ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด–19 ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธุรกิจท่องเที่ยว” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวละแวกท้องถิ่นที่ลดลง หรือจากการระงับการเดินทางของอุตสาหกรรมการบิน แต่อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ ขิง-วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ก่อตั้ง Homemade Stay ชุมชนและซีอีโอหนุ่มไฟแรงอย่าง ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง โลเคิล อไลค์ กลับมองว่า วิกฤติในครั้งนี้ อาจทำให้เราเห็นเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่น่าสนใจกว่าเดิม และอาจต่อยอดนำไปสู่ผลดีในระยายาวก็เป็นได้
ยิ่งเล็กยิ่งได้
ในฐานะรุ่นพี่ คุณวรพันธุ์กล่าวว่า ช่วงแรกตอนที่เกิดวิกฤติหนักๆ หลายคนอาจมีความคิดเห็นไปทางเดียวกันว่า ธุรกิจโรงแรม เหมือนจะไปไม่รอด ซึ่งตัวเขาเองก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะโรงแรมหลายๆ แห่งก็ยังไม่ฟื้น ยังขาดทุนอยู่ และไม่รู้ว่าจะกลับมาตั้งตัวได้เมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าโรงแรมแห่งไหนขาดทุนถึงขนาดต้องปิดตัวไปเลย คุณวรพันธุ์มองว่า โรงแรมกลุ่มนี้อาจเป็นโรงแรมที่สถานการณ์ไม่ดีมานานแล้ว หรือขาดทุนแบบต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง จนทำให้ต้องปิดตัวลงในที่สุด แต่หากดูโดยภาพรวม วิกฤติในครั้งนี้ ก็มีส่วนผลักดันความเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดเทรนด์บางอย่างค่อยๆ มาแทนธุรกิจโรงแรมแบบเดิม ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีในอนาคตก็ได้
นักธุรกิจไฟแรงอย่างคุณสมศักดิ์เห็นตรงกันในเรื่องนี้ เพราะเมื่อเกิดโควิด 19 ขึ้นมา ทำให้คนยังไม่กล้าเดินทางด้วยเครื่องบิน ดังนั้นรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวจึงเริ่มกลายเป็นการขับรถเที่ยวกับครอบครัว หรือไปกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ มากขึ้น พอเป็นแบบนั้น โรงแรมขนาดเล็ก หรือกลุ่มที่อยู่ใกล้ธรรมชาติจะได้เปรียบ เพราะคนเริ่มที่จะหนีความพลุกพล่าน ไม่เข้าพักในโรงแรมใหญ่ๆ ที่อยู่ตามหัวเมืองแล้ว โรงแรมที่ได้เปรียบในสถานการณ์นี้กลายเป็นโรงแรมสำหรับครอบครัว หรือโฮมสเตย์มากขึ้น
คุณวรพันธุ์และคุณสมศักดิ์ มองตรงกันว่า เทรนด์ที่พักขนาดเล็กเกิดขึ้นมากแน่นอนในอนาคตอันใกล้ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด คนในธุรกิจบริการตกงาน 40 – 50% นับเป็นตัวเลขที่สูงมาก คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งก็กลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด เพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนไม่สูง ไม่มีความเสี่ยง ทำให้เราอาจจะเห็นธุรกิจเอสเอ็มอี โรงแรมที่ดัดแปลงเป็นโฮมสเตย์ที่เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนมากขึ้น
ต้องเป็นมากกว่าโรงแรม
นอกจากเรื่องของการลดขนาดโรงแรม อีกสิ่งหนึ่งที่คุณวรพันธุ์เห็นว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ คือการปรับวิธีคิดของโรงแรม ที่ต้องเป็นมากกว่าการบริการห้องพัก ซึ่งจะโยงกับแนวคิด Work From Home ที่คนสามารถทำงานจากไหนก็ได้ ดังนั้นการสัมมนาหรือการเดินทางออกมาทำงานต่างจังหวัดจะเกิดขึ้นแน่ๆ ผู้ประกอบการควรมองเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์
