จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขยะในเมืองก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ ในภาวะที่หลายคนตั้งคำถามถึงแนวทางการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ว่าควรจะมีการจัดการกับขยะ ที่นับวันจะเป็นปัญหาที่ชัดเจน และส่งผลกระทบต่อชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยครั้งนี้ ได้ร่วมพูดคุยกับ พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) และ ท็อป–พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด (กิจการเพื่อสังคม) www.kidkid.co.th ถึงทางออกที่จะสร้างการจัดการขยะในเมืองได้ด้วยตัวเราเอง ในงาน Relearn: NOW ร่วมเรียนรู้ พลิกมุมคิด ค้นพบโอกาสใหม่ จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้
สถานการณ์ขยะในเมือง
“ช่วงที่เกิดโควิด 19 ขยะพลาสติกจะมีเยอะกว่าแบบอื่น เนื่องจากหลายคนต้องอยู่บ้าน และสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มาทาน จึงทำให้ขยะพลาสติกมีเยอะขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนขยะมูลฝอย มีปริมาณลดลง แต่ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น หากมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เราจะลดปริมาณได้” พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา หรือคุณน้ำหวาน ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) เปิดประเด็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“การจัดการขยะที่ดีอย่างเป็นระบบจะต้องใช้แนวทาง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่จะทำเพียงลำพังไม่ได้ แต่ต้องมีกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำในส่วนของผู้ผลิต กลางน้ำในส่วนของบริษัทที่ใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้า และปลายน้ำคือผู้บริโภค ที่เป็นส่วนสำคัญในการจัดเก็บ แยกขยะพลาสติกทำความสะอาด แล้วส่งคืนให้กับผู้ผลิตต้นทางนำไปรีไซเคิล หรือใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นอย่างคุ้มค่า”
คุณน้ำหวานมองว่าที่ผ่านมาการจัดการพลาสติกในบ้านเรา ยังไม่เป็นระบบ จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความลังเล ด้วยหลายคนยังคิดว่า จะแยกขยะไปทำไม เพราะสุดท้ายเมื่อรถขยะมาเก็บก็เอาไปรวมกันอยู่ดี สิ่งนี้ทำให้ผู้บริโภคหลายคนไม่อยากแยกขยะ และมีผลมาถึงบริษัทผู้ผลิตที่ไม่กล้าลงทุน เพื่อทำระบบในการนำขยะพลาสติกที่ผู้บริโภคส่งคืนมาแล้วไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ นี่จึงเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ
โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน จึงเกิดขึ้นในช่วงเกิดโควิด 19 เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้บริโภคสามารถแยกขยะส่งคืนในจุดต่างๆ และมีกระบวนการนำขยะพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วไปแปรรูปอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยแนวคิดเข้าใจ เข้าถึงตั้งแต่ผู้ผลิต ไปจนถึงผู้บริโภค และระบบโลจิสติกส์ ที่จะส่งขยะพลาสติกที่ใช้แล้วกลับไปยังต้นทาง
โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ทำมาแล้วกว่า 2 เดือน ถือเป็นการนำร่องตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนที่จะนำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการนำพลาสติกที่ใช้แล้ว และผ่านการทำความสะอาดจนแห้ง มาส่งคืนยังจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ โดยระยะแรกเริ่มที่ 5 จุด ตอนนี้เพิ่มเป็น 30 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และบริษัทเอกชนที่ร่วมโครงการ
คุณน้ำหวานเล่าว่ากำลังมีการประเมินโครงการในเฟสแรกและเห็นว่า เฟสที่ 2 จะยังคงจุดที่มีปริมาณการส่งคืนขยะพลาสติกที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมากอยู่ เช่น จุดรับคืนบนถนนสุขุมวิท แต่จะต้องยุบบางจุด ที่มีปริมาณของผู้ใช้บริการน้อย ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้สถานการณ์หลายอย่างก็เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว ทางโครงการฯ มีแผนจะร่วมกับพี่ๆ ซาเล้ง ที่รับซื้อของเก่าตามตรอกซอกซอยอยู่เดิมแล้ว โดยจะให้กลุ่มซาเล้งไปรับพลาสติกจากบ้านที่มีการแจ้งเตือน ว่าให้เข้ามารับได้ ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนาแอปพลิชันนี้ขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ขณะเดียวกันก็เป็นอีกแนวทางที่จะสร้างรายได้ให้กับซาเล้งเหล่านี้ สอดคล้องกับแนวคิดที่เราต้องการให้ทุกภาคส่วนมีการเติบโตไปพร้อมกัน เพื่อจะขยายการทำงานให้เป็นวงกว้างมากขึ้น
ด้าน ท็อป – พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด (กิจการเพื่อสังคม) www.kidkid.co.th ถือเป็นหนึ่งองค์กรที่เข้าร่วมในโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านมองว่า ขยะที่เกิดขึ้นช่วงโควิด 19 ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นอยู่กับความหลากหลายของพื้นที่ เช่นในพื้นที่ต่างจังหวัดก็ไม่จำเป็นจะต้องสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ เลยทำให้มีผลกระทบจากขยะพลาสติกน้อย แต่พื้นที่ในเมืองมีปริมาณขยะพลาสติกเยอะมากขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาอยู่ที่การจัดการ เพราะอย่างโครงการที่ร่วมกันทำงาน เราเห็นว่า ความสำเร็จขึ้นอยู่กับจุดที่รับคืนขยะพลาสติก ที่จะไม่ไกลจากบ้านของผู้บริโภค ทำให้เดินทางได้สะดวก และถ้ามีการสื่อสารกับผู้บริโภคที่ดี จะทำให้ผู้บริโภคหลายคนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ขณะเดียวกัน ก็นำแอปพลิชัน ECOLIFE มาสร้างแรงจูงใจ เหมือนกับการเล่นเกม ที่ผู้บริโภคนำขยะพลาสติกมาส่งคืนยังจุดที่กำหนด ซึ่งร่วมกับ เอไอเอส จะมีคิวอาร์โค้ดให้สแกน โดยตัวการ์ตูนในแอปจะตัวโตขึ้น และสามารถรับพอยท์ เพื่อนำไปแลกซื้อสินค้าได้อีกด้วย ซึ่งตอนนี้มี user ที่ใช้งานแอปนี้กว่า 50,000 ราย
