“ชุมชนบ้านเขายี่สาร เป็นอีกหนึ่งชุมชนโบราณที่ยังคงมีวิถีชีวิตสืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา บนพื้นที่ภูเขาหินปูนลูกเดียวของจังหวัดสมุทรสงคราม มีป่าชายเลนผืนใหญ่ล้อมรอบ มีลำคลองสายต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และคลองขุดเพื่อเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงสู่โลกภายนอก ผืนดินอุดมสมบูรณ์ปกคลุมด้วยไม้ใหญ่หนาแน่น ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเขายี่สารยังคงสงบร่มเย็น พึ่งพาธรรมชาติ สืบทอดวัฒนธรรมความเป็นอยู่ และยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม...” ข้อความจากสูจิบัตรเข้าร่วมงาน ‘เที่ยวเมืองเก่าเล่าวิถีไทย ตอนรื่นรมย์ชมบ้านเขายี่สาร’ ที่จัดขึ้นกลางลานสานฝันภายในอุทยานการเรียนรู้ TK park เมื่อวันเสาร์ที่ 24 - อาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา
บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก... เริ่มจากฐานที่ 1 ‘รื่นรมย์ชมบ้านเขายี่สาร’ มาร่วมทำความรู้จักและเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชุมชนโบราณที่ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 800 คน บนพื้นที่ประมาณ 11.2 ตารางกิโลเมตร และได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสามน้ำ” เพราะมีพื้นที่เชื่อมติดต่อกับ น้ำทะเล แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี
โดยในฐานนี้มี “มัคคุเทศก์น้อย” จากงานวิจัยของอาจารย์ไพรัตน์ แก้วกามและทีมงาน ซึ่งได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สร้างเยาวชนคอยนำชมและถ่ายทอดความรู้ที่แสดงถึงตัวจนในท้องถิ่นของคนยี่สารให้กับผู้มาเยือน
น้องเม้ย - กนกวรรณ พิกุลทอง หนึ่งในมัคคุเทศก์น้อยซึ่งเป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ) และรุ่นน้องในโรงเรียนซึ่งเป็นเยาวชนจากโครงการเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวและของขึ้นชื่อในยี่สาร รวมไปถึงอาชีพในชุมชน เช่น การเผาถ่านไม้โกงกาง การหาปลาด้วย “โพงพาง” เครื่องมือหาปลาประจำท้องถิ่น วิธีการจับปูของชาวบ้านและเรือล่มน้ำที่ขนส่งน้ำจืดเข้าสู่ชุมชน
เด็กๆ กำลังมองหาหลังคาบ้านจากแผนที่มุมสูง
น้องเม้ย มัคคุเทศก์นำชม
เมื่อทราบถึงประวัติความเป็นมาแล้ว เราก็ต้องไปต่อกันที่ฐาน 2 ‘อยู่อย่างยี่สาร’ เรียนรู้วิถีความเป็นอยู่จากผลิตภัณฑ์ของชุมชนอย่าง ผ้ามัดย้อมที่ใช้สีจากเปลือกตะบูน ใบหูกวาง ซึ่งเป็นวัตถุที่หาได้จากท้องถิ่น
คุณครูจิรวัตร ปานอุรัง ผู้สาธิตวิธีการทำกล่าวว่า “แต่เดิมเราเป็นชุมชนปิดและเดินทางด้วยเรือ การซื้อขายเลยลำบากมาก ชาวบ้านจึงทำสิ่งของและทอผ้าไว้ใช้เอง และถ้าเป็นผ้าขาวก็จะสกปรกง่าย เราเลยใช้ใบหูกวาง เปลือกตะบูน ที่มีอยู่ในชุมชน นำมาย้อมผ้า” เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่านำมาศึกษา ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการสร้างลายที่แปลกตา ส่วนสีของผ้าที่ย้อมใบหูกวางจะออกเหลืองและเปลือกตะบูนจะให้สีน้ำตาลแก่
วิธีการทำนั้นไม่ยาก เพียงนำผ้าขาวมาทำความสะอาดแล้วบิดพอหมาดน้ำ หลังจากนั้นใช้หนังยางรัดเป็นปล้องๆ ให้แน่นเพื่อสร้างลาย แช่ทิ้งไว้ในน้ำใบหูกวางหรือเปลือกตะบูน ทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วแก้รอยมัดออก ถ้าอยากได้สีเข้มมากให้แช่ต่อไว้อีกคืน แต่ต้องระวังว่าสีอาจซึมเข้าลายที่มัดไว้ หลังจากนั้นนำมาซักหลายๆ น้ำกันสีตก เพียงเท่านี้เราก็จะได้ผ้ามัดย้อมสีสวยตามธรรมชาติมาใข้กันแล้ว
น้องๆ กำลังตั้งใจทำอย่างเต็มที่
เมื่อได้ผ้ามัดย้อมแล้วทางชุมชนได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ จากผืนผ้าธรรมดาให้กลายเป็นกระเป๋า กล่องดินสอ ชุดเสื้อผ้า ที่แต่ละชิ้นดูเป็นธรรมชาติน่าใช้มากๆ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ถ่านโกงกางของขึ้นชื่อจากชุมชน ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟง่าย ให้ไฟแรงสม่ำเสมอ ไม่ปะทุ และมีความร้อนสูง ซึ่งชุมชนนี้มีการทำฝืนกันมาแต่โบราณและมีการปลูกทดแทนอย่างต่อเนื่องจึงไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น
ผลิตภัณฑ์จากบ้านเขายี่สาร
ชมผลิตภัณฑ์กันไปแล้วต้องพักกินของอร่อยกันที่ ฐาน 3 ‘กินอยู่อย่างยี่สาร’ ความอร่อยจากพืชผลในชุมชน รสอาหารแสนอร่อยจากฝีมือแม่ครัวอย่าง คุณป้าละเมียด - ละเมียด พยนต์ยิ้ม ที่นำผักชะคราม พืชที่ขึ้นเฉพาะบริเวณดินน้ำกร่อยมาปรุงเป็นอาหารทั้งชะครามชุบไข่ทอด ชะครามราดกะทิกินคู่กับน้ำพริกกะปิ หรือจะนำมายำเป็น ยำชะครามที่ทุกวันนี้หากินที่อร่อยๆ ได้ยากมาก อิ่มจากของคาวต้องมีของหวานตบท้ายอย่าง ลูกลำแพนกวน ขนมกินที่มีรสหวานอมเปรี้ยวและเนื้อลูกลำแพนกรุบกรับเคี้ยวเหนียวหนึบแสนอร่อย
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแวะเวียนมาไม่ขาด
คุณป้าละเมียดแนะนำสูตรไม่ลับ
หน้าตาต้นชะคราม
อาหารท้องถิ่นที่ต้องไปกินที่ยี่สาร
นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้ และมีการแสดงจากน้องนักเรียนโรงเรียนวัดเขายี่สาร (ประมุขเวชกิจ) มาแสดงการเล่านิทานหุ่นสายประกอบเพลง ภายใต้ชื่อคณะ ‘หุ่นสายช่อชะคราม’ กับการแสดงชุด โกงกางจิ๊กกิ๊ว จิ๊กกิ๊ว ที่มีเนื้อหาเล่าถึงธรรมชาติและผืนป่าโกงกางในชุมชน และอีกหนึ่งชุดการแสดง ปลาทู อุแว้ อุแว้ ที่เล่าถึงที่มาของปลาทูและประมงชายฝั่งในแถบนั้น
คณะหุ่นสายช่อชะคราม
คณะหุ่นสายช่อชะครามแห่งบ้านเขายี่สารมีอายุ 4 ปีแล้ว แต่จะมีวันนี้ไม่ได้เลยหากไม่มี คุณครูปาริชาติ นงลิมป์ ผู้ก่อตั้งฝึกสอนรวมถึงการฝึกทำตัวหุ่นสายด้วยตัวเอง โดยคุณครูได้เข้าอบรมกับคณะหุ่นสายเสมาซึ่งถือได้ว่าเป็นคณะหุ่นสายดั้งเดิมของประเทศไทย
คุณครูปาริชาติ นงลิมป์
คุณครูมีความคิดที่จะนำหุ่นสายมาเป็นสื่อในการเรียนการสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของชุมชน รวมถึงการให้ความรู้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย อีกทั้งเด็กๆ ที่ได้ฝึกหัดชักหุ่นสายจะมีพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น กล้าแสดงออก และเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างสมาธิให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี
เด็กๆ กำลังสนุกกับการหัดเล่นหุ่นสาย
เที่ยวเมืองเก่าเล่าวิถีไทย... เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่อุทยานการเรียนรู้จัดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้วิถีชีวิตและความเป็นไทย รวมถึงการอยู่รวมกันเป็นชุมชน ที่นับวันสิ่งเหล่านี้จะมีให้เห็นบางตาและเริ่มสูญหายไป
ชุมชนบ้านเขายี่สาร... เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีดั้งเดิมและส่งเสริมการปลูกฝังภูมิปัญญาให้เด็กๆ ในปัจจุบันได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ปู่ย่าตาทวดได้สั่งสมมาแต่อดีต ซึ่งทำให้เรามองเห็นความหวังว่า ในขณะที่สังคมเมืองกำลังคืบคลานกลืนกินวิถีชีวิตแบบเก่าๆ ในสังคมชนบท แต่บ้านเขายี่สารยังคงมีผู้ใหญ่ที่มองเห็นคุณค่าของวิถีชีวิต และเด็กๆ ผู้ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของไทยเราให้มีอยู่สืบไป
ปัจฉิม ลิขิต