เพียงระยะไม่นานมานี้เอง ผู้คนต่างพูดถึงแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งมุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พัฒนาเติบโตจากฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรม แต่สำหรับภาพที่เล็กลงมาในระดับจังหวัดนั้น ภูเก็ตถูกกำหนดทิศทางการพัฒนาสู่การเป็นเกาะอัจฉริยะมานานนับสิบปีแล้ว ซึ่งหมายถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานไอทีและพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพควรเป็นสิ่งที่น่าจะมองเห็นรูปธรรมได้บ้างไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม หนทางสู่ ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) นั้นมิได้ราบเรียบ ถึงแม้ทั้งภาครัฐและเอกชนจะพยายามร่วมมือกันอย่างไร แต่ก็ยังไม่ทันต่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งระบบบริหารงานและงบประมาณภาครัฐที่มีระเบียบขั้นตอนปฏิบัติล่าช้านับเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนโฉมหน้าของภูเก็ตจากภาพความฝันสู่ความจริง
วันนี้ ทิศทางการพัฒนาระดับชาติกำลังเดินมาบรรจบกับเส้นทางการพัฒนาของจังหวัด หากความพยายามของภูเก็ตประสบความสำเร็จ อาจกลายเป็นโมเดลตัวอย่างที่นำไปใช้ในหลายพื้นที่จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายสู่ประเทศไทย 4.0 ก็เป็นไปได้
ดร.รัตนา เวทย์ประสิทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ก่อนหน้านี้เคยทำหน้าที่ผู้จัดการสำนักงาน SIPA สาขาภูเก็ต จะมาบอกเล่าความเป็นมาและไขปมประเด็นไอทีกับพื้นที่เกาะภูเก็ต ปัญหาและสิ่งที่ควรจะเป็น ในปัจจุบัน ดร.รัตนายังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต และที่ปรึกษาเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภูเก็ต (Software Park Phuket) อีกด้วย
ICT คือลมหายใจของเมืองท่องเที่ยว
ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก ด้วยทรัพยากรที่สวยงาม กิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย และการให้บริการที่มีมาตรฐานระดับสากล อีกทั้งยังเป็นแม่ข่ายที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวของจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน รองรับนักท่องเที่ยวมากถึง 13-15 ล้านคนต่อปี สร้างเม็ดเงินได้มากกว่าปีละ 4 แสนล้านบาท การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของภูเก็ต
“ภูเก็ตเติบโตขึ้นจากธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้ไอทีมากที่สุด ต่อไปนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักจะเป็นกลุ่ม FIT (Foreign Individual Tourist) คือนักท่องเที่ยวที่ไม่อาศัยเอเย่นต์ ไม่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ เขาจะศึกษาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมาก่อนว่าอยากจะไปเที่ยวที่ไหน ตรงไหนมีอะไรน่าดู แล้วก็จองตั๋วเครื่องบินเองจองโรงแรมเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไอทีเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยว โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้เขาเข้ามาท่องเที่ยวได้สะดวก มีข้อมูลให้เขาได้ศึกษาก่อนเดินทาง มาถึงแล้วสามารถใช้อินเทอร์เน็ตที่เร็ว และมีแผนที่ช่วยนำทาง”
ภาคเอกชนของภูเก็ตนั้นได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของบรรดานักท่องเที่ยวมานานแล้ว การเตรียมพร้อมและนำ ICT มาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั้งในระดับสถานประกอบการและระดับเมือง ตัวอย่างการดำเนินงานระดับสถานประกอบการที่เห็นชัดเจนคือการยกระดับมาตรฐานการบริการท่องเที่ยวให้ทันสมัยและสะดวกสบาย อาทิ การสร้างระบบการจองที่พักหรือแพ็คเกจท่องเที่ยวออนไลน์ การให้บริการ wi-fi การติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยบริเวณโรงแรมที่พัก การพัฒนาแอพพลิเคชั่นและตู้คิออสที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่างเบ็ดเสร็จ
