เมล็ดพันธุ์หนึ่งลงดินเติบโตเป็นต้นกล้าจะต้องมีทั้งแสงแดดและน้ำ ช่วยทำให้เติบโตจนกระทั่งกลายเป็นไม้ใหญ่พร้อมจะผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อเป็นต้นกล้ารุ่นต่อๆ ไป โดยเฉพาะต้นกล้าที่จะเติบโตขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจสีเขียว จะต้องมีการช่วยส่งเสริมจากผู้ใหญ่ด้วยสูตรบำรุงต้นกล้าให้แข็งแรง
นิทรรศการ ‘งานเยาวชนต้นกล้า Green Generation…พลังสร้างสรรค์ เพื่อดิน น้ำ ป่า’ เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้ง อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์อบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือ RECOFTC (รีคอฟ) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิกองทุนไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2556 ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 ได้มีพิธิเปิดโครงการ ‘GREEN Generation พลังสร้างสรรค์เพื่อดิน น้ำ ป่า’ อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ใจดีจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ดร.ทินท์ ลวินทอง ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนฯ คุณสมหญิง สุนทรวงษ์ ผู้ประสานงานแผนงานประเทศไทย รองศาสตราจารย์ มยุรี จัยวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยฯ และ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ มาทำการเปิดประตูให้เยาวชนในวัยมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศกว่า 40 คนได้ก้าวสู่การเป็นพลังสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเยาวชนที่มาร่วมโครงการนั้นส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยผ่านงานอาสาเพื่อสิ่งแวดล้อมมาแล้วในท้องถิ่นของตนเอง เช่นจาก เครือข่ายจิตอาสาชาวเลือดหมู-ดำ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพฯ กลุ่มเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่สานใจฟื้นฟูป่า จังหวัดเพชรบูรณ์
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเยาวชนในท้องถิ่นชนบทที่อาศัยและพึ่งพาป่าทั้งที่อยู่ในและรอบๆ ป่า กับเยาวชนคนเมือง เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้ส่งผ่านความคิดของพวกเขาในการเป็นตัวแทนและเป็นกระบอกเสียงเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนคนเมืองได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่ออนาคตของทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน
โดยตลอดทั้ง 4 วันเยาวชนต้นกล้าจะได้เรียนรู้วิธีการสร้างสีเขียวให้โลกจากความถนัดที่พวกเขามี โดยมีการแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีตัวแทนเยาวชนจากภาคต่างๆ มาช่วยกันระดมความคิด และแลกเปลี่ยนความเห็นจากประสบการณ์รักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของพวกเขา ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นแบ่งได้เป็น 3 สูตร ที่ช่วยบ่มเพาะต้นกล้าให้เติบใหญ่อย่างแข็งแรง คือสูตรที่ชื่อว่า ‘มองอดีต – ทำปัจจุบัน – เตรียมอนาคต’
พี่ปุ้ม-อรยา สูตะบุตร เล่าถึงประสบการณ์รักษ์ต้นไม้ของกลุ่มบิ๊กทรี
สูตรที่ 1 ‘มองอดีต’ จากประสบการณ์กล้าไม้ใหญ่
