งานเสวนา “เรื่องเล่าหลังภาพถ่าย” เป็นส่วนเติมเต็มของนิทรรศการภาพถ่ายเยาวชน "Signature of Bankrua" ที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ The Momentum สถาบันอาศรมศิลป์ และพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นที่ชุมชนบ้านครัว ชุมชนมุสลิมใจกลางเมือง เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
งานเสวนานี้ที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ (สุเหร่ากองอาสาจาม) เมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2567 ว่าด้วยเรื่องราวในมิติต่าง ๆ ที่รายล้อมนิทรรศการภาพถ่าย "Signature of Bankrua" ที่เยาวชนแต่ละคนรังสรรค์ออกมาเป็นชุดภาพถ่ายและเรื่องราวสั้น ๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาพบเห็นในชีวิตประจำวันที่ชุมชนแห่งนี้ ในแบบฉบับของพวกเขาเอง
สำหรับบทความนี้ TK Park ขมวดประเด็นพูดคุยกันจากวงเสวนา “เรื่องเล่าหลังภาพถ่าย” โดยการเทียบเคียงคำว่า “หลัง” จากชื่องานเสวนา กับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 3 คำ behind, after และ beyond
Behind — เบื้องหลัง
เพื่อเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมา ที่สุดท้ายมาปรากฏเป็นนิทรรศการภาพถ่ายนี้ นายอิสระ โพธิจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่าย อุทยานการเรียนรู้ TK Park เปิดวงเสวนาด้วยการอธิบายถึงหลักคิด ความตั้งใจ และเป้าหมายหลักที่ TK Park ต้องการเชื่อมร้อยผู้คนให้เกิดเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งด้วยการเรียนรู้ จนนำมาสู่กระบวนการออกแบบกิจกรรมให้กับกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นบุคคลรุ่นอนาคตของชุมชนบ้านครัว โดยความร่วมมือของสถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และยังได้ช่างภาพมากฝีมืออย่างคุณอนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์ จาก The Momentum มาร่วมในปฏิบัติการ
ความร่วมมือดังกล่าวเกิดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านเรื่องเล่า หลักฐาน ภาพถ่ายเก่า และสิ่งของเครื่องใช้จากครัวเรือนในชุมชน และกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกฝนทักษะการถ่ายภาพสำหรับเยาวชน เนื่องจากการถ่ายภาพเป็นกิจกรรมใกล้ตัวที่เยาวชนในยุคนี้คุ้นชิน จึงตอบโจทย์ความตั้งใจที่จะให้เยาวชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมสำรวจท้องถิ่นตนเอง ทำชีวิตประจำวันทั่วไปให้กลายเป็นเรื่องราวให้กลายเป็นสื่อที่บอกเล่าต่อได้
และเพื่อเป็นการต่อยอดและรองรับผลงานที่เยาวชนได้รังสรรค์ขึ้นจากกิจกรรมเหล่านี้ TK Park ได้กำหนดกิจกรรมปลายทางเป็นการประกวดภาพถ่าย ที่เยาวชนแต่ละคนต้องนำส่งชุดภาพถ่ายจากภายในชุมชนคนละ 4 ภาพ พร้อมเรื่องเล่าประกอบ กลายมาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายเยาวชน "Signature of Bankrua" จัดแสดงที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ (สุเหร่ากองอาสาจาม) ระหว่างวันที่ 27 มกราคม ถึง 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยดำเนินควบคู่ไปกับกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นที่ชุมชนบ้านครัว ในงาน Bangkok Design Week 2024 เทศกาลออกแบบที่นำเสนอวิสัยทัศน์และผลงานที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับคนกรุงเทพฯ
คุณอนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์ ช่างภาพจาก The Momentum เสริมรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการนี้ ที่ตนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสอน สาธิต และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประสบการณ์ถ่ายภาพของตนเองกับเยาวชนที่บ้านครัว โดยเล่าว่า ตนเองรู้สึกประหลาดใจและประทับใจกับพลังอันล้นเหลือของเด็ก ๆ ที่ร่วมกิจกรรมอย่างกระตือรือร้นตลอดทั้งวัน และยังได้เห็นถึงพลังสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในชุมชน ที่ทำให้การทดลองหามุมถ่ายภาพ การเรียนรู้เรื่ององค์ประกอบภาพ แสง เงา และการสั่งสมประสบการณ์ของเด็ก ๆ ในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของเด็กชายชาคริต นาแก้ว และเด็กหญิงสุมัยยะห์ มินิ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายในนิทรรศการ “Signature of Bankrua” ที่เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองในวันที่เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ ว่าเป็นวันที่สนุก พบความพิเศษ และรู้สึกภูมิใจในผลงานที่ตนได้นำเสนอในนิทรรศการนี้