ส่วนการดำเนินงานระดับเมือง เพิ่งจะมีการก่อตั้งบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นการลงขันกันระหว่างเอกชนเพื่อพัฒนาจังหวัดให้มีความน่าอยู่ด้วยนวัตกรรมและเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการท่องเที่ยว เช่น รถไฟฟ้ารางเบา เรือสำราญดิจิทัล ท่าจอดเรือที่ทันสมัย ฯลฯ
ทิศทางการพัฒนาชัด ปลดล็อคอุปสรรคงบประมาณ บูรณาการสารสนเทศ
การพัฒนาด้านไอทีในจังหวัดภูเก็ตเกิดขึ้นมานานนับสิบปี ในระยะแรกดำเนินการโดยภาครัฐ มุ่งสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารสนเทศอย่างเท่าเทียม เนื่องจากในอดีตคอมพิวเตอร์ยังมีราคาแพง เครือข่ายอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง และเทคโนโลยีอุปกรณ์โมบายยังไม่แพร่หลาย ภาครัฐจึงเน้นไปที่การวางโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างแหล่งเรียนรู้ไอที
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้ามากขึ้น ภาครัฐจึงวางแนวทางการพัฒนาจังหวัดที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Phuket Digital Paradise โดย NECTEC โครงการ Phuket ICT City ที่ได้รับการสนับสนุนจาก SIPA และล่าสุดโครงการ Phuket Smart City ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[1] ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นทิศทางการพัฒนาเมืองภูเก็ตที่มีความชัดเจนมายาวนานระยะหนึ่ง
ทุกวันนี้ภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความทันสมัยรองจากกรุงเทพฯ และเริ่มมองการพัฒนาไอทีในแง่ที่เป็นเครื่องมือในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความสุข ฉลาด และยั่งยืน (Smile Smart และ Sustainable)
“สำหรับภูเก็ตแล้วไอทีไม่ได้เป็นเรื่องแปลกปลอม เป็นสิ่งที่ทุกคนเคยชิน เพียงแต่อาจจะยังนำมาประยุกต์ใช้ไม่เต็มที่ ภูเก็ตมีการพัฒนาด้านไอทีอย่างต่อเนื่องโดยภาคเอกชนต่างคนต่างทำ แต่สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรจะไปด้วยกัน เพราะระบบบางอย่างเป็นเรื่องที่เอกชนทำฝ่ายเดียวไม่ได้ จนกระทั่งล่าสุดเกิดนโยบายภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ แผนงานโครงการต่างๆ จึงเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
“นโยบายรัฐที่ออกมาถือว่าสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพราะมาจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน แต่การสนับสนุนของภาครัฐที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งความคล่องตัวในการบริหารและการจัดสรรงบประมาณ แต่ในปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไปทุกอย่างน่าจะดีขึ้นเพราะเริ่มมีการบริหารโดยใช้งบยุทธศาสตร์ที่จัดสรรแบบใช้พื้นที่เป็นฐาน (area-based) ซึ่งจะทำให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นและจะช่วยให้การขับเคลื่อนเรื่องสมาร์ทซิตี้เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
“ส่วนในระดับปฏิบัติ บริการของภาครัฐยังจำเป็นต้องบูรณาการสารสนเทศอย่างเป็นระบบให้มากกว่าเดิม เช่นในเรื่องความปลอดภัย ภูเก็ตมีกล้องวงจรปิดไม่รู้กี่พันตัว แต่เราไม่เคยสามารถประมวลผลภาพร่วมกันแล้วนำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะต่างคนต่างซื้อ ต่างก็มีระบบเป็นของตัวเอง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะต้องพยายามทำให้สำเร็จ”
อุปสงค์-อุปทานแรงงานทักษะไอที กับคุณภาพนักพัฒนา
เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเกาะภูเก็ตกำลังมีความต้องการด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะดิจิทัลซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะ และต้องมีชนชั้นสร้างสรรค์ (creative class) ที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคตภายใต้สิ่งแวดล้อมดิจิทัล
