งานเสวนาเปิดโลกจินตนาการแห่งนิทานภาพสำหรับเด็ก ‘Open World through Children’s Picture books’ โดยอุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ช่วงวันที่ 11-25 สิงหาคม 2563 นำเสนอแง่มุมของนิทานภาพจากนักเขียนและนักวาดภาพประกอบจากหลากหลายประเทศ หนึ่งในนี้คือ คุณก้อย-กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ นักเขียนชาวไทยและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นาวา เธอจบการศึกษาด้านวัฒนธรรมดิจิทัลจากมหาวิทยาลัย Jyväskylä ประเทศฟินแลนด์ด้วยประสบการณ์การเรียนด้านสื่อดิจิทัล กลับทำให้มองเห็นความสำคัญของหนังสือที่เป็นสื่อแบบอนาล็อกอย่างชัดเจนและกว้างขึ้น เธอนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของแนวคิด ทัศนคติ การปลูกฝัง การเรียนรู้ที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ของประเทศฟินแลนด์ วิเคราะห์ถึงที่มาและประเด็นที่ควรค่าแก่การนำมาเป็นแบบอย่างสำหรับเรา ผ่านการพูดคุยและดำเนินรายการโดย ครูเจ อุษา ศรีนวล นักออกแบบกิจกรรมนิทาน TK Park
จากการที่ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ถูกทั่วโลกยกย่องว่ามีเสน่ห์ เป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาใช้ได้จริง เพราะแนวคิดเหล่านี้แฝงอยู่ในการศึกษาทุกระบบ ทั้งการศึกษาแบบทางตรงและทางอ้อมหนึ่งในนี้คือวัฒนธรรมการอ่าน ทำให้คุณก้อยอยากนำแนวคิดเหล่านี้ของฟินแลนด์ โดยเฉพาะหนังสือภาพประกอบมาเผยแพร่ให้คนไทยได้รู้จัก เพื่อที่จะสามารถช่วยพัฒนาสังคมของเราบ้าง
การอ่านในดินแดนนักอ่าน
หนังสือเด็กของฟินแลนด์ถือเป็นจักรวาลที่ค่อนข้างใหญ่ จากสถิติตัวเลขในปี 2019 มีประชากรในฟินแลนด์ทั้งหมด 5.5 ล้านคน สรุปได้ว่าชาวฟินแลนด์ 1 คน จะยืมหนังสือจากห้องสมุดเป็นจำนวน 19 เล่มต่อปี และจะซื้อหนังสือประมาณปีละ 4 เล่มต่อคน นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ปกใหม่ปีละประมาณ 13,000 เล่มในอัตราส่วนประชากร 5.5 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
จากการข้อมูลและประสบการณ์ คุณก้อยแบ่งหนังสือเด็กของฟินแลนด์ที่มีลักษณะโดดเด่นในปัจจุบัน คือ หนังสือที่มีความร่วมสมัย มีความนานาชาติไม่จำกัด เนื่องจากสังคมฟินแลนด์เป็นสังคมที่ค่อนข้างหลากหลายทางเชื้อชาติ อาทิเช่น หนังสือเด็กที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทะเล ไปจนถึงหนังสือที่พูดถึงประเด็นทางสังคมที่บอกถึงความซับซ้อนของเชื้อชาติ ความหลากหลายที่เกิดจากการที่ฟินแลนด์มีคนหลายเชื้อชาติมาตั้งรกราก แม้ว่าเชื้อชาติอาจจะไม่ใช่แต่สัญชาติที่สวมอยู่คือชาวฟินแลนด์
หนังสือภาพประกอบสำหรับเด็กที่อ่านหนังสือได้แล้ว ช่วงวัยระหว่างปฐมวัยและประถมศึกษา เรียกว่า Chapter Books นับเป็นสะพานเชื่อมต่อวัยของการอ่านและหนังสือเกี่ยวกับการผจญภัยที่สะท้อนนิสัย แนวคิดที่ชอบสำรวจธรรมชาติของชาวฟินแลนด์ที่เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะก้าวและพัฒนาไปข้างหน้า
สำหรับหนังสือภาพประกอบของฟินแลนด์ที่คุณก้อยประทับใจและนำมาแปลเป็นภาษาไทยผ่านสำนักพิมพ์นาวาที่เธอก่อตั้งคือ หนังสือภาพประกอบสำหรับเด็กเรื่อง 'สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ' เขียนโดย Aino Havukainen และSami Toivonen ตาตุ ปาตุเป็นที่รักของเด็กๆ ชาวฟินแลนด์มากว่า 20 ปี ถูกแปลไปแล้ว 22 ภาษา เล่าถึงพี่น้องจากนครพิลึกกึกกือมักจะทำอะไรแปลกๆ และเชื่อว่าหลายสิ่งในโลกนี้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ จึงคิดค้นสารพัดสิ่งประดิษฐ์สุดมหัศจรรย์ออกมาให้ชีวิตง่ายขึ้น โดยเป็นเรื่องราวที่เหมาะกับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ที่รักความเป็นเด็ก
