“ภัยพิบัติ” หมายถึงภัยที่เกิดขึ้นแก่สาธารณชนทั้งภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรือภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายทั้งทางทรัพย์สิน ร่างกาย และจิตใจ ปัจจุบัน ภัยพิบัติทวีความรุนแรงและเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก แม้มนุษย์จะพัฒนาวิทยาการที่ทันสมัยเพื่อเตือนภัยจากภัยพิบัติก็ตาม แต่ก็ไม่อาจป้องกันความสูญเสียได้ทั้งหมด ภัยพิบัติจึงไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ต้องเอาชนะ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา
อุทยานการเรียนรู้ TK park ขอเชิญน้องๆ เยาวชนและผู้ปกครองร่วมนิทรรศการและกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) กับ นิทรรศการภัยพิบัติ: เตรียมตัว รู้ รอด 2 “เตรียมรับมือ สู้ภัยพิบัติ” ในวันเสาร์ที่ 9 และวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2555 เวลา 11.00-17.00 น. กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ได้เรียนรู้ถึงสาเหตุ และผลของภัยพิบัติต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆ โดยในวันนี้จะเน้นกล่าวถึงภัยธรรมชาติและวิธีการรับมือ
กิจกรรมในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนด้านการสร้างองค์ความรู้ โดยมีวิทยากรให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติแบบต่างๆ รวมถึงจัดกิจกรรมการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติ ต่อมาคือ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มาให้ความรู้เรื่องถุงยังชีพในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ รวมถึงจัดกิจกรรมให้น้องๆ ลองจัดถุงยังชีพในสถานการณ์ต่างๆ ในเวลาที่จำกัด ต่อมาคือ เครือข่ายเพื่อสังคม Volunteer Connex ที่มาแนะนำบทบาทการเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ สำหรับแจ้งเตือนประชาชน และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งยังจัดกิจกรรมให้น้องๆ บอกวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติ สุดท้ายคือ กลุ่ม Design for Disasters (D4D) ที่จัดแสดงนวัตกรรมการประดิษฐ์สิ่งของรอบตัวอย่างง่ายๆ เพื่อเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมถึงยังสอนวิธีทำให้แก่น้องๆ อีกด้วย
บรรยากาศทางเข้างาน นิทรรศการภัยพิบัติ: เตรียมตัว รู้ รอด 2 “เตรียมรับมือสู้ภัยพิบัติ”
เมื่อถึงเวลา 11.30 น. หลังจากผู้ปกครองและน้องๆ ทยอยลงทะเบียนเข้าร่วมงานกันแล้ว พิธีกรของงานคือ พี่เบน-ชวันธร มงคลเลิศลพ นักจัดการความรู้อาวุโสฝ่ายกิจกรรม TK park และพี่ปีย์-ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดงานและพาไปแนะนำกับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาให้ความรู้และจัดกิจกรรมในวันนี้ กิจกรรมในฐานแรกเป็นการจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติในชื่อ “สตินำทาง” ที่ให้ผู้ร่วมงานใช้สตินำทางเมื่อเกิดภัยพิบัติ มีน้องๆ สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก่อนเข้าร่วมจะปิดตาเพื่อจำลองว่าเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มองไม่เห็นก็ต้องใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่น เช่น ใช้จมูกดมกลิ่น ใช้มือสัมผัส เป็นต้น แต่ที่สำคัญคือใช้สตินำทาง จากนั้นจึงเข้าไปในฐานที่มีทั้งสิ่งของห้อยระโยงระยางจากด้านบน สิ่งของที่วางระเกะระกะอยู่ด้านล่างและพื้นที่ไม่เรียบเสมอกัน มีเสียงดังขึ้นรอบตัว อากาศหนาว โดยจะมีพี่ๆ คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ สำหรับน้องที่ไม่กล้าเดินต่อไป ดังนั้นฐานนี้จึงแสดงให้เห็นว่า สติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติและจะทำให้เราเอาชีวิตรอดได้ในที่สุด