“10 ปีที่ผ่านมาภูเก็ตเปลี่ยนแปลงไปมากและไปไกลกว่าจังหวัดอื่นเยอะ อย่างเช่นเรื่องกราฟิกแอนิเมชั่นซึ่งเคยเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ภูเก็ตจัดอบรมเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและเห็นความเปลี่ยนแปลงในการนำเรื่องพวกนี้มาใช้อย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้วงการอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะนำเสนองานอะไรก็มักจะใช้รูปถ่ายหรือวิดีโอ แต่ตอนนี้หันมาใช้ภาพสามมิติกันหมด ถ้าไม่ใช้ก็ขายไม่ออก”
ในขณะที่ภูเก็ตมีอุปสงค์ (demand) หรือความต้องการแรงงานด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีอุปทาน (supply) หรือปริมาณแรงงานที่มีทักษะด้านไอทีไม่เพียงพอ สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดภูเก็ตนั้นมีอยู่เพียง 2 แห่งยังไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานได้
“ตอนนี้นักพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Developer) ของภูเก็ตมีไม่พอ ไม่ใช่ไม่พอในแง่จำนวนที่สถาบันการศึกษาผลิตได้ แต่ไม่พอในแง่จำนวนคนที่เรียนจบออกไปแล้วสามารถทำงานได้ตรงกับที่ตลาดต้องการหรือตรงกับที่ได้เรียนมา เพราะว่าธรรมชาติของศาสตร์ด้านโปรแกรมมิ่งเป็นเรื่องที่ยากและเครียด บางคนทนเรียนจนจบแล้วก็ไม่อยากทำงานด้านนี้ไปเลยก็มี
“คนที่จะเป็นนักพัฒนาต้องเก่งเรื่องตรรกะและมีความรู้คณิตศาสตร์ที่ดี ซึ่งเป็นวิชาที่เด็กไทยไม่ค่อยเข้มแข็ง เดี๋ยวนี้ที่อเมริกาเขาสอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ชั้นประถม ใช้เกมในเว็บไซต์สอนวิธีคิดเชิงตรรกะซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่จะนำไปสู่การเป็นนักพัฒนาด้านไอที"
“ถ้าอยากจะวางรากฐานด้านดิจิทัล เราต้องมองไปข้างหน้าว่าต้องการสร้างมูลค่าทางธุรกิจดิจิทัลเท่าไหร่ แล้วคำนวณคาดการณ์ความต้องการนักพัฒนาออกมา จากนั้นก็วางแผนผลิตนักพัฒนาที่มีคุณภาพให้เพียงพอรองรับกับความต้องการนั้น… การสร้างนักพัฒนาด้านไอทีที่มีคุณภาพจะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ และไม่ใช่สอนวิชาด้านคอมพิวเตอร์อย่างเดียวแต่ยังต้องฝึกฝนให้เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศด้วย”
ปัญหาค่าครองชีพสูงในจังหวัดภูเก็ตนับเป็นปัจจัยลบต่อวงการนักพัฒนาด้านไอที เนื่องจากอาชีพโปรแกรมเมอร์ในภูเก็ตได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าคนในสายงานแอนิเมชั่น ดังนั้นผู้ประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์จึงไหลออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ ทำให้ภูเก็ตต้องนำเข้านักพัฒนาจากจังหวัดใกล้เคียงเช่นสงขลา (หาดใหญ่)
แต่การใช้แรงงานข้ามจังหวัดย่อมไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เนื่องจากหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคต่างก็มีทิศทางการพัฒนาเมืองที่ต้องใช้ไอทีหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะไอทีเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ การสร้างนักพัฒนาด้านไอทีที่มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถสร้างนวัตกรรมได้จึงเป็นความท้าทายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภูเก็ต หากแต่เป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ
“เคยมีการวิเคราะห์กันว่าคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ แต่มักจะเอียงไปทางด้านงานหัตถกรรมหรือศิลปวัฒนธรรม ไม่ค่อยโน้มเอียงมาทางไอทีหรือดิจิทัล... เราคงต้องหาบุคคลต้นแบบ (role model) ให้กับเด็กรุ่นใหม่ ถ้าเมื่อไหร่ที่เมืองไทยมีคนแบบสตีฟ จอบส์ เด็กก็คงรู้สึกว่าอยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง”
เรียบเรียงโดย
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม นักจัดการความรู้ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, มกราคม 2560
[1] ปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม