หากเปรียบชีวิตการทำงานจริงเป็นสนามแข่งขันที่ต้องอาศัยความชำนาญในการแข่งขัน ‘การซ้อม’ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะต้องหมั่นกระทำอยู่เสมอ ในวิชาชีพนักเขียนก็เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะลงไปสู่สังเวียนนักเขียนอย่างเต็มตัว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อที่จะต่อสู้เอาตัวรอดในสังเวียนนี้ให้ได้
กลับมาอีกครั้ง สำหรับโครงการอบรมนักเขียนดีๆ กับโครงการ TK Young Writer 2012 ที่อุทยานเรียนรู้ TK park เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีอายุระหว่าง 16-23 ปี ได้ซ้อมใหญ่ก่อนจะลงสู่สังเวียนนักเขียน โดยผ่านการฝึกปรือจากนักเขียนมืออาชีพอย่าง ปราบดา หยุ่น, วิภว์ บูรพาเดชะ, ภาณุมาศ ทองธนากุล, จักรพันธุ์ ขวัญมงคล, พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล และ ณัฐจรัส เองมหัสสกุล อบรมยาวต่อเนื่องระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม - 16 กันยายน 2555 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park
แต่ก่อนที่จะเข้ามาซ้อมใหญ่ได้ น้องๆ ต้องส่งผลงานเขียนเรื่อง “สังเวียนความฝัน” มาให้พิจารณา ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจส่งเข้ามามากมาย และคัดเลือกจนเหลือเพียง 33 คน ที่นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องการเขียนอย่างเข้มข้นแล้ว น้องๆ นักเขียนหน้าใหม่ทุกคนจะได้ร่วมกันทำ E-Book และหนังสือเล่มจริงๆ เพื่อเป็นผลงานติดตัวต่อไป และผลงาน 3 ชิ้นที่ดีที่สุด จะได้ตีพิมพ์ลงนิตยสารจริงอีกด้วย
เริ่มต้นซ้อมใหญ่วันแรกในวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา น้องๆ นักเขียนหน้าใหม่ทยอยมาลงทะเบียนกันอย่างคึกคัก โดยก่อนที่จะมาในวันนี้ ก็มีการบ้านให้น้องๆ เตรียมตัวมาก่อน นั่นคือการนำหนังสือที่อ่านแล้วทำให้อยากเป็นนักเขียนมาคนละเล่ม
พี่ๆ นักเขียนแนะนำหนังสือที่ทำให้อยากเป็นนักเขียน
กิจกรรมแรกคือการแนะนำตัวพี่นักเขียนแต่ละคน โดยการแนะนำหนังสือที่ทำให้อยากเป็นนักเขียนมาเล่าให้น้องๆ ฟังถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเล่มนี้ พี่วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร happening เลือกหนังสือที่ชื่อว่า แด่หนุ่มสาว เขียนโดย กฤษณมูรติ แปลเป็นภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พี่วิภว์เล่าว่าเป็นหนังสือผลงานของนักปรัชญาชื่อดังที่อ่านตอนเรียนมหาวิทยาลัย และอ่านเนื้อความส่วนหนึ่งในเล่มให้น้องๆ ฟัง ใจความว่า “ทำไมเราต้องแย่งชิงกันเข้ามาศึกษาเล่าเรียนด้วย เป็นเพราะต้องการสอบผ่านและได้งานอาชีพใช่หรือไม่ หรือหน้าที่ของการศึกษาคือการช่วยเพิ่มพูนญาณทัศนะความรู้ความเข้าใจในชีวิตทั้งหมดให้แก่เรา ในขณะที่เรายังเยาว์อยู่ แน่นอนว่าการมีงานทำและการเลี้ยงชีพเป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่นคือจุดประสงค์ทั้งหมดของชีวิตหรือเปล่า เราต้องการการศึกษาเล่าเรียนเพื่อสิ่งนั้นแต่เพียงสิ่งเดียวเท่านั้นหรือ หามิได้ เพราะชีวิตไม่ได้หมายถึงการมีงานทำเท่านั้น ชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ทั้งกว้างขวางและลึกซึ้ง ชีวิตเป็นความลับอันยิ่งใหญ่ เป็นอาณาจักรอันไร้ขอบเขตที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะของมนุษย์ ถ้าหากเรามัวกังวลเพียงแต่เรื่องการเลี้ยงชีพอย่างเดียวแล้ว เราก็จะพลาดจากจุดมุ่งหมายของชีวิตไปโดยสิ้นเชิง”
