ทุกวันนี้ เราอาจใช้ ChatGPT และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) เพื่อทุ่นแรงในการทำงานมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการช่วยแปล และเน้นเอาความหมายโดยรวม เช่น การแปลประโยคสั้น ๆ เพื่อใช้ในงานนำเสนอ หรือการแปลสรุปความจากข้อความภาษาต่างประเทศเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง แต่หากเป็นหนังสือสักเล่มหรือนิยายสักเรื่อง เจ้าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะมีความสามารถถึงขนาดนั้นแล้วหรือยัง
เพื่อต้อนรับวันแปลภาษานานาชาติ (International Translation Day) 30 กันยายน ปีนี้ TK Park ชวนทุกคนมาย้อนสำรวจเรื่องราวในวงการแปลหนังสือ ที่ปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence — AI ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเราอาจต้องเริ่มตั้งคำถามกันอย่างจริงจังถึงความสำคัญของนักแปลที่เป็นมนุษย์ และแนวทางการปรับตัวในอนาคตอันใกล้
หนังสือเล่มแรกที่ถูกแปลเป็นภาษารัสเซียโดย AI
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 วงการหนังสือของรัสเซียได้มีข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนทั้งแวดวงสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยี เมื่อ ‘Yandex’ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีของรัสเซียได้ประกาศตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกที่ถูกแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษารัสเซียโดย AI
โดยหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า A World Without Work โดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากสหราชอาณาจักร แดเนียล ซัสคินส์ (Daniel Susskind) เป็นผู้เขียนขึ้น ซึ่งหลายคนมองว่าการที่ Yandex เลือกหนังสือเล่มนี้ เป็นความตั้งใจให้ป็นตลกร้าย เพราะเนื้อหาภายใน A World ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับมุมมองต่อโลกที่เครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์
รายงานระบุว่า ระบบ AI ของ Yandex แปลหนังสือทั้งหมด 352 หน้าจากภาษาอังกฤษเป็นรัสเซียโดยใช้เวลาเพียงแค่ 40 วินาทีเท่านั้น ซึ่งอัลกอริทึมที่ถูกหยิบยกมาใช้ในการแปลนี้ เป็นระบบที่โดยปกติ ถูกใช้ในการแปลข้อความขนาดใหญ่โดยเฉพาะ เช่น บทความจาก Wikipedia ที่มีความยาวค่อนข้างมาก จึงทำให้ระบบนี้สามารถสามารถแปลข้อความยาวขนาดหนังสือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
หลังจากที่ A World Without Work ฉบับแปลเป็นภาษารัสเซียเสร็จสมบูรณ์ เฟลิกซ์ ซานดาลอฟ (Felix Sandalov) บรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ Individuum สำนักพิมพ์อิสระชื่อดังในกรุงมอสโก รัสเซีย ได้แสดงความเห็นต่อคุณภาพการแปลของระบบ AI นี้ว่า สามารถแปลข้อความโดยรวมได้ดี แทบจะไม่มีจุดผิดพลาดเลยในการเลือกคำศัพท์ ซึ่งงานปริมาณเท่านี้ นักแปลที่เป็นมนุษย์อาจจะต้องใช้เวลาเป็นหลักเดือน ในขณะที่ AI สามารถจัดการเสร็จในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งนาที
การพัฒนาระบบแปล และงานวิจัยผ่านหนังสือของฮารูกิ มูราคามิ
ปี 2022 หลังจากที่ระบบการแปลด้วย AI ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีผู้พัฒนาระบบหลายเจ้าจากทั่วทุกมุมโลกกระโดดเข้ามาเล่นในสนามธุรกิจนี้ ในแวดวงวรรณกรรมเองก็มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบที่เหมาะสมกับการแปลวรรณกรรมเป็นภาษาต่าง ๆ เช่นกัน
องค์กร Open Philanthropy ได้มอบทุนกว่า 822,365 ดอลลาร์ให้ โมฮิท อิเยอร์ (Mohit Iyyer) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศจาก University of Massachusetts Amherst เพื่อทุ่มกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถแปลวรรณกรรมทั้งจากฟากตะวันตกและตะวันออกเป็นภาษาต่าง ๆ โดยที่ยังสามารถเก็บสุนทรียภาพทางภาษาเอาไว้ได้
โมฮิทมองว่าปัจจุบันแม้ระบบแปลภาษาของ AI จะพัฒนาไปมาก แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนการแปลโดยนักแปลผู้เชี่ยวชาญได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วระบบ AI จะถูกฝึกฝนโดยใช้เนื้อหาจากข่าวหรือบทความแล้วเปรยบเทียบข้อมูลข้ามภาษา ซึ่งแตกต่างจากการแปลนิยายและวรรณกรรมที่ต้องอาศัยความเข้าใจ และเก็บสุนทรียภาพทางภาษาเอาไว้
สำหรับคู่ภาษาที่มีโครงสร้างและชุดคำศัพท์คล้ายคลึงกันหรือเทียบเคียงกันได้ง่าย และได้รับความนิยมแปลข้ามภาษาไปมาอย่างแพร่หลาย อาทิ คู่ภาษาอังกฤษกับภาษาฝรั่งเศส ระบบ AI ในปัจจุบันสามารถแปลภาษาเหล่านี้ออกมาในระดับที่ค่อนข้างดี แต่หากเป็นภาษาที่มีโครงสร้างต่างกัน หรือการแปลข้ามภาษาที่ไม่ได้เป็นภาษากระแสหลัก ระบบแปลของ AI จะยังไม่สามารถเทียบเท่าความสามารถของมนุษย์ได้ โดยเขายังได้ยกตัวอย่างหนังสือภาษาญี่ปุ่นของนักเขียนดัง ฮารูกิ มูราคามิ ที่เขาใช้ประกอบงานวิจัย ที่เมื่อนำต้นฉบับกับฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยนักแปลและ AI มาเทียบกันแล้ว ยังเห็นความแตกต่างของการเลือกใช้คำที่ให้ความถูกต้องและอรรถรสอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แม้การฝึกฝนระบบ AI ให้สามารถแปลวรรณกรรมโดยคงสุนทรียภาพทางภาษาเอาไว้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โมฮิทก็มองว่าถ้าหาก AI สามารถทำได้ จะมีประโยชน์ต่อโลกวรรณกรรม ในการช่วยเให้คนจากประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าถึงผลงานวรรณกรรมอันยอดเยี่ยมจากหลากหลายภาษาและวัฒนธรรมได้มากขึ้น เราอาจต้องรอดูกันว่าในระยะเวลา 2 ปี (ครบกำหนดประมาณปี 2024) แพลตฟอร์มแปลภาษานี้จะสำเร็จลุล่วงตามความตั้งใจของเขาหรือไม่ ถ้าหากโมฮิททำได้ เชื่อว่าวงการวรรณกรรมจะต้องมีเรื่องให้น่าตื่นเต้นอีกไม่น้อยเลยทีเดียว
Greek Room เมื่อ AI จะถูกใช้เพื่อแปลคำสอนของพระเจ้า
หลายครั้งที่เราพูดถึง AI ก็มักเป็นการเปรียบเทียบว่าถูกสร้างมาเพื่อท้าทายพระเจ้า เนื่องด้วยความสามารถในการประมวลผลอันรวดเร็วชวนอัศจรรย์ของมัน ทำให้มนุษย์ผู้ใช้งานมัน ค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้ความเป็นพระเจ้าเข้าไปทีละน้อย
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ข่าวการประกาศใช้ AI ช่วยแปลคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นภาษาหายากของสองนักวิจัยจาก University of Southern California นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนทั้งวงการศาสนา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และเทคโนโลยีเลยทีเดียว
จริงอยู่ที่คัมภีร์ไบเบิ้ลเคยถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั้งตะวันตกและตะวันออก แต่ตามข้อมูลจาก Wycliffe Global Alliance องค์กรที่มีเป้าหมายในการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาต่าง ๆ พบว่าที่จริงแล้ว คัมภีร์ไบเบิ้ลที่ถูกแปลแบบสมบูรณ์นั้นมีเพียงแค่ 724 ภาษา จากทั้งหมด 7,388 ภาษาทั่วโลก ยังมีคนอีกกว่า 20% บนโลกใบนี้ที่ไม่สามารถเข้าถึงพระคัมภีร์ฉบับเต็มในภาษาของตัวเอง
เครื่องมือการแปลที่ใช้ AI ช่วยประมวลผลจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญของโครงการนี้ โดยมันถูกเรียกว่า Greek Room ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักแปลในการแปลข้อความเบื้องต้นที่ไม่ต้องการการตีความมากนัก อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนให้เข้ากับวิถีชีวิตของเจ้าของภาษานั้นยังต้องอาศัยมนุษย์เข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจอยู่ เช่น คนในบางพื้นที่ที่อาศัยอยู่ในบ้านแบบไม่มีประตู นักแปลที่เป็นมนุษย์จำเป็นต้องปรับคำสอนในบทที่พูดถึงประตูให้กลายเป็นบริบทที่เหมาะสมและเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งทางทีมนักวิจัยเองก็หวังว่าภายใต้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ AI ภารกิจการแปลคัมภีร์ไบเบิ้ลให้ครบสมบูรณ์ทุกภาษาจะสามารถสำเร็จลุล่วงได้ในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้
บทสรุป
อาจสรุปได้ว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทในวงการหนังสือแปลมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีความพยายามจากหลากหลายภาคส่วนในการพัฒนา AI เพื่อใช้ประโยชน์ในการย่นระยะเวลาทำงาน และผลิตงานแปลจำนวนมากด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมองในแง่การรักษาสุนทรียภาพทางภาษา AI อาจจะยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งสำหรับนักแปลหนังสือแล้ว การเข้ามามีบทบาทของ AI อาจเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต เพราะ AI สามารถช่วยแปลเพื่อจับใจความในขั้นต้นและตรวจสอบความถูกต้องในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ได้ต้องการความลุ่มลึกนัก ทำให้มนุษย์สามารถทำงานได้เร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น และมีข้อผิดพลาดยิบย่อยน้อยลง
ที่มา: ewdn.com↗, azorobotics.com↗, deseret.com↗ และ cbn.com↗