“ชอบอะไร? ฝันอยากเป็นอะไร?”
นี่คือโจทย์ที่ทุกคนต้องเคยเจอในโลกของการเติบโต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมทุกวันนี้ แม้ว่าลึกๆ แล้วเชื่อว่าทุกคนต่างหวังจะได้ใช้ความรักความชอบผลักดันให้ชีวิตเราไปถูกที่ถูกทาง แต่ในโลกความเป็นจริง ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้ทำแบบนั้น แถมยุคนี้ความฝันดูเหมือนเป็นเรื่องที่สังคมบังคับให้เราต้องหา เพราะค่านิยมบางประการบอกว่าเราต้องมี จนบางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าฝันที่มีนั้นเป็นของเราหรือเปล่า และหากชีวิตใครในยุคนี้ที่ไม่มีความฝันและไม่รู้จักตนเอง ดูจะเป็นสิ่งผิดมหันต์ในสายตาสังคมเสียเหลือเกิน
แล้วผิดไหมที่ไม่มีฝัน? ที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร? เราถาม ‘พี่แหม่ม-วีรพร นิติประภา’ นักเขียน วัย 58 ปี เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ถึง 2 สมัย ขวัญใจของคนรุ่นใหม่ในฐานะตัวแทนของชาวเบบี้บูมเมอร์ที่มีความเข้าใจโลกและสังคมยุคใหม่
“พี่ว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีนะในการที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เพราะมันคือโอกาสที่เราจะทำหลาย ๆ อย่าง ทำได้ทุกอย่าง พอเราเริ่มชอบหรือไม่ชอบอะไร อันนี้เริ่มทำให้เราแคบลงแล้ว ถ้าอย่างงั้น ในเมื่อไม่รู้ ก็ลองมันให้หมด หากวันไหนคุณเจอสิ่งที่คุณชอบ ยังไงคุณก็ทำมันได้ดีกว่าอย่างอื่น ทนทำอันไหนได้นานก็อันนั้นแหละ”
“ทุกคนมีศักยภาพมากกว่าทำอย่างเดียว แบบเดียว ศักยภาพเราเหลือเฟือมากในการที่เราเป็นมนุษย์แบบมัลติ แล้วยิ่งโลกสมัยใหม่คือโลกของมัลติ คุณเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ คุณเป็นพนักงาน เป็นทั้งเจ้านาย สิ่งที่คุณคิดว่าคุณต้องแลกอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ได้ คุณอาจจะหาอย่างอื่นทำอีก แล้วพบว่าตรงนี้ไง combine ทุกอย่างเลย เป็นทั้งชอบทำและต้องทำอยู่ในเวลาเดียวกัน แต่ว่าถ้าให้ต้องเลือกจริงๆ พี่จะบอกให้เลือกที่ชอบก่อน เพราะความชอบเนี่ย จะพาคุณไปได้สุดหล้าฟ้าเขียว มันจะทำให้คุณลงลึกกับมันได้ อดทนกับมันได้ ทำได้ยาวนานจนเป็นยอดฝีมือ ที่แน่ ๆ คือมีความสุข เพลิดเพลินเจริญใจ สิ่งเหล่านี้สำคัญกับชีวิตมากกว่าเงิน”
จริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน การที่ค่านิยมในสังคมที่บอกเราว่าวัยไหนควรหรือไม่ควรทำอะไรนั้น ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคน การค้นหาตัวเองก็เช่นกัน ดังนั้นการที่เรายังไม่ได้เจอเส้นทางที่ใช่ในวันที่คนอื่นนำหน้าไปไกล ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว เพราะว่าการค้นหาตนเองนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องใช้ทั้งชีวิตค้นหามัน ผ่านการลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ แต่สำคัญที่สุด คือการให้เวลาและโอกาสตัวเองได้ลอง มากกว่าจะฟังสิ่งที่สังคมบอกว่าเราชอบ ไม่ชอบ หรือควรฝันอะไร แล้วสุดท้ายเราจะพบเส้นทางของตนเองที่เกิดจากการเรียนรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ว่าเส้นทางนั้นจะมีกี่แบบ ไม่ว่าความล้มเหลวจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง โดยมีความเจ็บปวดเป็นเพื่อนคนสำคัญตลอดการค้นหา ที่จะสอนให้รู้ว่า ทุกบาดแผลคือบทเรียนแห่งการเติบโตและเข้าใจ ส่วนรอยแผลเป็นที่ทิ้งไว้ จะเป็นเครื่องเตือนใจในวันที่คุณเป็นคนใหม่ที่เข้มแข็งขึ้น
“ความเจ็บปวดมันไม่ได้เจ็บปวดในการเปลี่ยนแปลง แต่ว่าเป็นการเจ็บปวดในการที่ไม่สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ พอถึงจุดหนึ่งแล้ว มันก็ไม่เจ็บแล้วไม่ใช่เหรอ เจ็บแค่ระยะแรกๆ แค่ตอนที่คุณเริ่มเป็นผู้ใหญ่ แค่ตอนที่คุณเริ่มออกมาทำงาน หลังจากนั้น คุณไม่ได้เคยชินหรอก คุณเข้าใจมันเสียด้วยซ้ำว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นตรงนั้นบ้าง แถมคุณยังเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันด้วย เจ็บค่ะ เจ็บทุกตอนแหละ แต่เดี๋ยวมันก็จะดีขึ้น”
ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ‘วิชาการเติบโต’ กับ แหม่ม-วีรพร นิติประภา ผ่านบทสนทนา Q&A ข้ามเจเนอเรชั่น ตั้งแต่ Gen Y ไปจนถึง Alpha และเรื่องราวร้อยแปดพันเก้าว่าด้วย “การเติบโต” ของชีวิต ที่คำถามของพวกเขาอาจตรงกับชีวิตของใครหลายคนในตอนนี้อยู่เป็นได้
ดูคลิปเต็มได้ที่