การเรียนรู้บทเรียนของคนอื่น คือบทเรียนที่ดีบทหนึ่งของผู้ที่กำลังจะก้าวเดินตามรอยนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมายาวนานใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของกลุ่มคนที่รักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่นิ่งดูดายให้สีเขียวจากธรรมชาติถูกทำลาย Inspire by Idol จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยเติมพลังให้กับเยาวชนผ่านการเสวนาจากผู้ใหญ่ผู้ผ่านประสบการณ์สู้เพื่อสิ่งแวดล้อม
โดยงานเสวนาหลักของงาน คือการพูดคุยกับ พี่ปุ้ม-อรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม บิ๊กทรี (BIG Trees Project) กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ซึ่งรวมกลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมจากหลายหลายอาชีพและช่วงวัย มาทำกิจกรรมเพื่อต้นไม้ใหญ่ร่วมกัน โดยมีโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นสื่อในการติดต่อและประชาสัมพันธ์กิจกรรม เพื่อรวมพลังกลุ่มคนรักษ์ต้นไม้ให้ช่วยกันต่อต้านการตัดต้นไม้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่
พี่ปุ้มได้เล่าถึงความเป็นมาของกลุ่มว่าเกิดจากการช่วยกันปกป้องต้นจามจุรี ในซอยสุขุมวิท 35 ที่จะถูกตัดเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างห้างสรรพสินค้า แม้ความช่วยเหลือในครั้งนั้นจะล้มเหลวแต่ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยไม้ใหญ่ในเมืองต้นอื่นๆ
“เหตุการณ์จะตัดต้นจามจุรีใหญ่ที่ต้นซอยสุขุมวิท 35 ซึ่งกลายเป็นกระแสในเฟชบุ๊คทำให้คนรักต้นไม้รวมตัวกันเพื่อเจรจาขอล้อมต้นไม้ไปปลูกที่อื่น และขอพื้นที่บางส่วนให้ยังคงสภาพเดิมไว้เพื่อให้เป็นปอดคนของคนกรุง แต่การดำเนินการครั้งนั้นไม่สำเร็จ เพราะเจ้าของที่เขาได้จ้างคนมาตัดต้นไม้ไปแล้ว พวกเราเสียใจแต่ก็ต้องเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อต้นไม้ต้นอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงช่วยกันปลูกต้นไม้ในเมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว”
กิจกรรมขยายพื้นที่ให้ต้นไม้ในเมืองของกลุ่มบิ๊กทรีได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการรวมกลุ่มกันไปปลูกต้นไม้ยังสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาลและวัดต่างๆ รวมถึงทำโครงการอื่นๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมคู่กันไป เช่น กิจกรรมเยี่ยมชมบ้านในสวน โครงการกรุงเทพเดินสบาย หรือการจัดประกวดภาพถ่ายต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้มีหนังสือรวมภาพไม้ใหญ่ที่ชื่อว่า ‘100 ต้นไม้มหานคร’ ออกมาวางบนแผงหนังสือ สำหรับสูตรความสำเร็จของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น พี่ปุ้มได้เผยเคล็ดลับที่ได้ลงมือทำและประสบความสำเร็จมาแล้ว คือ
- ใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟชบุ๊คให้เป็นประโยชน์ ทั้งในการติดต่อกัน รวมกลุ่มทำกิจกรรม และประชาสัมพันธ์ผลงาน โดยจะต้องมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เพจเฟชบุ๊คมีความเคลื่อนไหวตลอด
- ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเก็บข้อมูลทั้งรูปถ่ายและรายละเอียดโครงการไว้ เพราะหากมีโอกาสที่จะทำโครงการอื่นๆ จะได้นำสิ่งเหล่านี้ออกมานำเสนอได้
- ให้คนที่มีชื่อเสียงช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ กลุ่มบี๊กทรีได้ทำสปอตสั้นๆ ให้คนที่มีชื่อเสียงพูดถึงประโยชน์ของต้นไม้ โดยได้เข้าไปติดต่อหรือแม้แต่ขอเข้าพบในช่วงสั้นๆ เพื่อให้ได้คลิปวิดีโอมาทำการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่ม
