“เราไม่ได้เขียนนิยายเพื่อขายนิยาย เราเขียนนิยายเพื่ออธิบายสภาวะภายในจิตใจของเราบางอย่างเฉพาะตัว” เป็นประโยคที่ อ๋อง วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ อธิบายถึงกระบวนการภายในของเขาที่เกิดขึ้นระหว่างเขียนงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา
เขาเติบโตจากการเขียนงานข่าวธุรกิจ การตลาด ก่อนจะมาเป็นบรรณาธิการ นักเขียน และนักแปล ปัจจุบันเขาเกษียณตัวเองจากวงการสื่อที่ทำงานมาเกือบทั้งชีวิต และมีนิยายเล่มแรกคือ ‘วินาทีไร้น้ำหนัก’
สิ่งที่เขากำลังบอกกับพวกเราคือ ชีวิตไม่ได้มีเฉพาะเหตุและผล และหลายครั้งเหตุก็ไม่ได้พาไปหาผลตามความคาดหวัง แม้จะมีเหตุจากคนรีวิวข้าวขาหมูว่าอร่อย แต่พอไปกินแล้วอาจจะไม่ได้อร่อยอย่างที่คิด
ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น ไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ด้วยเหตุและผลเช่นกัน
แต่หากปิดตาแล้วเปิดใจ มีโลกภายในที่พยายามจะส่งเสียงกับเราอยู่ ซึ่งทางที่อ๋อง วุฒิชัยเชื่อมต่อกับโลกภายในของเขาคือ ‘การเขียน’
อักษรแต่ละตัวคือถ้อยคำของความรู้สึก ส่วนจะเป็นความรู้สึกเฉดไหน ไปลองอ่านบทความนี้กัน
ก่อนทำงานเขียน ทำอะไรมา
จริงๆ ผมไม่ได้เรียนด้านการเขียนอะไรเลย ไม่รู้หลักการ ไม่รู้วิธีการขั้นตอน จรรยาบรรณ จริยธรรมหรืออะไรอย่างนี้ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น เราเผชิญวิกฤติบางอย่างภายในใจ ซึ่งมันเต็มไปด้วยคำถาม แล้วสงสัยว่าถ้าโตขึ้นตัวเราจะเป็นยังไง แก่ไปแล้ว เราจะเป็นยังไง โตขึ้นแล้วชีวิตที่ดีของเราคืออะไร เราจะทำงานอะไร แล้วงานของเรามันจะมีความหมายแค่ไหน
สมัยมัธยมชีวิตเต็มไปด้วยคำถาม แล้วสมัยนั้นมันเป็นยุคสมัยที่ยากลำบาก แน่นอนสมัยนี้ยากลำบากกว่าสมัยผม แต่ว่าคุณต้องยอมรับว่าไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ตาม เราต่างมีปัญหาเฉพาะยุคสมัยของเราเอง อย่างยุคสมัยของผมเนี่ย จะมีปัญหาการต่อสู้แข่งขันกับเพื่อนร่วมรุ่น การปากกัดตีนถีบ การไต่ระดับทางชนชั้นจากลูกของคนระดับชนชั้นล่างขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางด้วยระบบการศึกษา แล้วถ้าโตแล้วเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้แค่ไหน มันเต็มไปด้วยคำถาม แล้วพอมันมาถึงจุดเปลี่ยนอย่างการสอบเอนทรานซ์ ถ้าสอบไม่ติดหมายถึงคุณจบชีวิต ถ้าสอบติดคุณก็ต้องเจอคำถามใหม่ว่าถ้าคุณเรียนจบจะไปทำอะไรอยู่ดี (หัวเราะ) วนๆ มันก็วนอยู่แบบนี้ แล้วพอเราตั้งคำถามกับชีวิตอย่างนี้ คำถามพวกนี้มันวนๆ อยู่ในใจ แล้วรู้สึกเสียใจ รู้สึกเศร้าอยู่ลึกๆ แล้วก็มาเรียนมหาวิทยาลัย เรียนทางด้านการเงินการธนาคาร แต่ว่าไม่ได้สนใจเลย จบมาก็ไม่รู้หรอกว่าอยากทำอะไร แค่ไปสมัครงานเป็นนักข่าว ทำข่าวธุรกิจ ข่าวการตลาด ข่าวการเงิน ข่าวเศรษฐกิจอะไรแบบนี้
แล้วเริ่มเรียนรู้การเขียนได้อย่างไร
ตอนเริ่มไม่รู้ว่าเขียนยังไงเลย อะไรคือประเด็น (หัวเราะ)
ก็เริ่มแค่ ‘ทำ’ เผชิญหน้ากับมัน พิมพ์ข่าว แกะเทป วันแล้ววันเล่า แล้วก็พบว่าเวลาที่ไปสัมภาษณ์ หรือเวลาที่เขียนข่าว มันไม่ใช่แค่คนคนนั้น หรือมันไม่ใช่แค่ข่าว มันมีอะไรบางอย่างที่เป็นความสนใจใคร่รู้ของตัวเรา รสนิยม การเลือก การเรียบเรียง น้ำเสียง คำถาม และอะไรบางอย่างอีกมากมาย เสร็จแล้วมันก็สะท้อนความเป็นตัวเราออกมาในงาน
ตอนนั้นพบว่าเวลาไปสัมภาษณ์ข่าว แม้จะเป็นข่าวธุรกิจ การเงิน มันมักจะมีคำถามเชิงปรัชญาชีวิต เชิงความรู้สึกนึกคิด ความเป็นมนุษย์ รู้สึกว่าตัวเองชอบ แล้วมันมีอะไรบางอย่างที่เราได้ทำ ได้ใส่ คือมันไม่ใช่แค่ความจริงภายนอก ที่เป็น objectivity หรือเป็นภววิสัย แต่มันมีความจริงอีกแบบหนึ่งที่เราตีความ เป็นความจริงภายในที่เราอธิบายมันออกมาแบบที่มันเป็นอัตวิสัยด้วย มันมีความเป็น ‘ตัวเรา’ อยู่ในงานนั้น ไม่ใช่รายงาน แต่เป็นข้อเขียนของตัวเรา
ใช้เวลานานไหมกว่าจะค้นพบความเป็น objectivity (ภววิสัย) และ subjectivity (อัตวิสัย) ในงานเขียน
ผมคิดว่ายุคสมัยของผม ไม่ค่อยมีคำถามเรื่องนี้ แต่ยุคสมัยนี้มันเป็นยุคสมัยที่ทุกคนจู่ๆ เกิดตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ฉันคือใคร” “แท้จริงแล้วฉันต้องการอะไร” “แท้จริงแล้วฉันคือใคร” “ชีวิตมีจุดประสงค์อะไร” แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นคำถามที่มีมานานแล้วตลอดมนุษยชาติเลย ดังนั้นถ้าตอบคำถาม ก็เลยไม่ได้สังเกตว่าพบมันยังไง ใช้เวลานานขนาดไหน แค่มีชีวิตอยู่ไปวันต่อวัน แล้วก็ทำงานไปวันต่อวัน เขียนข่าวครั้งต่อครั้ง สัมภาษณ์คนต่อคน เขียนข่าวชิ้นต่อชิ้น
จนปี 40 เศรษฐกิจล่ม ผมโดนให้ออกจากการเป็นนักข่าว แต่ว่ายังรู้สึกสนุกอยู่ เลยกลับไปบอกเพื่อนที่ไม่ได้โดนให้ออกว่าอยากเขียนบทความอะไรบางอย่างให้ แต่ไม่ต้องจ่ายค่าต้นฉบับ เขาก็ยินดีที่จะรับ แบบว่าถ้าผมเขียนดีพอ เขายินดีที่จะรับไปพิมพ์
พอเศรษฐกิจล่ม บริษัทปรับคนให้เหลือน้อย พื้นที่จำนวนมากมายมันต้องการต้นฉบับ ช่วงนั้น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมันเริ่มบูม บูมแบบฉิบหายวายป่วงตอนนั้นพอดี ผมใช้เวลาในโลกอินเทอร์เน็ต จนรู้สึกว่าชีวิตและจิตใจของผมมันแปรสภาพจากแบบหนึ่งไปแบบหนึ่ง ผมรู้สึกว่าผมมีอีกคนหนึ่งอยู่ในโลกนั้น ผมรู้สึกตกตะลึง ตื่นตะลึง แล้วสนุกกับมันมากเลย ผมสนุกกับมันไม่ใช่ในฐานะที่แบบว่าแชตด่าคนนั้นคนนี้นะ ผมสนุกกับมันที่ได้เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงภายในใจเมื่อมีอีกตัวตนหนึ่งเกิดขึ้นมาใน virtual space แล้วการผุดกำเนิดของตัวตนอีกหนึ่งตัวตน มันทำให้เราเข้าใจกระบวนการที่เรารู้สึกตระหนักรู้ในชีวิตจริงได้ แล้วผมก็เขียนบทความอธิบายว่าความรักมันเกิดขึ้นได้ยังไง หรือว่าความเป็นตัวเรามันเกิดขึ้นมาได้ยังไงผ่านการอธิบายตัวตนที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต แล้วผมก็ส่งบทความลงรายสัปดาห์ มันเป็นงานเขียนที่เป็นความจริงมาจากภายในล้วนๆ เลย มันเป็นทัศนะประสบการณ์ส่วนตัว แล้วแบบแฮปปี้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่มีความสุขในการทำงานมากเท่านี้ แต่ว่าไม่ได้ตังค์ (หัวเราะ)
มันเป็นความสนุก?