คุณสมศักดิ์ขยายความต่อไปอีกว่า โรงแรมจะต้องมีฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ได้หลากหลาย สามารถใช้เป็นสถานที่จัดเวิร์คช็อป หรือทำอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น โรงแรมที่เคยรับชาวต่างชาติเป็นหลัก อาจจะต้องกลับมาคิดหาวิธีการดึงดูดลูกค้าคนไทยมากขึ้น นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวโดยภาพรวมก็ออกมาเที่ยวช่วงวันธรรมดาน้อยลง จากแต่เดิมที่มีน้อยอยู่แล้ว ถ้าโรงแรมไหนตอบโจทย์ช่องว่างตรงนี้ได้ ก็จะได้เปรียบ เพราะในช่วงที่โควิดยังไม่ผ่านไปสิ่งสำคัญคือโรงแรมจะต้องมีรายได้หมุนเวียนช่วงวันธรรมดา ถ้าจะคาดหวังจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจจะไม่ได้เลย ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนก็อาจจะน้อยลงกว่าเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องคิดว่า จะทำยังไงที่จะดึงจุดขายของตัวเองออกมา แล้วทำให้คนรู้สึกว่า ในวันธรรมดาก็สามารถมาที่โรงแรมของตัวเองได้
คุณวรพันธุ์ยกตัวอย่างคนที่ทำโรงแรมเล็กๆ ชื่อ อุ่นไอมาง ที่หมู่บ้านสปัน จังหวัดน่าน ในความเห็นของเขาเจ้าของอุ่นไอมางใช้วิธีการปรับตัวที่ฉลาดมาก คือซื้อที่ริมน้ำตกเอาไว้ แล้วปรับเป็นโรงแรมเล็กๆ มีไม่กี่ห้อง ด้วยความใกล้ชิดธรรมชาติ อุ่นไอมางมีราคาที่พักต่อคืนอยู่ที่สองพันบาท แต่เขาก็ยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะพอเป็นโรงแรมเล็กๆ แต่กลายเป็นที่รู้จักขึ้นมา ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องห้องเต็ม วิธีแก้ไขคือ เจ้าของอุ่นไอมางเลือกที่จะไปสอนให้บ้านอื่นๆ ในชุมชนเดียวกันทำตาม สอนวิธีให้หลายๆ บ้านปรับตัวเป็นโฮมสเตย์ หรือหากใครอยากจะทำเป็นโรงแรมเล็กๆ เขาก็จะไปช่วยออกไอเดียให้
“นอกจากจะเป็นการแบ่งปันโอกาส แบ่งปันรายได้แล้ว ที่น่าทึ่งที่สุดก็คือว่า มันทำให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พรีเมมี่ยม และเริ่มมีการทำธุรกิจอื่นๆ ตามมา มีการสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับคนจำนวนมากในท้องถิ่น เพราะ เมื่อพื้นที่ห่างไกล การทำที่พักอาจจะไม่ใช่รายได้หลัก การสร้างธุรกิจอื่นๆ จะช่วยทำให้เจ้าของพื้นที่มีรายได้หลายทาง”
ในอีกกรณีหนึ่งที่คุณวรพันธุ์เห็นว่าน่าสนใจที่จังหวัดน่านคือ เจ้าของออกจากงานมาดัดแปลงพื้นที่กลางทุ่งนาที่ห่างไกลให้กลายเป็นโฮมสเตย์ขนาด 4 ห้อง และสร้างจุดขายโดยการสร้างเตาพิซซ่าขึ้นมาด้วย การทำพิซซ่ากลางทุ่งนาทำให้ คนก็เริ่มสนใจมากขึ้น เมื่อว่างจากงานโรงแรม เจ้าของก็ไปทำนา เกิดเป็นรายได้สองทาง นี่คือตัวอย่างที่คนทำโรงแรมขนาดเล็กอาจจะต้องกลับไปคิดทบทวนมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ที่มีอยู่ให้เป็นรายได้มากกว่าเรื่องห้องพักเพียงอย่างเดียว
จะยั่งยืนได้ต้องมีมาตรฐาน
นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ คุณสมศักดิ์เสริมว่า เจ้าของโรงแรมควรคิดเกี่ยวกับการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนด้วย เพราะโรงแรมในอนาคตจะเชื่อมโยงกับชุมชนและเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งสองคนจึงเห็นพ้องกันว่าวิธีที่จะสามารถทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืนที่สุด คือการทำธุรกิจให้เป็นระบบและได้มาตรฐาน เช่น มีการสื่อสารทางการตลาด หรือการทำแบรนด์ที่มีความตรงไปตรงมา รวมถึงความใส่ใจและความเข้าใจของเจ้าของโรงเรม เกี่ยวกับเรื่องทิศทางของแบรนด์ ว่าเจาะเป้าหมายหลักไปที่กลุ่มไหน หรือวางจุดยืนของตัวเองอย่างไร
