“เราอาจไม่ต้องรอความเปลี่ยนแปลงจากระบบใหญ่ เพราะการรอดจากวิกฤติครั้งนี้ เริ่มได้จากพลังเล็กๆ ในครอบครัวของคุณพ่อ - คุณแม่ ที่จะคอยโอบอุ้มเด็กๆ ของเราไว้”
เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 คือการทำงานจากที่บ้าน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “Work From Home” แต่นอกจากเรื่องของวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปแล้ว การอยู่บ้านเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ร่วมกับลูกน้อย ต้องเรียนรู้วิธีจัดการความสัมพันธ์ และพยายามขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจนระหว่างเวลาส่วนตัวและเวลางานให้ชัดเจน มิเช่นนั้นการ Work From Home อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวได้โดยไม่รู้ตัว
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ คุณมิรา เวฬุภาค เจ้าหน้าที่ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Flock Learning จึงมาบอกเล่าเทคนิคง่ายๆ ว่าคุณพ่อคุณแม่ จะสามารถอาศัยช่วงเวลา Work From Home แบบนี้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กๆ ได้อย่างไร ในงาน “Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม” จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้
วิกฤติท่ามกลาง Vuca World
ก่อนที่เราจะพูดเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว และความเชื่อมโยงกับวิกฤติโควิด 19 อยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า เหตุการณ์ตอนนี้ทุกคนกำลังอยู่ในโลกแห่งความผันผวน หรือ World of Disruption ซึ่งส่วนตัวอยากจะเรียกว่าเป็น “Vuca World” หรือสังคมที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทุกคนต้องเตรียมตัวรับมือ หรือกำลังต้องรับมืออยู่ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนด้วยกัน คือ
Volatility - คือเราอยู่ในโลกที่มีความผันผวน ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางครั้งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อวานอาจจะยังไม่มีสิ่งนี้ ตื่นมาอีกวันหนึ่งอาจจะมีแล้วก็ได้ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากวันหนึ่งเราออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นปรกติ อยู่ดีๆ วันนี้ก็ไม่ได้ไปแล้ว
Uncertainty – คือโลกที่เราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีความยากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งนี้ไม่ได้อยู่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่กำลังเข้ามาสู่โลกในบ้านเราด้วยเหมือนกัน ซึ่งจะโยงกับข้อต่อไปด้วยคือเรื่องของ Complexity และ Ambiguity
Complexity – โลกปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนมากในทุกๆ ด้าน มีสิ่งที่ส่งผลต่อการคิด และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพราะทุกครั้งที่เรากำลังประเมิน หรือตัดสินใจเรื่องอะไรก็ตาม มักจะมีหลายๆ ปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ทำให้ตัดสินใจได้ยากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยากจะรับมือ ซึ่งเด็กๆ เองก็รู้สึกได้เหมือนกัน
Ambiguity – ความซับซ้อนที่เกิดขึ้น มาพร้อมกับความคลุมเครือ เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร บางทีเด็กๆ ก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นยังไง หรือหาเป้าหมายตัวเองไม่เจอ จัดการกับหนทางและสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่ได้ ความคลุมเครือที่เกิดขึ้นจะสร้างความเครียดให้เด็กๆ ในระดับที่แต่งต่างกันไป พ่อแม่จึงควรสังเกต และใส่ใจสภาวะทางอารมณ์ของเด็กๆ ด้วย
โควิด-19 ที่มาพร้อมกับความกดดันของเด็กๆ
คุณมิรากล่าวว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่กี่ครั้ง ที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าอยากเปิดเทอม นอกจากมีความเบื่อ หรือมีความรู้สึกอยากเจอเพื่อนๆ แล้ว การอยู่บ้านนานๆ ก็สร้างความกดดันให้กับเด็กๆ ได้เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นความรู้สึกที่พ่อแม่บางคน หรือผู้ใหญ่อาจคาดไม่ถึงเกี่ยวกับเด็กๆ และสถานการณ์โควิด 19
เพราะขณะที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนกำลังจัดการกับเวลาส่วนตัวและเวลางานตอนอยู่ที่บ้าน แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อเด็กๆ ต้องอยู่บ้านนานๆ และเห็นพ่อแม่ของตัวเองทำงานอยู่ตลอดเวลา เห็นพ่อหรือแม่ไม่มีท่าทีใส่ใจ ไม่มีเวลามากพอมาเล่นกับพวกเขา ภาพที่เห็นก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกอยากเข้าไปช่วยงานของพ่อแม่แทน นำไปสู่ความรู้สึกโทษตัวเอง ว่าไม่สามารถช่วยอะไรพ่อแม่ได้