เออ เท่านั้นเอง
ความสนุกพัฒนามาจนถึงการเป็นบรรณาธิการได้อย่างไร
ผมรู้สึกว่าชีวิตเรามันมีหลายพาร์ต ทั้งการรับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบคนที่เรารัก รับผิดชอบครอบครัว รับผิดชอบสังคม และการหาความพึงพอใจส่วนตัว ผมพบว่างานที่ผมทำ ถ้าเป็นงานที่เป็นนิตยสาร มันคืองานที่ใช้ passion ส่วนตัว เอาทักษะที่มีมาทำเป็นวิชาชีพเพื่อหาเงิน
หลังจากที่ผมโดน lay off สักพัก ผมก็ไปทำงานนิตยสาร ผมก็เอาทักษะนั้นมาทำสารคดี บทสัมภาษณ์ บทความ เช่น สารคดีเรื่องโรคกลัวอ้วน สารคดี Postmodernism สารคดีเรื่องเมือง ทำสารคดีอะไรหลายอย่างเลยในตอนนั้น
ดังนั้นจึงมีงาน 2 อย่าง อย่างหนึ่งคืองานที่มันมาจากความพึงพอใจล้วนๆ แต่ได้ทักษะที่เอามาหาเงินได้ ซึ่งก็คืองานนิตยสาร
เมื่อก่อนเราทำงานนิตยสาร จะมีคอลัมน์มากมายหลากหลาย มันจะมีบางคอลัมน์ที่อยู่มือแล้ว มันง่าย แต่จะมีบางคอลัมน์ที่ยากเย็น และจะมีบางอันที่รู้สึกมีแพชชั่นกับมันมากที่เราจะต้องเขียนแบบ…คุณห้ามมาแตะนะ ห้ามแก้ เพราะมันคือแพชชั่นของผม เป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ อยู่ที่นี่ และยังทำงานนี้อยู่ แล้วก็เอามารวมเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Aimless Wanderer กับอีกเล่มหนึ่งคือ ดูหนังคนเดียว ทั้งสองเล่มขายไม่ดี
จากที่เราเคยคิดว่า “มันเป็นความชอบส่วนตัว อย่ามายุ่ง” พอขายไม่ดีเรื่อยๆ จนสำนักพิมพ์เข็ด เขาก็ไม่เอาแล้ว แล้วความรู้สึกที่ทำงานเขียนโดยที่มันขายไม่ดี ไม่มีใครพูดถึง มันไม่ได้ทำให้เราหยุดเขียนนะ แต่มันทำให้เรารู้สึก ‘ถ่อมตัว’ ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นมือสมัครเล่นมาตลอด เพราะว่าไม่เคยได้รางวัล ไม่เคยขายดีติด Best Seller คุณก็ไม่เคยอ่าน แต่ผมยังอยากทำมันต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ผมรู้สึกตลอดเวลาว่าผมเป็นมือสมัครเล่น เขียนด้วยความรู้สึกแบบนี้มาตลอด 18 ปี
ทำนิตยสารแล้วก็มาเป็น บ.ก.
โชคดีที่ได้เป็นผู้บริหารของนิตยสารรายเดือนอยู่ช่วงหนึ่ง พอเวลาคนทำนิตยสารรายเดือน มันมีความจำเป็นมากที่เนื้อหามันจะต้องสะท้อนความคิด ทัศนคติ รสนิยม ที่มันอยู่ภายในของตัวบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ ทีมงานทุกคน และแบรนด์ออกมา มันจะไม่ใช่การบอกเล่าความจริงภายนอก อย่างเช่นมันอาจจะไม่ใช่ข่าวรายวัน มันต้องการการถ่ายทอดความรู้สึก ทัศนคติ ความคิดเห็น รสนิยมของคุณออกมา ดังนั้นตอนที่ผมเป็นผู้บริหารนิตยสารรายเดือน ผมก็จะพยายามอธิบายน้องๆ ว่าเวลาไปสัมภาษณ์มันไม่ใช่แค่อธิบาย ไม่ใช่แค่ความจริงแค่ที่เขาพูด ในการสนทนาในการสัมภาษณ์คุณจะรู้ว่ามันจะมีบางโมเมนต์ที่คุณจะพาคู่สนทนาของคุณดำดิ่งลงไปในจุดที่เขารู้สึกมากที่สุด แล้วเขาเองจะรู้สึกว่า ฉันยังไม่เคยตั้งคำถามกับจิตใจของฉันแบบนี้เลย ฉันขอบคุณคุณมากเลยที่คุณมาถามแบบนี้กับฉัน แล้วคุณจะรู้ว่าบทสัมภาษณ์นี้โคตรดีเลย แล้วคุณจะรู้ว่าวรรคนั้นน่ะ จะขนลุกขนชันตอนที่คุณแกะเทปแล้ววรรคนั้นน่ะ มันจะเป็นวรรคที่คุณดึงโปรยออกมาให้อยู่ในนิตยสารหรือว่าอยู่ในเพจ แล้วคุณจะ bold ให้มันใหญ่ๆ แล้วคุณจะรู้สึกว่าคุณอ่านกี่ครั้ง คุณก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความจริงภายนอก มันไม่ใช่แค่การบอกเล่าว่าเราต้องทำอะไร แต่มันเต็มไปด้วยความรู้สึก วรรคนั้นน่ะที่คุณแกะเทปแล้วคุณน้ำตาไหล อยากส่งต้นฉบับนี้
