วันแม่แห่งชาติปีนี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชวนคุณแม่ ลูกน้อยและสมาชิกในครอบครัวมาสานสายใย เพิ่มความรักความอบอุ่นผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบในงาน “แม่ลูกยิ้มละไมชวนกันไป TK park” ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคมจนถึงวันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม ทั้งกิจกรรมการเฝ้าระวังภัยยาเสพติด การกอดเพื่อเพิ่มสายใยในครอบครัว และหลากเทคนิคส่งเสริมการเรียนรู้จากคุณแม่
โดยในวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2554 เวลา 13.00-15.30 น. ณ บริเวณลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรม “ภาษากายประสานใจ...เพิ่มสายใยในครอบครัว” ซึ่งเป็นกิจกรรมถ่ายทอดพลังแห่งความรัก ผ่านภาษากายที่คุณแม่ คุณลูกและสมาชิกในครอบครัวจะสามารถส่งต่อความปรารถนาดีและกำลังใจให้กันได้ ผ่านการสาธิตการสื่อรักด้วยภาษากาย
ทางเข้างาน “แม่ลูกยิ้มละไม ชวนกันไป TK park”
หลังจากลงทะเบียนเข้าร่วมงานกันแล้ว ในช่วงแรกของกิจกรรมเป็นการทำ “กรอบรูปแม่ลูกผูกพัน” โดยทั้งคุณพ่อ คุณแม่และลูกๆ ต่างร่วมแรงร่วมใจกันตัด-ปะกระดาษ และระบายสีเพื่อทำกรอบรูปกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อเป็นภาพความทรงจำจากลูกถึงคุณแม่
คุณแม่กำลังช่วยลูกระบายสีกรอบรูป
นอกจากกิจกรรมทำกรอบรูปที่โซนด้านหน้าเวทีแล้ว ทางด้านหลังยังมีมุมถ่ายรูปสวย ๆ ให้คุณแม่คุณลูกถ่ายรูปกันอย่างจุใจ โดยส่วนใหญ่จะมีคุณพ่อทำหน้าที่ตากล้องจำเป็น
คุณแม่ถ่ายรูปคู่กับลูก
นอกจากนี้ยังมีบอร์ดที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการกอด โดยเรียบเรียงจากสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา การกอดมีอยู่ด้วยกัน 9 แบบและให้ความรู้สึกต่างๆ กัน ได้แก่
1. กอดแบบหมี (Bear Hug) เป็นการกอดแบบที่เราเห็นอยู่ทั่วไป เป็นการกอดเพื่อให้กำลังใจ ถ่ายทอดความอบอุ่นและความปลอดภัย มักใช้กับคู่กอดที่สูงและตัวโตไม่เท่ากัน
2. กอดแบบหน้าแนบหน้า (A Frame Hug) การกอดแบบนี้ใช้แทนคำพูดว่า “สวัสดี” หรือ “ลาก่อน” แบบที่ชาวต่างชาติทักทายกัน การกอดแบบนี้เป็นการกอดแบบสุภาพและเป็นทางการ แสดงถึงความต้อนรับหรือชื่นชม ผู้กอดอาจเป็นเพื่อนร่วมงานด้วยกัน อาจารย์กอดลูกศิษย์ รวมถึงคนที่เพิ่งรู้จักกันก็ได้
3. กอดด้วยแก้ม (Cheek Hug) เป็นการกอดแบบแก้มแนบแก้ม มืออาจโอบไหล่กันและกัน การกอดแบบนี้จะสื่อสารว่า “เสียใจด้วย” เมื่อเพื่อนกำลังผิดหวัง
4. กอดกันกลม (Sandwich Hug) เป็นการกอดสำหรับสามคน โดยสองคนหันหน้าเข้าหากัน โอบคนที่อยู่ตรงกลางไว้ ศีรษะทั้งสามรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นการกอดที่สร้างความมั่นใจให้คนที่อยู่ตรงกลางเมื่อต้องออกไปเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก
5. กอดเป็นกลุ่ม (Group Hug) เป็นการกอดที่ทุกคนหันหน้าเข้าหากันเป็นวงกลม กายชิดกัน มือข้างหนึ่งโอบไหล่ อีกข้างโอบเอว กลุ่มเพื่อนมักกอดกันด้วยวิธีนี้เพื่อให้กำลังใจหรือเพิ่มกำลังใจให้กันและกัน
6. กระโดดกอด (Grabber-Squeezer Hug) เป็นการกอดที่ฝ่ายหนึ่งพุ่งเข้าหาอีกฝ่าย คว้าตัวมากอดรัด อีกฝ่ายต้องตื่นตัวและกอดรัดกลับอย่างรวดเร็วเช่นกัน การกอดแบบนี้ค่อนข้างยากแต่เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่รีบเร่งเพื่อคลายความตื่นเต้นหรือตึงเครียดได้
7. กอดเคียงบ่าเคียงไหล่ (Side-to-Side Hug) เป็นการกอดที่ทั้งสองคนวาดแขนไปโอบไหล่หรือเอวเพื่อนที่เดินเคียงข้างขณะเดินทอดน่องสบายๆ การกอดแบบนี้เหมาะที่จะใช้เวลาเข้าแถวรออะไรสักอย่าง เพราะจะช่วยให้การรอคอยนั้นผ่อนคลายมากขึ้น
8. กอดจากข้างหลัง (Back to Front Hug) เหมาะกับคนถูกกอดที่มือไม่ว่าง ผู้กอดจึงต้องเดินเข้าไปข้างหลัง การกอดแบบนี้สะท้อนให้เห็นความขี้เล่นของผู้กอดด้วย
9. กอดจากหัวใจ (Heart-Centered Hug) เป็นการกอดที่มีพลังมาก สามารถถ่ายทอดความอ่อนโยน ความเอาใจใส่ การยอมรับซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการให้กำลังใจและการสนับสนุนช่วยเหลือ การกอดแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ผูกพันกันลึกซึ้งยาวนาน
เมื่อใกล้เวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงการเสวนา “ภาษากายประสานใจ...เพิ่มสายใยในครอบครัว” คุณชัชรินทร์ กวางทอง พิธีกรของกิจกรรมนี้ได้จัดให้มีการเล่นเกมเพื่อเพิ่มสายใยในครอบครัวขึ้น เป็นเกมที่มีอุปกรณ์ 3 อย่าง คือ เชือกสองเส้นที่ผูกต่อกัน ลูกบอลลม และตะกร้า มีวิธีการเล่นคือ มีผู้เล่นยืนถือเชือกคนละด้าน โดยฝ่ายหนึ่งพยายามเลี้ยงลูกบอลไปตามเชือกแล้วปล่อยลูกบอลลงสู่ตะกร้าด้านล่าง มีเทคนิคการเล่นคือ ต้องให้เชือกตึงมากๆ ลูกบอลจึงจะกลิ้งไปได้ มีผู้ร่วมเล่นเกมนี้กันหลายคู่ ทั้งคู่คุณแม่-คุณลูก คุณพ่อ-คุณลูก พี่-น้อง ต่างตั้งใจเล่นเกมนี้กันถ้วนหน้า ซึ่งเรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและสร้างความสนุกสนานให้ผู้ชมที่เชียร์อยู่รอบๆ ด้วย สร้างความผูกพัน เข้าใจ และเป็นกำลังใจให้กันและกัน
คุณแม่กับลูกเล่นเกมกันอย่างสนุกสนาน
เมื่อถึงเวลา 14.00 น. ก็ได้เวลาของการเสวนาในหัวข้อ “ภาษากายประสานใจ...เพิ่มสายใยในครอบครัว” โดยมี คุณแอ้ - พรวรินทร์ นุตราวงศ์ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร คุณแอ้เป็นพยาบาลวิชาชีพ 7 วช. ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เธอทำคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมากจนได้รับรางวัลมากมาย เช่น ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 คนดีของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 80 คนไทย ที่ได้วิ่งคบเพลิงกีฬาโอลิมปิก “ปักกิ่งเกมส์ 2008” ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีของกรุงเทพฯ ในงาน 80 คนดีนำทางแผ่นดิน และรางวัลเชิดชูเกียรติอีกมากมาย