อิฐ-ปฏิภาณ และ น้ำ-ภัทรสุดา ตัวแทนเยาวชนรุ่นพี่ที่เคยฝากผลงานผ่านภาพยนตร์สั้น
นอกจากเสวนาหลักที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนต้นกล้า ยังมีการอีกหนึ่งงานเสวนาที่ชื่อว่า Media Space ซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยเป็นการพูดคุยกับเยาวชนที่เคยรวมกลุ่มกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโครงการ ‘สื่อ ศิลป์ ดิน-น้ำ-ป่า’ด้วยการรณรงค์ผ่านสื่อ ดำเนินงานเสวนาโดย พี่เอ้-นิติธร ทองธีรกุล เจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมโครงการ ซึ่งได้นำเยาวชนสองคน คือ อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก และ น้ำ-ภัทรสุดา แหลมหวาน ซึ่งทั้งสองได้รางวัลชนะเลิศจากการใช้สื่อผลิตภาพยนตร์สั้น แนวสารคดี เรื่อง ‘น้ำตานางเงือก’ มาสร้างความเคลื่อนไหวให้คนไทยรักสิ่งแวดล้อมและต่อต้านการคอรัปชั่น โดยหลังจากภาพยนตร์สั้นจบ เหล่าเยาวชนต้นกล้าก็ได้ทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีคิดวิธีการทำงานจากรุ่นพี่ทั้งสอง
อิฐและน้ำเป็นอดีตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน อิฐจบสาขาภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วน น้ำ จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งสองได้นำความรู้ด้านสื่อสารมวลชนในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพยนตร์สั้น แนวสารคดี โดยเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการคอรัปชั่น เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบริเวณริมชายหาดแหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเขื่อนจะช่วยรักษาชายหาด แต่ความจริงแล้วมันกลายเป็นเรื่องคอรัปชั่นที่คาดไม่ถึง
“ตามธรรมชาติแล้ว ชายหาดจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะทำให้พื้นที่หายไปเป็นธรรมดา แล้วต่อมาพื้นที่เหล่านั้นก็จะค่อยๆ กลับคืนมาเองตามธรรมชาติ แต่กลับมีคนอ้างเหตุนี้สร้างเขื่อนไว้ปกป้องชายหาด ความจริงแล้วการสร้างเขื่อนได้ไปฟื้นทางเดินธรรมชาติ ยิ่งทำให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้น แล้วก็ต้องซ่อมแซมสร้างใหม่ไม่รู้จบ” อิฐกล่าว
โดยการทำงานครั้งนี้น้ำได้เล่าว่าได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หลายท่าน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานที่จะต้องลงพื้นที่และติดต่อผ่านผู้ใหญ่เพื่อให้ได้ข้อมูลและได้สัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น นายพีระ ตันติเศรษณี นายกเทศมนตรีสงขลา ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว
ทางด้านน้ำได้พูดถึงประโยชน์จากการเป็นเยาวชนที่มีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการดังกล่าวไว้ว่า
“การที่เราได้ลงมือจริงจะทำให้เราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น เป็นการปรับทัศนคติในการมองโลก และทำให้ได้รู้จักกับผู้คนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำโครงการต่อๆ ไปที่จะทำขึ้นมาเพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่”
จากเรื่องราวของกลุ่มคนที่เคยผ่านประสบการณ์รักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เหล่าเยาวชนต้นกล้าได้รับประโยชน์และพร้อมที่จะไปสู่สูตรที่ 2 คือลงมือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