อันนี้มันเป็นสิ่งที่ผมสอนน้องที่ a day BULLETIN แล้วทุกครั้งที่ผมส่งเขาไปสัมภาษณ์ แล้วเขากลับเข้ามาแล้วแบบ เนี่ยเขาร้องไห้เลย ตอนที่เราคุยกันไปเรื่อยๆ เขาร้องไห้เลย หนูไม่รู้จะทำยังไง เออใช่ คุณจะต้องแตะไปถึงจุดนั้น แล้วบทสัมภาษณ์แม่งถึงมีคุณภาพไปอีกระดับหนึ่ง
สำหรับคุณการเขียนคือแรงขับภายใน
มันเป็นความรู้สึก แล้วพยายามอธิบายคำที่มันปรากฏ ที่เราบ่นอยู่ในใจออกมา เดือนแล้วเดือนเล่าออกมาเป็นชิ้นเป็นงาน มันเหมือนกับทำขนมปัง ที่สุดแล้ว ดูแต่ยูทูปก็ไม่มีทางทำได้ ต้องเอานู่นเอานี่มาเทแล้วก็ขยำๆ นวดๆ ถึงจะรู้ว่ามันเวิร์กไม่เวิร์ก ดังนั้นผมเชื่อในความรู้สึกลึกๆ ภายในใจ และความพยายามที่จะถ่ายทอดมันออกมาอย่างดีที่สุด พิถีพิถันที่สุด จริงที่สุด จริงใจที่สุด แล้วก็ลงมือทำมัน แล้วคุณจะพบประสบการณ์อันนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งทำให้คุณแฮปปี้กับงานเขียน อาจจะเป็นงานอย่างอื่นๆ ก็ได้ แต่ว่าถ้าเป็นงานเขียนมันจะเป็นแบบนี้
การทำงานเขียนสำหรับผม ผมเลยรู้สึกว่าผมเป็นสมัครเล่นมาตลอด เพราะว่ามันไม่สามารถจะบอกเลยว่าออกมาแล้วมันจะดี เสร็จแล้วออกมาแล้วมันจะขายดี ออกมาแล้วมันจะประสบความสำเร็จ ได้รางวัล ผมแค่ทำงานเพื่อจับความรู้สึกนั้นมาบอกใครสักคนหนึ่ง มีอยู่ทีหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนโน้น ตู้เย็นที่บ้านเสีย เราก็ซื้อตู้เย็นใหม่ ก็โทรศัพท์เรียกร้านตู้เย็นให้มารับซื้อของเก่า มันให้ตังค์ 400 เอารถพิกอัปมาแล้วก็ขนไป แม่ผมก็เดินเข็นรถออกมาว่า เนี่ย ขนไปอะดีแล้ว เก็บไปก็เกะกะ แล้วก็บอกว่าตู้เย็นนี้เมื่อ 10 ปีก่อนแม่ไปซื้อกับป๊าที่โลตัส เสร็จแล้วแบบจู่ๆ เรารู้สึก เวลาเรามองตอนที่มันขนตู้เย็นไปอยู่บนพิกอัป เราแม่งแบบใจเราหายวาบ โห พอมันถูกใส่ความหมายปุ๊บ พอเขาขนขึ้นรถไป แล้วเรารู้สึก มันเศร้ามากเลยนะ มันโหยหา มันเศร้า มันดำดิ่ง มันมืดมน แต่ว่ามันมีความรู้สึกวาบหวามอะไรบางอย่างด้วยนะ มันวาบหวาม มันอบอุ่นน่ะ แล้วเราอยากอธิบายมันออกมาให้คนอื่นได้ยิน ให้คนอื่นรู้ด้วย
เราพยายามถ่ายทอดสิ่งนี้แหละ แต่ไม่คาดหวังว่าคนอื่นจะเก็ตความรู้สึกนี้ เพียงแต่ว่าพอทำสิ่งนี้สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปีครับ มันกลายเป็นการซ้ำ แล้วมันกลายเป็นลักษณะการเขียนของเรา คือมันจะต้องมีอะไรอย่างนี้ก็ไม่รู้ ซึ่งเรารู้นะ แต่ว่าตอนที่จับมันขึ้นมาเราอยากจะบอกคุณนั่นแหละ แต่เราไม่ได้คิดเลยว่าคุณจะเข้าใจ เราไม่คิดเลยว่าคุณจะมองเห็นว่ามันคือรูปแบบที่ต่อเนื่องของตัวเรา ซึ่งเราดีใจมากเลย อ๋อ คุณเห็น เออ
‘วินาทีไร้น้ำหนัก’