ก่อนจะเข้าเรื่อง คุณชัชรินทร์ ผู้รับหน้าที่พิธีกรถามถึงความรู้สึกที่มีต่อกิจกรรมสานสัมพันธ์ในครอบครัว คุณแอ้ตอบว่ารู้สึกดีมาก เป็นบรรยากาศของความอบอุ่น ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้อาจอยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ตั้งแต่วัยสิบกว่าๆ ก็จะเริ่มมีโลกส่วนตัว มีเพื่อน ดังนั้นควรจะฉกฉวยเวลาช่วงนี้ให้มากที่สุดและต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าขาดช่วงไปเมื่อไหร่ความใกล้ชิดก็จะขาดหายไป
คุณชัชรินทร์ (พิธีกร) กับคุณพรวรินทร์ (วิทยากร) พูดคุยกับผู้ฟังเสวนา
คุณแอ้กล่าวถึงเรื่องการกอดว่า พ่อแม่มักจะกอดลูกในช่วงวัยเด็ก แต่ถ้าหยุดกอดเมื่อไหร่ก็จะกลับไปกอดอีกไม่ได้แล้ว เพราะจะเกิดความเขินอายกันทั้งสองฝ่ายทำให้ห่างเหินกัน อีกประการหนึ่งคือ เรารู้สึกว่าการกอดไม่ใช่เรื่องของคนไทย แต่จริงๆ แล้วการกอดเป็น “ธรรมชาติของมนุษย์” มนุษย์ต้องการสัมผัสตรงนี้มาก คุณชัชรินทร์จึงเสริมว่าควรจะให้การกอดเป็นกิจวัตรประจำวันไป
คุณแอ้กล่าวว่าในวันนี้จึงจะมาเล่าเรื่อง “อิทธิพลของการกอด” ให้ฟัง คุณแอ้ทำงานในฝ่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เธอจึงมีประสบการณ์ที่ทั้งประทับใจ ซาบซึ้งเกี่ยวกับ “การกอด” มาเล่าให้ฟัง โดยเธอเล่าจากประสบการณ์ใกล้ตัวที่สุด คือ สามีที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง หมอบอกว่าสามีจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 4 เดือน สามีของคุณแอ้จึงเกิดความท้อใจและคิดฆ่าตัวตาย คุณแอ้พาสามีกลับบ้าน แต่เธอก็ไม่รู้จะปลอบอย่างไร ได้แต่อาศัยการกอดและพูดซ้ำๆ ว่า “แอ้รักพี่ พี่อย่าตายนะ อยู่กับแอ้นะ” หลังจากนั้นไม่นาน ลูกชายของคุณแอ้ได้ทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นเวลา 11 เดือน สามีของเธอก็ไม่อยากให้ไปเพราะกลัวจะไม่ได้เห็นหน้าลูกอีก แต่คุณแอ้ก็โน้มน้าวให้สามียอมเพราะลูกได้พยายามสอบมาตลอด เมื่อลูกไป สามีของเธอก็เศร้าซึมลง แต่คุณแอ้ก็บอกรัก บอกให้สามีอยู่รอลูกและกอดสามีอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา ประกอบกับลูกก็โทร.มาคุยกับพ่อ เล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง คุณแอ้จึงกล่าวว่าความรักและกำลังใจจากคนในครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจนถึงทุกวันนี้ก็นับเป็นเวลาเกือบเจ็ดปีแล้ว สามีของเธอก็ยังมีชีวิตอยู่
ภาพบรรยากาศในช่วงเสวนา
