หลังจากกระแสเรื่องนักแสดงนำใน The Little Mermaid เทพนิยายคลาสสิกที่ถูกดิสนีย์หยิบมาทำใหม่ในฉบับไลฟ์แอ็กชันได้จุดประเด็นให้เป็นที่ถกเถียงไปทั่วโลก ถึงการเลือก ฮัลลี เบลีย์ นักแสดงสาวผิวสีมารับบทแอเรียล ซึ่งเดิมในฉบับการ์ตูนเป็นนางเงือกผิวสีขาว ก็มีหลายคนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงภาพจำนี้โดยให้เหตุผลว่าเดิมทีก่อนที่เด็กๆ ยุคใหม่จะได้อ่านนิทานฉบับชวนฝันเหล่านี้ นิทานพื้นบ้านฉบับคลาสสิกที่เหล่านักเล่าเรื่องยุคก่อนเขียนไว้นั้นก็ไม่ได้มีเนื้อเรื่องอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
เรื่องราวของนิทานได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยก่อนจะถูกเคลือบน้ำตาลอีกชั้นเพื่อให้เข้าถึงเด็กเล็กๆ ได้มากขึ้น ทว่าในความเป็นจริงแล้วต้นกำเนิดของนิทานคลาสสิกในยุคของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน, จิอัมบาติสตา เบซิล, เจ. เอ็ม. แบร์รี และสองพี่น้องตระกูลกริมม์ นักเขียนชื่อดังในยุคก่อน กลับเต็มไปด้วยโศกนาฎกรมอันดำมืด การฆาตกรรม การทรมาน ไปจนถึงจุดจบที่ห่างไกลจากคำว่า “และแล้วพวกเขาก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขชั่วนิรันดร์” มาก
หากว่าคุณอยากรู้ความลับของนิทานคลาสสิกที่พ่อแม่ไม่เคยเล่าไว้ในนิทานก่อนนอนคืออะไร ทำไมปีเตอร์แพนถึงไม่เคยโต เกิดอะไรขึ้นกับราชินีในเรื่องสโนไวท์ อะไรคือความลับชั่วร้ายที่ซ่อนอยู่ของซินเดอเรลล่า แม้แต่ราคาที่เงือกน้อยต้องจ่ายเพื่อแลกกับขาคืออะไรกันแน่ ลองเลื่อนอ่านต่อไปแล้วคุณจะมองเทพนิยายเหล่านี้ไม่เหมือนเดิมอีกเลย!
ซินเดอเรลล่า (Cinderella) - ผู้ฆ่าแม่เลี้ยงด้วยมือเปล่า
เรื่องราวต้นกำเนิดของเทพนิยายซินเดอเรลล่าสามารถย้อนหาจุดเริ่มต้นไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 9 ในจีน แต่โลกตะวันตกได้รู้จักกับตัวละครผู้เป็นที่รักของคนอ่านผู้นี้ในช่วงปี 1634 ในเรื่องเล่าที่มีชื่อว่า The Pentamerone ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักเขียนชาวอิตาเลียน จิอัมบาติสตา เบซิล นับเป็นเวลายาวนานถึงกว่า 4 ศตวรรษก่อนซินเดอเรลล่าในฉบับวอลท์ ดิสนีย์จะถือกำเนิดเลยทีเดียว
ซินเดอเรลล่าในเรื่องเล่าของเบซิลนั้นไม่ใช่สาวน้อยผู้ใสซื่อ ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกโดยแม่เลี้ยงโดยไม่มีทางตอบโต้ หากแต่ในยามที่พ่อของเธอแต่งงานกับแม่เลี้ยงคนแรก เป็นตัวเธอนั่นเองที่ลงมือหักคอแม่เลี้ยงโดยใช้เพียงมือเปล่าและฝาตู้เสื้อผ้าเท่านั้น! แม้การฆาตกรรมนี้จะทำลงไปเพราะถูกผู้เป็นพ่อบงการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเธอได้กลายเป็นฆาตกรเลือดเย็นไปเสียแล้ว
