สำหรับ “คนปกติ” ใน พ.ศ.นี้ แม้แต่เด็กเล็กๆ หรือคนที่ไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพ ก็สามารถถ่ายรูปกันได้ แค่ถือกล้องถ่ายรูปดิจิตอลสักเครื่อง แล้วกดปุ่มลั่นชัดเตอร์ ... ภาพที่เกิดนั้นง่ายดาย ใช้เวลาแค่เสี้ยววินาที
เพียงกะพริบตาเราสามารถจดจำภาพได้ และเพียงนิ้วสัมผัสปุ่มชัตเตอร์เบาๆ เราก็สามารถเก็บภาพได้
เพราะ “ความง่ายๆ” นี่แหละที่ทำให้ ใครหลายคนคงลืมไปแล้ว ว่าอะไรคือ “สิ่งสำคัญ”ที่สุดในการถ่ายภาพ?
กล้อง ฟิล์ม ถ่านแบตเตอรี่ ขาตั้ง เมมโมรี่ นางแบบ นายแบบ สถานที่ หรือ คนถ่าย?
ทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย สำหรับเรา ... “คนปกติ”
แต่ถ้าสมมติให้ “ผู้พิการทางสายตา” หยิบกล้องถ่ายรูป ออกตระเวนไปตามถ่ายภาพบุคคล สิ่งของ สถานที่ตามที่ต่างๆ บ้างล่ะ คนทั่วไปคงไม่อยากเชื่อ ว่าผู้พิการทางสายตา จะถ่ายรูปได้เหมือนคนปกติ ในเมื่อพวกเขาปราศจากอวัยวะที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “ดวงตา”
แต่...บางครั้งสิ่งที่ “ไม่มี” นั้นอาจจะไม่ใช่ “อุปสรรค” เสมอไป
เพราะเมืองไทยจะมีงานนิทรรศการภาพถ่ายโดยผู้พิการทางสายตา! เป็นครั้งแรก!
…………………………………………
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด และกลุ่มคนรักการถ่ายภาพ pict4all ได้ร่วมจัดงานนิทรรศการ “84 ภาพ...ถ่ายด้วยหัวใจ ถวายในหลวง” เนื่องในงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554
นิทรรศการในครั้งนี้เป็นการคัดสรรภาพจากผลงานของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาในโครงการ “สอนคนตาบอดถ่ายภาพ ปี 2554” จำนวนทั้งหมด 84 ภาพ ซึ่งน้องๆ เป็นตัวแทนโรงเรียนละ 10 คนจากภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งหมด 6 โรงเรียน ได้แก่
1. โรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา จ.แพร่
2. โรงเรียนธรรมิกวิทยา จ.เพชรบุรี
3. โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่
4. การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จ.หนองคาย
5. โรงเรียนสอนคนตาบอดและพิการซ้ำซ้อน จ.ลพบุรี
6. โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี
น้องๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการนี้จะได้เรียนรู้และรับการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติการถ่ายภาพแบบต่างๆ จากอาจารย์ผู้ฝึกสอนและอาสาสมัคร
โครงการหัวใจถ่ายภาพ
ในวันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2554 เวลาบ่าย 2 โมง คุณอุ้ม - สิริยากร พุกกะเวส ผู้ดำเนินรายการสาวขึ้นกล่าวทักทายผู้ร่วมงานและสื่อมวลชน ที่มารวมกันอยู่ ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park เพื่อร่วมพิธีเปิดงานนิทรรศการ “84 ภาพ...ถ่ายด้วยหัวใจ ถวายในหลวง” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20-30 ธันวาคม 2554 ณ ลานสานฝัน
รอบๆ บริเวณงาน มีนิทรรศการภาพตั้งวางอยู่มากมาย แต่ทุกภาพนั้นกลับมีกระดาษสีดำสนิทแปะไว้ ชวนให้สงสัยว่าภายใต้กระดาษสีดำเหล่านั้นจะมีภาพอะไรซ่อนอยู่ และบริเวณพื้นยังมีการใช้แผ่น braille block หรือบล๊อคเส้นสีเหลืองนูน เพื่อใช้บอกทางสำหรับผู้พิการทางสายตา ปูวางไว้รอบๆ
ใครหลายคนที่เดินผ่านไปมาคงต้องนึกสงสัยว่าทำไมงานนิทรรศการภาพถ่าย ถึงไม่มีภาพให้เห็นกัน?