After — หลังจากนั้น
คุณพิษณุ จารีย์พันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์บ้านครัว ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวเรื่องเล่าและความทรงจำฉบับชาวชุมชนบ้านครัวเพื่อเป็นปูพื้นฐานความรู้เรื่องท้องถิ่นให้เยาวชนกลุ่มนี้ฟังตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่ผู้ใหญ่ในชุมชนอยากเห็นเยวชนเหล่านี้มุ่งไป โดยมีแผนจะฝึกทักษะเยาวชนให้กลายเป็นมัคคุเทศก์น้อย และสร้างศูนย์เรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรม โดยอาจปรับปรุงจากอาคารบ้านครัววิทยาที่มีอยู่เดิม
กิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการถ่ายภาพดังกล่าว จึงเป็นการปูทางให้เยาวชนเหล่านี้หันมาเริ่มสนใจและจดจำข้อมูลเรื่องราวรอบตัว เพราะมีโจทย์ที่ต้องทำ และยังมีความรู้ที่ได้รับจากการเรียนถ่ายภาพอีกด้วย ดังนั้นในวันนี้ เยาวชนที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ ถือว่าได้เริ่มสั่งสมทักษะความสามารถในการบันทึกเหตุการณ์ การเล่าเรื่อง ส่งต่อมรดกความภาคภูมิใจและรากเหง้าที่ทุกคนในชุมชนร่วมกันสร้างไว้ตั้งแต่อดีตไปยังอนาคต
Beyond — พ้นไปจากนี้
คุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง ผู้ร่วมก่อตั้งกาลิเลโอเอซิส (GalileOasis) นักออกแบบกิจกรรมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อเยาวชนในชุมชนบ้านครัวมาแล้วก่อนหน้านี้ ได้กล่าวถึงความสำคัญของแนวทางการใช้ศิลปะที่หลากหลาย เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ว่าการถ่ายภาพ การละคร การใช้ปฏิบัติการทางศิลปะแขนงต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญ เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือที่ไม่มีชนชั้น ที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้ค้นพบตัวเอง ว่าตัวเองทำอะไรได้ดีและมีความสุข เกิดความภาคภูมิใจและความหมายของชีวิต โดยผู้ใหญ่ต้องสร้างโอกาสสำหรับเด็ก ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะแต่ละคนเติบโตงดงามได้ไม่พร้อมกัน สำหรับบางคนอาจไม่ใช่ครั้งนี้ แต่อาจเป็นครั้งต่อ ๆ ไป ที่เด็ก ๆ จะได้ซึมซับคุณค่าของศิลปะ จนสามารถเล่ามุมมองที่คมคายออกมาได้อย่างไม่คาดคิด
อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ในขณะที่ผู้ใหญ่ตระเตรียมเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าให้เด็ก ๆ รับช่วงในการนำไปเล่าต่อ ก็ควรตระหนักไปพร้อม ๆ กันว่าเด็กในวันนี้ ก็กำลังเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยตัวเขาเอง ให้คุณค่าและความหมายของพื้นที่ชุมชนตามบริบทของโลกยุคต่อไป ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรเปิดกว้างให้เด็กดำเนินชีวิตอย่างอิสระ ตามความสนใจของตน เพื่อให้เด็กได้รู้ถึงศักยภาพที่ตนมี เพื่อให้ใช้ศักยภาพนั้นอย่างเต็มที่และนำความสามารถนั้นกลับมาใช้พัฒนาชุมชนบ้านเกิดได้
สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ยังคงวางแผนต่อยอดปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ภายในพื้นที่ชุมชน และเดินหน้าสานต่อร่วมกับชุมชนบ้านครัว ในการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเยาวชนกลุ่มนี้โดยต่อเนื่องไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนแต่ละคนจะพบจังหวะการเติบโตของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นอนาคตที่จะทำให้เรื่องราวของชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยคุณค่าและความหลากหลายในบริบทของโลกต่อจากนี้