เรื่องนี้เขียนเมื่อ 10-15 ปีก่อน ตอนนั้นมันคือช่วงที่เขียนบทความเยอะๆ แล้วไม่เคยเขียนเรื่องแต่งมาก่อนเลยในชีวิต เขียนเรื่องนี้เพราะว่าเพื่อนๆ ที่อยู่ในวงแชต MSN ชวนกันแต่ง เราก็ไปแต่งด้วย แล้วก็ไม่รู้จะเขียนอะไร ก็เขียนถึงนักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติมากเลยที่งานเขียนครั้งแรกของนักเขียนคนหนึ่ง มันจะเขียนเรื่องของนักเขียนคนหนึ่ง (หัวเราะ) คือจะหนีไม่พ้น เวลาเราเริ่มเขียน เราจะเริ่มเขียนจากสิ่งที่เราเห็นทุกวัน ก็คือนักเขียนคนหนึ่ง (หัวเราะ) แล้วเราก็เขียนเรื่องนักเขียนคนหนึ่ง อยู่ในรถตู้
Non-fiction สัมภาษณ์ สารคดี แล้วมาเขียนงาน fiction เรื่องแต่ง ปรับโหมดอย่างไร
อันนี้เป็นอะไรที่อยากเล่าให้ฟัง ตอนปี 2016 คือปีที่ภรรยาผมไปเรียนทำขนมปัง ทั้งสามีทั้งภรรยา burn out ในชีวิตแล้วเจอ midlife crisis เมียก็ไปทำขนมปัง ผมเบื่อกับการทำงานนิตยสาร เพราะว่านิตยสารมันมีความเปลี่ยนแปลงเยอะ แล้วก็อยากเขียนนิยาย ผมก็จำได้ว่า มันเคยมีเรื่องหนึ่งที่แต่งทิ้งเอาไว้แต่แบบมันไม่จบ มันมีแค่ตอนเริ่มอะ อยากเอามาเขียน น้องที่มาคุยก็บอก เอาเลยพี่ ให้เวลาพี่ 3 เดือนนะ ส่งมาเป็นตอนๆ แล้วเขียนไม่ได้ เพราะว่าอะไรก็ไม่รู้ แล้วประหลาดมาก คณะละครขึ้นมาในเฟซบุ๊กบอกว่าเปิดสอนการเขียนบทละครเวที คนกำลังจมน้ำที่แบบกำลังจะต้องส่งต้นฉบับแล้ว แต่ทำอะไรไม่เป็นอย่างเราก็ไปสมัครเรียน
โดดงานไปเรียน 5 วัน เช้าจรดเย็น มันเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่ประหลาดมาก เขาอธิบายน้อยมากใช้เวลาสอนแบบครึ่งชั่วโมง แล้วก็ไปเขียนกันแล้ว เขามีรูปมาสามกอง หยิบรูปหนึ่งจากแต่ละกองเหมือนกับหยิบไพ่ยิปซี กองหนึ่งเป็นสถานที่ กองหนึ่งเป็นบุคคลที่ 1 อีกกองหนึ่งเป็นบุคคลที่ 2 แล้วก็บอกให้เขียนให้ฉากคือ สถานที่นี้ให้ตัวละครที่ 1 นั่งอยู่ ตัวละครที่ 2 เดินเข้ามา สองคนนี้พูดอะไรก็ได้ให้ในท้ายที่สุดตัวละครที่ 1 ลุกออกไป ซึ่งแต่ละคนจะได้รูปที่แตกต่างกัน ได้ฉากที่แตกต่างกัน ได้รูปคนที่แตกต่างกัน แต่ว่าโจทย์เดียวกัน ส่วนบทสนทนา คุณไปแต่งกันเอาเอง
แม่งท้าทาย ไหนลองดูดิ หยิบขึ้นมารูปแรกเป็นรูปสถานที่คือเหมือนกับเป็น pantry เป็น cafeteria ของตึกออฟฟิศ เหมือนกับห้องอาหารในออฟฟิศ startup แล้วอีกรูปหนึ่งเป็นรูปผู้ชายแก่ อีกรูปหนึ่งเป็นรูปผู้ชายหนุ่ม ผมหน้าแดงวาบ เลือดมันพุ่งขึ้นมาเลย อายมาก เพราะว่าสัญชาตญาณ ผมรู้สึกว่ามันเกย์มาก เราก็รู้สึกว่าเราเขียน แล้วเราพยายามซ่อน กินน้ำ กลบมันเอาไว้ ไม่ดิ มันอาจจะเป็นพ่อลูกกัน สักพักหนึ่งมันก็จะผุดขึ้นมาเองเว้ย หน้าแดงเลย แล้วเราก็ อ๋อ เราเป็น homophobia หรือไม่เช่นนั้นเนี่ย เราต้องมีความ homosexual อะไรบางอย่างอยู่ในตัว แต่ว่าเราไม่สามารถพูดมันออกมา
แล้วคนสอนก็บอกว่า แยกย้ายกันไปเขียนค่ะ (หัวเราะ) อะ เขียนไปนะ แล้วเวลาพักเที่ยงก็แยกย้ายกันไปกินข้าว เสร็จแล้วเดี๋ยวตอนบ่ายโมงครึ่งเรากลับมาเจอกัน แล้วเราจะมาอ่านบทละครของแต่ละคนกัน ไอ้เหี้ย กูตายห่าแน่ (หัวเราะ)
แล้วทำไงต่อ ก็ต้องเขียนให้จบ
ไม่ ผมรู้สึกว่าเราจะไม่สามารถเขียนบทละครที่ดีได้เลยถ้าเราปฏิเสธสัญชาตญาณแรกที่มันวาบขึ้นมาจนเราอายเนี่ยออกไป ก็เลยเขียนว่าอันนี้เป็นเจ้านายลูกน้อง แล้วก็แบบลูกน้องเข้ามาคุย แล้วลูกน้องเข้ามาเหมือนกับเข้ามาบ่นเรื่องการประเมินผลงาน ทำไมเขาถูกประเมินต่ำ ทำไมเขาได้โบนัสน้อยอะไรอย่างนี้ แล้วลูกน้องก็แบล็คเมล์เจ้านาย เพราะว่าลูกน้องเห็นว่าเจ้านายล่วงละเมิดทางเพศกับพนักงานผู้ชายอีกคนหนึ่ง คือในที่สุดเราต้องเขียนเรื่องเกย์ พอเราเขียนเสร็จ เราก็แบบ เออ สนุกดี ครั้งแรกเลยในชีวิตที่เราสามารถเขียนตัวละคร ครั้งแรกในชีวิตที่เราสามารถเขียนบทสนทนาที่เป็นจินตนาการ เราพบว่าที่ผ่านมาเราไม่สามารถเขียนนิยายได้ เพราะว่าเราซุกซ่อนแง่มุมที่เราปกปิด คือเราไม่จริงแท้ แต่ว่าถ้าเราพยายามทะลุมันออกไปมันก็ทำได้ แล้วมันก็สนุกดี เพลิดเพลิน แล้วมันก็มีความสุข
ดังนั้นตอนที่กลับมาเขียน ‘วินาทีไร้น้ำหนัก’ หลังจากที่ทิ้งมา 10 ปี ก็คือจินตนาการถึงตัวละครที่มันไม่ใช่เราเลย มันอาจจะเป็นอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกกลัว รู้สึกวิตกกังวล รู้สึกอาย รู้สึกผิด รู้สึกอะไรก็ได้
เรารู้แค่ว่ามันเป็นนิยายเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับวินาทีสุดท้ายของคน ก่อนที่เขาจะตาย อยากรู้ว่าวินาทีสุดท้ายเขาจะเปลี่ยนใจไหมว่าโลกไร้สาระ ไร้สุข ดังนั้นเราควรจะตาย เราอยากรู้ว่าวินาทีสุดท้ายเขาจะเปลี่ยนใจไหม
อันนี้คือคำถาม?
อือ แล้วเราก็เขียนอันนี้ไปเรื่อยๆ เราก็เขียนตัวละครที่เป็นหญิงชราที่โรคภัยรุมเร้าแล้วกำลังสิ้นหวัง แล้วก็ผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินวนอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ตที่เหมือนเขาวงกต เขาไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เดินไปเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้ง บางวัน ในบางวัยของเรา เราก็เดินห้างแบบนั้น เดินไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่รู้จะซื้ออะไร
ตัวละครพวกนี้ส่วนหนึ่ง คือตัวเรา เราสงสัย เราตั้งคำถาม แล้วเราเอามันออกมาให้ตัวละครคุยกัน แล้วเราอยากรู้ว่ามันมีคำตอบไหม แล้วเราจะเปลี่ยนใจไหมว่าชีวิตนี้ไร้ค่า ไร้ความหมาย อย่าอยู่เลย เราอยากรู้แค่นี้เท่านั้นเอง
การเขียน Fiction คือการเปิดเผยเนื้อในตัวเอง
ประหลาดมาก ผมคิดว่าบทความมันคือการที่เราเปิดเผยความจริงของเราเอง แต่ว่านิยายมันกลายเป็นการเปิดเผยจินตนาการในสมองของเรา เสร็จแล้วจินตนาการในสมองของเรามันสกปรกเน่าหนอน (หัวเราะ) เราจึงอาย แล้วเราไม่สามารถเขียนมันออกมาได้ เหมือนกับว่าเราไม่สามารถเขียนนิยายที่มันไม่ได้แสดงความสกปรก เน่าหนอน เลวร้ายของเราได้ ถ้าในลักษณะตอนนี้นิยายอิงประวัติศาสตร์ขายดี เราไม่สามารถเขียนได้ เพราะว่าเราไม่ได้เขียนนิยายเพื่อขายนิยาย เราเขียนนิยายเพื่ออธิบายสภาวะภายในจิตใจของเราเองบางอย่างเฉพาะตัว แต่ว่าอย่างน้อยเราหวังว่าคนอื่นจะชอบอ่านเท่านั้นเอง
ได้อะไรจากการเขียนเรื่องนี้
