ในวันที่โลกหมุนทางทิศตะวันตก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมักเริ่มต้นจากประเทศฟากฝั่งอเมริกาหรือยุโรป ที่นั่นเราจะพบนวัตกรรมการอ่านที่ทันสมัย ขณะที่ห้องสมุดหลายแห่งเริ่มล้มหายตายจาก ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะบทบาทของอุปกรณ์ไอทีที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ในส่วนลึกนั้นปัจเจกบุคคลก็ยังมีความรู้สึกโหยหาถึงคุณค่าบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง การแบ่งปัน หรือการพึ่งพาตนเอง ฯลฯ
แหล่งเรียนรู้ที่เรียกว่าห้องสมุดในโลกตะวันตกกำลังปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น อุทยานการเรียนรู้ TK park ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับห้องสมุด 5 แห่ง ที่ก้าวข้ามกรอบคิดของความเป็นห้องสมุดแบบเดิมๆ และไปไกลกว่าเรื่องของหนังสือ ซึ่งเราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดที่นำมาเป็นกรณีตัวอย่างนี้ จะเคลื่อนตัวมาถึงโลกตะวันออกในไม่ช้า
1. Learning STEM by Doing- Piscataway Public Library, รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดแห่งนี้มีแนวคิดที่ชัดเจนว่า ห้องสมุดไม่ควรจะเป็นแหล่งเรียนรู้แบบ Book Centric คือมีหนังสือเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป เพราะความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ และทุกคนสามารถค้นหาความรู้ทั่วๆ ไปได้ด้วยตัวเอง แต่ควรจะปรับเปลี่ยนเป็น Learning Centric คือนำการเรียนรู้เป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ห้องสมุดได้ทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งความรู้ที่จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคตย่อมหนีไม่พ้น STEM – Science, Technology, Engineering, Mathematics
ห้องสมุดแห่งนี้ดึงดูดให้เด็กๆ ได้ทำงานร่วมกัน เกิดประสบการณ์จากการลงมือทำ ได้ทดลอง คิด ค้นคว้า เพื่อทำโครงงานให้สำเร็จ โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ มาคอยช่วยเป็นพี่เลี้ยง โดยห้องสมุดจะจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมาไว้อำนวยความสะดวกและให้แรงบันดาลใจใหม่ๆ เช่น หุ่นยนต์ เครื่องจักรออกแบบลายผ้า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จนทำให้ที่นี่กลายเป็นพื้นที่ทำงานที่สนุก น่าตื่นเต้น และจับต้องได้ ผู้บริหารของห้องสมุดกล่าวว่า เป็นเรื่องวิเศษที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการประดิษฐ์และสร้างสรรค์สิ่งของต่างๆ ตั้งแต่ยังเยาว์ รวมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือ ความรู้ เทคนิค และทรัพยากร เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ห้องสมุดเปิดให้บริการส่วน Makerspace ทุกวันอังคาร 19.00-21.00 น. วันพุธ 15.00-17.00 น. และวันพฤหัส 17.00-21.00 น. หากต้องการใช้งานนอกเวลาก็สามารถนัดหมายได้เพิ่มเติม มีเวิร์คช็อปโดยผู้เชี่ยวชาญเดือนละ 1-2 ครั้ง แต่ละปีจะจัดค่าย Summer of MAKE เพื่อให้นักเรียนเกรด 4-12 ได้ทำโครงงาน STEM ร่วมกันสัปดาห์ละ 3 วัน ยาว 8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นงานที่สามารถนำกลับไปทำต่อที่บ้านได้ หัวข้อที่เรียนรู้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พฤกษศาสตร์ หุ่นยนต์ ดนตรี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการจัดแสดงผลงานเป็นระยะๆ อีกด้วย
2.Podcast เรียบง่ายแต่ใช่เลย - Free Library of Philadelphia, รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับการจัดกิจกรรมนักอ่านพบนักเขียน แต่ใช่ว่าทุกคนจะสะดวกเดินทางมาที่ห้องสมุดเพื่อที่จะร่วมกิจกรรมนั้น Free Library of Philadelphia จึงจัดทำ Free Library Podcast เพื่อบันทึกเสียงงานเสวนาแล้วเผยแพร่ในรูปแบบ podcast MP3 ซึ่งไม่ซับซ้อนและเป็นเทคโนโลยีที่คล่องตัวมากกว่าการถ่ายทอดสดหรือวิดีโอ เพราะดาวน์โหลดเมื่อไหร่ก็ได้ สามารถเปิดฟังขณะเดินทางหรือขณะที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย หากใช้งานผ่าน iTune ซอฟต์แวร์จะมีการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการอัพเดทไฟล์เสียงใหม่ๆ เข้าไปในระบบ
จุดแข็งของ Free Library Podcast อยู่ที่คุณภาพของเนื้อหาที่มีความหลากหลายตอบสนองความสนใจของผู้อ่าน ทั้งการคุยเรื่อง fiction และ non-fiction กว่า 1,200 หัวข้อ อีกทั้งยังเป็นการเสวนาที่ผู้อ่านและนักเขียนได้อภิปรายแลกเปลี่ยนทางความคิดที่ลึกซึ้ง หัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรก มีทั้งหนังสือวรรณกรรม สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ จิตวิญญาณ ฯลฯ ไฟล์ที่มีผู้ฟังมากที่สุดคืองานเสวนาหนังสือของ Alan Greenspan อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง “The Map and the Territory: Risk, Human Nature, and the Future of Forecasting”
รูปแบบการใช้งาน Free Library Podcast ผ่านเว็บไซต์และ iTunes
3. Make it Yourself เทรนด์นี้มาแน่ - Oakland Public Library, รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
MiY - Make it Yourself เป็นกระแสที่กำลังเติบโตในสหรัฐอเมริกา จากสถิติพบว่าชาวอเมริกันกว่า 57% เป็น Maker คือสามารถลงมือทำหรือซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง มีทักษะการใช้งานเครื่องไม้เครื่องมือนานาชนิด ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาช่างมืออาชีพและลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กล่าวกันว่าในโลกอนาคต MiY จะไม่ใช่แค่งานอดิเรกแต่จะกลายเป็นธุรกิจอย่างแท้จริง ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์และรู้จักลงมือทำจะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพจนกลายเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ทว่า เครื่องไม้เครื่องมือบางอย่างก็มีราคาสูงเกินกว่าธุรกิจขนาดย่อมจะหาซื้อได้ จึงเกิดแนวคิดที่เรียกว่า Sharing Economy ในการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันใช้ หน่วยงานภาครัฐรวมทั้งห้องสมุดก็ขานรับแนวคิดนี้ด้วย ดังเช่นที่ Oakland Public Library ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักประดิษฐ์ เพราะมีเครื่องมือช่างให้บริการกว่า 3,500 ชิ้น มีเวิร์คช็อป วิดีโอ และหนังสือฮาวทูเกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้าน งานสวน งานก่อสร้าง ฯลฯ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
4. จะทำกับข้าวหรือ? ไปห้องสมุดสิ ! - Toronto Kitchen Library, รัฐออนแทริโอ แคนาดา
ชีวิตคนในสังคมเมืองมีแนวโน้มที่จะห่างเหินจากการทำอาหารทานเองที่บ้าน ทั้งปัจจัยด้านวิถีชีวิตที่รีบเร่ง พื้นที่ครัวในคอนโดที่มีอยู่อย่างจำกัด และค่าใช้จ่ายสูงหากทำในปริมาณน้อย คนเมืองจึงพึ่งพาอาหารนอกบ้านมากขึ้นและขาดความใส่ใจเกี่ยวกับโภชนาการ Toronto Kitchen Library ห้องสมุดขององค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2013 มีความเชื่อว่ารายได้และขนาดพื้นที่ไม่ควรจะเป็นอุปสรรคต่อการทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จึงกลายมาเป็นไอเดียทำห้องสมุดที่มีพื้นที่สำหรับทำครัวร่วมกัน สามารถยืมอุปกรณ์ทำอาหารกลับบ้าน มีเวิร์คช็อป และให้บริการตำราอาหาร
ผู้ก่อตั้งห้องสมุดกล่าวว่า อยากเห็นที่นี่เป็นเหมือนม้าหมุนในสนามเด็กเล่น ที่ใครๆ ก็มีสิทธิที่จะผลัดเปลี่ยนเข้ามาร่วมกันทำกับข้าวอย่างสนุกสนาน ได้ลองผิดลองถูกในการคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ กับเพื่อน เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ การทำอาหารที่นี่จึงเป็นมากกว่าเรื่องโภชนาการหรือแคลอรี่ แต่ยังเป็นกิจกรรมทางสังคมและส่งเสริมการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า
5. ห้องสมุดของคนทำหนัง- Spokane Public Library, รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
ในบรรดาศิลปะแขนงต่างๆ ศิลปะภาพยนตร์ดูเหมือนจะเป็นงานที่มีต้นทุนค่าอุปกรณ์สูงที่สุด จึงเป็นอุปสรรคต่อผู้ที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักทำหนังมืออาชีพ Spokane Public Library ได้รับสนับสนุนเงินทุนในการจัดหาอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์คุณภาพดีเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในโครงการ Community Cameras อาทิ กล้องวิดีโอความละเอียดสูง ไมโครโฟนไวเสียง ขาตั้งกล้อง สายเคเบิ้ลส่งสัญญาณ ฯลฯ โดยให้ยืมได้ไม่เกิน 7 ชิ้น ระยะเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ห้องสมุดยังให้บริการคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ในการตกแต่งภาพและตัดต่อภาพยนตร์ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
"Five Libraries That Go Beyond Books".http://www.huffingtonpost.com/chris-barnes/five-libraries-that-go-be_b_6518280.html, January 21, 2015, Accessed on March 5, 2015.
https://libwww.freelibrary.org/podcast/
http://oaklandlibrary.org/locations/tool-lending-library
http://news.nationalpost.com/2013/11/29/how-to-borrow-share-and-learn-your-way-to-a-home-cooked-meal/
http://thekitchenlibrary.ca/about/media-room/
http://www.spokanelibrary.org/
แหล่งภาพ
http://piscatawaylibrary.org/miy
https://libwww.freelibrary.org/podcast/
https://itunes.apple.com/us/podcast/free-library-podcast/id267898471?mt=2
http://myplasticfreelife.com/2009/02/mowing-my-weeds-why-buy-when-you-can/
http://thekitchenlibrary.ca/about/media-room/
http://www.spokanelibrary.org/