“แนวคิดที่เจ้าของโรงแรมหลายๆ แห่งยังขาดอยู่มากคือความเข้าใจชุมชนและทำให้การจัดการชุมชนเป็นเรื่องของธุรกิจจริงๆ หากจะให้ขยายความก็คือ เจ้าของโรงแรมควรจะบริหารโรงแรมโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เริ่มใช้เรื่องของฐานข้อมูลลูกค้า หรือ Data ให้มากขึ้น เพราะการใช้ข้อมูลในลักษณะนี้ จะทำให้เจ้าของโรงแรมสามารถรักษาฐานลูกค้าเก่าเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็รู้ชัดเจนขึ้นว่าลูกค้าใหม่ๆ มีลักษณะเป็นยังไง พวกเขาต้องการอะไรบ้าง” คุณสมศักดิ์อธิบายเพิ่มเติม
และหากจะให้องค์ประกอบเหล่านี้เชื่อมกับชุมชนได้จริงๆ มองในมุมของผู้ประกอบการ คุณสมศักดิ์เห็นว่า เจ้าของโรงแรมต้องเริ่มมองการประสานงานระหว่างผู้นำชุมชนตัวจริง และผู้นำรุ่นใหม่ในพื้นที่ด้วย เพราะเทรนด์เรื่องการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ หรือการไปตามพื้นที่ห่างไกลโฮมสเตย์เล็กๆ กำลังจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราต้องสร้างความรู้สึกร่วมของคนในชุมชนให้ได้ก่อนที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถ้าคนในชุมชนร่วมมือกัน เจ้าของธุรกิจจะรู้ว่าควรทำอะไรเพิ่มบ้าง จากนั้นทิศทางจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นตามลำดับ นักท่องเที่ยวจะเริ่มรู้สึกว่าต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ว่าจะมาเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าจะรักธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าพวกเขารู้สึกว่าที่ที่เขาใช้เวลาท่องเที่ยวมีบรรยากาศที่น่าประทับใจ นักท่องเที่ยวก็จะอยากรักษาความสวยงามนั้นไว้ แล้วก็กลับมาเที่ยวอีก
อีกหนึ่งข้อสำคัญที่ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัว ไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่น คือการส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูและเสริมทักษะใหม่ๆ ให้คนในชุมชน ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ลำพังภาคเอกชนไม่สามารถจัดการกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้นรัฐควรจะให้คนลงมากำกับดูแล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ถ้าทำให้คนในชุมชนมีทักษะมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นการเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน เพราะพวกเขารู้ว่าทักษะหรือความสามารถของตัวเองมีตลาดรองรับอยู่ คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามาหางานเฉพาะในตัวเมือง หรือมุ่งแต่จะเข้ากรุงเทพฯ อย่างเดียว วิธีคิดเกี่ยวกับการทำที่พักจะกลายเป็นเรื่อง Community Based Tourism แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่สามารถปรับเป็นธุรกิจรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ Social Enterprise ควบคู่กันไป คุณสมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย