มีความท้าทายนานาประการกำลังเกิดขึ้นกับห้องสมุดประชาชนทั่วโลก อันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงในการเข้าถึงสารสนเทศด้วยอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนไปด้วย ส่งผลให้ห้องสมุดสูญเสียฐานะผู้ผูกขาดในการให้บริการสารสนเทศ และต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีพื้นฐานหรือแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกหลายประเภท
เยนส์ ธอร์ฮาวเกอ (Jens Thorhauge) ที่ปรึกษาการพัฒนาห้องสมุด ประเทศเดนมาร์ก ให้ข้อมูลว่า คนรุ่นใหม่ในเดนมาร์กใช้สื่อออนไลน์เฉลี่ย 3.5-4 ช่วโมงต่อวัน ในขณะที่อัตราการอ่านหนังสือลดลง มีเด็กซึ่งออกจากโรงเรียนกลางคันถึง 15% อันเนื่องมาจากปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ทั้งๆ ที่เมื่อ 20 ปีก่อนห้องสมุดเต็มไปด้วยเด็กๆ แต่ตอนนี้คนกลุ่มนี้หายไปอย่างเห็นได้ชัด ห้องสมุดประชาชนมีอัตราการยืมหนังสือลดลงอย่างต่อเนื่องประมาณ 6% ต่อปี อาจเป็นเวลาที่ต้องนับถอยหลังไปสู่วันที่ไม่มีคนยืมหนังสืออีกแล้วก็ได้
แต่ข่าวดีก็คือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้จำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุดกลับเพิ่มขึ้น หมายความว่าชาวเดนิชยังคงนิยมเข้าห้องสมุด แต่ไม่ใช่เพื่อยืมหนังสือ พวกเขามาใช้บริการด้วยเหตุผลที่หลากหลายออกไป เช่น ต้องการใช้สถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาค้นคว้า มาประชุม เข้าฟังการบรรยาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ มีนักวิชาการวิเคราะห์ไว้ว่า ความรู้ส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะจะบรรจุไว้ในชั้นหนังสืออีกแล้ว ในขณะที่ห้องสมุดกลับยังคงยึดติดอยู่กับหนังสือแบบกายภาพ
ในสถานการณ์เช่นนี้ ห้องสมุดมีทางออกอยู่ 3 ทาง คือ
ทางที่ 1 รักษาการให้บริการรูปแบบเดิมไว้ ซึ่งยังสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ยังคุ้นเคยกับการเข้ามาที่ห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือ แต่จะค่อยๆ สูญเสียผู้ใช้บริการที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกปรับลดงบประมาณและปิดตัวไปในที่สุด
ทางที่ 2 ปรับตัวให้กลายเป็นห้องสมุดดิจิทัล โดยการต่อยอดการให้บริการสารสนเทศดิจิทัลไปพร้อมกับการรักษาสถานภาพของห้องสมุดแบบที่เคยเป็นมา ดูเหมือนเป็นแนวทางที่น่าจะใช้การได้และสมเหตุสมผลหากสามารถเอาชนะอุปสรรคด้านลิขสิทธิ์ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการในเชิงพาณิชย์อีกหลายราย
ทางที่ 3 ออกแบบการให้บริการของห้องสมุดเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนที่อยู่ในโลกโลกาภิวัตน์และยุคสมัยดิจิทัล โดยอาจต้องละทิ้งการมุ่งเน้นทรัพยากรหนังสือ แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นแนวทางที่ยากที่สุดแต่น่าจะเป็นหนทางที่ยั่งยืนที่สุดสำหรับห้องสมุดประชาชน
ห้องสมุดประชาชนเดนมาร์กเลือกเผชิญกับความท้าทายของยุคสมัยตามแนวทางที่ 3 ภายใต้โครงการโมเดลแห่งเดนมาร์ก ด้วยการออกแบบแนวคิดใหม่เพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้คนอย่างแท้จริง แนวคิดที่ว่านี้เรียกว่าแบบจำลองจัตวากาศ หรือ Four Spaces Model ซึ่งถูกพัฒนามาจากการทบทวนประสบการณ์ของห้องสมุดทั้งระดับชาติและนานาชาติ ก่อนที่จะนำไปประยุกต์ใช้และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของห้องสมุดต่างๆ ทั่วประเทศเดนมาร์ก
ห้องสมุดประชาชนตามโมเดลนี้เป็นไปเพื่อ เป้าหมาย 4 ประการ คือ ประสบการณ์ (experience) การมีส่วนร่วม (involvement) การเสริมพลัง (empowerment) และ นวัตกรรม (innovation) เป้าหมาย 2 ประการแรกเกี่ยวเนื่องกับการรับรู้ระดับปัจเจก คือการสนับสนุนประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของบุคคลในการค้นหาความหมายและอัตลักษณ์ในสังคมที่ซับซ้อน เป้าหมาย 2 ประการหลังเน้นการสนับสนุนเป้าหมายทางสังคม คือการเสริมพลังเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประชาชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ สามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ สนับสนุนการหาคำตอบใหม่สำหรับแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติ หรือการพัฒนาแนวคิดที่เป็นสิ่งใหม่