สำหรับเรื่องรองเท้าแก้วที่เป็นซิกเนเจอร์ของเรื่อง ในฉบับของเบซิลนั้น ซินเดอเรลล่ายังคงได้ไปงานเลี้ยงและทำรองเท้าหล่นไว้ (แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่รองเท้าแก้ว แต่เป็นรองเท้าหนังสัตว์ข้างหนึ่ง) เธอตกหลุมรักกับเจ้าชาย ใส่รองเท้าคู่นั้นได้ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดกาล (หลังจากฆาตกรรมแม่เลี้ยงไปหนึ่งคน) ในขณะที่เรื่องเล่าฉบับสก็อตแลนด์ซึ่งเขียนโดย ราชิน โคทตี้ กลับฟังดูโหดร้ายกว่านั้นอยู่สักหน่อย เพราะต้องการให้ลูกสาวของตัวเองได้แต่งงานกับเจ้าชาย แม่เลี้ยงใจร้ายจึงลงมือตัดส้นเท้าพี่สาวของซินเดอเรลล่าให้พอดีกับขนาดรองเท้า
และถ้านั่นยังฟังดูไม่หดหู่พอเราขอเสนอซินเดอเรลล่าฉบับของพี่น้องตระกูลกริมม์ที่ตัวพี่สาวลงมือจัดการกับเท้าของตัวเองเพื่อการแต่งงานในฝัน อ้อ ในฉบับนี้มีฉากที่พวกเธอถูกนกรุมจิกตาด้วย ช่างแตกต่างกับฉบับของดิสนีย์ที่ถูกแปลงให้กลายเป็นเทพนิยายในฝัน อบอวลไปด้วยองค์ประกอบแสนมหัศจรรย์อย่างนางฟ้าแม่ทูนหัวและรถม้าฟักทอง พร้อมตอนจบที่ทุกคนต่างหลงรักซินเดอเรลล่าผู้ใสซื่อและบริสุทธิ์
เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty) - ผู้ถูกข่มขืนและตื่นด้วยการถูกดูดนิ้ว
เรื่องราวของเจ้าหญิงนิทราผู้น่าสงสารถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ กันกับซินเดอเรลล่าภายใต้ชื่อว่า Sun, Moon, Talia ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของเรื่องคล้ายๆ กับฉบับดัดแปลงของดิสนีย์ในปี 1959 มันเริ่มต้นด้วยเจ้าหญิงน้อยแสนสวยที่ถูกสาปให้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา เธอถูกเข็มของเครื่องปั่นด้ายทิ่มและไม่อาจลืมตาตื่นขึ้นมาได้อีก ทำให้พระราชาผู้พ่อใจสลายจนต้องเก็บร่างของเธอไว้บนเก้าอี้กำมะหยี่ในปราสาทที่ถูกปิดตายตลอดกาล…
เอาล่ะ มาถึงตรงนี้เรื่องราวเริ่มแตกต่างไปไกลจากต้นฉบับแล้ว ในเวอร์ชันของดิสนีย์เจ้าหญิงนิทราถูกปลุกด้วยจุมพิตแสนหวานของเจ้าชายก่อนที่คนทั้งคู่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ในฉบับของจิอัมบาติสตา เบซิล พระราชาจากเมืองข้างเคียงบังเอิญมาเยือนยังปราสาทที่ถูกทิ้งร้างนี้ เมื่อเขาได้พบกับร่างอันงดงามของเจ้าหญิงแสนสวย พระราชาผู้แต่งงานแล้วก็ลงมือข่มขืนเธอและทำให้เจ้าหญิงผู้กำลังหลับใหลตั้งท้อง เจ้าหญิงทาเลียให้กำเนิดบุตรสองคนที่มีชื่อว่า ซัน และ มูน เพราะเด็กน้อยไม่อาจหาน้ำนมดื่มกินได้ เด็กทั้งสองจึงดูดปลายนิ้วมารดาจนทำให้เธอตื่นขึ้นมาจากคำสาปในที่สุด
