องค์กรการศึกษาวิตตร้า (Vittra) เกิดขึ้นมาจากการปฏิรูปการศึกษาของสวีเดนตั้งแต่ปี 1992 โดยอนุญาตให้มีการเปิดโรงเรียนเอกชนซึ่งมีอิสระในการบริหารจัดการทั้งด้านสิ่งปลูกสร้าง วิธีการสอน และครู ในขณะที่ยังคงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป แต่ไม่ให้เรียกเก็บค่าเทอมเพิ่ม
วิตตร้ามีบทบาทขับเคลื่อนโรงเรียนจำนวน 27 แห่ง ด้วยแนวทางการศึกษาแบบใหม่ เน้นบูรณาการการเรียนรู้กับเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงการนำอุปกรณ์สมัยใหม่มาใช้อย่างผิวเผิน โรงเรียนของวิตตร้าไม่มีการให้เกรด นักเรียนแต่ละคนมีหลักสูตรเป็นของตัวเองและต้องมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพื่อการเรียนรู้ มี “วิตตร้าบุ๊ค” เป็นสื่อให้นักเรียนเข้าถึงสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรและรับคำติชมในการทำงาน สิ่งที่สร้างความแตกตื่นให้วงการการศึกษาคือโรงเรียนแห่งใหม่ล่าสุดของวิตตร้าในสต็อคโฮล์ม (Vittra Telefonplan) ไม่มีห้องเรียน
วิตตร้าให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาการศึกษา จึงไม่ได้จัดห้องเรียนแบบที่นำโต๊ะเก้าอี้มาวางเรียงแถวไว้ในห้องสี่เหลี่ยม แต่ใช้ learning commons เป็นเครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดใหม่ เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ซึ่งนักเรียนสามารถทำงานร่วมกันหรือทำงานคนเดียวก็ได้ นักเรียนถูกสอนเป็นกลุ่มให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการตามหลักการของโรงเรียน แต่ละกลุ่มจะเรียกชื่ออุปมาเป็น “ตาน้ำ” “การแสดงออก” “ถ้ำ” “แคมป์ไฟ” และ “ห้องทดลอง” โดยครูจะเข็นรถเคลื่อนที่ซึ่งบรรจุสื่อการเรียนรู้ไปหากลุ่มนักเรียนเพื่อสอนหัวข้อที่นักเรียนสนใจ
พื้นที่การเรียนรู้ได้รับการออกแบบอย่างละเอียดรอบคอบ มีกระบวนการศึกษาธรรมชาติการเรียนรู้และความต้องการของนักเรียน เกิดเป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย สร้างสรรค์ และเอื้อต่อสถานการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย
วิตตร้าเป็นกรณีศึกษาที่น่าทึ่งเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนสำหรับการมีชีวิตในสังคมสมัยใหม่ และเพื่อขยายโลกการเรียนรู้ของนักเรียนให้กว้างขึ้น
Ante Runnquist หนึ่งในทีมงานวิจัยและพัฒนาของวิตตร้ากล่าวว่า “สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ของโรงเรียนทั่วไปยังคงเหมือนกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ฉันคิดว่าเรามาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยน และสิ่งที่เป็นตัวเร่งก็คือเทคโนโลยี”
เธออธิบายว่า ในบริบทเช่นนี้ห้องเรียนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป นักเรียนยุคใหม่ต้องการพื้นที่การเรียนรู้แบบอเนกประสงค์และมีความยืดหยุ่น เพราะการเรียนรู้แบบร่วมมือไม่สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียนที่ทุกอย่างถูกกำหนดไว้ตายตัว สิ่งสำคัญคือครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้กุมความรู้ไว้ในมือ เป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเฟ้นหาครูที่มีความรู้เป็นอย่างดีด้านการบูรณาการเทคโนโลยีทันสมัยและเชื่อมั่นในห้องเรียนที่กลับหัวกลับหางเช่นนี้
แปลและเก็บความโดย
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม นักจัดการความรู้ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, ตุลาคม 2560
ที่มาภาพและเนื้อหา
www.archdaily.com/202358/vittra-telefonplan-rosan-bosch