทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มกิจการ รวมถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ เพราะผมมีแผนจะไปทําธุรกิจส่วนตัว ก็เลยรู้สึกชอบเล่มนี้เป็นพิเศษในปีนี้
เมธารัศมิ์ วงศ์สมนึก
อาชีพ เชฟ ร้าน Buddy's Chef Table
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
จริงๆ ไม่ได้มีมิชชั่นอะไรพิเศษว่า 1 ปีต้องอ่านให้ได้ 100 เล่ม แต่เดิมก็ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว เพราะจำได้ว่า นอกจากหนังสือเรียนแล้ว หนังสือเล่มแรกที่ได้จับอ่านเล่นๆ คือเรื่อง เพื่อนบ้านผู้ลึกลับ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราชอบการอ่านหนังสือ ชอบไปห้องสมุดและเปิดหนังสือทุกประเภทอ่านด้วยความอยากรู้ ตั้งแต่การ์ตูนง่ายๆ ไปยันสารานุกรมการแพทย์ โดยเฉพาะวรรณกรรมสำหรับเด็กที่แปลจากต่างประเทศ ทำให้เรารู้สึกอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในแต่ละแง่มุมที่ต่างไปจากเมืองที่เราอยู่ แล้วที่สำคัญ ถ้าลองมองดีๆ วรรณกรรมหรือนิยายส่วนใหญ่มักจะมีปมหรือความซับซ้อนอะไรบางอย่างที่เราต้องขบคิด แต่สำหรับเด็กแล้ว ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนวุ่นวาย จนทำให้เรารู้สึกว่า ปีเตอร์แพนผู้ที่ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่นี่แหละที่เราอยากเป็น อีกทั้งยังเป็นอะไรก็ได้ในจินตนาการอันไร้ขอบเขต ท่ามกลางความรู้สึกที่ตรงไปตรงมาไร้สิ่งปรุงแต่งด้วย แล้วของแถมที่ได้มาจากการอ่านหนังสือพวกนั้น คือมันทำให้เรากลายเป็นคนที่ช่างสังเกต มีความเมตตาและการเอาใจใส่ผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นอะไรที่ดีมากจริงๆ
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
เราไม่ได้แบ่งเวลาอ่านหนังสืออะไรมากมาย ด้วยการเป็นเชฟทำให้มีเวลาว่างประจำค่อนข้างน้อย เลยจะชอบพกหนังสือเอาไว้กับตัวตลอดเวลา ว่างปุ๊บก็หยิบขึ้นมาอ่านปั๊บ ซึ่งเวลาว่างก็ไม่ใช่ตอนพักด้วยนะ เพราะแทบไม่เคยพักเลย รีบกินข้าวให้เสร็จแล้วรีบไปลุยงานต่อ ดังนั้นเวลาส่วนใหญ่ที่ได้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ก็จะเป็นช่วงระหว่างกลับบ้านนี่แหละ ช่วงระหว่างรถติด คนรอบตัวที่เล่นมือถือกัน เราคือรู้สึกเท่มากนะ อ่านหนังสืออยู่คนเดียว อินแบบหลุดเข้าหนังสือไปเลยจ้า นอกนั้นก็คือวันหยุดที่อยู่คนเดียว ที่ไม่มีคนในบ้านวุ่นวายก็ถึงจะได้อ่านหนังสืออย่างสงบๆ
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
หนังสือที่ชอบที่สุดมักจะเป็นเล่มล่าสุดที่อ่าน ตอนนี้กำลังอินกับเรื่อง วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว วรรณกรรมแปลของ มูเระ โยโกะ อ่านแล้วรู้สึกอบอุ่นจนอยากเป็นตัวละครในหนังสือ หรือไม่ก็อยากไปใช้ชีวิตแบบนั้นบ้าง จุดที่ทำให้อินมากก็เพราะตัวเอกก็ทำอาหารเหมือนกับเรา ก้าวไปในเส้นทางที่คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ และถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ยืนหยัดได้อย่างแข็งแรงเหมือนเขา แต่ก็คิดอยู่เสมอว่าเราต้องมั่นคงให้ได้เหมือนอย่างเขา แล้วก็ยิ่งชอบมากขึ้นไปอีกเรื่องการออกจากคอมฟอร์ตโซนบนเส้นทางอันโดดเดี่ยวด้วยความคิดและในแต่ละวันที่ผ่านไปด้วยความอบอุ่นใจ เป็นอะไรที่เท่สุดๆ อยากทำให้ได้บ้าง”
คงมนัส ยาวะประภาษ
นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเมลเบิร์ล, แอดมินเพจ หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
เป็นคนชอบเสพความรู้ใหม่ๆ เข้าตัวอยู่แล้วครับ ทั้งจากการอ่านหรือการฟัง ถามว่ามีมิชชั่นอะไรเป็นพิเศษไหม ผมคิดว่าเป็นเรื่องความรู้สึกเติมเต็มในแต่ละวันที่ได้อ่านมากกว่า เหมือนเราตั้งเป้าเล็กๆ ในแต่ละวันไว้ว่าจะพัฒนาตัวเอง ถ้าทำได้ พอจบวันเราก็จะรู้สึกเติมเต็ม วันรุ่งขึ้นตื่นมาก็รู้สึกดีกับตัวเอง เกิดเป็นแรงผลักดันที่จะทำงานและเติมเต็มเป้าหมายอื่นๆ ในวันนั้น อีกเรื่องที่ทำให้ผมชอบอ่านหนังสือ ก็คือการที่หนังสือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้อยู่คนเดียวได้ สนุกคนเดียวได้ ไม่ต้องไปรอให้มีคนมาทำกิจกรรมกับเรา ช่วยให้เรามีสมาธิ ถ้าเราเจอหนังสือเล่มที่ชอบจริงๆ ผมเชื่อว่าเราจะเข้าสู่สภาวะ Flow แล้วลืมโลกภายนอกไปเลย ส่วนเรื่องเนื้อหาในหนังสือ อันนี้แล้วแต่เล่ม แต่ที่ผมชอบคือ จังหวะที่เราเจอเนื้อหาที่ใช่สำหรับตัวเรานี่แหละ มันจะฟินจริงๆ นะ เหมือนอารมณ์แบบหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อเราชัดๆ บางทีตัวสั่นเลย เพราะจะมีความคิดแวบมาว่า หรือคนเขียนจะเป็นคนที่รู้เรื่องชีวิตเรา และเขียนขึ้นมาเพื่อด่าเราจริงๆ 555
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
ผมจะตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในแต่ละวัน เช่น อ่านให้ได้วันละ 10 หน้า 20 หน้า โดยอาจเริ่มจากหนังสือที่ชอบอ่าน ทำแบบนี้เรื่อยๆทุกวันจนเป็นนิสัย รู้ตัวอีกทีเราก็อ่านหนังสือจบไปหลายเล่มแล้ว นอกจากนี้ยังอาจใช้เทคนิคช่วยสร้างนิสัยการอ่านอีก 2 ข้อง่ายๆ คือ 1.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการอ่าน เช่น มีหนังสือวางอยู่ใกล้ๆ มือ บนหัวเตียงก่อนนอน วางอยู่บนโซฟาห้องรับแขก หรือพกติดกระเป๋าไว้อ่านตอนรอรถ 2. ตั้ง Challenge กับเพื่อน หรือประกาศ Mission เรื่องการอ่านให้คนอื่นทราบ จะได้เป็นแรงกระตุ้นว่าเป้าหมายของเราเป็นที่รับรู้ของคนอื่นแล้ว เราต้องพยายามอย่างถึงที่สุดในการบรรลุเป้าให้ได้
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
ชีวิตดีเมื่อมีของน้อย ปรัชญาความสุขฉบับมินิมอล (Stuffocation) โดย เจมส์ วอลแมน ผมชอบคอนเซปต์ของเล่มนี้มาก คือการบอกว่าเราควรสะสมประสบการณ์แทนที่จะสะสมสิ่งของ ผมว่ามันน่าคิดมากเลยนะ โดยเฉพาะในโลกที่ถูกครอบงำด้วยลัทธิวัตถุนิยมแบบทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้เหมือนมาสะกิดแรงๆ ว่า เราสะสมสิ่งของ สะสมเงิน สะสมความมั่งคั่งมากจนเกินไปรึเปล่า? เรามองข้ามประสบการณ์หลายๆ อย่างที่เราควรได้รับมารึเปล่า ผมชอบที่หนังสือปิดท้ายไว้มากคือ สำหรับประสบการณ์ ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งมีค่า ความทรงจำมักจะยั่งยืนกว่าความฝันเสมอ และก็ชอบ ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการ "ช่างแม่ง" (The Subtle Art of Not Giving a F*ck) โดย Mark Manson เขียน แปลโดย ยอดเถา ยอดยิ่ง เป็นหนังสือที่ตอกย้ำว่าคนเรามักใช้ชีวิตตามค่านิยมของคนอื่น จนลืมหันมามองคุณค่าที่แท้จริงในตัวเอง หนังสือตบแนวคิดนี้แรงๆ ด้วยตัวอย่างมากมาย ที่อ่านแล้วเห็นภาพและจำได้ง่ายมาก
มาลีรัตน์ ศรีเดช
อาชีพ พนักงานข้าราชการ
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
ถ้าถามว่าในหนึ่งปีทำไมถึงอ่านหนังสือมากกว่า 100 เล่มน่าจะเริ่มจากเราอยากท้าทายตัวเองด้วยคำพูดที่เคยได้ยินกันว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละแปดบรรทัด ตอนแรกคิดเล่นๆ กับตัวเองว่าอยากลองเพิ่มมาตรฐานของคนไทยให้มากขึ้นจากการอ่านของตัวเองจริงๆ เป็นความคิดตลกๆ เฉยๆ แต่จากที่เราบอกว่าอยากจะท้าทายตัวเองคือเริ่มจากอยากรู้ว่าใน 1 เดือน อ่านหนังสือไปได้กี่เล่ม แล้วก็กลายเป็นมิชชั่น ที่ท้าทายตัวเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จำได้ว่าเดือนหนึ่งอ่านได้มากที่สุด 25 เล่ม
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
ที่อ่านหนังสือได้เยอะ เพราะเป็นคนค่อนข้างที่จะโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เลยทำให้ระยะเวลาการอ่านหนังสือแต่ละเล่มใช้เวลาไม่นาน นอกเหนือจากเวลาทำงานก็จะเป็นเวลาที่หยิบหนังสือมาอ่าน อ่านได้ทุกที่ทุกเวลาช่วงที่อ่านเยอะมากๆ จะเป็นช่วงที่เราชาเลนจ์ตัวเอง ก็จะใช้เวลานอนมาอ่านหนังสือแทน แบบว่าปิดเล่มหนังสือก็เช้าพอดี แต่ก็เป็นช่วงของวันหยุดที่จะทำอะไรแบบนี้ได้
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
เป็นคนชอบอ่านแนววาย และสำหรับเรารู้สึกว่านิยายวายไม่เรียกว่าแนวด้วยซ้ำ เพราะมีทั้งรักโรแมนติก วัยรุ่น มัธยม มหาลัย ย้อนยุค แนวเกิดใหม่ แนวสืบสวน ฯลฯ เลยกลายเป็นว่าเหมือนได้อ่านหนังสือหลากหลายแนวไปโดยปริยาย ถ้าจะให้รีวิวหนังสือโปรดในปีนี้ คือเรื่อง Until you รักแล้วรักอีก โดย Eliche เรื่องนี้เป็นแนวเกิดใหม่ ถ้านึกไม่ออกว่าแนวเกิดใหม่เป็นยังไงให้นึกถึงเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ชอบ Until you เพราะภาษาสวย อ่านเพลิน ชนิดวางไม่ลง ในเรื่องมีปมให้เราตามเยอะแยะ พล็อตวางมาค่อนข้างดี ปมแต่ละเรื่องค่อยๆ ทำให้คล้อยตามใคร่รู้จนอยากจะอ่านให้ถึงตอนหน้าไวๆ มีอารมณ์ในการสงสารตัวละคร