และถ้าคุณยังจำได้ว่าพระราชาผู้ข่มขืนเธอนั้นแต่งงานแล้ว… พระราชินีผู้ได้ยินข่าวการนอกใจของสามีรู้สึกรับไม่ได้จึงบงการสั่งให้พ่อครัวนำเด็กทั้งสองที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพระราชากับเจ้าหญิงทาเลียไปย่างทำอาหาร ทว่าพ่อครัวกลับนำเด็กไปซ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นเนื้อแพะแทน ในตอนท้ายพระราชินีที่รู้สึกโกรธจึงพยายามจะจับเจ้าหญิงทาเลียโยนเข้ากองไฟ ทว่าพระราชาที่รู้เรื่องกลับจับภรรยาของตนเองไปเผาแทน และแต่งงานใช้ชีวิตกับเจ้าหญิงนิทราอย่างมีความสุข
ถ้าคุณฟังเวอร์ชันนี้แล้วรู้สึกเวียนหัวพะอืดพะอม ลองมาฟังอีกเวอร์ชันหนึ่งของ ชาร์ลส์ แปโร หน่อยเป็นไร เนื้อเรื่องค่อนข้างคล้ายกัน แค่เปลี่ยนตัวละครจากพระราชินีเป็นแม่ของพระราชาที่ไม่ปลื้มกับลูกสะใภ้ เลยพยายามจับเจ้าหญิงนิทราโยนบ่องูพิษ …แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วย่อมกลายเป็นเธอเองที่ต้องตายเพื่อให้ลูกชายและตัวเอกของเรื่องครองรักกันอย่างมีความสุข
เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) - เงือกน้อยผู้จบชีวิตเพราะผู้ชาย
นิทานเรื่องเงือกน้อยผจญภัยถูกเขียนขึ้นโดย ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นักเขียนชาวเดนมาร์กในปี 1837 เกือบ 150 ปีก่อนที่แอเรียลจะร้องเพลง Under the Sea กับเซบาสเตียนและฟลาวน์เดอร์ในเวอร์ชันของดิสนีย์ แน่นอนว่าชีวิตเงือกในเวอร์ชันของนักเล่านิทานยุคก่อนย่อมไม่สวยงามเหมือนนิทานก่อนนอนของเด็กๆ ยุคนี้แน่ แต่หลายคนคงไม่คิดว่าก่อนที่จะมาเป็นการ์ตูนสุดแฟนตาซีแบบในปัจจุบัน เรื่องเล่าของเงือกน้อยนั้นไม่ต่างอะไรจากโศกนาฎกรรมเลยทีเดียว
ชีวิตชาวเงือกในแบบฉบับของแอนเดอร์เซนนั้นน่าหดหู่มาก หลังจากที่เงือกตายไปร่างกายจะกลายเป็นฟองคลื่นในทะเล แตกต่างจากมนุษย์ที่เชื่อกันว่าจะมีชีวิตหลังความตายที่งดงาม เพื่อหลีกเลี่ยงชะตากรรมอันน่าสงสารนี้เงือกน้อยเลยพุ่งเป้าหมายไปที่การชิงจิตวิญญาณของมนุษย์ แต่ผู้เป็นย่าของเธอกลับบอกว่าวิธีเดียวที่เธอจะได้สิ่งนั้นคือการที่มีมนุษย์เพศชายมาตกหลุมรักและแต่งงานกับเธอ …ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่สิ่งมีชีวิตที่มีหางอย่างเธอจะสามารถคิดฝันได้เลย