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ห้องสมุดจำเป็นต้องมี พื้นที่ 4 ลักษณะ เพื่อรองรับกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
พื้นที่การเรียนรู้ (learning space) เพื่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าและค้นพบโลก ซึ่งอาจจะมีรูปแบบเป็นพื้นที่ทางกายภาพหรือพื้นที่เสมือนก็ได้ เช่น e-learning อาจเพิ่มบริการการให้คำปรึกษาในชีวิตประจำวันหรือการทำงานโดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีจิตอาสา ห้องสมุดแห่งหนึ่งของเดนมาร์กเห็นปัญหาของเด็กที่เป็นบุตรหลานของผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติ ซึ่งประสบปัญหาการเรียนเพราะครอบครัวใช้ภาษาเดนิชได้ไม่ดีนัก จึงได้จัดกิจกรรมสอนการบ้านให้กับเด็กๆ 2-3 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน
พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ (inspiration space) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ โดยเน้นไปที่การจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลาย สำหรับเด็กๆ การเล่นเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอย่างหนึ่ง ห้องสมุดจึงอาจสร้างสนามเด็กเล่นไว้ด้วยก็ได้ นอกจากนี้อาจนำสื่อสมัยใหม่มาช่วยสร้างสีสันในการนำเสนอเนื้อหาสาระ
พื้นที่พบปะ (meeting space) เป็นพื้นที่สาธารณะแบบเปิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งการพบปะกันอย่างอิสระแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งมักถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งๆ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด คนในสังคมตะวันตกค่อนข้างมีความโดดเดี่ยวในจิตใจเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมตะวันออก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ห้องสมุดจะมีพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
พื้นที่แสดงออก (performative space) มุ่งเน้นการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ ห้องสมุดอาจจัดหาอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ หรือโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่จำเป็น มีการจัดเวิร์คช็อปเพื่อพัฒนาความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน เช่น ภาพถ่าย ภาพวาด หรือผลงานจากเครื่องพิมพ์สามมิติ
การออกแบบพื้นที่ทั้ง 4 ลักษณะ มีองค์ประกอบ 3 ด้านที่พึงพิจารณาให้มีความสอดคล้องกัน คือ
(1) พื้นที่กายภาพ (physical space)
(2) การออกแบบภายใน (interior design) และ
(3) เฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวก (furniture and other facilities) รวมทั้งกิจกรรมและรูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ (activities and behavioral patterns)
ทั้งนี้ ความท้าทายคือการนำผู้ใช้ไปสู่ประสบการณ์ใหม่ สู่การค้นพบที่ไม่คาดฝัน สู่แรงบันดาลใจใหม่ ตัวอย่างของห้องสมุดประชาชนเดนมาร์กที่มีการทดลองปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว 3 แห่ง ได้แก่
Hjørring Central Library ซึ่งมีแถบสีแดงเป็นเส้นนำทางผู้ใช้บริการไปพบกับภูมิสถาปัตย์และพื้นที่ในห้องสมุด จากห้องสมุดบรรจุหนังสือแบบดั้งเดิมที่มีชั้นสูงพร้อมกับเก้าอี้นวมยาว ผ่านไปยังห้องอ่านหนังสือใน Royal Library ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องเล่นสำหรับเด็ก การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับกิจกรรมแสดงออก และอื่นๆ อีกมากมาย
The Rentermestervej Library ห้องสมุดสีทอง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองโคเปนฮาเกนที่ซึ่งป้ายบนพื้นและผนังในพื้นที่ต่างๆ ถูกผสานด้วยหลักการออกแบบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งในด้านสี แสง รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ บรรยากาศ และกิจกรรม องค์ประกอบด้านการออกแบบเหล่านี้ส่งเสริมความหลากหลายของสิ่งที่นำเสนอและสิ่งที่เป็นไปได้ภายในห้องสมุด