ภาพบรรยากาศสถานการณ์จำลองในกิจกรรม “สตินำทาง”
เมื่อออกมาจากกิจกรรมสตินำทางแล้ว ก็จะมีกิจกรรมที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจัดทำบอร์ดให้ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ เช่น รวบรวมภัยพิบัติครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์โลกและในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สาเหตุ ผล และวิธีรับมือภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว ลมพายุ น้ำท่วม เป็นต้น กิจกรรมนี้มีพี่ๆ วิทยากรคอยให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและน้องๆ คือ พี่แก่น-แก่นพงศ์ บุญถาวร และ พี่เมย์-เมธิณี พิพัฒนา พี่ๆ ปริญญาเอกและปริญญาโทสาขาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยพี่ๆ จะให้ความรู้ถึงสาเหตุการเกิดภัยพิบัติแบบต่างๆ ตอบคำถามน้องๆ ที่ซักถาม รวมถึงอธิบายและสาธิตวิธีการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ เช่น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวห้ามใช้ลิฟต์ ให้หลบเข้าที่ป้องกัน (Cover) ที่แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักจากสิ่งของหรือเพดานหล่นใส่ เช่น ใต้โต๊ะหรือเก้าอี้ที่แข็งแรง โดยให้เก็บคอ ก้มลงหมอบคุดคู้ พร้อมทั้งใช้มือยึดจับที่ป้องกันไว้ให้แน่นจนกว่าสถานการณ์จะสงบ
พี่แก่นสาธิตการก้มหมอบใต้โต๊ะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีโต๊ะเก้าอี้ให้หลบก็ให้หลบใต้ “สามเหลี่ยมชีวิต” (Triangle of Life) คือ บริเวณที่ปลอดภัยจากสิ่งของหรือชิ้นส่วนอาคารหล่นใส่ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจนโครงสร้างอาคารยุบตัว บริเวณด้านข้างของโต๊ะ เก้าอี้ หรือเตียงที่มีโครงสร้างแข็งแรงจะเป็นตัวรับน้ำหนักและค้ำยันชิ้นส่วนของอาคารไว้จนเกิดเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมขึ้น ซึ่งแข็งแรงเพียงพอให้ผู้ประสบภัยเข้าไปหลบได้ แต่หากอยู่ภายนอกที่พักอาศัยก็ไม่ควรอยู่ใกล้เสาไฟฟ้าและอาคารสูง หากอยู่ชายหาดให้รีบออกจากฝั่งเพราะอาจเกิดสึนามิได้
สามเหลี่ยมชีวิต (Triangle of Life)
ฐานต่อมาคือ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินสามล้านบาทที่เหลือจ่ายจากการช่วยเหลือผู้ประสบมหาวาตภัยภาคใต้ที่แหลมตะลุมพุกเมื่อ พ.ศ. 2505 โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีหน้าที่ออกไปยังที่เกิดเหตุเพื่อบรรเทาทุกข์ในระยะแรกจนกว่าหน่วยงานราชการจะเข้าดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
ทั้งนี้ คุณอาภา ตั้งวงศ์มั่น ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การดำเนินงานในขั้นแรกของมูลนิธิ คือ ประสานงานกับเขตที่ประสบภัยว่าบริเวณใดประสบภัยมากที่สุดก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือก่อน คุณอาภายังให้ความรู้เกี่ยวกับถุงยังชีพว่า ถุงยังชีพมีหลายขนาดตามปริมาณคนในครอบครัว ทั้งยังมีหลายประเภทและมีสิ่งของแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ภัยพิบัติ เช่น ถุงยังชีพในเหตุวาตภัยจะมีเสื่อ ผ้าขาวม้า (ซึ่งเป็นผ้าอเนกประสงค์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น นุ่งห่ม ห่อของ เป็นต้น) เครื่องครัว เช่น หม้อ ช้อน ถุงยังชีพในเหตุอัคคีภัยจะมีเสื่อ มุ้ง และเครื่องครัวเช่นเดียวกัน ถุงยังชีพในเหตุภัยหนาวจะมีผ้าห่มนาโน ซึ่งเป็นผ้าผืนใหญ่แต่น้ำหนักเบาและอบอุ่น ถุงยังชีพในเหตุอุทกภัยจะมีน้ำปลา น้ำมันพืชไว้ประกอบอาหาร อาหารกระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป และน้ำดื่ม
คุณอาภาจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ความรู้เรื่องถุงยังชีพ
ในฐานนี้ยังมีการจัดกิจกรรมให้น้องๆ เล่นเกมจัดถุงยังชีพในสถานการณ์ต่างๆ ในเวลาที่จำกัด โดยให้น้องๆ จับสลากเลือกสถานการณ์ แล้วให้ช่วยกันหยิบสิ่งของสำคัญติดตัวไป 7 อย่างภายในเวลา 20 วินาที ซึ่งน้องๆ สนใจเข้าร่วมเล่นเกมต่างได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานอย่างมาก โดยสิ่งของสำคัญที่ควรนำติดตัวไปเมื่ออพยพ คือ ยาสามัญประจำบ้านขนาดพกพา อาหารแห้งพอประมาณสำหรับเวลาเดินทาง ไฟฉายกับถ่านไฟฉาย น้ำดื่มพอประมาณ ผ้าขาวม้าหรือผ้าอเนกประสงค์ ซองพลาสติกกันน้ำสำหรับใส่เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน วุฒิการศึกษา บัญชีธนาคาร และเอกสารสำคัญอื่นๆ เงินพอสมควร ควรเป็นธนบัตรย่อยและเหรียญเผื่อโทรศัพท์ และสิ่งของอีกอย่างที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ นกหวีด ไว้เป่าเรียกขอความช่วยเหลือ โดยสิ่งของเหล่านี้ควรบรรจุไว้ในเป้แบบสะพายหลังเพื่อความสะดวกในการเดินทาง
น้องๆ ร่วมเล่นเกมจัดถุงยังชีพ โดยมีพี่วิทยากรเฉลยสิ่งของสำคัญที่ควรจัดเก็บไป
ฐานต่อมา เป็นการแนะนำให้เรารู้จักกับเครือข่ายเพื่อสังคม (social media) ที่เป็นช่องทางในการรวมพลอาสาสมัครเพื่อกระจายข่าวสาร และกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยเครือข่ายนี้ใช้ชื่อว่า Volunteer Connex หรือสื่ออาสา อาสาสื่อซึ่งมีทั้งในเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ทั้งนี้มีคุณวู้ดดี้-วรวุฒิ จุลธีระ หนึ่งในอาสาสมัครแนะนำบทบาทของกลุ่มว่า Volunteer Connex เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ สำหรับแจ้งเตือนประชาชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือแจ้งกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ Volunteer Connex มีหน้าที่ในการกระจายข่าว ซึ่งมีข้อดีอยู่ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถส่งข่าวมาหาทาง Volunteer Connex ได้ และ Volunteer Connex ก็จะกระจายข่าวให้ โดยมีสามช่องทางให้เลือกเข้า ได้แก่ volunteerconnex.com, www.facebook.com/VolunteerConnex และ twitter.com/vconnex
คุณวรวุฒิกำลังอธิบายบทบาทของกลุ่ม Volunteer Connex
กลุ่ม Volunteer Connex ยังจัดเกมให้น้องๆ บอกวิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ด้วยโดยจะให้น้องๆ เลือกและแปะแผ่นป้ายวิธีการเอาตัวรอดพร้อมทั้งบอกสาเหตุที่เลือก เช่น เมื่อเกิดภัยสึนามิก็ต้องหนีขึ้นที่สูง หากอยู่กลางทะเลอย่านำเรือเข้าฝั่ง แต่ให้อยู่กลางทะเลจนกว่าคลื่นจะสงบ เป็นต้น
น้องๆ เล่นเกมอย่างสนุกสนาน