ภาพถ่ายที่ถูกปิดเอาไว้ ทำให้ ‘ดวงตา’ ที่ใช้มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ช่วงเวลาระหว่างรอเปิดงาน ก็คงได้แต่ใช้จินตนาการถึงภาพเหล่านั้น
บรรยากาศก่อนจะเปิดงานนิทรรศการ
ภายหลังจาก VTR แนะนำโครงการ “หัวใจถ่ายภาพ” จบลง
ด้านหน้าของลานสานฝัน ผู้บริหารและตัวแทนภาคีได้ขึ้นกล่าวถึงโครงการครั้งนี้ โดยมี คุณรจน์นันท์ เพิ่มเจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ว่าเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์สู่สังคมและเป็นการถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ซึ่งหวังว่างานนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการทางสายตา และคนทุกคนในสังคม มุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ตัวเองฝันไว้
ด้าน คุณนพดล ปัญญาวุฒิไกร ตัวแทนกลุ่มคนรักการถ่ายภาพ Pict4all ผู้ดูแลโครงการ “สอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพ ปี 2554” พูดถึงในส่วนของโครงการการสอนให้แก่น้องๆ ว่าโครงการนี้ได้เริ่มจากความตั้งใจของ อ.ธวัช มะลิลา ที่ต้องการสอนผู้พิการทางสายตาได้ฝึกการถ่ายภาพ เพื่อมีโอกาสที่จะนำภาพไปเป็นเครื่องมือการสื่อสารกับคนตาดี
“การจัดนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะเป็นสะพานเชื่อมโลกระหว่างคนตาดีกับคนตาบอดเข้าด้วยกันแล้ว ยังเป็นเวทีให้ที่จะทำน้องๆ ผู้พิการทางสายตาได้ภาคภูมิใจ และตระหนักถึงความอัจฉริยะของเขาเปี่ยมล้นจริงๆ ทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า คนที่ด้อยโอกาสไม่จำเป็นต้องไร้โอกาส ขอเพียงให้โอกาสเขา พวกเขาก็พร้อมจะแสดงศักยภาพให้เราเห็น”
คุณนพดล กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรม
และ คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย หัวหน้าฝ่ายกิจกรรม อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้บอกเล่าถึงความร่วมมือและการส่งเสริมงานในครั้งนี้ว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้เป็นพื้นที่ในการแสดงผลงาน และเปิดโอกาสให้กับเยาวชนตลอดจนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงนิทรรศการในวันนี้จะเป็นแหล่งในการเรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญนั้นไม่อาจจะมองเห็นได้ด้วยตา แต่มองเห็นได้ด้วยใจ
ถัดมาพิธีกรสาวได้เปิดช่วงสนทนาหัวข้อ “หัวใจถ่ายภาพ...ภาพถ่ายจากหัวใจ ถวายในหลวง” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้
คุณภูวพงษ์ ผจญอริพ่าย ครูอาสาจากกลุ่มคนรักการถ่ายภาพ Pict4all ซึ่งเป็นผู้อบรมสอน น้องๆ ผู้พิการทุกคน ได้เล่าถึงที่มาของโครงการในวันนี้ ว่าตอนแรกในกลุ่ม Pict4all เป็นกลุ่มที่เริ่มจากการอบรมสอนบุคคลทั่วไปให้ถ่ายภาพก่อนและลองคิดดูว่าน่าจะลองเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสบ้าง ซึ่งมองว่าใช้การถ่ายภาพ ให้ดึงประกายความสามารถของคนด้อยโอกาสให้โดดเด่นขึ้นมา