หนังสือเด็กของฟินแลนด์มักสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นส่วนมาก ด้วยพื้นที่ บรรยากาศโดยรวมที่ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทำให้เนื้อหาแนวคิดในหนังสือมีการสอดแทรกเรื่องราวของธรรมชาติทั้งในเวลาที่สวยงามและแปรปรวน เมื่อเกิดปัญหาก็ให้มองเห็นธรรมชาติของปัญหาและแก้ไขจนถึงปฏิรูป
นอกจากนี้คุณก้อยยกตัวอย่างหนังสือวรรณกรรมเด็กคลาสสิกของฟินแลนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่าง The Moomins เขียนโดย Tove Jansson มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยในป่าของมูมินและครอบครัว สิ่งที่น่าสนใจคือ ภายใต้การนำเสนอเรื่องราวมักจะมีแนวคิดที่ช่างสังเกต ละเอียดลออ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการที่จะก้าวไปข้างหน้าและเป็นลักษณะนิสัยเอกลักษณ์ของชาวฟินแลนด์
โดยในภาพวาดของการ์ตูนมูมินนั้นหากสังเกตและวิเคราะห์แล้วจะพบว่า ลายเส้นของตัวละครจะเป็นเพียงเส้นเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ทว่าบรรยากาศธรรมชาติแวดล้อมของภาพรอบๆ ตัวละครกลับใช้เส้นที่ละเอียดอ่อน มีรายละเอียดยิบย่อยต่างจากเส้นที่ใช้ในการวาดตัวละครมูมิน นับเป็นการบ่งบอกได้ถึงความใส่ใจและละเอียดอ่อน ช่างสังเกต เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปูพื้นฐานให้เด็กหรือผู้อ่านได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง
นอกจากนี้ยังมี ‘Seven Brothers’ โดย Aleksis Kivi (เจ็ดภราดร) หนังสือวรรณกรรมเขียนด้วยภาษาฟินนิชซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งและมีรากฐานมายาวนาน เนื้อเรื่องบอกเล่าถึงการผจญภัยของพี่น้อง 7 คน โดยท้ายแล้วสะท้อนว่าชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญของการอ่าน การศึกษาเพื่อพัฒนาที่มา รากเหง้าของตัวเอง
ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ที่ทำให้คุณก้อยมองว่าหนังสือเด็กของชาวฟินนิชนั้นน่าสนใจและควรค่าที่จะนำมาเป็นแบบอย่างได้ เพื่อสร้างสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กให้กับแวดวงหนังสือของบ้านเรา โดยเริ่มต้นจากการที่สำนักพิมพ์นาวาได้นำหนังสือ 'สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ' มาแปลถึง 2 เล่มในเวลาไล่เลี่ยกันในขณะนี้
‘ตาตุ ปาตุ’ กับพัฒนาการของเด็ก
หนังสือมีผลกับพัฒนาการของเด็กมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสัมผัสเนื้อกระดาษ สัมผัสไออุ่นจากพ่อแม่หรือเพื่อน คนใกล้ชิดที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีหนังสือเป็นสื่อกลาง ในมุมมองของคนทำหนังสือคิดว่ามีผลกับเรื่องจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างจากตอนหนึ่งในหนังสือตาตุ ปาตุชื่อว่า เสื้อผ้าสำหรับถูบ้าน ที่บอกเล่าถึงวิธีการคิด สร้างสรรค์เครื่องมือ วิธีการในการสร้างอุปกรณ์เพื่อทำความสะอาดบ้านแบบใหม่ๆ ตามจินตนาการ
หากดูภาพในหนังสือประกอบไปด้วยจะเห็นได้ว่า การเล่าเรื่องมีเพียงภาพและตัวอักษรเท่านั้น ไม่มีเสียงหรือการเคลื่อนไหวใดๆ แต่เมื่อเด็กแต่ละคนได้อ่านจะเกิดจินตนาการ เกิดเสียงเกิดความเร็ว เกิดมิติใหม่ๆ ในจินตนาการที่ได้จากการอ่าน การมองภาพผ่านหนังสือซึ่งแต่ละคนจะมีจินตนาการที่ต่างกัน มิติในการคิด แปลความของแต่ละคนจะต่างกันไปตามประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้นหนังสือจึงเป็นสิ่งที่ฝึกกล้ามเนื้อทางความคิด จินตนาการเพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่มีศักยภาพสูงมาก
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการอ่านและพัฒนาการของเด็กไว้ดังนี้
Mary Anne Wolf อาจารย์จาก Development Psychologist and Cognitive Scientist Tuft University กล่าวว่า “การอ่านนั้นเกี่ยวพันกับเรื่องกายภาพด้วย” สำหรับมนุษย์ในยุคก่อนที่จะเกิดตัวอักษรนั้นมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพ สมองรับข้อมูลเป็นภาพและแปลข้อมูล
