การประกาศปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดบ้าน เพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด 19 ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยขายรายได้กะทันหันอย่างไม่ทันตั้งตัว ร้านค้า ร้านอาหารเล็กๆ ในชุมชนตกอยู่ในภาวะหยุดชะงัก ไม่รู้จะปรับตัวไปในทิศทางไหน
ท่ามกลางวิกฤตนี้ มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาแบ่งปันวิธีคิด ผลักดันไอเดียต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้คนในชุมชนเคลื่อนผ่านภาวะนี้ไปได้
สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เชิญ หนึ่ง - ณัฐพล สท้านอาจ ผู้ประสานงานโครงการคลองเตยดีจัง และ พลอย - เพียงพลอย จิตรปิยธรรม ผู้ร่วมก่อตั้ง Locall Thailand ร่วมพูดคุยในกิจกรรม Re:learning Now "เมื่อการแบ่งปัน สร้างโอกาส" เป็นแนวทางให้ชุมชนและย่านอื่นๆ นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ของตัวเอง
ก่อนจะแก้ปัญหา ต้องรู้ปัญหา
ก่อนที่ Locall Thailand และ คลองเตยดีจัง จะเกิดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือช่วงวิกฤตโควิด 19 พวกเขาล้วนขับเคลื่อนกับคนในชุมชนมาก่อน จึงมองเห็นปัญหาของคนในชุมชนอยู่แล้ว
เพียงพลอย เล่าให้ฟังว่า พวกเขาดูแลย่านประตูผี - เสาชิงช้า ทำโฮสเทล ชื่อ Once Again Hostel เป็นธุรกิจตามแนวทาง Inclusive Business ที่มองภาพว่า นอกจากโฮสเทลจะต้องเติบโตแล้ว ธุรกิจเล็กๆ และคนในชุมชน จะต้องมีรายได้และยอดขายเพิ่มขึ้นด้วย พวกเขาจึงจ้างงานคนในชุมชน สนับสนุนร้านค้าและร้านอาหารเล็กๆ และทำกิจกรรมในชุมชนเสมอ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤต จนโฮสเทลได้รับผลกระทบต้องหยุดพักชั่วคราว พวกเขาเลยลุกขึ้นมา อาสาเป็นตัวกลางส่งตรงทุกสิ่งจากชุมชน ไปสู่ผู้คนภายนอก เพื่อช่วยเหลือตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤต และช่วยเหลือคนในย่านไปพร้อม ๆ กัน
“เราคิดว่าจะทำยังไงดี ถ้าเราปรับตัวให้ช่วยเหลือตัวเองได้ พร้อมกับช่วยเหลือคุณลุงคุณป้าในย่านประตูผีไปด้วย ดังนั้นถ้าเราจะทำออนไลน์อยู่แล้ว เราเลยไม่ทำของเราเพียงร้านเดียว เราทำให้ทุกคนในย่านด้วยได้ไหม ถ้าเราทำเดลิเวอรี่ ที่รวบรวมทุกร้านในย่านเรา แล้วส่งในออเดอร์เดียว ลูกค้าจะชอบเพิ่มขึ้นไหม ถ้าสั่งทีเดียวได้ทั้งคาวและหวาน ตอนแรกเราทำเป็นแพลตฟอร์ม Locall BKK ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Locall Thailand”
ส่วนณัฐพล จากโครงการคลองเตยดีจัง เล่าให้ฟังว่า พวกเขาทำดนตรีและศิลปะ ให้กับเด็กๆ ในชุมชนคลองเตยอยู่ก่อน จึงคุ้นเคยกับผู้คนในชุมชนเป็นอย่างดี พอเกิดวิกฤตขึ้นมาก็เป็นห่วงเด็กๆ ว่าจะเป็นยังไงบ้าง ครอบครัวได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ตกงานไหม รายได้ลดลงเท่าไหร่ จึงลงพื้นที่สำรวจชุมชนย่อยๆ ทุกตรอกซอกซอย ที่ซ่อนบ้านเรือนหลังเล็ก นอกเหนือจากที่มีในทะเบียนบ้าน ทำแผนที่ชุมชน ดูสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว เพื่อประเมินเงินทุน ก่อนจะส่งโครงการให้กับเทใจ (taejai.com) เพื่อเปิดระดมทุนนำเงินบริจาคมาสนับสนุนการทำถุงยังชีพข้าวสารอาหารแห้ง รวมทั้งทำคูปองปันกันอิ่ม เพื่อช่วยเหลือร้านค้าเล็กๆ ในชุมชน