เวทนากับบางคน และโกรธจนอยากจะจับหัวมากระแทกกำแพง นักเขียนวางตัวละครดี มีความเป็นเหตุเป็นผลค่อนข้างมาก เมื่อเฉลยปมทุกอย่าง จะพบเหตุของการกระทำทั้งหมด เราได้อะไรจากการอ่านนิยายเรื่องนี้เยอะมาก เลยอยากมาชี้นำให้ไปอ่านตามนะ สำนวนภาษาของนักเขียนดีมาก อาจจะมีบางคำที่เราไม่คุ้นบ้าง ทั้งศัพท์ภาษาอังกฤษ คำโบราณ คำพระ แต่ไม่ต้องกลัวเพราะมีเชิงอรรถ อธิบายท้ายตอนอยู่แล้ว
วิโรจน์ โชควิวัฒน
อาชีพ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ)
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
ผมเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ อ่านไทยรบพม่าตอนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 และอ่านมาตลอดเวลา ถือเป็นความสุขส่วนตัวในการอ่านหนังสือ ทั้งได้ความรู้ การมีความสุขอยู่ในที่เฉพาะตัว บางส่วนของความรู้เป็นเรื่องที่นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิต เช่นเรื่องศาสนา จิตวิทยา แพทย์แผนจีน บางเรื่องใช้ในการทำงานทั้งเรื่องการรับรู้สถานการณ์ในปัจจุบัน และความรู้ในเชิงลึก เช่น คอมพิวเตอร์ หรือ ข่าวสาร บางเรื่องเป็นเรื่องความบันเทิงส่วนตัว เช่น นิยายจีนกำลังภายใน บางเรื่องเป็นเรื่องที่สนใจในช่วงเวลานััน เช่นแนวความคิดแบบญี่ปุ่น เวลาไปยืมหนังสือจะประกอบด้วยนิยายจีนกำลังภายใน 50% จิตวิทยาหรือศาสนา 25% และวารสาร เช่น สารคดี BrandAge 25%
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
เวลาที่อ่านหนังสือคือเวลาว่าง เช่นตอนเข้าห้องน้ำ การรอในคิว การรอประชุม ระหว่างการเดินทางทางรถ เพราะไม่ได้ขับเองทางเครื่องบิน หรือระหว่างรออาหาร เพราะได้ทั้งความรู้และไม่ต้องหาอะไรทำในช่วงเวลานั้น
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
หนังสือที่ชอบในปีนี้ เป็นนิยายจีนต่างๆ ที่พูดถึงการเลื่อนระดับความสามารถ ที่สอดคล้องกับชีวิตตอนนี้ เช่น สัประยุทธ์ทะลุฟ้า โดย เทียนฉานถู่โต้ว แนวคิดการบริหารงานแบบญี่ปุ่น เกาหลี เช่น เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เขียนโดย รันโด คิม และหนังสือเกี่ยวกับศาสนาและจิตวิทยา เช่น The Last Lecture เขียนโดย Randy Pausch และ Jeffrey Zaslow
ปุริษา ตาสาโรจน์
อาชีพ บรรณาธิการสำนักพิมพ์
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่ก่อนแล้ว รู้สึกว่าหนังสือคือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้สมัยเรายังเป็นวัยรุ่นไม่หลงทาง ไม่เดินไปในทางที่ผิด เพราะหนังสือช่วยเปิดโลกให้เรารู้สึกว่ามีอะไรให้ค้นหา มีอะไรให้จินตนาการอีกมากมาย และสร้างความสุขให้กับเราได้ง่ายที่สุด จะชอบอ่านวรรณกรรมแปล อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อ่านหมดเลย ทั้งสืบสวนสอบสวน นิยายรักโรแมนติก รวมถึงวรรณกรรมเยาวชนก็อ่าน เป็นคนที่อยากอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา แต่บางทีงานเยอะๆ ก็จะอ่านได้น้อยลงบางปีก็อาจไม่ถึง 50 และพอรู้ว่าอ่านได้น้อย ก็จะท้าทายกับตัวเองว่าปีหน้าเอาใหม่ ให้อ่านได้เยอะๆ