และวิธีการถ่ายภาพของน้องๆ จะแตกต่างกับคนปกติทั่วไป อย่างเช่น การถือกล้อง น้องๆ จะยกกล้องถ่ายรูปชิดกับหน้า เพื่อให้กล้องนั้นตรง จะได้ภาพถ่ายออกมาตรง ซึ่งเทคนิคนี้ภูวพงษ์ยอมรับว่าได้จากการสังเกตและเรียนรู้ท่าทางของน้องๆ ที่ได้อบรมรุ่นแรกๆ ซึ่งนอกจากนี้จะต้องเรียนรู้ถึงการเดินถอยหลังเพื่อกลับมาถ่ายภาพให้ครบตามองค์ประกอบภาพ
ครูอาสาเล่าวิธีการสอนการถ่ายรูป และเทคนิคให้กับน้องๆ
สำหรับในเรื่องการฝึกอบรมนั้น คุณภูวพงษ์ เล่าว่าต้องสอนตั้งแต่การจับกล้อง ว่าปุ่มไหนใช้การอย่างไร เปิดปิดอย่างไร และต้องสอนตั้งแต่การเปิดโชว์ภาพหลังจากถ่ายเสร็จให้คนอื่นดูเป็น จนพัฒนามาสู่การถ่ายรูปคน รูปหมู่และรูปสิ่งของ
อย่างการวางท่าถ่ายรูปบุคคล จะต้องจับตัวคนก่อน ว่าสูงต่ำแค่ไหน มีกี่คน และมีสูตรว่าถ่ายรูปเดี่ยวใช้รูปแนวตั้ง ถ่ายสามคนขึ้นไปใช้แนวนอน และเมื่อจัดท่าเรียบร้อย ต้องถอยหลังกี่ก้าวก่อนจะถ่ายรูป
ดังนั้นถ้านายแบบหรือนางแบบยืนอยู่ คนถ่ายก็ต้องยืนอยู่ ถ้าคนเป็นแบบนั่งอยู่ คนถ่ายก็ต้องนั่งตามด้วย
ตอนแรก ครูอาสาตั้งใจจะสอนเพียงแค่ถ่ายรูปบุคคลภายในหนึ่งวัน แต่น้องๆ สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วภายในครึ่งชั่วโมง ทำให้ต้องสอนการถ่ายรูปอย่างอื่นเข้าไปด้วย ตั้งแต่ถ่ายรูปสิ่งของขนาดเล็ก อย่างดอกไม้ ไปจนถึงถ่ายของขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ซึ่งเด็กๆ จะต้องฝึกนับก้าวในการวัดขนาดของสิ่งของที่จะถ่าย และต้องจำตำแหน่งในการถ่ายให้ได้ เด็กๆ ที่มาฝึกอบรมการถ่ายภาพจึงต้องใช้สมาธิสูงมาก มีการเรียนการสอนมา ไม่ใช่สักแต่ว่าถ่ายกันอย่างเล่นๆ
“ทุกวันนี้คนพิการ เรามักจะมองไม่เห็นค่า แต่ถ้าเขาช่วยตัวเองได้ เขาจะเป็นประโยชน์กับสังคม ซึ่งโครงการนี้ทำแล้วให้ความยั่งยืนกับพวกเขา ถ้าเขาทำได้ ถ่ายภาพได้ ถ้าเขาทำสิ่งนี้ได้ แล้วมีแรงบันดาลใจ ทุกอย่างบนโลกนี้ก็ทำได้หมด ก็จะช่วยเหลือและสอนให้คนอื่นๆ หรือรุ่นน้องที่ขาดโอกาสได้มีโอกาสขึ้นมาอีก”
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวงสนทนา
ส่วน ครูเนาวรัตน์ แคนติ จากโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา เล่าว่าตามปกติในการสอนงานศิลปะในโรงเรียน จะสอนเรื่องการวาดภาพ งานปั้น แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ฝึกอบรมเรื่องการถ่ายภาพ
ตอนแรกเมื่อได้รู้จักโครงการนี้ เธอรู้สึกแปลกใจมากและยังไม่ค่อยเชื่อว่า เด็กๆ ผู้พิการทางสายตาจะทำการถ่ายภาพได้ และยิ่งพอได้ยินว่าจะอบรมให้กับน้องๆ ที่ตาบอดสนิท ทำให้เธอคิดว่า คงเป็นเรื่องยาก แต่ได้ให้โอกาสนักเรียนได้พิสูจน์ฝีมือ และน้องๆ ก็สามารถทำได้เกินกว่าที่คาดหวังไว้