“ในจุดนี้ พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกสำคัญกับเด็กๆ ค่อนข้างมาก ในเบื้องต้นจึงควรเปิดพื้นที่ทางความรู้สึก คอยถามว่าเด็กๆ รู้สึกยังไง กำลังกังวลกับเรื่องอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ลูกสาวบางคนอาจจะรอจัดงานวันเกิด หรืออยากจะมีปาร์ตี้ที่บ้านมาหลายเดือนแล้ว พอเกิดวิกฤติโควิด อาจจะทำให้เด็กๆ ทำไม่ได้ พ่อแม่อาจจะต้องคุยกับเด็กๆ มากขึ้น หรือถ้านอกจากเรื่องของการพูดคุยทั่วไป เด็กๆ ก็อาจจะมีความกังวลที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้แบบเดิม ส่งผลให้กังวลเรื่องของอนาคตมากขึ้นอีก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เหตุการณ์จะคลี่คลาย หรือจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ยังไง” คุณมิรา กล่าวเพิ่มเติม
เทคนิค “3 Re” เติมความสัมพันธ์ในครอบครัว
ความรู้สึกเชิงลบอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กๆ เพียงฝ่ายเดียว เพราะชีวิตของพ่อแม่ก็อาจจะรวนไม่แพ้เด็กๆ นอกจากจะแบ่งเวลาได้ลำบากมากขึ้นแล้ว พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกกังวลอนาคตของลูกๆ มากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าลูกๆ กำลังเรียนอะไรบ้างในแต่ละวัน
คุณมิรา กล่าวเสริมว่าการจะแก้ปัญหาได้จริงๆ คุณพ่อหรือคุณแม่อาจจะต้องเป็นหลักให้กับลูกๆ ทั้งในด้านการปรับตัวกับวิกฤติ และทางด้านอารมณ์ พ่อแม่อาจจะต้องยอมรับก่อน ว่านี่คือเหตุการณ์ครั้งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย ทั้งกับตัวเองและลูกๆ ทุกคนต้องหาวิธีรับมือ เพราะฉะนั้นต้อง “รู้ว่าตัวเองไม่รู้” เพราะถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหากับเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้
ถ้ารู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้แล้ว สิ่งที่ทำได้ต่อมา คือการพยายามปรับตัว เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสที่จะรู้จักลูกของตัวเองมากขึ้น เพราะบางคนอาจจะไม่เคยรู้จักลูกของตัวเองเลยก็ได้เวลาที่ไม่อยู่บ้าน
ในกระบวนการนี้ อาจจะลองใช้เทคนิค “3 Re” ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สร้างความสัมพันธ์กับลูกๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. Relearn – พ่อแม่ควรตระหนักไว้ว่า มีสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้เกี่ยวกับลูกๆ และเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น การฝึกให้ลูกๆ อายุ 4-6 ขวบ เข้าใจการเรียนรู้รูปแบบของสิ่งต่างๆ รอบตัว หรือ Pattern Recognition อีกทางหนึ่งคือการพยายามสร้างนิสัยให้ลูกๆ สามารถมี Self – Directed Learning ได้ด้วยตัวเอง ฝึกให้ลูกๆ รับผิดชอบตัวเองให้ได้ ขณะเดียวกันก็พยายามทำให้เขาเห็นคุณค่า และรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งที่ตัวเองกำลังเรียนรู้ เช่น การบอกลูกๆ ว่าวิชานี้สำคัญยังไง ทำไมถึงต้องเรียน ขณะเดียวกันก็รับฟังว่าลูกๆ มีความคิดเห็นอย่างไรต่อสิ่งต่างๆ
2. Release – สร้างพื้นที่ของการสื่อสาร โดยการรับฟังอย่างใส่ใจ หรือ Empathetic Listening พ่อแม่ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ พูดถึงความรู้สึกของตัวเอง พ่อแม่ควรรู้ว่าสิ่งที่เราพยายามแก้ไข หรือให้คำแนะนำ บางครั้งไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆ อยากได้ แต่สิ่งที่เค้าต้องการจริงๆ คือการเข้าใจความรู้สึก การรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจ และเชื่อมโยงกับเขา อาจจะเป็นแค่การนั่งเป็นเพื่อน และหมั่นถามบ่อยๆ ว่าพวกเขารู้สึกยังไง อะไรที่เป็นเรื่องรบกวนจิตใจ แล้วรับฟังอย่างตั้งใจ คอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เป็นตัวช่วยที่คอยจัดการความรู้สึกให้กับลูกๆ
3. Rerule – การอยู่บ้านอาจจะทำให้เด็กๆ ดูโทรศัพท์ทั้งวัน ไม่ค่อยได้ทำอะไร หรือสร้างความไม่พอใจให้กับพ่อแม่ แต่ความจริงแล้ว มันอาจเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้โลก พ่อแม่อาจจะต้องปรับตัว เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกๆ ดูว่าเขาเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเทคโนโลยี จากข้อจำกัดที่เขามีในตอนนี้ หรือพ่อแม่อาจจะมีกติกาเพิ่มขึ้นมาเวลาอยู่บ้าน หรือจัดเวลาให้เด็กๆ ใหม่ แต่การจัดเวลาของพ่อแม่อาจจะไม่ต้องแบ่งเป็นชั่วโมงเหมือนที่โรงเรียนทำ ลองใช้วิธีที่ยืดหยุ่นกว่า เช่นการเปลี่ยนชั่วโมงการเรียนของเด็กๆ เป็นรายการที่ต้องทำให้เสร็จ (task list) ในแต่ละวันแทน ซึ่งจะทำให้เด็กๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะต้องควบคุมเวลาด้วยตัวเอง และขณะเดียวกันก็ไม่รู้สึกถูกตีกรอบจนเกินไป
วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้กลายเป็นโอกาสที่ดี คุณพ่อคุณแม่อาจจะได้เห็นบางด้านของลูกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับพวกเขาได้อีกด้วย