การนำเสนองานของน้องกลุ่มที่ 1
น้องกลุ่มที่ 3 นำเสนองานในรูปแบบการเสวนา
สูตรที่ 2 ‘ทำปัจจุบัน’ ด้วยความรู้วันนี้ที่เรามี
ต้นกล้าเล็กๆ ก็มีส่วนรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เท่ากำลังที่คนเล็กๆ จะมี โดยกิจกรรมหลักที่โครงการจัดขึ้นคือการนำเยาวชนไปสู่ชุมชน พร้อมทั้งให้โจทย์กับพวกเขาว่า ‘จะช่วยเหลืออย่างไร’ โดยชุมชนบางลำพู ได้รับเลือกให้เป็นชุมชนฝึกฝนให้เหล่าต้นกล้าได้คิด ริเริ่ม และลงมือทำ โดยวันที่ 28 มี.ค. เยาวชนต้นกล้าซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้ลงพื้นที่สัมผัสกับบรรยากาศจริง พร้อมทั้งสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนบางลำพู เพื่อเรียนรู้ว่าชุมชนเล็กๆ ในเมืองกรุงมีอะไรที่น่าสนใจและควรรักษา ก่อนที่สมาชิกในทีมจะต้องร่วมมือกันผลิตสื่อที่จะมานำเสนอที่ลานสานฝันในวันต่อมา
จากความร่วมแรงร่วมใจเกือบสองวันเต็ม เยาวชนแต่ละทีมก็ได้นำผลงานของกลุ่มตนเองมานำเสนอ โดยมีประเด็นที่หลากหลายทั้งเรื่องของชุมชนบางลำพูไปจนถึงเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ของชนบทและในเมือง
กลุ่มแรก นำเสนอผ่านสื่อหลากหลายทั้งคลิปวิดีโอที่รวบรวมภาพผลงานของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเคยลงพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อด้วยการนำเสนอแผนภาพวิธีการสร้างสรรค์เพื่อดิน น้ำ ป่าไม้ โดยใช้วิธีการดูแลจากราก ซึ่งหมายถึงชนบทซึ่งเป็นต้นน้ำ มาสู่ผลซึ่งก็คือเมืองที่รองรับแหล่งน้ำจากชนบท น้องๆ กลุ่มนี้เล่าว่า การสร้างสรรค์ดูแลสิ่งแวดล้อมจะต้องเริ่มขึ้นจากป่าสู่เมือง เพราะป่าคือแหล่งต้นน้ำ ที่จะต้องผ่านพื้นที่ต่างๆ ก่อนลงมายังเมือง ถ้าต้นน้ำสะอาด ปลายทางก็ปลอดภัย
กลุ่มที่ 2 ใช้แผนภาพประกอบกับการแสดงละครนำเสนอผลงานที่นำจินตนาการมาผสานเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า ถ้าวันหนึ่งคนในยุคก่อนได้ตื่นขึ้นมาเห็นยุคนี้พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร แล้วเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้สิ่งแวดล้อมนั้นกลับมาดีเหมือนเก่า
กลุ่มที่ 3 ได้ใช้การเสวนาแบบสบายๆ เน้นประเด็นไปที่เรื่องของชุมชนบางลำพูที่พวกเขาได้ไปมา ว่าชุมชนเล็กๆ แห่งนี้มีสถานที่ที่มีคุณค่า เช่น มูลนิธิดุริยประณีต ซึ่งเป็นชมรมดนตรีไทย ของ อาจารย์สุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) วัดและมัสยิดอีกหลายแห่ง อาชีพของคนในชุมชนที่ตัดเย็บชุดลิเก ชุดโขน ที่ชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ โดยพวกเขาได้เรียนรู้ว่าชุมชนเล็กๆ นี้ยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่น การใช้ EM Ball ในการบำบัดน้ำคลองให้กลับมาสะอาด ซึ่งเราเอาไปปรับใช้กับชุมชนได้
ปิดท้ายด้วยการโต้วาทีของกลุ่มที่ 4 ในหัวข้อเมืองกับชนบท อะไรดีกว่ากัน ซึ่งนอกจากข้อมูลดีๆ ที่นำมาแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นแล้ว ยังได้ความสนุกสนานตลอดการโต้วาที เป็นการนำเสนองานที่สร้างเสียงหัวเราะได้มากที่สุดของงานนี้
น้องพี – พีระพงศ์ ดวงดี ตัวแทนเยาวชนจากชมรมเกสรลำพู กรุงเทพมหานคร พูดถึงกิจกรรมครั้งนี้ในฐานะตัวแทนของเด็กในเมืองว่า