เมธาวี ขุนพลเอี่ยม นักเรียนผู้พิการทางสายตาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อบรม รู้สึกตื่นเต้นมาก เมื่อได้ลองหัดถ่ายรูป โดยเฉพาะตอนที่ฝึกเรียนเทคนิคการถ่ายภาพแบบต่างๆ แต่ครั้งแรกเธอรู้สึกกลัวว่าถ่ายได้รึเปล่า หรือจะโดนพวกครูสอนมาดุรึเปล่าหากถ่ายไม่ได้ แต่พอลองมาคิดว่า...ถ้ามีครูกล้าสอนเธอก็กล้าเรียน
และ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์และประธานกลุ่ม สห+ภาพ : ชุมชนคนถ่ายภาพ แขกรับเชิญพิเศษที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันในวันนี้ เธอเห็นว่าการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะศิลปะการถ่ายภาพ ที่นำไปให้กับผู้ที่ดูมีอุปสรรคทางด้านการมองนั้น เป็นสิ่งสร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องมีวิธีการเรียนการสอนเป็นพิเศษ และเป็นเรื่องยากที่น่าท้าทาย
“ชื่อว่า ‘หัวใจถ่ายภาพ’ นี่เป็นเรื่องจริงนะ ให้คุณใช้อุปกรณ์เลิศขนาดไหน ถ้าใจคุณไม่อยู่ตรงนั้น สัมผัสที่ออกมา ที่ปรากฏให้เห็นในงาน ที่ต้องใช้สายตาถ่ายนั้น มันไม่มี”
ในช่วงท้าย กวีซีไรต์ยังได้กล่าวบทกวีเป็นของฝากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
“แรงบันดาลใจ...
ลอยล่อง เคลื่อนไหว ไร้รูปเสียง
คือสัมผัส อัศจรรย์ อันร้อยเรียง
เป็นสำเนียง และสำนึก สุดลึกล้ำ
คือพลัง มหาศาล งาน...ชีวิต
เมื่อรู้ค่า ย่อมมีสิทธิ์ จะดื่มด่ำ
เปิดกล้อง ส่องใจ ให้ฝังนำ
นามธรรม อันอ่อนไหว จะไหลมา”
คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ร่วมแสดงความคิดเห็นรูป
ร่วมถ่ายภาพที่ระลึก
และก็เดินทางมาถึงในช่วงสำคัญ
ในพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการนั้นได้ให้ผู้ร่วมงานทุกคนร่วมกันเปิดภาพทั้งหมด โดยให้ดึงกระดาษสีดำออก และจะได้เห็นภาพถ่ายสวยๆ ที่ได้คัดเลือกมาทั้งหมด 84 ภาพ ซึ่งมีคำบรรยายใต้ภาพ บอกเล่าแรงบันดาลใจ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และอักษรเบรลล์ เพื่อน้องผู้พิการทางสายตาจะได้อ่านและรับรู้ข้อมูลได้เหมือนคนทั่วไป
ภาพถ่ายฝีมือน้องๆ ได้อวดโฉมในงาน
น้องๆ ลองอ่าน ตัวอักษรเบรลล์ ในคำบรรยายใต้ภาพ
ภายในงานยังมีการจัดแสดงกล้อง และอุปกรณ์ที่ใช้สอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพ กิจกรรมสอนถ่ายภาพแก่น้องๆ ผู้พิการทางสายตา กิจกรรมการทดลองถ่ายภาพโดยจำลองสถานการณ์เป็นคนตาบอด นอกจากนี้ผู้เข้าชมที่สนใจภาพถ่ายฝีมือของน้องๆ ยังสามารถเป็นเจ้าของหนังสือโปสการ์ดทั้ง 84 ภาพ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย
คธาพล ตรัยรัตนทวี