นอกจากเรื่องการกอดเพื่อถ่ายทอดพลังความรักความห่วงใยให้กับคนใกล้ตัวอย่างสามีแล้ว คุณแอ้ยังมีเรื่อง “พลังแห่งการกอด” อีกมากมาย โดยคุณแอ้ได้รวบรวมจากคนไข้หลายๆ กรณีที่เธอได้ประสบมาและได้ถ่ายทอดมารวมไว้ในหนังสือ “หัวใจเล็กๆ กับปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่” คุณแอ้เลือกบางกรณีมาเล่าสู่กันฟัง เช่น เช้าวันหนึ่งเธอเห็นป้าคนหนึ่งยืนร้องไห้อยู่หน้าตึกโรงพยาบาล เธอก็เดินเข้าไปกอดป้าแล้วสอบถามสาเหตุที่ร้องไห้ ป้าบอกว่าลุงเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย แต่ทางโรงพยาบาลให้พากลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ป้ารู้สึกไม่พร้อมเพราะอยู่กับลุงเพียงสองคน กลัวว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะลำบาก คุณแอ้จึงบอกว่าไม่พร้อมไม่เป็นไร เดี๋ยวเธอจะคุยกับคุณหมอให้ เมื่อคุยกันจบ คุณป้าบอกว่าเย็นนี้ขอนัดเจออีกครั้งได้ไหม เพราะอยากให้คุณแอ้กอดอีก คุณแอ้ก็ตกลงและนัดกอดคุณป้าทุกวันเช้าเย็น จนกระทั่งกอดได้สามวัน คุณแอ้ก็ชวนป้าไปกอดลุง คุณป้าปฏิเสธไม่ยอมไป แต่คุณแอ้แกล้งทำดุจนคุณป้ายอม จนเช้าวันต่อมา คุณแอ้ก็ไปกับป้า แล้วก็โผเข้ากอดลุงแล้วร้องไห้ พร้อมทั้งบอกว่ารักลุง ไม่อยากให้ลุงตาย ลุงเองก็บอกว่าเป็นห่วงป้ามากเหมือนกัน กลัวว่าถ้าตัวเองตายไปแล้วป้าจะอยู่อย่างไร คุณแอ้ได้กล่าวเสริมว่าแสดงให้เห็นว่าสองคนนี้รักกัน แต่ไม่เคยพูดกัน แต่เมื่อมีสัมผัสสู่สัมผัส ใจสู่ใจจึงเกิดความเข้าใจกันขึ้น จากนั้นเป็นต้นมาลุงกับป้าก็กอดกันทุกวันเช้าเย็น และหลังจากนั้นไม่นาน ป้าก็มาบอกคุณแอ้ว่าพร้อมจะพาลุงกลับบ้านแล้ว จะพาไปกอดที่บ้าน แสดงให้เห็นว่าป้ามีกำลังใจพร้อมสู้แล้ว คุณแอ้บอกว่าเธอมีเตียงให้ยืม มีออกซิเจนให้ยืม มีอุปกรณ์ให้ทุกอย่างเหมือนอยู่ที่โรงพยาบาล และหากมีอะไรก็โทร.หาได้ คุณหมอบอกว่ากรณีของลุงจะอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งเดือนเป็นอย่างมาก แต่ลุงกลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความรัก การดูแลและ “การกอด” ทุกวันของป้า
เมื่อเล่าเรื่องการกอดจบแล้ว คุณแอ้ก็ขออาสาสมัครเพื่อมาสาธิตวิธีการกอดเพื่อ “เพิ่มพลังรัก” ได้อาสาสมัครเป็นคุณพ่อคนหนึ่ง คุณแอ้กอดแล้วอธิบายว่า การกอดแบบนี้ไม่เหมือนการกอดแบบอื่น เช่น พ่อแม่ที่กอดลูกแล้วตบหลัง การกอดแบบนี้ให้วางมือหนึ่งกลางหลังแน่นๆ นิ่งๆ ให้กอดนิ่งๆ แน่นๆ นานๆ แล้วถ่ายทอดพลังจากใจสู่ใจ
คุณพรวรินทร์สาธิตวิธีการกอดเพิ่มพลัง
หลังจากคุณแอ้สาธิตการกอดแล้ว ก็ให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาหันไปกอดกันด้วย มีทั้งคุณแม่กอดลูก คุณพ่อกอดลูก ภาพที่เห็นจึงกลายเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและน่าประทับใจ
ส่วนกิจกรรมสานสายใยในครอบครัวก็ยังไม่จบ เพราะอุทยานการเรียนรู้ TK park ยังเปิดพื้นที่ให้คุณแม่และสมาชิกในครอบครัวทำกิจกรรมถ่ายรูปและทำกรอบรูปกันอย่างสนุกสนาน
สุดท้ายนี้ แม้ว่ากิจกรรมจะต้องจบลงแต่หลายๆ ครอบครัวคงจะกำลัง “เริ่ม” การกอดกันและกันเพื่อถ่ายทอดพลังความรัก ความห่วงใยและเป็นการสานสายใยให้แก่กัน เพราะการกอดนั้นเป็นพลังและปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่...
Chestina Inkgirl