สิ่งแวดล้อมเริ่มจากตัวเรา
การลดปริมาณขยะ สิ่งแรกที่ต้องเริ่มทำในความเห็นของ ท็อป – พิพัฒน์ คือการเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง โดยยกตัวอย่างจากตัวเองที่อาจไม่สามารถทำตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่เชื่อว่าทุกคนเริ่มได้จากการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นการพกกระบอกน้ำติดตัว เพื่อลดการใช้แก้วพลาสติกของร้านค้า หรือการพกถุงผ้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก สิ่งนี้เป็นผลดีต่อตัวเรานอกจากสิ่งแวดล้อม เพราะแม่ค้าบางร้านเห็นเราพกกล่องข้าวมาก็แถมข้าวให้ นี่ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่เริ่มได้จากตัวเอง โดยตัวเอาเองมองว่าแนวโน้มการลดปริมาณขยะ จะได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆแน่นอน
เรื่องของขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มันเกี่ยวโยงกับตัวเราอย่างแยกไม่ออก เพราะดูอย่างตอนน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา บนถนนสุขุมวิท ขยะที่ซ่อนและหมักหมมอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ก็ลอยกันออกมา ทำให้เราเห็นเลยว่า เมื่อเราทิ้งขยะเหล่านั้นไปแล้ว มันไม่ได้ไปไหน หรือเหตุการณ์ที่มีกองขยะไฟไหม้ หลายคนอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะบ้านเราอยู่ห่างจากพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ แต่ถ้าเมื่อใดเหตุการณ์นี้อยู่ในพื้นที่ไม่ไกลจากบ้าน เราจะได้รับความเดือดร้อน จนมีผลต่อสุขภาพ และเริ่มจะตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จนเริ่มหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง
ไปถึงเป้าหมาย zero waste
คุณน้ำหวาน ให้ความเห็นในเรื่องแนวคิด zero waste หรือการจัดการขยะให้เหลือศูนย์ในประเทศไทยว่า สามารถเป็นไปได้ในอนาคต แต่ต้องใช้เวลา และต้องมีการจัดการที่เป็นระบบ โดยยึดโยงคนที่อยู่ในทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการจัดการ ซึ่งแนวทาง เศรษฐกิจหมุนเวียน คือทางออกที่ดีที่สุด
โดยแนวคิดการจัดการขยะตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จะประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตวัสดุน้อยที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน และต้องนำวัสดุนั้นกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเป็นแนวคิดที่เริ่มตั้งแต่ต้นทาง 2.การสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่จะต้องทำอย่างไร ที่ทำให้วัสดุชิ้นนั้นๆ สามารถใช้ต่อไปในด้านอื่นๆ ไม่ใช่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างที่ผ่านมา 3.ประสานความร่วมมือกัน จนเกิดระบบการจัดการในวงกว้าง เช่น การจัดการแยกขยะในระดับหมู่บ้าน แล้วค่อยๆ ขยายมาเป็นระดับอำเภอ และจังหวัด หรือผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ มีการดีไซน์พลาสติกให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาพลาสติก 1 ชิ้น มีส่วนผสมของพลาสติกที่หลากหลาย ซึ่งส่วนผสมบางอย่างก็ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้
ส่วน คุณท็อป–พิพัฒน์ มองถึงแนวทาง zero waste ที่ตอนนี้อาจทำไม่ได้ในไทย แต่เป็นเป้าหมายที่เรามีร่วมกันในการทำงาน ซึ่งการทำให้เป็นจริงได้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และต้องมีเครื่องมือที่เป็นตัววัดผลชัดเจน ในการลดขยะ เช่นเดียวกับผู้ผลิต ที่พอเห็นกระแสของผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้ผู้ผลิตเริ่มเปลี่ยนแนวคิดในการทำงาน ที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และส่งผลต่อยอดขายสินค้า
แต่สิ่งสำคัญตอนนี้คือ เราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองก่อน เพราะถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดว่า ขยะเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต เราจะหันมาช่วยกันแก้ไข โดยจะเริ่มปรับเปลี่ยนสิ่งที่ง่ายๆ ใกล้ตัวก่อน ถ้าอันไหนยังทำไม่ได้ก็อาจจะพักไว้ก่อน ซึ่งเมื่อแนวคิดเหล่านี้ขยายวงกว้างมากขึ้น ผู้ผลิตสินค้าก็จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจขยายมาสู่ภาครัฐที่จะออกกฎหมายบางอย่าง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของขยะในสังคมไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
การจัดการขยะในเมือง แม้จะดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้ามีการจัดการเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตก่อน ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิต และหน่วยงานรัฐเห็นถึงความสำคัญ ที่จะลดปริมาณขยะ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน