
TK Park ส่งท้ายเดือนไพร์ด (Pride Month) มิถุนายนปีนี้ ด้วยการเชิญชวนให้ทุกคนร่วมรำลึกถึงความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมตระหนักและยอมรับในความหลากหลายทางเพศ ผ่านเรื่องราวของนักเขียน LGBTQ ผู้ได้สร้างผลงานที่ทรงพลังและตราตรึงใจนักอ่านมาแล้วทั่วโลก
ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde)
นักเขียนชาวไอริชที่มีผลงานโดดเด่นและน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก งานของเขาได้รับความนิยมสูงในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอน แต่ชีวิตของเขากลับพลิกผันเมื่อความสัมพันธ์ของเขากับอัลเฟรด ดักลาส (Alfred Douglas) ผู้อายุน้อยกว่าเขาถึง 16 ปีถูกเปิดเผย เขาถูกตัดสินโทษ เพราะสังคมในสมัยวิกตอเรียนมองว่าความรักของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้าม การฝ่าฝืนจึงเท่ากับผิดกฎหมาย เขาถูกศาลพิพากษาจองจำนานถึง 2 ปี และหลักฐานชิ้นสำคัญที่มัดตัวเขาไม่ให้หลุดรอด คือนวนิยายเรื่อง The Picture of Dorian Gray (1891) เพราะมีเนื้อหาบรรยายถึงความรักและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของเขา และถึงแม้เขาจะไม่ได้เปิดเผยถึงความสัมพันธ์และชื่อคนรักของเขาอย่างตรงไปตรงมา แต่หากใครเปิดใจอ่านจดหมายที่เขาเขียนถึงคนรัก น่าจะรู้สึกได้ถึงความรักความปรารถนาอันเปี่ยมล้นและความเจ็บปวดที่งดงามเกินกว่าใครหรือสิ่งใดจะทำลายลงได้
ผลงานของออสการ์ ไวลด์ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักประพันธ์คนอื่น ๆ ในยุคนั้น เช่น การ์เซีย ลอร์กา (García Lorca) และนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าในอนาคตอีกหลายคนที่จะกล่าวถึงต่อไป

ยูกิโอะ มิชิมะ (Yukio Mishima)
ผู้แต่งนวนิยาย Confessions of a Mask ซึ่งเล่าถึงชีวิตของ “โคจัง” ตัวเอกหนุ่มที่ต่อสู้กับรสนิยมทางเพศของเขาในฐานะบุคคลแปลกประหลาด เขาต้องพยายามดิ้นรนให้ตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับบรรทัดฐานของสังคม นวนิยายเรื่องนี้จึงทำหน้าที่เป็นช่องทางให้มิชิมะได้สำรวจความปรารถนาของตนและถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งเรื่องการต่อสู้กับการถูกกดขี่ อิทธิพลที่เขาได้รับในวัยเด็กจากคุณย่าผู้มักมีอารมณ์ผันผวน การค้นพบแนวโน้มรักร่วมเพศ การต้องแต่งงานและสร้างครอบครัวกับผู้หญิง ความกดดันในการแสดงออกซึ่งความปรารถนา และการที่เขารู้สึกเหมือนถูกสังคมบังคับให้สวมหน้ากากปิดบังตัวตนไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของนวนิยายเรื่องนี้

มาร์แซล พรูสต์ (Marcel Proust)
นักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อดังในช่วงรอยต่อเข้าสู่คริสตศตวรรษที่ 20 ผู้คนรู้จักเขาในฐานะผู้ใช้ชีวิตอันน่าหลงใหล ด้วยอัตลักษณ์ทางเพศที่ซับซ้อนและความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเรย์นัลโด ฮาห์น (Reynaldo Hahn) นักแต่งเพลงโอเปร่าชาวเวเนซุเอลา สำหรับพรูสต์ ความปรารถนาและประสบการณ์ส่วนตัวคือปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อ In Search of Lost Time ผลงานชิ้นโบแดงของเขา ที่อธิบายถึงเพศวิถีของพรูสต์ที่เอนเอียงไปทางรักร่วมเพศ ตัวตนนี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดธีมและตัวละครในผลงานมากมายของเขา ความสัมพันธ์ของเขากับเรย์นัลโดซึ่งเป็นเกย์อย่างเปิดเผยทำให้พรูสต์ได้เชื่อมร้อยอารมณ์และแรงบันดาลใจถ่ายทอดลงสู่ผลงานได้อย่างลึกซึ้ง ตัวละครอัลเบอร์ทีนซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญใน In Search of Lost Time เชื่อว่ามีต้นแบบมาจากฮาห์น การสังเกตโดยละเอียดของพรูสต์เกี่ยวกับอารมณ์ของมนุษย์ ความปรารถนา และความซับซ้อนของความสัมพันธ์ของมนุษย์ในผลงานชิ้นเอกของเขาสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ส่วนตัว และผลกระทบจากเรื่องเพศวิถีและความสัมพันธ์กับฮาห์นที่ส่งผลต่อตัวเขาอย่างลึกซึ้ง องค์ประกอบเหล่านี้ไม่เพียงแต่เพิ่มอรรถรสให้กับการเล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังทำให้ผลงานมีความลุ่มลึกจนตราตรึงใจผู้อ่านมาจนถึงทุกวันนี้

ทรูแมน คาโปเต้ (Truman Capote)
นักเขียนชื่อดังแห่งยุค 1960s เจ้าของผลงานอันโด่งดังอย่าง Breakfast at Tiffany's และ In Cold Blood คาโปเต้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูงของอเมริกา เขาเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์และใช้ชีวิตรักที่เต็มไปด้วยสีสัน ความสนใจในฆาตกรของเขาปรากฏในผลงานชิ้นเอกของเขาเรื่อง In Cold Blood และแสดงให้เห็นถึงความหลงใหลในด้านมืดของธรรมชาติมนุษย์ งานชิ้นนี้กลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาและเป็นต้นแบบของวรรณกรรมแนวสารคดี ชีวิตของคาโปเต้ยังเป็นหมุดหมายสำคัญในวงการภาพยนตร์ด้วย เพราะต่อมา ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Philip Seymour Hoffman) ได้นำเสนอภาพสะเทือนอารมณ์ของฉากจบอันน่าเศร้าของชีวิตคาโปเต้ เนื่องจากการเสพยาเกินขนาด

เรนัลโด้ อาเรนาส (Reinaldo Arenas)
เจ้าของชีวิตจริงที่ฮาเวียร์ บาร์เด็ม (Javier Bardem) สวมบทและนำมาโลดแล่นในโลกภาพยนตร์ อาเรนาสเป็นที่รู้จักฐานะเด็กหนุ่มหัวรั้นและตัวแทนเฉดสีอันฉูดฉาดของของคิวบา อันสืบเนื่องมาจากความเฉลียวฉลาดและโหยหาอิสรภาพของเขา อาเรนาสถูกกดขี่ในระบอบการปกครองอันเข้มงวดของคาสโตร นักเขียนเควียร์ผู้นี้จึงต้องหลบเร้นจากบ้านเกิดเมืองนอนและย้ายมาตั้งรกรากในนิวยอร์ก จนกระทั่งเขาเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าเมื่อปี 1990 หลังต่อสู้กับโรคเอดส์อยู่สามปี เขาได้ทิ้งมรดกทางวรรณกรรมอย่าง Celestino และเรื่องราวการยืนหยัดต่อสู้เพื่อชุมชนเกย์ชายขอบในคิวบา ผ่านเรื่องราวในช่วงชีวิตวัยรุ่นและความเปราะบางแห่งชีวิตซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วมของเขาและคนในชุมชนเหล่านี้
ชีวิตของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ต่างมีรสชาติคละเคล้าด้วยเรื่องราวของชีวิตและเพศวิถีอันหลากหลาย ที่ผลักดันให้เกิดการรังสรรค์ผลงานเขียนชิ้นสำคัญและตราตรึงใจผู้คนทั่วโลกไม่ว่าเพศใด วรรณกรรมของพวกเขาได้ตอกย้ำถึงตัวตนของกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยหลบเร้นอยู่ในสังคม ทว่ามีอยู่จริง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเกินกว่าที่สังคมจะเพิกเฉยและมองข้ามไปได้