วันหนึ่งเงือกน้อยได้พบเจ้าชายรูปงามบนชายฝั่ง ความปรารถนาที่จะกลายเป็นมนุษย์ของเธอจึงยิ่งเข้มข้นเข้าไปอีก เงือกน้อยจึงเดินทางฝ่าดงกระดูกไปพบกับแม่มดแห่งท้องทะเล เธอยื่นข้อเสนอว่าจะช่วยเปลี่ยนหางปลาให้กลายเป็นขา เพียงแค่เงือกน้อยขึ้นไปยังชายฝั่งและดื่มยาที่แม่มดเตรียมให้ ทว่าหลังจากดื่มยานั้นลงไปแล้วเธอจะรู้สึกเหมือนถูกดาบแทงทะลุผ่านร่างกาย ทุกก้าวที่ย่างบนพื้นดินจะรู้สึกเจ็บปวดเหมือนเหยีบย่างบนคมมีด เลือดในกายจะรินไหลนองอาบพื้น ถ้าหากเงือกน้อยทนได้แม่มดก็จะมอบยานั้นให้…แลกกับการตัดลิ้นของเลือกน้อยเป็นการแลกเปลี่ยน
ทว่านั่นยังไม่ใช่โศกนาฎกรรมที่แท้จริง… หลังจากเงือกน้อยยอมแลกเปลี่ยนทุกสิ่งอย่างเพื่อการได้ขาหนึ่งคู่สำหรับการใช้ชีวิตบนฝั่งกับคนที่เธอรัก เจ้าชายผู้ก็รักเธอเหมือนกัน…เพียงแต่ไม่มากพอกลับตัดสินใจแต่งงานกับหญิงสาวคนอื่น ทางเดียวที่เงือกน้อยจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปคือการแทงเจ้าชายที่เธอรักให้ถึงแก่ชีวิต ทว่าท้ายที่สุดเงือกน้อยผู้งมงายในรักกลับปฏิเสธ ทำให้ชีวิตอันน่าอาดูรของเธอต้องจบสิ้นลงที่จุดตัดของผืนดินและผืนน้ำนั่นเอง
สโนว์ไวท์ (Snow White) - เจ้าหญิงผู้ล้างแค้นได้โหดร้ายสุดๆ
การ์ตูนเจ้าหญิงสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ดในเวอร์ชันปี 1937 ของดิสนีย์นั้นถือกว่าใกล้เคียงกับฉบับของ จิอัมบาติสตา เบซิล และพี่น้องตระกูลกริมม์มากที่สุด มีแค่รายละเอียดบางอย่างที่ค่อนข้าง…ทำให้เทพนิยายกลายเป็นเรื่องราวอันแสนโหดร้ายชวนใจสลาย
บางฉบับของนิทานเรื่องสโนว์ไวท์ แม่เลี้ยงใจร้ายที่สั่งให้นายพรานไปจัดการกับเจ้าหญิงน้อยผิวสีหิมะเพียงเพราะความงามที่ล้ำหน้ากว่าตนเองถูกเขียนให้เป็นแม่แท้ๆ ไม่ใช่แค่แม่เลี้ยง ซึ่งนั่นทำให้เรื่องนี้ยิ่งฟังดูโหดร้ายยิ่งกว่าเก่า แม้ในเวอร์ชันของดิสนีย์ยังคงไว้ซึ่งเส้นเรื่องการกำจัดสโนว์ไวท์ แต่อย่างน้อยในนิทานยุคสมัยใหม่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดไปถึงคำสั่งที่พระราชินีใจร้ายกำชับให้นายพรานจัดการกับเจ้าหญิงน้อย “พาสโนว์ไวท์ไปในป่าอันห่างไกล แทงเธอให้ตาย แล้วเอาปอดกับตับของเธอกลับมาเพื่อพิสูจน์ว่าเธอตายจริงๆ ข้าจะปรุงมันด้วยเกลือ ย่างมัน แล้วกินมันซะ” …แค่ลองคิดว่านั่นเป็นคำสั่งจากผู้เป็นแม่แท้ๆ ก็อยากจะกุมขมับแล้ว
