การขยายตัวของสื่อดิจิทัล การเติบโตของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการปรับลดงบประมาณห้องสมุดในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้มีการคาดการณ์ว่าห้องสมุดอาจถึงกาลอวสานในไม่ช้า แต่หากพิจารณาดูในรายละเอียดจะพบว่า การตัดทอนงบประมาณของห้องสมุดมักมีสาเหตุมาจากการปิดสาขาห้องสมุดหรือการลดระยะเวลาการให้บริการ มิใช่เป็นเพราะห้องสมุดหมดคุณค่าต่อสังคม ดังนั้น จึงมิใช่ว่าในระยะอันใกล้นี้ห้องสมุดจะล้มหายตายจากไปเสียทีเดียว
ประเด็นที่สำคัญก็คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้นอกชั้นเรียนของเยาวชน และพฤติกรรมการใช้สารสนเทศออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ เพื่อหาหนทางสนับสนุนพวกเขาในด้านการเรียนรู้ ซึ่งมีความเป็นไปได้อีกมากมายนอกเหนือไปจากการให้บริการยืมคืนหนังสือ
แต่เดิมนั้น ห้องสมุดมุ่งเน้นการทำให้ผู้คนเข้าถึงหนังสือและให้บริการพื้นที่เงียบสงบสำหรับอ่านหนังสือโดยไม่คิดมูลค่า แต่ปัจจุบันห้องสมุดประชาชนหลายแห่งได้เปลี่ยนแปลงบทบาท ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี เตรียมความพร้อมด้านการทำงานและการศึกษาต่อ รวมทั้งสนับสนุนด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก
Thinkspot @ Mesa Public Library
รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา
เมื่อมองดูเผินๆ ห้องสมุดประชาชนเมซ่า สาขาเรดเมาเท่น (Red Mountain) อาจไม่แตกต่างจากห้องสมุดทั่วไป ซึ่งมีชั้นหนังสือ มุมอ่านหนังสือ และเคาน์เตอร์ยืมคืนหนังสือ แต่บริการพิเศษไม่เหมือนใครก็คือ Thinkspot พื้นที่ซึ่งเมื่อเดินเข้ามาแล้วผู้ใช้บริการสามารถค้นหาสิ่งใหม่ๆ ที่อยากทำ แล้วก็ลงมือทำมันขึ้นมาจริงๆ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออันหลากหลายที่ห้องสมุดได้จัดเตรียมไว้ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ห้องสมุดพยายามสร้างแรงบันดาลใจในการสนทนาและแลกเปลี่ยนไอเดียด้านนวัตกรรม จนเกิดเป็นบรรยากาศการทำงานแบบร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ โดยวางเป้าหมายระยะยาวไว้ว่า Thinkspot จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมและวางรากฐานทางธุรกิจให้กับเมือง การทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านการเป็นผู้ประกอบการ จะช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนในการก้าวสู่สตาร์ทอัพ รวมทั้งเป็นการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจออกมาจากกำแพงของโลกทางวิชาการ
ภายใน Thinkspot เต็มไปด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก อาทิ กล้องถ่ายภาพและกล้องถ่ายวิดีโอดิจิทัล ฉากเขียวสำหรับถ่ายทำงานวีดิทัศน์ จักรเย็บผ้า เครื่องพิมพ์สามมิติ คอมพิวเตอร์ iMAC พร้อมซอฟต์แวร์ที่จำเป็น สมาร์ทบอร์ดระบบหน้าจอสัมผัส คอมพิวเตอร์โฮโลกราฟิก อุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ขึ้นจอขนาดใหญ่ และสื่อสามมิติ ฯลฯ
หลายคนอาจมีทัศนคติว่า เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับห้องสมุด แต่ห้องสมุดประชาเมซ่ากลับมองว่า ไม่มีที่ใดเหมาะสำหรับเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมมากไปกว่าห้องสมุดอีกแล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้คนเชื่อถือและเข้าถึงได้ง่าย มีทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลาย อีกทั้งห้องสมุดให้ความรู้สึกที่น่ากลัวน้อยกว่า “ศูนย์บ่มเพาะ” ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่ธุรกิจมากกว่าเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
Thinkspot ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายการเป็นผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา ซึ่งทำงานสนับสนุนทั้งด้านหลักคิดและทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการในชุมชน และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก Institute of Museum and Library Service เพื่อจัดกิจกรรมทางการศึกษา เช่น โรงเรียนสตาร์ทอัพ และโรงเรียนผู้ประกอบการ รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้านทักษะและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