ฐานสุดท้าย คือ กลุ่ม Design for Disasters (D4D) มีคุณเอ็ม-พรโชค ดอนสันเทียะ กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มว่า เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว กลุ่มศิลปิน เช่น สถาปนิก มัณฑนากร ดีไซเนอร์ รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ต่อมาจึงมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมมากขึ้น โดยเป็นกลุ่มเฉพาะกิจที่ช่วยเหลือเมื่อมีภัยต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่ม Design for Disasters ยังจัดแสดงภาพถ่ายจากอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ภาพถ่ายแต่ละภาพล้วนสวยงามและสื่ออารมณ์แตกต่างกันไป เช่น ภาพน้ำท่วมถึงรันเวย์สนามบินดอนเมือง ภาพน้ำท่วมจนเกือบมิดเศียรพระ ภาพแม่สุนัขที่กกลูกสุนัขอยู่อีกด้านหนึ่งของที่กั้นน้ำที่กำลังท่วมสูง ภาพเหล่านี้อาจให้ความรู้สึกหดหู่ แต่ก็สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดอุทกภัยที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดสูญเสีย แต่ก็ยังมีแง่มุมดีๆ ให้เห็น เช่น ภาพกู้ภัยและคนไทยช่วยเหลือคนประสบภัยอย่างไม่ทอดทิ้งกัน ภาพเด็กน้อยลอยตัวเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน เป็นต้น
นิทรรศการภาพถ่ายช่วงอุทกภัย
กลุ่ม Design for Disasters ยังจัดแสดงนวัตกรรมการประดิษฐ์สิ่งของรอบตัวอย่างง่ายๆ เพื่อเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น กะละมังและราวตากผ้าทำเป็นเรือย่อมๆ ไว้บรรทุกเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่ออพยพจากน้ำท่วม โดยมีวิธีทำง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน คือ เจาะรูที่ขอบกะละมัง อาจเจาะด้วยค้อนกับตะปู หรือสว่านมือ สว่านไฟฟ้าก็ได้ จากนั้นผูกเชือกให้กะละมังติดกันอาจเป็น 2 ใบหรือ 4 ใบก็ได้ตามความเหมาะสม สุดท้ายคือ นำกะละมังไปวางในราวตากผ้า แล้วเจาะรูที่ขอบกะละมังเพื่อผูกเชือกติดกับราวตากผ้า ไม่เพียงเรือย่อมจากกะละมังเท่านั้น กลุ่ม D4D ยังประดิษฐ์ไม้พายอย่างง่ายๆ ด้วย คือ การใช้จานพลาสติกแบบแบนผูกติดกับราวสแตนเลสขนาดพอเหมาะ
สิ่งประดิษฐ์จากของรอบตัวอย่างง่ายๆ
นอกจากนี้ยังมีวิธีการเอาตัวรอดจากน้ำท่วมด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ ในบ้านอีก เช่น ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ 2 ใบเป่าลมแล้วมัดเข้าด้วยกัน เพื่อทำเป็นเสมือนห่วงยางให้เด็กน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัมใช้ลอยตัวในน้ำได้ หรืออีกวิธีคือการใช้ขวดน้ำพลาสติกมัดเข้าด้วยกันหลายขวดให้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม โดยเว้นช่องว่างตรงกลางไว้ให้สอดแขนเพื่อใช้ลอยตัวในน้ำได้เช่นกัน ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ อีก เช่น ที่จับปลาที่ทำจากขวดน้ำพลาสติกใบใหญ่แบบมีหูหิ้ว ภายในเป็นขวดน้ำพลาสติกแบบเล็ก กรีดให้มีลักษณะเป็นพู่เพื่อให้ปลาว่ายออกมาไม่ได้ หรือจะเป็นที่กรองน้ำง่ายๆ ที่ทำจากขวดพลาสติกสองใบ โดยนำปากขวดใบใหญ่กับใบเล็กมามัดต่อกัน ตัดก้นขวดใบเล็กออกแล้วใส่ผ้าสะอาดและสก๊อตไบรท์เพื่อกรองน้ำ โดยมีคุณเอ็มคอยให้ความรู้และสอนน้องๆ ทำสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้อีกด้วย
น้องๆ เรียนรู้การทำขวดลอยน้ำ
กิจกรรมในวันนี้จบลงพร้อมกับสารประโยชน์และความสนุกสนาน แต่สิ่งที่ผู้ร่วมงานต้องไม่ลืมคือ การมีสติอยู่เสมอ มีการเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องที่สามารถเตรียมการได้ เช่น สิ่งของสำคัญที่ควรนำติดตัว นอกจากนี้ ยังควรติดตามข่าวสารตลอดเวลาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ...ภัยที่ไม่อาจเอาชนะ แต่สามารถรับมือได้
Chestina Inkgirl
--------------------
ภาพและข้อมูลอ้างอิง
- www.arsadusit.com
- www.rajaprajanugroh.org
- volunteerconnex.com
- nitipatth.blogspot.com/2011/03/blog-post_29.html