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
วิธีอ่าน คืออ่านไปเรื่อยๆ ว่างเมื่อไหร่ก็อ่าน ส่วนใหญ่จะอ่านก่อนนอน คือ เราแค่คิดว่าอยากเล่นโทรศัพท์ให้น้อยลงแล้วอ่านหนังสือให้มากขึ้น ทำทุกคืนจนเป็นนิสัย แต่อยากอ่านแบบเร่งๆ วันหนึ่งเคยได้อ่านได้ 3-4 เล่มต่อวัน
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
สัญญาณเตือนตาย นิยายแปลของผู้เขียน โจวเฮ่าฮุย ของแพรวสำนักพิมพ์ เพราะเป็นนิยายจีนแนวสืบสวนสอบสวนที่สนุกมาก มีทั้งหมด 5 เล่ม อ่านแล้ววางไม่ลง ดำเนินเรื่องไว ผูกปมชัดเจน ลุ้นตลอดเรื่องว่าใครจะชนะระหว่างฝ่ายตำรวจกับผู้ร้าย เต็มไปด้วยปริศนาซับซ้อนซ่อนเงื่อน ที่ทำให้อยากติดตามจนจบ
ปณวัตร วงศ์มาศ
อาชีพ รับราชการ, แอดมินเพจอ่านแหลก
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
ตอนเด็กๆ ผมจะเห็นพ่อกับแม่อ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ และมักจะพาผมกับพี่สาวไปร้านหนังสือทุกสัปดาห์ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ติดนิสัยการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ในช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัย ผมเลือกเรียนนิติศาสตร์ ทำให้การที่ต้องอ่านหนังสือยิ่งเป็นเรื่องปกติ การอ่านของผมจะเป็นการอ่าน เพื่อผ่อนคลายจากตำราเรียน และการทำงานมากกว่า หากช่วงนั้นๆ เราสนใจเรื่องอะไร ก็มักจะเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ มันจะยิ่งทำให้เราอยากรู้ อยากอ่านมากขึ้น ถ้าช่วงที่ไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษก็จะหยิบหนังสือพวก Fiction มาอ่าน มันพาเราเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง ไปรับรู้ประสบการณ์ เพื่อเห็นใจ เข้าใจ ตรึกตรอง และรับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์นั้นๆ ผมจึงเป็นคนที่ชอบและสนุกกับการอ่านหนังสือมากครับ
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
ใน 1 ปี จำนวนหนังสือที่ผมอ่าน มาจากช่วงเวลาหลังจากทำงาน และอ่านตำราเรียนแล้ว โดยปกติจะเป็นช่วงสี่ทุ่มถึงเที่ยงคืนเป็นเวลาผ่อนคลายสมองด้วยหนังสืออื่นๆ จริงๆ จำนวนการอ่านหนังสือไม่ใช่เพราะมีวินัยเลย เพราะสำหรับผมรู้สึกสนุกไปกับหนังสือเท่านั้นเองครับ นอกจากเวลาที่อ่านปกติ ส่วนตัวก็จะมีหนังสือติดตัวไว้อ่านตลอดเวลา โดยอาศัยเวลาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างรอทานข้าว หรือรอทำธุรกรรมอื่นๆ
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