ทางด้าน พี่ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล คอลัมนิสต์เจ้าของผลงานอย่าง พิพิธภัณฑสถานแห่งฉัน และ อ่านออกเสียง ได้เล่าประวัติเรื่องชื่อ ต๊ะ ของตนเอง ซึ่งแต่เดิมชื่อ เม่น แต่ชื่อ ต๊ะ มาจากคนเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ต๊ะ ท่าอิฐ เจ้าของผลงาน ลำนำรักจากเกลียวคลื่น ซึ่งเป็นหนังสือที่พ่อของพี่ต๊ะอ่าน ช่วงนั้นพ่อไปซื้อบ้านแถวชุมชนการเคหะท่าทราย เลยเรียกชื่อล้อนักเขียนที่ชอบว่าเป็น ต๊ะ ท่าทราย พอโตมาจึงไปหาหนังสือของ ต๊ะ ท่าอิฐ มาอ่าน ทำให้รู้จักชื่อเสียงของนักเขียนท่านนี้มากขึ้น ต๊ะ ท่าอิฐ เป็นนามปากกาของ ชูศักดิ์ ราษีจันทร์ เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง มีผลงานเขียนสารคดีชีวิตของมัคคุเทศก์ในชุด ไกด์บางกอก และมีผลงานสารคดีที่มีชื่อเสียงอีกหลายชิ้น โดยใช้นามปากกาที่แตกต่างกันออกไป ส่วนนามปากกา ต๊ะ ท่าอิฐ มาจากผลงานนวนิยายแนวบู๊ที่มีฉากรักวาบหวาม พี่ต๊ะจึงพยายามเขียนหนังสือในมีความงดงามทางภาษาเหมือนนักเขียนท่านนี้ ก่อนจะกลายเป็นคนอ่านคนเขียนหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้
พี่ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ polkadot เล่าว่าได้เรียนด้านกราฟิกดีไซน์ โดยเริ่มต้นการทำงานด้านออกแบบที่นิตยสาร hamburger ก่อนจัดพลัดจับผลูเข้ามาเขียนหนังสือ โดยที่ไม่ได้เรียนด้านการเขียนหนังสือมาเลย จึงไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน และได้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Knock Knock ทำให้ได้เขียนหนังสือแบบจริงจัง ทั้งเขียนข่าว บทบรรณาธิการ และบทสัมภาษณ์ เหตุผลที่เขียนหนังสือได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชอบอ่านหนังสือที่ติดนิสัยมาจากคุณแม่ตั้งแต่เด็ก พออ่านเยอะก็อยากเขียนบ้าง หนังสือเล่มแรกที่อ่านคือนิยายเรื่อง ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน ของ ประภัสสร เสวิกุล หลังจากนั้นก็อ่านไปเรื่อยๆ ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็มีอารมณ์อยากอ่านหนังสือต่างประเภทกันไป ซึ่งตอนนี้พี่ตุ๊กตากำลังอ่านหนังสือเรื่อง 1Q84 ของ ฮารูกิ มูราคามิ เพราะว่าติดตามอ่านงานของนักเขียนท่านนี้มาตั้งแต่เล่มแรกๆ ที่มีการแปลเป็นภาษาไทย เป็นเพราะชอบวิธีการเขียน ในตัวละครหรือฉากต่างๆ มีทั้งเหนือจริงและเหมือนจริง พี่ตุ๊กตาแนะนำว่าให้ลองอ่านศึกษางานของนักเขียนแต่ละคนตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มปัจจุบัน จะทำให้เราเห็นพัฒนาการของนักเขียนคนนั้นๆ และสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนรู้เรื่องการเขียนของเราได้
ปิดท้าย พี่เต้ย-ภาณุมาศ ทองธนากุลเจ้าของนามปากกา ใบพัด ที่มีผลงานอย่าง การลาออกครั้งสุดท้าย และ เราจะมีชีวิตที่ดี พี่เต้ยเล่าว่าตอนเด็กๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่บางทีก็อยากเข้าห้องสมุดบ้าง แต่โดนเพื่อนล้อว่าเข้าห้องสมุดทำไม จึงอายไม่อยากเข้า พี่เต้ยทำงานอาชีพแรกเป็นนักข่าวสายธุรกิจ แต่ไม่มีทักษะเหมือนเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่ชอบอ่านหนังสือ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานที่ดูไม่มีความก้าวหน้า เพราะไม่มีภูมิปัญญาความรู้เลย เนื่องจากไม่ชอบอ่านหนังสือ หลังจากนั้นจึงอ่านหนังสือทุกเล่มที่อยากอ่าน ได้เจออาจารย์ดีๆ ที่คอยแนะนำหลายต่อหลายท่าน และได้ทำงานกับคนเก่งๆ หลายท่านอย่างอาจารย์ธัญวัฒน์ ชัยตระกูลชัย, พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง, พี่โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน ทำให้พัฒนาตนเองจนสามารถเป็นนักเขียนเต็มตัวได้อย่างทุกวันนี้ พี่เต้ยแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่ไปเจอในร้านหนังสือมือสอง เป็นหนังสือที่เขียนโดยนักธุรกิจ มีชื่อว่า สอนลูกให้ดี เขียนโดย จี.คิงส์ลี่ย์ วอร์ด แปลโดย สมิทธิ์ จิตตานุภาพ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประโยชน์ไม่ใช่แค่เรื่องการเขียน แต่ยังนำไปสู่เรื่องแนวทางในการทำงานและดำรงชีวิต กล่าวถึงพ่อคนหนึ่งที่สังเกตพัฒนาการของลูกโดยเขียนเล่าผ่านรูปแบบจดหมาย ที่เปรียบเสมือนเป็นกระจกมองข้างของชีวิตลูก
ถึงคราวน้องๆ แนะนำบ้าง
หลังจากพี่ๆ นักเขียนแนะนำหนังสือแล้ว ต่อไปก็ให้น้องๆ ทั้ง 33 คนแนะนำตัวเองพร้อมกับหนังสือที่อ่านแล้วอยากเป็นนักเขียน ซึ่งแต่ละคนต่างเรียนในสาขาที่แตกต่างกันออกไป และหนังสือที่เลือกมาก็มีทุกประเภท แทบไม่ซ้ำกันเลย แสดงให้เห็นถึงความสนใจของเยาวชนนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลาย ที่ใช้หนังสือเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือ
มาถึงคราวของพี่เลี้ยงบ้าง เริ่มต้นที่ พี่ปุ้ม-จรัญพร พึ่งโพธิ์ กองบรรณาธิการนิตยสาร happening เลือกหนังสือ ความฝันของคนวิกลจริต ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เพราะว่าอ่านแล้วรู้สึกทำให้ชีวิตดูมีความหวัง พี่เฮง-วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย กองบรรณาธิการนิตยสาร happening เลือก โลกของจอม ของ ทินกร หุตางกูร เพราะว่าเป็นหนังสือที่อ่านเพราะว่าเพื่อนคนหนึ่งมีบุคลิกคล้ายตัวละครในเรื่อง และทำให้พบว่าการเขียนหนังสือสักเล่มต้องใช้ความรู้อันหลากหลายแขนงมากกว่าจะเป็นหนังสือสักเล่มได้ พี่ตูน-อนัญญา คูเอี่ยม รุ่นพี่จากโครงการ TK Young Writer 2011 เลือก ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ ของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ เพราะว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของญี่ปุ่นที่สนุกมากและทำให้ได้คิดต่อด้วย
ปิดท้ายการอบรมในช่วงเช้าด้วยสิ่งที่พี่ๆ ฝากไว้ พี่วิภว์ฝากไว้ว่าหนังสือก็เหมือนตัวแทนของคนได้และใช้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนได้เหมือนกัน พี่ต๊ะกล่าวว่าชอบเวลาที่น้องๆ พูดถึงหนังสือที่ตัวเองชอบ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นนักเขียนหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ได้จากหนังสือคือสร้างแรงบันดาลใจว่าเราก็เขียนหนังสือได้ ส่วนพี่ตุ๊กตาฝากไว้ว่า การมีความฝันเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานมาก ไม่ว่าความฝันจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม และยิ่งถ้าความฝันเป็นความจริงขึ้นมา เราจะมีความสุขมาก น้องๆ ที่เข้ามาในโครงการนี้ถือเป็นการเริ่มต้นเขียนหนังสือที่ดี แม้ว่าปลายทางอาจจะใช่หรือไม่ใช่ทางที่ตนเองชอบก็ตาม