“การที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมต้นกล้าเยาวชน ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนๆ ที่มาจากต่างๆ กัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ได้เห็นว่าในต่างจังหวัดเขามีปัญหาอะไร ต้องแก้ปัญหาอย่างไร คนเมืองจะมีส่วนช่วยเหลือกันอย่างไร เพราะที่จริงแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน”
ฝ่ายตัวแทนเด็กต่างจังหวัด น้องเนส – ศิรินญา บุญอาจ ตัวแทนกลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการได้เป็นส่วนหนึ่งของเยาวชนต้นกล้าว่า
“กิจกรรมนี้ทำให้ได้ความรู้ที่นำไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เพราะได้มาฟังประสบการณ์จากพี่ๆ ที่เคยลงมือทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน จากเพื่อนๆ ที่มาจากหลายๆ จังหวัด และทำให้รู้ว่าชุมชนในเมืองหลวงก็ยังต้องมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอีก โดยนำความรู้ที่เคยทำให้ต่างจังหวัดมาปรับใช้ได้”
คุณสุภาภรณ์ ปันวารี เจ้าหน้าที่โครงการศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ผู้ดูแลกิจกรรมเล่าว่าเกิดจากความต้องการของผู้ใหญ่หลากหลายกลุ่มซึ่งเป็นภาคีร่วมกันในครั้งนี้ที่ต้องการจะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่มเด็กในภูมิภาคต่างๆ ที่มีจิตอาสาดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน จึงเกิดเป็นโครงการเยาวชนต้นกล้าขึ้น
“เด็กๆ ที่มาร่วมในโครงการจะมีทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ เราอยากให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความคิด และได้รู้จักกัน เผื่อในอนาคตจะมีโครงการที่พวกเขาทำต่อเนื่องไป ก็จะได้มีเครือข่ายคนที่มีแนวทางเดียวกันคอยช่วยเหลือได้”
แม้กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการแสดงนำในช่วงเวลาสั้นๆ และลงพื้นที่ไม่นานนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เยาวชนต้นกล้าจะได้กลับไปคือประสบการณ์ที่เกิดจากการคิดและลงมือทำ หรือเพื่อที่จะลงมือทำในอนาคตเพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิม
ฐานความรู้สีเขียว
สูตรที่ 3 ‘เตรียมอนาคต’ เพื่อกล้าต้นต่อไป
กิจกรรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่น้องๆ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้กลับไปเท่านั้น งานเยาวชนต้นกล้าได้มองการณ์ไกลไปถึงกล้าต้นต่อๆ ไปที่อาจจะเกิดขึ้นหากพวกเขาได้เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ โดยการเรียนรู้ดังกล่าวได้ปรากฏเป็นนิทรรศการในวันที่ 30-31 มี.ค. โดยมีกิจกรรมมากมายที่สร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับผู้เข้าร่วมงาน เช่น การแสดงดนตรีจากกลุ่มผ้าขาวม้า โครงการสื่อศิลป์ ดิน น้ำ ป่า ที่ได้นำดนตรีแนวเพลงเพื่อชีวิตมาขับกล่อมสร้างความบันเทิงให้กับงาน โดยเนื้อหาของเพลงนั้นก็ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวของธรรมชาติ ป่าไม้ ที่อยากให้ทุกคนใส่ใจดูแล
กิจกรรมหลักของนิทรรศการ คือการให้ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศผ่านแผ่นป้ายที่มีอยู่รอบลานสานฝัน พร้อมทั้งจูงใจเด็กๆ ด้วยเกมที่ทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนโลก โดยการร่วมกิจกรรมฐานต่างๆ รวม 4 ฐาน ได้แก่
ฐาน ‘มื้อนี้มีที่มา’ โดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชน กิจกรรมที่ให้น้องๆ ได้นึกถึงที่มาของอาหารหนึ่งมื้อว่าจะต้องผ่านการใช้วัตถุหรือพลังงานอะไรบ้าง โดยให้น้องๆ เขียนเมนูอาหารหนึ่งอย่าง เช่น ข้าวผัดกะเพรา และกว่าจะได้ข้าวผัดกะเพราะหนึ่งจาน เราต้องใช้พลังงานจากแก๊ส ต้องปลูกข้าว เลี้ยงหมู ฯลฯ เพื่อให้น้องๆ ได้เห็นคุณค่าของข้าวแต่ละมื้อ