การสำรวจเป็นข้อมูลสำคัญมากในการช่วยเหลือใคร เป็นสิ่งตั้งต้นที่ทำให้รู้ว่าช่วยเหลืออะไรได้ เราทำทั้งหมด 13 ชุมชน มีคนอยู่เกือบหมื่นคน ประมาณสองพันหลังคาเรือน เรามีแผนว่าวันนี้จะไปชุมชนไหน มีการแจกแจงเลยว่า เอาเงินมาซื้อถุงยังชีพ ถุงละประมาณ 800 บาท ในถุงหนึ่ง มีข้าวสารอาหารแห้ง ปลากระป๋อง และทำคูปองปันกันอิ่ม คูปองนี้เอาไปแลกอาหารที่ร้านค้า ใช้แทนเงินสด ซื้อข้าวได้ 1 จาน โดยไม่ต้องจ่ายเงิน
การใช้คูปองทำให้ชาวบ้านเลือกได้เองว่าจะใช้เมื่อไร หรือใช้ซื้ออะไร ก๋วยเตี๋ยว ยำมาม่า หรือผัดกะเพรา พอถึงเวลาเราจะเคลียร์กับร้านค้าเองว่า วันนี้มีคนมาใช้คูปองกี่ใบ แล้วจัดการโอนเงินให้วันนั้นเลย เพื่อที่เขาจะได้เอาเงินไปหมุนวันต่อวัน การทำแบบนี้ร้านค้าถึงจะอยู่ได้ เพราะบางช่วงอาหารกล่องมีคนมาแจกเยอะ ทำให้ร้านค้าไม่มีรายได้ โมเดลของพวกเรา เหมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนที่อยากทำบุญ กับคนที่อยากช่วยเหลือเพื่อนคนอื่น โดยที่เขาไม่ต้องลงมาชุมชนด้วยตัวเอง
เราต่างรอด ถ้าร่วมมือกัน
การทำแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของ Locall Thailand มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนเดลิเวอรี่เจ้าอื่นๆ อยู่หลายข้อ หนึ่งคือ สามารถสั่งอาหารจากหลายร้านให้อยู่ในออเดอร์เดียวได้ คือ ถ้าอยากกินอาหารย่านประตูผี คุณสามารถสั่งอาหารคาว หวาน ขนม น้ำ ได้หมดเลย
สองคือ พวกเขาเลือกสนับสนุนร้านเล็กๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่คนในย่านรู้กันว่าอร่อย เมื่อร้านค้าไม่รู้ว่าจะปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ได้ยังไง ทีมงานจึงลงมือทำการตลาดให้ร้าน เช่น การเปลี่ยนแพ็คเกจ จัดเซตอาหารให้สั่งได้ง่าย ถ่ายรูปสวยๆ เขียนสตอรี่ รวมถึงบางร้านที่ยังไม่เคยมีชื่อร้าน ก็ช่วยกันคิดชื่อ เพื่อให้ลูกค้าเรียกง่ายขึ้น รวมทั้งยังคอยเช็คคำแนะนำติชมที่มีต่อร้านเล็กๆ มาปรับปรุงให้ร้านคงคุณภาพดีขึ้น
เพียงพลอยให้ความเห็นว่า การรวมตัวกันของคนในย่านสำคัญมาก จากที่ไม่รู้ว่าเราจะรวมกันเพื่ออะไร วันนี้รู้แล้วว่าถ้ารวมตัว "พวกเรารอด"
“สิ่งที่ Locall Thailand พบเจอ คือ ปัญหาปากท้อง การทำมาหากิน กับการร่วมกลุ่มกัน มันกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ร้านค้าต่างๆ ถ้ารวมกลุ่มกัน จะขายได้ดีขึ้น จากคนไม่เคยคุยกัน มาคุยกัน พอวันนี้เห็นปัญหา แล้วหันหน้าเข้าหากัน นอกจากจะแก้ปัญหาแล้ว ยังพัฒนาด้วย ตอนนี้ Locall ก็ขยายไปย่านอื่นๆ ถึง 12 ย่านแล้ว”
ส่วนคลองเคยดีจัง ก็มีการทำหน้าที่สนับสนุนอาชีพให้คนในชุมชน ณัฐพลเล่าว่า คนในชุมชนทำอาชีพรับจ้างรายวัน และบริการ ดังนั้นเมื่อมีบริษัทกำลังหาคนทำงาน พวกเขาจะแจ้งคนในชุมชนโดยตรง เพราะรู้ว่าบ้านไหนกำลังลำบาก ต้องการความช่วยเหลือ
“คนในชุมชนไม่ต้องการรอรับอย่างเดียว สิ่งที่เขาต้องการคืองาน เขาอยากดูแลตัวเองได้ สิ่งที่ทำให้ชุมชนยั่งยืน คือ ต้องให้ชุมชนบริหารจัดการเอง โดยมีเราเป็นที่ปรึกษาดึงแนวคิดออกมา ซึ่งจะช่วยทำให้ชุมชนยั่งยืนได้”