Scott McCloud นักเขียนการ์ตูนและหนังสือ Understanding Comics กล่าวว่า “ในแต่ละช่องของหนังสือการ์ตูน ตัวละครไม่เคยเดินหรือขยับ ไม่ว่าหนังสือจะมีอายุนานเท่าไร แต่ที่ตัวละครขยับได้นั้นคือ การเดินอยู่ในจินตนาการของเรา”
Marshall McLuhan อาจารย์ด้านสื่อ Understanding Media กล่าวไว้ว่าสื่อมี 2 ประเภท คือ ร้อนและเย็น (Hot vs Cold Medium) สื่อร้อนคือ สื่อที่มีข้อมูลมาให้มากกว่าแค่ภาพนิ่งเช่น หนังภาพยนตร์ที่มีการเคลื่อนที่ แสง สี เสียง ความเร็ว เป็นต้น ส่วนสื่อเย็นก็จะครอบคลุมถึงหนังสือภาพและนิทานทั้งหมด โดยเป็นสื่อที่มีเพียงแค่ภาพและตัวอักษร ไม่มีการเคลื่อนที่ ไม่มีเสียง การที่จะเกิดการเรียนรู้และประมวลผลได้เต็มที่จะต้องเกิดจากการจินตนาการเพื่อให้สารที่ได้รับจากสื่อเกิดผล
หนังสือกับยุคสมัยใหม่แห่งการอ่าน
คุณก้อยเล่าว่า หนังสือ 'สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ' นั้นมีรายละเอียดเนื้อหาของภาพที่ละเอียดมาก หากใช้การอ่านผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่หนังสือกระดาษ จะเกิดสิ่งรบกวนสมาธิของการอ่านมากมาย ต่างจากสิ่งพิมพ์กระดาษที่ช่วยดึงสมาธิและความสนใจให้จดจ่อ นิ่งอยู่กับหนังสือเท่านั้นไม่สร้างสิ่งรบกวนเพิ่มเติม จึงทำให้ตาตุ ปาตุ เป็นหนังสือที่มีคุณสมบัติทางกายภาพที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ด้วยขนาดและเนื้อหาที่สอดแทรกช่วยส่งเสริมให้หนังสือนิทานเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดเด็กๆ ฝึกให้มีสมาธิเพื่อเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีได้ นอกจากนี้ยังมีความสนุก อารมณ์ขันที่สร้างสรรค์ที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของหนังสือเด็กอีกด้วย
ในศตวรรษที่ 21นี้นับเป็นช่วงที่ทุกอย่างในโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น การใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนระบบที่เป็นการสั่งการซ้ำๆ ทำให้ช่วยลดภาระหน้าที่ของมนุษย์ให้สามารถแยกตัวมาทำงานการใช้ความคิดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แทน อย่างในหนังสือตาตุ ปาตุที่มีการคิดแก้ปัญหาซึ่งเป็นรากลึกพื้นฐานของนวัตกรรมสิ่งใหม่แบบง่ายๆ ที่สอดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง อาทิเช่น บทหนึ่งในตาตุ ปาตุที่เล่าถึงเครื่องเตรียมตัวตอนเช้าที่นำเรื่องชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอน ปลุกตัวเองให้ลุกจากที่นอน ล้างหน้า แปรงฟัน ทานอาหารเช้าเพื่อที่จะเตรียมตัวไปโรงเรียน การชวนให้เด็กอ่านและจินตนาการไปกับภาพและเรื่องราวง่ายๆ ใกล้ตัวเหล่านี้ถือเป็นการกระตุ้นและสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นพื้นฐานของทักษะที่จำเป็นในช่วงเวลาที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในศตวรรษนี้
จากการบอกเล่าของคุณก้อยถึงหนังสือเด็กและสังคมการอ่านของเด็กๆ ชาวฟินแลนด์และความประทับใจใน ‘ตาตุ ปาตุ’ ชวนให้มองให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จินตนาการเป็นคุณสมบัติล้ำค่าของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะวัยเด็กที่ควรได้รับการส่งเสริมและฝึกฝน หนังสือที่เป็นหนังสือกระดาษจับต้องได้ จึงเป็นสื่อสำคัญพื้นฐานที่ช่วยนำทางให้เด็กที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพภายในตนเองเพื่อประโยชน์ของตนเองและสังคมโลกในอนาคต
สามารถติดตามหนังสือภาพ 'สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ' ทั้ง 2 เล่มและสำนักพิมพ์นาวาได้ที่ https://www.facebook.com/nava.books