ทุกปีห้องสมุดประชาชนเมซ่ายังจัดงานประชุมแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์จากแวดวงวิชาการด้านห้องสมุดและสารสนเทศศาสตร์ และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับผู้นำทางความคิดจากชุมชนนวัตกรรมอื่นๆ
รับชมวีดิทัศน์ บรรยากาศภายใน Mesa Thinkspot
The Edge @ State Library of Queensland
รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย
ห้องสมุดรัฐควีนส์แลนด์ตั้งอยู่ขนานกับแม่น้ำบริสเบน ใจกลางย่านวัฒนธรรมของเมือง ห้องสมุดมีบริการให้เช่าพื้นที่ลานกิจกรรมและห้องประชุม โถงจัดแสดงนิทรรศการ และร้านค้าซึ่งมีสินค้าหลากหลาย เช่น หนังสือ เกม เครื่องเขียน และของที่ระลึก อีกทั้งยังมีร้านอาหารเลิศรสพร้อมไวน์และเบียร์ท่ามกลางบรรยากาศที่รื่นรมย์ ความโดดเด่นของห้องสมุดรัฐควีนส์แลนด์อยู่ที่ “The Edge” ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ และการประกอบธุรกิจ กลุ่มผู้ใช้บริการมีทั้งนักวิจัย ศิลปิน แฮคเกอร์ นักประดิษฐ์ (maker) และผู้ที่ชื่นชอบงานอดิเรก ซึ่งเข้ามานั่งทำงานของตนเอง หรือร่วมกันพัฒนาโครงงานเป็นทีม
ภายใน The Edge มีห้องแล็บ 3 ห้อง
ห้องที่ 1 ให้บริการสำหรับพัฒนางานสร้างสรรค์ของมืออาชีพ ซึ่งลูกค้าสามารถจองเครื่องแม็คบุ๊คที่มีโปรแกรมซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบไว้อย่างครบครัน
ห้องที่ 2 เป็น co-working space รองรับการทำโครงงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้มากกว่า 40 คน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการก่อสร้าง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรืองานออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังใช้จัดเวิร์คช็อปเพื่อยกระดับทักษะแรงงานสร้างสรรค์
ห้องที่ 3 เป็นห้องแล็บสำหรับผลิตงานเพลงและภาพยนตร์ มีห้องอัดเสียง อุปกรณ์เครื่องมือและซอฟต์แวร์เกือบเทียบเท่าระดับมืออาชีพ ผู้ที่จะขอใช้บริการพื้นที่นี้ต้องเป็นผู้ที่เคยผ่านหลักสูตรอบรมของห้องแล็บหมายเลข 3 มาก่อน
นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง และห้องข่าวพลเมือง (Citizen Newsroom) สำหรับนักข่าวพลเมืองได้ทดลองผลิตสิ่งตีพิมพ์และ new media ประเภทต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและให้คำแนะนำตลอดเวลาทำการ คุณค่าประการสำคัญของห้องข่าวพลเมืองก็คือการเสริมพลังชุมชนด้านทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ในการตรวจสอบรัฐบาล นโยบายการพัฒนาและการดำเนินธุรกิจ และช่วยเสริมสร้างวิถีประชาธิปไตย
ห้องสมุดรัฐควีนส์แลนด์จึงเป็นเสมือนจุดบรรจบระหว่างสารสนเทศ การศึกษา และธุรกิจท้องถิ่น ที่หนุนเสริมให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ (startup) ซึ่งสร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้นับพันล้านเหรียญ
IDEA Lab / SDPL Lab @ San Diego Public Library
รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ฝั่งตะวันออกของเมืองซานดิเอโกกำลังถูกแปลงโฉมให้เป็นย่านสร้างสรรค์หรือ I.D.E.A. District (Innovation + Design + Education + Arts) โดยตั้งเป้าว่าจะก่อให้เกิดการสร้างอาชีพด้านการออกแบบและเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 13,000 ตำแหน่งในอีก 12 ปีข้างหน้า
ห้องสมุดประชาชนซานดิเอโกเป็นหน่วยงานสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และได้พยายามวางบทบาทให้สอดคล้องกับพันธกิจของเมือง โดยการก่อตั้ง IDEA Lab ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 บนชั้น 8 ของอาคารห้องสมุด เพื่อให้บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับเตรียมความพร้อมเยาวชนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21
IDEA Lab ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากห้องสมุดรัฐแคลิฟอร์เนียในการจัดหาอุปกรณ์ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตสำหรับวาดภาพดิจิทัล จอมอนิเตอร์ เครื่องพิมพ์ โต๊ะระบบสัมผัส อุปกรณ์ถ่ายทำวีดิทัศน์ และซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบและตัดต่อสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งเพียงพอสำหรับผู้ใช้ในการแปลงไอเดียให้กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์หลากหลายแขนง โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 12-21 ปี
IDEA Lab เปิดให้บริการสัปดาห์ละ 6 วัน คือวันธรรมดาช่วงหลังเลิกเรียนและวันอาทิตย์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองในด้านทักษะการสร้างสรรค์สื่อที่หลากหลาย สามารถเป็นผู้สอนในกิจกรรมเวิร์คช็อป ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะกับนักศึกษาฝึกงาน ควบคู่ไปกับการดูแลพื้นที่ซึ่งเป็นงานประจำ ประการสำคัญคือสามารถทำงานกับภาคีต่างๆ ที่ร่วมให้คำปรึกษาและจัดเวิร์คช็อป อาทิ ศูนย์สื่อศิลปะแห่งซานดิเอโก สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น และบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ ตัวอย่างกิจกรรมเวิร์คช็อปเช่น การออกแบบกราฟิกพื้นฐาน การสเก็ตช์ภาพ การใช้จอเขียว ฯลฯ ซึ่งจัดขึ้นประมาณ 30 ครั้งต่อปี โดยมีบรรยากาศการอบรมที่ใกล้ชิดและเป็นกันเอง เนื่องจากรับสมัครผู้เข้าอบรมไม่เกิน 10 คนต่อหลักสูตร
นอกจากนี้ห้องสมุดประชาชนซานดิเอโกยังก่อตั้ง SDPL Lab ร่วมกับ Fab Lab ซึ่งเป็นเมกเกอร์สเปซ ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 ของห้องสมุด เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้การออกแบบโมเดลสามมิติ หุ่นยนต์ งานอิเล็กทรอนิกส์ และการเขียนโปรแกรม รวมทั้งสนับสนุนทักษะด้านการออกแบบสำหรับผู้ประกอบการ โดยให้ความรู้ตั้งแต่วิธีการออกแบบด้วยโมเดลสามมิติ การใช้เครื่องตัดเลเซอร์ การออกแบบแผงวงจร กระบวนการเรียนรู้ใน SDPL Lab ทำให้ผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือในการสร้างต้นแบบได้สะดวก ซึ่งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการผลิตชิ้นงานต้นแบบและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
พื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดังเช่น IDEA Lab และ SDPL Lab ทำให้ห้องสมุดประชาชนซานดิเอโกสรุปบทเรียนได้ประการหนึ่งว่า การสร้างพื้นที่กายภาพที่ดียังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้นคือจิตวิญญาณของชุมชนและเครือข่ายที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้ไอเดียสร้างสรรค์ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไม่สิ้นสุด
Idea Box @ Charlotte Mecklenburg Library
รัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา
เมกเกอร์สเปซเหมาะที่จะตั้งอยู่ในห้องสมุดจริงหรือ? คงไม่มีใครตอบข้อกังขานี้ได้ดีไปกว่าห้องสมุดชาร์ล็อตเม็กเคลนเบิร์ก ภายในห้องกระจกของห้องสมุดแห่งนี้มีเสียงเครื่องจักรดังอย่างไม่ขาดสาย มันเป็นเสียงแห่งการเรียนรู้จาก Idea box ซึ่งเป็นเมกเกอร์สเปซที่เปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2015 โดยก่อนหน้านี้ห้องสมุดได้เปิดเมกเกอร์สเปซ Studio i เน้นให้บริการอุปกรณ์ผลิตสื่อที่ทันสมัยแก่เยาวชนอายุระหว่าง 10-18 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี ขณะที่ Idea box เข้ามาเติมเต็มประสบการณ์ให้กับกลุ่มผู้ใหญ่และครอบครัว
ที่นี่ เมกเกอร์สเปซได้กลายเป็นพื้นที่ลงมือทำงานสร้างสรรค์ที่เข้าถึงง่าย มีการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้คนร่วมกันสร้างสรรค์โครงงานด้วยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ ไวนิลและเครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องจักรเย็บผ้า คอมพิวเตอร์สำหรับเขียนแบบสามมิติ แท็บเล็ตและเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