เพราะการแบ่งปันคือโอกาส
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงโควิด 19 ทำให้มองเห็นภาพผู้คนช่วยเหลือ ให้การแบ่งปันกันเยอะขึ้น แล้วหลังจากจบช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ไป ผู้คนยังคงให้ความช่วยเหลือกันอยู่ไหม
ณัฐพลบอกว่า สำหรับชุมชนคลองเตย พวกเขาให้ความช่วยเหลือกันอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งช่วงโควิดที่เดือดร้อนกันเกือบหมด พวกเขายังคงช่วยเหลือกัน พอโครงการเข้าไป ก็มีแกนนำชุมชนเข้ามาร่วมมือร่วมแรงด้วย ทำให้ส่งต่อความช่วยเหลือกันได้เร็วขึ้น อย่างคูปองปันกันอิ่ม เขาก็มีแบ่งปันให้คนที่เดือดร้อนกว่า หลังโควิด 19 สภาพเศรษฐกิจก็ยังแย่อยู่ คนตกงาน ก็ยังตกงานกันอยู่ พอเราเอาของเล่นไปให้เด็กๆ ในชุมชนผ่านโครงการปันกันเล่น จึงเหมือนเข้าไปดูแลสภาพจิตใจพวกเขาด้วย
“การแก้ปัญหาต้องมาจากชุมชน เขาต้องมองว่าชุมชนเขามีปัญหาอะไร แล้วอยากพัฒนาอะไรบ้าง มีวิธีการแก้ในแบบของตัวเอง ทำให้รับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การแบ่งปันที่สร้างโอกาส ต้องทำกับคน ไม่ใช่แค่เอาไปของไปให้ แต่ต้องพัฒนาจากข้างใน เราพยายามว่า ถ้าไม่ใช้คูปองปันกันอิ่ม ส่งให้คนอื่นต่อได้นะ พอทำข้างในกับคน ถึงจะต่อยอดได้เยอะ”
ส่วนเพียงพลอย เสริมว่า คนไทยมีนิสัยชอบช่วยเหลือแบ่งปันกันอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้คือ ทำยังไงไม่ให้การแบ่งปันเกิดเฉพาะช่วงวิกฤต ถ้ามีการรวมกลุ่มกัน เพื่อแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วในชุมชน จะทำให้ชุมชนแข็งแรงขึ้น เพราะคนในชุมชนย่อมรู้ว่า บ้านของเขามีปัญหาอะไร แล้วจะแก้ไขไปในทิศทางไหน ถ้าปล่อยให้คนภายนอกเข้ามาแก้ เขาอาจมองไม่เห็นปัญหาที่ชัดเจน เหมือน Locall Thailand ก็เป็นกลุ่มหนึ่ง คลองเตยดีจังก็เป็นกลุ่มหนึ่ง ถ้านำความถนัดและข้อมูลของแต่ละกลุ่มมารวมกัน จะช่วยพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน
“ทำไมมีวิกฤต เราถึงรวมกัน เราควรรวมกันอยู่ก่อนแล้ว พอมีวิกฤตก็ไม่สะเทือน ถ้าเรารวมตัวกันก่อนและพัฒนา ไปด้วยกัน มีวิกฤตเข้ามามันจะไม่รุนแรง ทำยังไงละให้การแบ่งปันมันเกิดได้ตลอด โครงสร้างแบบไหนทำให้คนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้แบ่งปันกันอย่างยั่งยืน เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ร่วมกัน เพราะการสร้างโอกาสที่ยั่งยืนอย่างหนึ่ง คือ การสร้างโอกาสให้คนอื่นได้แบ่งปัน มันจะส่งต่อไปเรื่อยๆ ครอบคลุมความช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของเรา”
ปัจจุบันคลองเตยดีจัง และ Locall Thailand ยังคงให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านช่วงวิกฤตโควิด 19 ไปแล้ว สามารถเข้าไปสนับสนุนเดลิเวอรี่ย่านต่างๆ โดยชุมชน เพื่อชุมชน ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Locall Thailand และติดตามความเคลื่อนไหว สนับสนุนการบริจาคของเล่นให้เด็กๆ กับโครงการปันกันเล่น ผ่านเพจเฟซบุ๊ก คลองเตยดีจัง