ฐาน ‘แยกขยะเฮฮา’ โดยอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่ให้น้องๆ ได้ทดลองแยกขยะ 3 ประเภท ลงถัง 3 ใบ คือ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ซึ่งส่วนใหญ่น้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในฐานนี้จะแยกได้ถูกต้อง
ฐาน ‘ความรู้สีเขียว’ เป็นฐานที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำงานวิจัยมาแปลงให้ง่ายขึ้น เพื่อไม่ให้งานวิจัยเป็นเรื่องที่หนักเกินไปสำหรับคนทั่วไปหรือเด็กๆ เช่น งานวิจัยเรื่องกล้วย ที่ได้มีการปรับเนื้อหาให้เหมาะกับกลุ่มนักวิจัย คนทั่วไป และเด็กๆ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยสามารถเข้าไปดูผลงานวิจัยต่างๆ ได้ที่ ezknowledge.trf.or.th
ฐานฉลาดช้อป
และฐาน ‘ฉลาดช็อป’ โดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชน ที่มีการวัดระดับพฤติกรรมการบริโภคของเราว่าอยู่ในกลุ่มใด สีเขียว คือ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สีเหลือง คือ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอยู่บ้างแต่อาจเป็นสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สีแดง คือ ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและทำลายสิ่งแวดล้อม วิธีวัดคือการให้จับจ่ายซื้อของในฐานเพื่อวัดว่าส่วนใหญ่แล้วเราซื้อของที่อยู่ในกลุ่มสีอะไร ซึ่งการวัดระดับพฤติกรรมนี้ นอกจากจะทำให้รู้จักตัวเองแล้ว ยังได้รู้ถึงแนวทางในการปรับพฤติกรรมตัวเองเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกเหนือจากกิจกรรมฐานต่างๆ ที่มีตลอดทั้งวันแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิงแฝงความรู้และแรงบันดาลใจในการรักษ์ดิน น้ำ ป่า ได้แก่ ภาพยนตร์สั้นนำเสนอเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น ‘เสียงจากป่า’ ‘ไร่หมุนเวียน บานห้วยหินดำ’ ‘Green’ ‘Man of the Soil’ ที่ฉาย ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 1 ตลอดทั้งช่วงบ่าย
สำหรับเยาวชนรุ่นจิ๋วที่ยังไม่พร้อมรับกิจกรรมความรู้แบบเข้มข้น ทางโครงการก็ได้นำเสนอเรื่องความรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เด็กเล็กเข้าใจง่ายขึ้น โดยได้นำต้นกล้าตัวน้อย น้องลูกน้ำ- ด.ญ.แทนใจ จันทร์เทียบ หนูน้อยนักเล่านิทานจากโครงการลับสมองประลองปัญญาสรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน มาเล่านิทานที่แต่งขึ้นเองเรื่อง ‘ด.ญ.หนูดี’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เพื่อให้น้องๆ รุ่นจิ๋วได้ช่วยประหยัดพลังงานแบบที่พวกเขาทำได้ซึ่งเป็นการช่วยรักษาโลกอย่างหนึ่ง
แม้งานเยาวชนต้นกล้าจะจัดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ครบสูตรเพาะกล้า ทั้งจากประสบการณ์ของรุ่นพี่ การได้ลงมือปฏิบัติจริง และการเตรียมพร้อมสำหรับกล้าต้นใหม่ ก็จะทำให้เยาวชนหรือแม้แต่ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการได้ตระหนักถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้ไม่นิ่งดูดาย เพราะต่างก็รู้ว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในเมืองหรือชนบท อายุเท่าไร อาชีพอะไร เราก็ต่างเป็นส่วนหนึ่งที่จะดูแลธรรมชาติต่อไปได้
พี่ตองก้า