ทว่านิทานเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ ถ้าคิดว่าสโนว์ไวท์ยุคก่อนจะยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียวแล้ว…ขอบอกว่าคุณคิดผิด! นอกจากจะไม่ยอมนอนแอปเปิ้ลติดคอเฉยๆ ในงานแต่งงานของเธอที่เชิญพระราชินีมาด้วย เจ้าหญิงสโนว์ไวท์ยังเอาคืนผู้เป็นแม่ด้วยการหารองเท้าที่ทำจากเหล็กมาเผาไฟให้ร้อน แล้วบังคับให้อีกฝ่ายใส่เต้นรำภายในงาน ในท้ายที่สุดแล้วรองเท้าที่ร้อนฉ่าก็ลวกฝ่าเท้าพระราชินีตัวร้ายจนตาย ส่วนสโนว์ไวท์น่ะเหรอ…แน่นอนว่าต้องอยู่กับเจ้าชายอย่างมีความสุขตลอดกาล
ปีเตอร์แพน (Peter Pan) - เด็กชายผู้ฆ่าเพื่อนเพื่อความเป็นเด็กตลอดกาล
โลกได้รู้จักปีเตอร์แพนครั้งแรกในฐานะเด็กชายจากวรรณกรรมเรื่อง The Little White Bird ที่เขียนโดย เจ. เอ็ม. แบร์รี ในปี 1902 ความนิยมในหนังสือเรื่องนี้ทำให้ในปี 1904 บทละครเรื่อง Peter Pan - The Boy Who Wouldn't Grow Up ได้ถูกเขาเขียนขึ้นพร้อมเปิดตัวตัวละครใหม่ที่โด่งดังมากในเวลาต่อมาอย่าง กัปตันคุกและทิงเกอร์เบลล์
สิ่งที่เราเห็นจากเวอร์ชันของดิสนีย์คือปีเตอร์แพนที่ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่ เพียงแต่สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือเขายินยอมที่จะเป็นเด็กเช่นนี้ไปนานแค่ไหนกัน เรื่องราวในเวอร์ชันเก่าก่อนเขียนเอาไว้ว่า ปีเตอร์แพนสังหารเพื่อนๆ แก๊งเด็กหลงเพื่อป้องกันพวกเขาไม่ให้โตเป็นผู้ใหญ่
ในขณะที่ทุกคนคิดว่าปีเตอร์แพนหลงใหลในความเยาว์วัย อันที่จริงแล้วเขาก็แค่หลงใหลในความตายเท่านั้น เชื่อกันว่าเรื่องราวสุดดำมืดเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์วัยเยาว์ของแบร์รีที่สูญเสียน้องชายไปตั้งแต่เด็ก งานของเขาจึงเต็มไปด้วยฉากที่โหดร้าย ไม่ว่าจะเป็น เวนดี้ที่ถูกลูกศรยิงจนเกือบตาย ปีเตอร์แพนที่เกือบทิ้งชีวิตไว้ในน้ำ กัปตันฮุกที่ตายเพราะถูกจระเข้เขมือบ ประโยคฮิตจากนิทานเรื่องนี้ที่น่าจะอธิบายความเป็น ‘ปีเตอร์แพน’ ได้ดีที่สุดจึงน่าจะเป็น “ความตายคือการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยคที่บอกเล่าถึงนิทานปีเตอร์แพนฉบับก่อนหน้าดิสนีย์ได้ตรงประเด็นที่สุดแล้ว
ที่มาข้อมูล
https://www.abebooks.com/books/the-gruesome-origins-of-classic-fairy-tales/
https://theculturetrip.com/europe/united-kingdom/articles/the-10-most-dark-and-disturbing-fairy-tales/
ภาพประกอบ
https://www.ranker.com/list/details-from-the-original-sleeping-beauty/genevieve-carlton
https://positivenegativeimpact.com/gruesome-version-snow-white
https://en.wikipedia.org/wiki/Peter_Pan
https://victorianweb.org/art/illustration/cruikshank/fairy15.html