คิดว่ามันไม่ต่างจากผลงานแต่ละชิ้นที่เขียนลงนิตยสาร ลงหนังสือพิมพ์ ลงโซเชียลมีเดีย หรือว่ารวมเล่มอยู่ในร้านหนังสือ บทความ นิยาย คือเรารู้สึกว่ามันให้สิ่งเดียวกัน ไม่ได้ต่างกันเลย ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงเล่มนี้ทั้งบทความทั้งนิยายให้อะไรไม่ต่างกันเลย สิ่งที่ให้ก็คือเหมือนทำขนมปัง เอาแป้งมา เอาน้ำ เอายีสต์ เอาน้ำมาอุ่นใส่น้ำตาล ใส่ยีสต์ เอาแป้งโรย คนๆ ให้มันข้นๆ ขึ้น แล้วก็เอาเกลือนวดๆ เสร็จแล้วคุณเอาเข้าไปอบ เสร็จแล้วเอาออกมาจากเตา อธิบายไม่ถูก คือมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าขนมปังมันออกมาแล้วมันอร่อย เพราะว่าส่วนใหญ่ขนมปังที่เราทำเองแล้วมันออกมา มันไม่อร่อย (หัวเราะ) นอกจากว่าคุณจะทำเก่งแล้ว มันจะแห้งๆ แข็งๆ แล้วเวลาเคาะมันจะโป๊กๆ แต่เวลาคุณหั่น แล้วคุณลองฉีกดู ลองเคี้ยวดู โห คุณรู้สึกแบบเต็มตื้น
มันเหมือนกัน หนังสือที่มันออกมาแต่ละเล่ม มันไม่ใช่ว่า โหย เป็นหนังสือที่ดีมากเลย เราจึงรู้สึกยิ่งใหญ่มาก เราจึงรู้สึกร่ำรวยมาก มันไม่ใช่แบบนั้น เหมือนกับสเตตัสหนึ่งเขียนเสร็จ โพสต์ลงไป แน่นอนเราคาดหวังว่ามันจะต้องถูกได้รับการแชร์ ได้รับการชื่นชม เราคาดหวัง แต่ว่าอันนั้นมันเป็นพาร์ตเดียว แต่ว่าเสียงอีกพาร์ตหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันสำคัญกว่าคือการที่เราหยิบความรู้สึกอันนั้นออกมา
ประสบการณ์การเป็นนักเขียน การเรียนรู้ภายใน จะเอาไปใช้กับสังคมอย่างไร
ผมคิดว่าในโลกปัจจุบันคนหนุ่มสาวอยู่ในยุคสมัยที่ถูกตั้งคำถามเยอะ มันจะมีคนคอยมาถามคุณเสมอว่าแล้วจุดมุ่งหมายของชีวิตคุณคืออะไร จุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร คุณจะเริ่มรู้สึกว่าเกิดมาทำไม ถ้าชีวิตนี้ไม่มีความสุขแล้วจะอยู่ไปทำไม โลกแตกเลยก็ได้นะ ฉันไม่อยากอยู่แล้ว
บางทีถ้าเรามองชีวิตในเชิงเหตุผลมากๆ โดยเฉพาะเหตุผลเชิงประโยชน์ อย่างเช่นว่าทำนี้แล้วได้อะไร บางทีเราจะให้คำตอบกับมันไม่ได้ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมบอก ที่ผมพยายามอธิบายคืออยากจะให้ลองแตะที่ความรู้สึกของแล้วพยายามอธิบายมันออกมา ให้ความสำคัญกับความรู้สึก ให้ความสำคัญกับสัญชาตญาณลึกๆ แล้วก็ลดความวิตกกังวลว่าชีวิตมันจะต้องมีประโยชน์ ต้องมีจุดหมาย มีจุดประสงค์
ชีวิตก็แค่ทำงานที่มันอยู่ตรงหน้า นวดแป้งไปตรงหน้า แล้วก็ผึ่งไว้เฝ้ารอชั่วโมงครึ่ง ผมรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้ จะช่วยลดความวิตกกังวลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณหมกมุ่นเรื่องประโยชน์มากๆ หมกมุ่นเรื่องเหตุผลในการมีชีวิตอยู่มากๆ หมกมุ่นในการวางเค้าโครงหรือว่าวางจุดหมาย วางเป้าหมาย คุณจะพยายามมุ่งไปสู่การหาวิธี ขั้นตอน ลำดับ 1 2 3 เพื่อที่คุณจะได้ให้สัญญาได้ว่า ทำแล้วคุณจะได้สิ่งนั้น จะได้สิ่งนี้ ผมบอกว่าไม่ใช่ คุณไปร้านข้าวนั้นที่รายการบอก แล้วคุณกินตาม คุณก็ไม่มีความสุข มันเป็นสภาวะบางอย่างที่คุณจะต้องประสบกับมันในวันนั้น เวลานั้น ในเหตุการณ์นั้นด้วยตัวคุณเองจริงๆ คนเดียว