Idea box ตั้งอยู่ชั้นล่างของห้องสมุดชาร์ล็อตเม็กเคลนเบิร์ก ผนังห้องล้อมรอบด้วยกระจกเผยให้เห็นบรรยากาศและกิจกรรมเพื่อให้ผู้ผ่านไปมาเกิดความสนใจ พื้นที่ถูกออกแบบให้เปิดโล่ง มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถประยุกต์เปลี่ยนแปลงได้ เพื่อรองรับ “ความยุ่งเหยิงที่สร้างสรรค์” สารพัดรูปแบบ เปิดให้บริการทุกวันพุธเวลา 12.00-14.00 น. และวันพฤหัสบดีเวลา 12.00-14.00 น. และ 15.30-19.30 น.
MakerSpace Creative Hub @ Brampton Library
รัฐออนตาริโอ แคนาดา
แบรมป์ตันเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ย่านชานเมืองของนครโตรอนโตในมลรัฐออนตาริโอ ประชากรส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนหนุ่มสาว มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และเป็นมืองที่มีรากฐานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ค่อนข้างเข้มแข็ง มีการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวกับความสร้างสรรค์และวัฒนธรรมสูงถึงกว่า 36,000 อัตรา
MakerSpace Creative Hub เป็นเมกเกอร์สเปซในห้องสมุดแห่งแรกของแคนาดาที่ดำเนินการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง โดยสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญและเพิ่มพูนทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
กิจกรรมภายในเมกเกอร์สเปซดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคจากศูนย์เทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตขั้นสูงของวิทยาลัยเชอร์ริแดน (Sheridan College Centre for Advanced Manufacturing and Design Technology) โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาร่วมกันและการทำโครงงานออนไลน์
เนื้อหากิจกรรมมีหลายระดับ ตั้งแต่การสร้างแรงบันดาลใจ (zero to maker) เรียนรู้และทำงานแบบร่วมมือกัน (maker to maker) และการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการและการทำธุรกิจ (maker to market) ผู้ใช้บริการสามารถเล่นสนุกกับหุ่นยนต์ ออกแบบโครงการนวัตกรรม รวมทั้งทดลองสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ หรือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อตอบโจทย์ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น การสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อควบคุมการเปิดปิดประตูโรงรถ การวางระบบบ้านอัจฉริยะ นาฬิกาพูดได้ หุ่นยนต์ที่มีแพลตฟอร์มทำงานได้หลากหลาย
ผลลัพธ์ระยะยาวที่ห้องสมุดแบรมป์ตันคาดหวังจากโครงการนี้ คือการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเยาวชนเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีฐานความรู้ เพิ่มผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากกระบวนการร่วมคิดร่วมทำ เพิ่มศักยภาพด้านการตลาดให้กับคนรุ่นใหม่
ภายในปี 2017 ห้องสมุดแบรมป์ตันจะเปิดให้บริการเมกเกอร์สเปซเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่สาขา Springdale รวมทั้งจะขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนและในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
วีดิทัศน์ บรรยายกาศภายใน MakerSpace Creative Hub
แปลและเก็บความโดย
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม นักจัดการความรู้ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, ตุลาคม 2560
แหล่งข้อมูล
www.slq.qld.gov.au/visit-us/venues/the-edge
www.charlotteagenda.com/61752/charlotte-mecklenburg-librarys-makerspace/
boltgroup.com/charlotte-main-library
www.libraryasincubatorproject.org/?p=16081
www.libraryasincubatorproject.org/?p=17187
แหล่งภาพ
www.slq.qld.gov.au/visit-us/venues/the-edge
www.charlotteagenda.com/61752/charlotte-mecklenburg-librarys-makerspace/