Ørestad Library ในเมืองโคเปนฮาเกน ซึ่งเป็นอาคารใหม่ล่าสุดที่สร้างบนพื้นที่เปล่าในย่านนั้นเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล ผู้ใช้บริการจะได้ชมคลิปภาพยนตร์ ได้ฟังการบรรยายและได้ดูภาพที่นำเสนอในสื่อของห้องสมุดนี้ ทุกชั้นมีการติดตั้งจออินเทอร์แอคทีฟที่แสดงเนื้อหาของชั้นนั้น ทุกพื้นที่มีไอแพดให้คำแนะนำสำหรับการค้นคว้าเพิ่มเติมในหัวข้อที่ผู้ใช้สนใจ หลักการออกแบบของที่นี่เชื่อมโยงกับปรัชญาที่ว่ากิจกรรมทั้งหมดในห้องสมุดควรจะถูกสะท้อนและนำเสนอบนเว็บ
นอกจากนี้ แนวโน้มของห้องสมุดในแถบยุโรปตอนเหนือยังมีมุมมองต่อห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคม นักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายไม่ได้คิดว่าห้องสมุดเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับนำเสนอสารสนเทศหรือสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเรียนรู้แก่พลเมือง แต่มองไปไกลถึงขั้นว่า ห้องสมุดจะต้องเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันเมืองไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นเมืองที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อมวลมนุษย์ นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ลักษณะที่ 5 (The Fifth Space) ของห้องสมุดประชาชน
มีห้องสมุดประชาชนของเดนมาร์กหลายแห่งที่ได้มีบทบาทต่อการพัฒนาเมือง ดังเช่นตัวอย่างของห้องสมุด 3 แห่ง คือ
Helsingør Library ก่อตั้งขึ้นในเขตเมืองอุตสาหกรรมที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวเมืองเล็งเห็นว่าพวกเขาขาดแคลนพื้นที่สาธารณะเพื่อความงอกงามของชีวิต จึงริเริ่มปรับปรุงพื้นที่ของอู่จอดเรือให้กลายเป็นอุทยานทางวัฒนธรรมและห้องสมุด
The Rentermestervej Library ซึ่งดัดแปลงลานจอดรถที่ใหญ่โตให้เป็นมีเดียเฮ้าส์และพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวเมือง มีพื้นที่สำหรับเล่นกีฬา สนามเด็กเล่น และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
Herning library เกิดจากการปรับปรุงซูเปอร์มาร์เก็ตที่ปิดกิจการแล้วให้กลายเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตชีวา และใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวเมือง เนื่องจากตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรผ่านไปยังสถานีรถไฟฟ้าและแหล่งจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน
เยนส์ ธอร์ฮาวเกอ กล่าวว่า โครงการโมเดลแห่งเดนมาร์ก และ แบบจำลองจัตวากาศ ไม่ใช่เป็นคู่มือสำเร็จรูปเพื่อให้ห้องสมุดในบริบทสังคมอื่นปฏิบัติตาม หากแต่เป็นเสมือนตัวอย่างที่ให้แรงบันดาลใจ อันที่จริงแล้วธรรมชาติของห้องสมุดประชาชนแบบใหม่ควรจะหยั่งรากในชุมชนท้องถิ่น ร่วมสร้างและเชื่อมโยงกับแรงผลักดันอื่นในชุมชน รวมทั้งมีพลวัตในการตอบสนองต่อความต้องการใหม่ของชุมชนที่รับบริการ
หากอยากเปลี่ยนแปลงห้องสมุดจากการเน้นคลังหนังสือและข้อมูล ไปสู่องค์กรที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ผู้ที่ทำงานจะต้องเรียนรู้เองด้วยการลงมือปฏิบัติ ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่ยาวไกล โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ทุ่มเทศักยภาพใหม่ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งต้องหมั่นตรวจสอบผลจากการทดลองทำ อุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้าก็คือ ทุกภาคส่วนขององค์กรอาจไม่ได้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติด้านลบของบุคลากรที่เติบโตมาพร้อมกับโครงสร้างแบบเก่า ดังนั้นอาจจะต้องค่อยๆ เปลี่ยนแปลงองค์กรไปพร้อมกับกระบวนทัศน์ใหม่ และบางครั้งอาจเปิดรับการมีส่วนร่วมจากชุมชนหรืออาสาสมัครที่มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน
ที่มาเนื้อหา เรียบเรียงจากการบรรยายเรื่อง “Challenges in transforming libraries from collection centered to user centered organisations” โดย เยนส์ ธอร์ฮาวเกอ (Jens Thorhauge) ในงานประชุมวิชาการ TK Forum 2015
ชมวีดิทัศน์การบรรยายเรื่อง “Challenges in transforming libraries from collection centered to user centered organisations” โดย เยนส์ ธอร์ฮาวเกอ (Jens Thorhauge) ที่นี่
ดาวน์ดโหลดเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “Challenges in transforming libraries from collection centered to user centered organisations” โดย เยนส์ ธอร์ฮาวเกอ (Jens Thorhauge) ที่นี่
ที่มาภาพประกอบบทความคลิกทีนี่