การแสดงละครโรงเล็ก ฮิญาบ “หากพระองค์ทรงประสงค์” โดย ฟารีดา จิราพันธุ์ จากเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 คือตัวอย่างหนึ่งที่จับต้องได้ ของการเคี่ยวกรำความสงสัย การปะทะกันของคำถามของคนในสังคม และการกล้าเผชิญความท้าทายของคนในอาชีพนักแสดง เพื่อนำเสนอในสิ่งที่แตกต่าง
ฟารีดา จิราพันธุ์ นักแสดงละครเจ้าของประสบการณ์กว่า 25 ปี ตั้งคำถามต่อวงการละครเวทีในบ้านเราทั้งในโรงเล็กและโรงใหญ่ เกี่ยวกับนักแสดงหญิงที่เป็นมุสลิม ว่าทำไมคนที่เพียงแค่สวมฮิญาบ กลับไม่มีพื้นที่ในโลกของละคร โดยอาศัยการแสดงเดี่ยวเรื่องแรกนี้ บอกเล่าชีวิตการเป็นนักแสดง ไปจนถึงวันที่ฟารีดาตัดสินใจสวมฮิญาบขึ้นแสดง
หลังจบการแสดง ฟารีดาได้เปิดวงพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของเธออย่างเป็นมิตร ร่วมกับคุณพุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช อดีตอาจารย์วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ดำเนินรายการ คุณบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ฟารีดานำ ฮิญาบ “หากพระองค์ทรงประสงค์” ออกแสดงเป็นครั้งแรกในเทศกาลละครกรุงเทพ 2021 ซึ่งสร้างความประทับใจให้คนดูมากมาย เธอมีโอกาสได้เปิดการแสดงนี้ซ้ำอีกในหลายโอกาส และล่าสุดในปีนี้ ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park
Passion ที่ผลักดันให้ฟารีดาเข้าสู่เส้นทางนักแสดง
ที่กลางฟลอร์ ฟารีดา จิราพันธุ์ ตัวละครหลักและตัวละครเดียวของเรื่อง มาในชุดคลุมฮิญาบสีดำเว้นไว้แค่ดวงตา และราวแขวนผ้าคลุมหลายผืน ที่ในอีกครู่หนึ่งเธอจะหยิบมาสวมทับฮิญาบบนหัว ก่อนเล่าเรื่องราวของตนเอง เมื่อทุกที่นั่งเต็มแล้ว ม่านการละครก็เปิดฉากขึ้น โดยฟารีดาเริ่มเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักแสดงของเธอ ด้วยการพูดคุยกับผู้ชมอย่างเป็นมิตรไปจนถึงเรียกเสียงหัวเราะ
แวดวงคนทำละครทั้งโรงเล็กและโรงใหญ่ต่างก็รู้จัก ‘ฟารีดา จิราพันธุ์’ ในฐานะนักแสดงและนักการละครมากความสามารถคนหนึ่งของประเทศ เธอใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็ก และพยายามดิ้นรนวิ่งเข้าหาความฝันอยู่ตลอด เธอมีโอกาสแสดงละครครั้งแรกช่วงวัยนักเรียน เล่นเป็นแมวไม่มีบทพูด ขยับช่วงชีวิตมาอีกนิด ก็มีโอกาสไปดูละครเรื่องปรัชญาชีวิตที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ทำเอาหัวใจของเด็กหญิงฟารีดาพองโต เธอบอกกับตนเองในวันนั้นว่าอยากจะเข้าเรียนในคณะการละคร
หลังเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งไม่ใช่สายศิลปะการแสดงโดยตรง โรงละครของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสานแสงอรุณก็เปิดรับสมัครนักแสดง ฟารีดารีบวิ่งเข้าหาโอกาสและได้ทำหน้าที่เป็นทีมงานเบื้องหลัง แต่แล้ววันหนึ่ง นักแสดงคนหนึ่งเกิดเหตุขัดข้อง ทำให้ผู้กำกับเรียกเธอขึ้นมาอ่านบทแทน กลับมาที่ฟลอร์ ฟารีดาในชุดคลุมฮิญาบสีดำวิ่งไปหยิบบทละครเรื่องนั้นมาอ่าน เสมือนกำลังจำลองสถานการณ์ให้ผู้ชมได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น น้ำเสียงที่เธอพูดออกมาผสมกับความรู้สึกและความตั้งใจ เราจึงรู้ได้ทันทีว่า เหตุการณ์วันนั้นนับเป็นวินาทีเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักแสดงอย่างจริงจังของหญิงมุสลิมคนนี้ และเมื่อจบฉากนี้ ฟารีดาถอดผ้าคลุมแล้วนำไปแขวนไว้อีกฝั่งหนึ่งของราวแขวนผ้า พร้อมกับหยิบผืนใหม่มาคลุมทับฮิญาบเพื่อเข้าสู่การเล่าเรื่องราวในฉากต่อไป
บทบาทของผู้หญิงมุสลิมขึ้นอยู่กับฮิญาบ
ฟารีดาเผยในการแสดงเดี่ยวว่า เธอเกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม เติบโตในกรุงเทพฯ ไม่ได้คลุมฮิญาบตั้งแต่เด็ก และยังเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกพระแม่มารี ฟารีดาในวัยผู้ใหญ่ได้แสดงละครเวทีอยู่หลายเรื่องโดยมีครอบครัวคอยให้การสนับสนุนเสมอ ส่วนในบทบาทชีวิตส่วนตัวเธอชอบสูบบุหรี่ ชอบแต่งตัวเก๋ ๆ จนบางทีคนรอบข้างก็เพิ่งมารู้เอาคราวหลังว่าเธอเป็นมุสลิม
แต่การเป็นมุสลิมก็ทำให้หลายคนเข้ามาเอ๊ะกับเรื่องราวของเธอเสมอ ทั้งมีคำถามที่ว่า เป็นมุสลิมทำไมไม่คลุมฮิญาบ? คนมุสลิมกินอาหารได้เพียงแค่ข้าวหมกไก่เหรอ? หนักขึ้นอีกหน่อยคือการโดนถามว่า เป็นผู้หญิงมุสลิมเล่นละครไม่บาปเหรอ? ทว่า เธอไม่คิดจะหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านั้น แต่สิ่งที่เธอเอ๊ะกับตัวเองมาตลอดคือ ละครมุสลิมทำไมถึงมีแต่ตัวละครที่เป็นเด็กและเป็นผู้ชาย? ตัวละครผู้หญิงที่เป็นมุสลิมไปอยู่ที่ไหน? หรือจะพบได้แค่ได้ในเพลงชาติไทย หรือเป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งของศาสนาเพียงเท่านั้นหรือ? การมีอยู่ของผู้หญิงมุสลิมคืออะไร? ทำไมถึงไม่อิสระเท่าผู้หญิงคนอื่น?
ฉากหนึ่งที่คาดว่าหลายคนไม่ลืม เกิดในช่วงต้นของการแสดง ฟารีดาชี้มือไปที่ราวแขวนผ้าคลุมหลายสีและหลายผืน เธอพูดเชิงตั้งคำถามกับผู้ชม ว่าหากเธอหยิบผ้าคลุมมาพันที่คอก็คงจะเรียกว่าผ้าพันคอใช่หรือไม่ ถ้านำผ้ามาเช็ดหน้าก็คงเรียกว่าผ้าเช็ดหน้า หรือนำผ้ามาเช็ดโต๊ะก็คงจะเรียกว่าผ้าเช็ดโต๊ะ เช็ดจนสกปรกก็เอาไปซัก หรือไม่ก็เขวี้ยงทิ้งก็ดูจะไม่เป็นอะไร เธอพูดจบก็โยนผ้าออกไป ก่อนจะหยิบผืนใหม่ขึ้นมาคลุมศีรษะตนเองพร้อมอธิบายวิธีการคลุมฮิญาบที่กลายมาเป็นสิ่งปกปิดตัวตนของผู้หญิงมุสลิม ฟารีดาชี้มาที่ผ้าชิ้นนี้อีกครั้ง พร้อมถามย้ำกับผู้คน เหตุใดพอคลุมศีรษะแล้ว ผ้าชิ้นนี้จึงกลายเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์?