หนังสือที่ชอบสุดในปีนี้ มีหลายเล่มมาก แต่ถ้าต้องเลือกขอเลือก สะพรึง (Terror) งานเขียนของเฟอร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค สำนักพิมพ์ Illuminations Edition เรื่องนี้ใช้ฉากเป็นการพิจารณาคดีอยู่ในศาล ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ การที่ ลาล์ส ค๊อค ผู้มีอำนาจในการยิงเครื่องบิน ต้องตัดสินใจยิงเครื่องบินที่มีผู้โดยสารจำนวน 164 คนซึ่งผู้ก่อการร้ายควบคุมและใกล้จะพุ่งถึงสนามฟุตบอลที่บรรจุผู้คนอยู่ 70,000 คน แม้ข้อมูลไม่ปรากฏชัดว่า ผู้โดยสาร อาจจะเข้าไปในห้องเครื่องยับยั้งผู้ก่อการร้ายได้หรือไม่ ทั้งรู้ว่าการกระทำเป็นการผิดกฎหมาย แต่ค๊อค เห็นว่าหากไม่ยิงคนโดยสารก็ตายอยู่ดี ซ้ำจะทำให้ผู้คนในสนามตายไปด้วย ผู้เขียนนำเอาประเด็นปัญหาทางนิติปรัชญามาอธิบายร้อยเรียงผ่านตัวละคร ที่แม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์ก็เข้าใจและขบคิดกันได้อย่างสนุกสนาน
ผกา ตั้งสกุล และน้อง ธีร์ พงษ์ภาสุระ
อาชีพ แม่บ้าน, นักเรียน
WHY : 100 เล่ม ใน 1 ปี
การที่อ่านหนังสือเยอะมาก เหตุผลสำคัญคือต้องการปลูกฝังการรักการอ่านให้ลูก รู้สึกว่าการอ่านหนังสือทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านเรื่องราวที่สนุกสนาน ได้ใช้เวลาร่วมกันระหว่างแม่ลูก และผลพลอยได้คือลูกได้รับความรู้จากหนังสือที่อ่านด้วย โดยที่เราไม่ได้คาดหวังเลย ที่ได้ทราบเพราะลูกมาเล่าให้ฟัง ว่าเขาตอบคำถามคุณครูในห้องเรียนเกี่ยวกับปลาโลมาได้ เพราะเขาจำได้จากหนังสือของ TK Park ที่เรายืมมาอ่านด้วยกัน และที่สำคัญอีกอย่างคือ เป็นการหากิจกรรมทำแทนการเล่นโทรศัพท์
WHEN : อ่านเมื่อไหร่
แม่พยายามใช้เวลาก่อนนอน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง บางครั้งถ้าตอนกลางคืนไม่มีเวลาจริงๆ ก็จะใช้วิธีอ่านหนังสือในรถค่ะ ซึ่งทำได้เฉพาะเวลากลางวัน และมีคุณพ่อขับรถให้ค่ะ หนังสือส่วนมากเป็นนิทาน แต่ละเล่มใช้เวลาอ่านไม่นาน ทำให้อ่านได้จำนวนเยอะ ส่วนพี่ชายของน้องธีร์ รายนั้น 9 ขวบ ส่วนใหญ่เขาจะอ่านเอง ใช้เวลาว่างก่อนนอน นั่งในรถระหว่างไปโรงเรียน หรือเวลาว่างวันหยุด ชอบอ่านพวก การ์ตูนตึ๋งหนืด วิทยาศาสตร์ฉลาดรู้ Dogman
WHAT : หนังสือโปรดในปีนี้
ชอบหนังสือของ Oxford Reading Tree เรื่อง The Strange Box หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุดใหญ่อีกที เป็นการผจญภัยของเด็กๆ 3 คนพี่น้อง ในครอบครัวหนึ่ง เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนรู้จัก Biff , Chip และ Kipper เด็กๆ เจอกล่องปริศนาเก่าๆ ใบหนึ่ง และกล่องใบนี้นำพาให้พวกเด็กมาเจอชายแปลกหน้าที่มีพลังประหลาด ซึ่งกำลังตามหากล่องใบนี้อยู่ โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนมาช่วยไว้ได้ทัน ตอนจบของเล่มนี้โยงไปที่หนังสือเล่มต่อไปอีกที เป็นหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดของ TK Park ถึงจะผ่านมาเป็นปีแล้ว แต่ลูกชายวัย 7 ขวบ ยังคงถามหาเล่มต่อไปอยู่เลยค่ะ