นับถอยหลังจากนี้ไปอีกเพียง 3 ปี คือในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการรวมตัวในระดับภูมิภาคของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิก ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อรับมือกับการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวเสมือนปราศจากเส้นแบ่งพรมแดน การรู้จักเขารู้จักเราอย่างเข้าใจซึ่งกันและกันนับเป็นกลไกสำคัญต่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างยั่งยืน ในแง่มุมนี้มิติของ “การอ่าน” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความเข้าใจและรู้จักเพื่อนบ้าน ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น หนังสือ ห้องสมุด และโรงเรียน เป็นต้น
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2555 “TK Conference on Reading 2012” ขึ้นเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ณ ห้องอโนมาแกรนด์ โรงแรมอโนมา โดยมีนายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เป็นประธานในพิธีฯ
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการประจำปี 2555 หรือ TKCR 2012 เป็นงานที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน ขยายองค์ความรู้และความรับรู้ที่มีต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน ตลอดจนสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศด้านนโยบายการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันให้มากยิ่งขึ้นในฐานะพลเมืองอาเซียน ภายใต้แนวคิด “Towards ASEAN Citizenship with Books and Reading”
การจัดประชุมวิชาการประจำปี เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจของ TK park และในการจัดงาน TKCR 2012 ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการอ่านจาก 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา และบรูไนดารุสซาลาม เข้าร่วม ต่อเนื่องจากการจัดประชุมนำร่องเพื่อสำรวจความรู้และประสบการณ์ของหน่วยงาน ซึ่งดำเนินกิจกรรมโครงการและนโยบายด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมงานแล้ว 7 ประเทศ เมื่อรวมกับการประชุมครั้งนี้ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมครบถ้วนทั้ง 10 ประเทศ
ดร.ทัศนัย กล่าวว่า “การที่เราจะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ต้องยอมรับว่าความเข้าใจที่เรามีต่อประเทศเพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศนั้นกลับมีน้อยมาก โดยบทบาทและภารกิจของอุทยานการเรียนรู้ TK park จึงคิดว่าเราน่าจะสามารถทำความรู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านมิติของการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ หนังสือ และห้องสมุด โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้านที่มีดินแดนใกล้ชิดติดกัน แต่กลับรับรู้ความเป็นไปไม่มากนักอย่างเช่น พม่า ซึ่งปิดประเทศมานาน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ ได้รู้จัก และเข้าใจพม่าเพื่อนบ้านของเรามากขึ้น”
การประชุมในวันแรก (10 พ.ค. 2555) ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ มาบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน”
ด้านแขกรับเชิญจากสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศที่เข้าร่วม ประกอบด้วย ดร.ถั่น ทอ คอง (Dr.Thant Thaw Kaung) ผู้อำนวยการมูลนิธิอนุรักษ์หนังสือพม่า และประธานบริษัทศูนย์หนังสือพม่า นำเสนอรายงานเรื่อง “บทบาทของห้องสมุดพม่าในการพัฒนาความรู้ และกิจกรรมของมูลนิธิอนุรักษ์หนังสือพม่า” (Role Of Myanmar Libraries in Knowledge Development And Activities of Myanmar Book Aid and Preservation Foundation) นายคาล คานน์ (Mr.Kall Kann) ผู้อำนวยการโครงการ Room to Read Cambodia จากประเทศกัมพูชา นำเสนอรายงานเรื่อง “การอ่านและการส่งเสริมนิสัยการอ่านในโรงเรียนระดับประถมของกัมพูชา” (Reading and Promoting Habit of Reading at Primary School in Cambodia) และนางเนลลี่ ดาโต๊ะ พาดูกะ ฮาจจี ซันนี่ (Ms.NELLIE Dato Paduka Haji Sunny) ประธานสมาคมห้องสมุดบรูไน นำเสนอรายงานเรื่อง “การเสริมศักยภาพวัฒนธรรมการอ่าน: มุมมองจากบรูไน” (Empowering a Reading Culture: A Brunei Darussalam’s Perspective)
ในวันที่สอง (11 พ.ค. 2555) ได้รับเกียรติจาก รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง “การรณรงค์ให้คนส่วนใหญ่รักการอ่านเพิ่มขึ้น” นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร.เอ็น วรประสาท (Dr.N Varaprasad) อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (National Library Board) ในฐานะผู้ริเริ่มและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ Read! Singapore มาบรรยายพิเศษเรื่อง “ผลประโยชน์ทางปัญญาและสังคมของการอ่านตลอดชีวิต” (Social and Cognitive Benefits of Lifelong Reading) รวมถึงการอภิปรายในหัวข้อ “สู่ความเป็นพลเมืองอาเซียน ด้วยหนังสือและการอ่าน” โดยวิทยากรจากเพื่อนบ้านสามประเทศ
ดร.ทัศนัย ผู้อำนวยการ TK park กล่าวทิ้งท้ายว่า “หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดประชุมวิชาการ TKCR 2012 ครั้งนี้ จะทำให้เรารู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านอาเซียนผ่านเรื่องราวของการส่งเสริมการ อ่าน การพัฒนาหนังสือ และการพัฒนาห้องสมุด ซึ่งถึงที่สุดทุกเรื่องล้วนเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเกี่ยวพันกับการพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้คนทุกช่วงวัย และหวังว่าเนื้อหาสาระจากการประชุมจะมีส่วนในการขยายองค์ความรู้ด้านการอ่าน การส่งเสริมการอ่าน และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สามารถนำไปใช้พัฒนาต่อยอดการทำงาน และเกิดความตื่นตัวที่จะนำเอาความรู้ แนวคิดและข้อเสนอแนะจากการประชุมไปขยายผลเชิงนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”