การหยิบยกและมุ่งเน้นให้การส่งเสริมการอ่านถือเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชน ที่กำลังจะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพของอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่ง การประชุม Thailand Conference Reading 2011 หรือTCR 2011 ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ จัดขึ้นโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเรียนรู้ในทุกภาคส่วน
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักอุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติ พฤติกรรม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง พร้อมยอมรับว่าความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ขอบเขตพรมแดนในประเทศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไหลเวียนไปยังผู้คนทั่วโลก อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
“ดิฉันเชื่อว่าการรวมกลุ่มกันของประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวในปี 2558 จะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับทุกประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการส่งเสริมการอ่านระหว่างประเทศสมาชิกด้วย ภายใต้ปรัชญา‘Towards ASEAN Citizenship with books and reading’ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้และเสริมสร้างความร่วมมือกันเป็นเครือข่ายภาคีระหว่างประเทศในอนาคต”
สำหรับเนื้อหาของการประชุมในครั้งนี้ เป็นการสำรวจภาพรวมความรู้ด้านการอ่านและการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนโยบายส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไทย ที่มีผลงานและบทบาทเกี่ยวข้องกับนโยบายส่งเสริมการอ่าน การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมของแต่ละประเทศ
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงเพื่อใช้เป็นแนวทางการรณรงค์ระหว่างภาคี ขณะเดียวกันยังเป็นการตอบโจทย์สำคัญในเรื่องของการอ่านทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาของภูมิภาคอาเซียน
“การจัดการประชุม Thailand Conference Reading 2011 เป็นกิจกรรมเชิงวิชาการที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ เข้าใจและมีส่วนสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันพัฒนาพลเมืองอาเซียนให้มีศักยภาพ ด้วยรากฐานความเข้าใจสังคมจากการอ่าน ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาประชากรอาเซียน ให้ก้าวไปให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก”
ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มองว่า การอ่าน คือ เครื่องมือที่นำไปสู่การเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ผ่านตัวอักษร โดยเชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่จะนำไปสู่การเปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น
ด้าน นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมในการปลูกฝังลักษณะนิสัยรักการอ่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักการอ่าน การรับบริจาคหนังสือและการสร้างห้องสมุด ทั้งนี้ จากการที่ยูเนสโกพิจารณาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการอ่านในปี 2556 หรือ World Book Capital 2013 ทำให้เกิดเครือข่ายภาคีต่างๆ ที่จะมาร่วมกันช่วยผลักดันให้เกิดกระแสรักการอ่านและสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ยั่งยืนในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
สำหรับตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการยอมรับว่ามีสถิติการอ่านค่อนข้างสูง ได้บรรยายถึง “ห้องสมุดเพื่อชีวิต-ประสบการณ์ของคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์” โดย นางเกียง-โก๊ะ ไล ลิน ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน และคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้ที่ผลักดันโครงการระดับประเทศอย่าง Read! Singapore ที่ส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์อ่านหนังสือทั้งสี่ภาษาที่เป็นภาษาทางการ นอกจากนี้เธอยังประสบความสำเร็จในการชักชวนกลุ่มคนหลายอาชีพ อาทิ คนขับแท็กซี่ ช่างทำผม เยาวชน พนักงานโรงแรมและข้าราชการ ก่อตั้งชมรมการอ่านของแต่ละกลุ่มอาชีพขึ้น ทำให้การอ่านกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตกลุ่มคนเหล่านี้