ถ้าคุณคลายใจออกจากการดิ้นรนจากการหาขั้นตอน คุณก็จะเปิดใจรับประสบการณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รับความรู้สึกต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่ทุกวันนี้มันจะมีพวกกูรูมาสอน ไลฟ์โค้ช ไม่ใช่ไลฟ์โค้ชแบบที่คุณสบายใจเท่านั้นนะ มันจะมีไลฟ์โค้ชแบบ productive พวกนี้มีขั้นตอนนะ ตื่นเช้ามาคุณต้องทำอะไรเพื่อที่คุณจะได้มี productivity ที่ดีไปตลอดทั้งวัน แล้วงานแบบนี้คุณจะต้องจัดลำดับยังไง พวกนี้มาพร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าถ้าคุณทำแล้ว คุณจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งคุณทำแล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เสมอไปหรอก (หัวเราะ)
ผมคิดว่าเรื่องของผมเนี่ยจะบอกสิ่งนี้กับคุณว่า มันมีนะเว้ยเรื่องความรู้สึก อารมณ์ เรื่องสัญชาตญาณ เรื่อง Intuition เรื่องญาณทัศนะ ปัญญาญาณอะไรบางอย่างที่มันผุดขึ้นมา เรื่องความปล่อยวาง เรื่องความไม่ไปกักเกร็ง
นั่นเป็นวิธีการเรียนรู้ตามแบบของคุณ
มันเป็นกระบวนการการเรียนรู้แบบไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่าพอทำมาเรื่อยๆ สักพักคุณจะเริ่มจับรูปแบบมันได้ ชีวิตคุณก็เหมือนกัน คุณก็สุ่มๆ คือดำเนินชีวิตมาแบบสุ่ม แต่สักพักหนึ่งคุณจะรู้แล้วแหละว่าจะเป็นคนแบบไหน รสนิยมแบบไหน ทำอะไร ชอบทำอะไร สักพักหนึ่งคุณจะรู้รูปแบบ แล้วก็จะทำตามรูปแบบนั้น เพราะว่ามันง่าย แล้วมันก็อัตโนมัติ แต่บางครั้งมันเบื่อนะ ก็ต้องทะลุมันไปสู่อีกขั้นหนึ่งไปเรื่อยๆ
ผมคงไม่ได้มั่วซั่ว แล้วแต่ใจตลอดทั้งหมดหรอก ผมก็จะมีรูปแบบในชีวิต รูปแบบแพตเทิร์นในวิธีคิด แล้วมันก็ตายตัว ยิ่งแก่มันจะยิ่งตายตัวนะ ยิ่งแก่มันจะยิ่งเปลี่ยนยาก คนแก่มันเปลี่ยนยาก ไม่ยืดหยุ่น สมองเราไม่ยืดหยุ่นแล้ว โชคดีที่ได้เขียนหนังสือ หรือได้ทำอะไรหลายๆ อย่างตอนที่เรายังอายุน้อยอยู่ แล้วเรายืดหยุ่นในสมอง พ่อผมช่วงปีท้ายๆ เขาดูหนังจีนเนี่ย เขาดูหนังจากแผ่น DVD 2 เรื่อง เปิดวนอยู่อย่างนั้นทุกวัน เพราะว่าเขาดูแล้วเขาเข้าใจอะ เรื่องอื่นเขาไม่เข้าใจแล้ว มีหนังจีนอยู่ 2 เรื่องที่เขาดูในระยะท้ายเท่านั้นเอง ซึ่งผมคิดว่าแก่ๆ ไปเราจะวนอยู่แค่นี้ แล้วจะจบน้อยลงเรื่อยๆ
รู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มล่าสุดได้รับรางวัล
มันดีใจตรงที่เราไม่เคยได้รางวัล แต่ก็ดีใจเท่ากับเวลานักอ่านเอาหนังสือมาให้เราเซ็น คือสำหรับเรา ระดับความดีใจมันไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น คือเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราบอกเราพูดไปมีคนรับรู้ความรู้สึกนั้น แล้วคนกลุ่มนี้มักจะมาบอกเราเสมอว่าเขาก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งเราก็จะบอกไปว่า ใช่ ผมบอกพวกคุณแล้วว่ามันไม่มีอะไรหรอก ผมบอกพวกคุณแล้วว่าไม่ต้องไป productive อะไรพวกนั้นมาก (หัวเราะ) บอกพวกคุณแล้วว่าไม่ได้มีจุดประสงค์ ไม่ได้มีสาระอะไรทั้งนั้น บอกไปแล้ว เออ (หัวเราะ)
บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Learning Designer โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Deep Academy |