ชีวิตของนักเขียนโดยพี่เต้ย ใบพัด
ในช่วงบ่ายเป็นการอบรมในหัวข้อ “ชีวิตของนักเขียน” โดย พี่เต้ย-ภาณุมาศ ทองธนากุล ที่มาเล่าชีวิตการเป็นนักเขียนของตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมให้น้องๆ ได้รู้จักชีวิตของนักเขียนจริงๆ
พี่เต้ยเริ่มต้นกล่าวว่า ชีวิตของเราต่างฟังเสียงของคนอื่นมาเยอะ กลัวว่าคนอื่นไม่ชอบเรา ต้องทำตามคนอื่นเพื่อต้องการการยอมรับ ซึ่งไม่ดีต่อการทำงานเขียนที่ต้องอยู่กับตัวเอง เพราะชีวิตนักเขียนเป็นวิถีทางที่ไม่เหมือนคนอื่น ถ้าเลือกเส้นทางนี้มาแล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ พี่นักเขียนหลายคนบอกว่าอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่หนักและลำบาก แต่ไม่ได้หนักและลำบากกว่าอาชีพอื่น ถ้าเราเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาชีพนี้ว่าการเขียนเป็นอย่างไร จะทำให้เราเตรียมใจก่อนได้ เหมือนการทำแผนที่ที่คนทำเท่านั้นจึงจะรู้ว่าเส้นทางไหนถูกต้อง แต่เราไม่มีเวลามากพอจะค้นหาทุกเส้นทาง ถ้ามีโอกาสได้มาฟังพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ในค่ายนี้หรือได้อ่านชีวิตนักเขียน ก็ดีกว่าที่เราต้องไปเผชิญเอง เพราะประโยคๆ เดียวเขาอาจใช้เวลากว่าสิบปีเพื่อเขียน ทำให้ช่วยย่นระยะเวลาการลองผิดลองถูกได้
คำถามที่ว่านักเขียนสามารถอยู่รอดได้ไหม พี่เต้ยจึงอธิบายถึงรายได้ของนักเขียนว่า สมมติหนังสือราคา 100 บาท นักเขียนจะได้เงิน 10 เปอร์เซ็นต์จากราคาหนังสือ เท่ากับ 10 บาท ถ้าพิมพ์จำนวน 3,000 เล่ม ก็จะได้เงิน 30,000 บาท แต่ถ้าพิมพ์ครั้งที่สองก็จะได้รายได้เพิ่มขึ้นมาอีก ส่วนเงินที่เหลือนอกจากนั้นจะเสียเป็นค่าสายส่งที่จำหน่ายไปตามร้านต่างๆ และที่เหลืออีกส่วนหนึ่งก็เป็นค่ากระดาษและของสำนักพิมพ์
พี่เต้ยยกตัวอย่างการ์ตูนเรื่อง Bakuman ที่พูดถึงวงการนักเขียนการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันสูงมาก มีตัวละครหนึ่งพูดว่า “คนที่ดำรงชีวิตได้ด้วยการเป็นนักเขียนก็ต้องเป็นอัจฉริยะเท่านั้น ถ้าไม่เป็นอัจฉริยะก็อยู่ในระดับที่เป็นนักเสี่ยงดวง” หมายความว่าสมมติถ้าเขียนออกมาแล้วโชคดีติดอันดับขายดีสักเล่ม ก็อาจจะอยู่ได้สบาย แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถอยู่กับวิชาชีพนี้แบบมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำเล็กๆ ไม่ต้องร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยความสุขได้
ในการจะดำรงอาชีพนักเขียน ต้องหาวิธีการไม่ให้เรื่องอื่นมากระทบความฝันเรา เหมือนนักรบที่มีดาบยกขึ้นฟาดฟัน แต่ปรากฏว่าที่ตัวมีแผลเหวอะหวะ เป็นเพราะเราลืมใช้โล่ไว้ป้องกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะใส่ใจนอกจากเทคนิคการเขียน คือทักษะในการจัดการเรื่องอื่นๆ ไม่ให้มาคุกคามเราขณะที่เรามีความฝัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่เต้ยทำมาตลอดหลายปี นับตั้งแต่ลาออกจากการเป็นพนักงานกินเงินเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่เต้ยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ การลาออกครั้งสุดท้าย นั่นเอง
พี่เต้ยแนะนำเทคนิคหนึ่งเรื่องการเขียน คือการพาตัวเองไปอยู่กับสิ่งๆ หนึ่ง จะทำให้เราอยากนำเรื่องนั้นๆ มาเขียนหนังสือมากขึ้น พี่เต้ยเล่าว่าเคยวางแผนว่าอยากลองเที่ยวแบบลากเส้นต่อจุด จึงไปเป็นเด็กฝึกงานที่สปาแห่งหนึ่งที่เกาะสมุย ก่อนจะย้ายเกาะไปเรื่อยๆ ทำให้ได้ไปทำกิจกรรมหลายอย่างในเกาะต่างๆ ซึ่งพี่เต้ยได้นำประสบการณ์นี้มาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง ติดเกาะ พี่เต้ยเน้นย้ำว่าการเขียนไม่ใช่เขียนแล้วออกไปหาข้อมูล แต่ต้องตุนข้อมูลไว้ก่อน เหมือนการตุนอาหารเข้าตู้เย็น ทำให้เป็นผลดีกับการสร้างงานและเปิดมุมมองในการเขียนมากขึ้น พี่โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เคยกล่าวไว้ว่า คนเราจะเหนือชั้นกว่าคนอื่นด้วยเรื่องสองเรื่อง หนึ่งคืออ่านหนังสือ สองคือออกเดินทาง
ในประเด็นเรื่องการต่อยอดจากการเขียน พี่เต้ยยกตัวอย่าง พี่ต้อ-บินหลา สันกาลาคีรี ที่เป็นผู้บรรยายเก่งมาก เพราะนักเขียนบางคนสามารถนำการเขียนมาถ่ายทอดผ่านการพูด การเขียนจึงไม่ใช่แค่การเขียนอยู่บนหน้ากระดาษอย่างเดียว เราสามารถขยายไปเป็นคนเขียนบท เป็นครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ หรือเป็นนักพูดก็ได้ ถ้าเราสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาได้ดี ต่อให้ไม่ยึดอาชีพนักเขียนจากวันนี้ไป ยังไงวิธีการฝึกฝนตัวเองแบบนี้ก็ดีกับชีวิตแน่นอน
ช่วงสุดท้าย พี่เต้ยกล่าวถึงสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนเป็นนักเขียนว่า
1. เป็นมนุษย์ที่หาเรื่องใส่ตัว คือการทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น อ่านหนังสือแปลกๆ ไปใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยใช้
2. เป็นเด็กพิเศษ ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่ขอให้เชี่ยวชาญเฉพาะบางด้านให้มากๆ เหมือนคนที่สูญเสียการมองเห็น แต่มีทักษะในการฟังมากขึ้น
3. จงเยอะ มีความรู้เป็นพิเศษและใส่ใจละเอียดลออกับเรื่องบางเรื่อง
4. Self มั่นใจในผลงานของตนเองระหว่างที่ทำงาน ว่าทำดีที่สุดแล้ว
5. เป็นนักรื้อ เป็นคนช่างสังเกตวิเคราะห์กับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะนักเขียนนิยายต้องรู้จักวิเคราะห์หนังสือให้ละเอียด
6. ตามหานักกายภาพบำบัด เราจะไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่รักแน่ๆ ถ้าไม่มีคนชี้ทางให้
เปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัย
ต่อจากนั้น พี่ๆ นักเขียนเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ซักถามสิ่งที่ยังสงสัยกันแบบเต็มที่ คำถามดีๆ มากมายถูกยิงออกมาจากความคิดของน้องๆ นอกจากเจ้าตัวจะได้คำตอบแล้ว ยังเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับน้องๆ คนอื่นด้วยเช่นกัน
หลังเสร็จสิ้นจากการซ้อมใหญ่ในวันแรกไปแล้ว ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าในวันต่อๆ ไปน้องๆ นักเขียนหน้าใหม่จะได้เรียนรู้และฝึกซ้อมอะไรกันอีกบ้างตลอดค่ายนี้ และที่สำคัญหลังจากการฝึกซ้อมใหญ่นี้ผ่านพ้นไปแล้ว น้องๆ จะเติบโตต่อไปในสังเวียนนักเขียนได้อย่างไร
คนหนึ่งในสังเวียนนักเขียน