ขณะที่ ศาสตราจารย์แอมบิกาปาธี ปานเดน จากประเทศมาเลเซีย ได้นำเสนอรายงานวิจัยในหัวข้อ “ชาวมาเลเซียอ่านหนังสือกันอย่างไร: โครงการริเริ่มการอ่านในระดับบุคคล ในบ้าน และในโรงเรียน”, ส่วน Ms.Nguyen Thi Ngoc Mai รองผู้อำนวยการกรมห้องสมุด กระทรวงการวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยวของประเทศเวียดนาม ได้นำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการของกิจกรรมการอ่านหนังสือเพื่อการส่งเสริมชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในประเทศเวียดนาม” โดยมีการอ้างอิงถึงข้อมูลที่ระบุถึงปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อวัฒนธรรมการอ่านในเวียดนาม
ด้านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย น.ส.สมเพ็ด พงพาจัน ผู้อำนวยการ Room to Read Laos ได้นำเสนอบทความ “การวางแผนกลยุทธ์และพันธกิจขององค์กร Room to Read” ในการลดช่องว่างของการเข้าถึงหนังสือในประเทศลาวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และการลดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพของการศึกษาในเขตเมืองและชนบท เพื่อให้เด็กในพื้นที่ชนบทหลายแห่งสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้มากขึ้น เช่น การบริการห้องสมุด และการปรับปรุงวิธีการสอนของครู เป็นต้น
ทางด้านอินโดนีเซีย ได้นำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง “ตำนานของวัฒนธรรมการไม่รู้หนังสือ: กรณีของเด็กอินโดนีเซีย” โดย รองศาสตราจารย์ เซติโอโน ซูกิฮาร์โต จากมหาวิทยาลัย Atma Jaya Catholic ด้าน นางฟลอร์ มารี สตา โรมานา ครูซ จากประเทศฟิลิปปินส์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งศูนย์สื่อเพื่อเด็กและทำงานด้านการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งเธอได้รับรางวัลจากสมาคมนักอ่านแห่งฟิลิปปินส์ในฐานะผู้อุทิศตนให้กับการสร้างนิสัยและส่งเสริมให้ชาวฟิลิปปินส์รักการอ่าน โดยเธอได้นำเสนอบทความเรื่อง “เด็กฟิลิปปินส์ทุกคนเป็นนักอ่าน”
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก น.ส.ซุก ยีน ลี ผู้อำนวยการห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชน จากประเทศเกาหลีใต้ มาบรรยายพิเศษเรื่อง “กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชนของประเทศเกาหลีใต้” ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้ได้กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 13 ของโลก โดยเปลี่ยนฐานะจากประเทศที่รับการช่วยเหลือจากนานาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ อันเป็นผลมาจากความต้องการที่จะได้รับการศึกษาของประชาชนในชาติเอง
สำหรับตัวแทนจากประเทศไทยที่ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอรายงาน“นโยบายส่งเสริมการอ่านของประเทศไทย: ภาพรวม ปัญหา และแนวทางการสัมมนา”, ศาสตราภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ข้อสังเกตบางประการต่อกระบวนการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของไทย”
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr.Ichiro Miyazawa ตัวแทนจากยูเนสโก มาร่วมอภิปราย “Bangkok World Book Capital 2013” รวมถึงการปาฐกถาเรื่อง “นิสัยการอ่านของคนไทยในมิติด้านวัฒนธรรม” โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และการนำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยส่งเสริมคนไทยให้มีวัฒนธรรมการอ่าน” โดย รศ.ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ สุดท้ายเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ร่วมสร้างรากฐาน อ่าน คิด เรียนรู้ เตรียมคนสู่พลเมืองอาเซียน” โดย นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
โดยนางสุวรรณี ระบุด้วยว่า ในส่วนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) นั้น ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมการอ่านไว้เช่นกัน โดยมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมการอ่านให้เพิ่มขึ้น อาทิ ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปได้ตั้งเป้าให้สามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 และอัตราการอ่านหนังสือของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10 เล่มต่อปี จากเดิมที่เฉลี่ยเพียง 5 เล่มต่อปี
อย่างไรก็ตาม การประชุมเชิงวิชาการ Thailand Conference Reading 2011 ครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการเปิดฉากที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนพลิกโฉมการพัฒนาพลเมือง ‘ด้วยรากฐานจากการอ่าน’ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์วามรู้ของประชาคมอาเซียนให้มีศักยภาพ ตามแผนการขยายและการจุดประกายความคิดทางการอ่าน สู่การพัฒนาภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสัญญาณการเดินเกมรุกอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องในการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้าของภูมิภาคนี้