ในวันที่ตัดสินใจคลุมฮิญาบ
ชีวิตการเป็นนักแสดง ฟารีดาเล่าว่า เธอสามารถสวมบทบาทได้ทุกรูปแบบ แต่แล้ววันหนึ่งที่ตัดสินใจคลุมฮิญาบไปตลอดชีวิตเพื่อทำตามความประสงค์ของพระเจ้า งานละครกลับพากันปฏิเสธเธอ บางเรื่องผู้กำกับที่อยากร่วมงานด้วยถึงกับยกหูเพื่อขอให้ฟารีดาช่วยถอดฮิญาบออก
เมื่อสวมฮิญาบ ฟารีดาจึงได้เริ่มสำรวจอย่างจริงจังว่าที่ผ่านมาผู้คนมีความคิดเห็นต่อผู้หญิงมุสลิมอย่างไร เธอเคยคิดว่าตัวเอง ในฐานะหญิงมุสลิมตอนที่ยังไม่คลุมฮิญาบ และหลังจากที่คลุมฮิญาบแล้ว เธอก็ยังเป็นคนเดิมไม่ต่างจากผู้หญิงคนอื่นไม่ใช่เหรอ ฟารีดาบอกกับผู้ชมว่า ช่วงเวลานั้นเธอพบคำถามในใจเสมอ และความเอ๊ะเหล่านั้นเองที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาเรียบเรียงชีวิตออกมาเป็นการแสดงเดี่ยว ‘ฮิญาบ หากพระองค์ทรงประสงค์’ เพื่อถามในสิ่งที่เธอสงสัยออกไป แม้จะรู้ว่าบางคำถามอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อหาคำตอบ หรือบางทีอาจจะต้องหาคำตอบไปตลอดชีวิตเลยก็ตาม เธอก็จะใช้การแสดงชุดนี้ของเธอทำหน้าที่นั้นต่อไป
ส่วนเราในฐานะผู้ชม ซึ่งก่อนหน้านี้อาจแทบไม่เคยฉุกคิดว่าการสวมฮิญาบจะส่งผลต่อการแสดงที่ต้องใช้ร่างกายและสีหน้าในการสื่อสารอารมณ์กับผู้ชมขนาดไหน แต่ตลอดกว่าชั่วโมงที่ได้ชม ซึ่งมีบางช่วงเธอถึงกลับไปหยิบบทละครเรื่องที่เคยรับเล่นมาแสดงให้ดูอีกครั้ง ทำให้เราเห็นว่า องค์ประกอบอื่นของการแสดง ทั้งจังหวะจะโคน น้ำเสียง ท่าทาง ทักษะและประสบการณ์ ทำให้นักแสดงหญิงมุสลิมไม่จำเป็นต้องยี่หระกับการสวมใส่ฮิญาบที่บทบังสีหน้าท่าทางแม้แต่น้อย
TK Park ขอส่งท้ายบทความนี้ด้วยความภาคภูมิใจ ที่ได้เปิดพื้นที่ให้กิจกรรมนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 ฟารีดาแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบอย่าง ละครโรงเล็ก นักแสดงเดี่ยว ความเป็นหญิง และความเป็นชาวมุสลิม สามารถกลายเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อม จนทำให้คนดูสนุกสนานและชวนกันฉุกคิดถึงเรื่องราวที่เราอาจเคยมองข้าม