สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ จับมือสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลน่ายินดี คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นเป็น 37 นาทีต่อวัน และอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 แต่ยังพบผู้ไม่อ่านและไม่รู้หนังสือ พร้อมเร่งกำลังพัฒนาการอ่านระดับประเทศ เพื่อคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของประชาชน จึงได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยนายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าวผลสำรวจสถิติการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556 และเสวนาในหัวข้อ "ก้าวต่อไป รณรงค์ส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน" โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่
- ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
- นางศกุนตลา สุขสมัย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมวิทยบริการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- นางวันทนีย์ นามะสนธิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและรับรู้ข้อมูลที่จะนำไปใช้ประกอบแนวทางการทำงานส่งเสริมการอ่านต่อไป
สำหรับสถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2 ปี โดยปี พ.ศ. 2556 ทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือนได้ผลปรากฏว่า คนไทยตั้งแต่อายุ 6 ปี ขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 81.8 และใช้เวลาอ่านหนังสือต่อวันเฉลี่ยคนละ 37 นาที โดยเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2554 มากกว่าร้อยละ 10 ทั้งชายและหญิง โดยการอ่านหนังสือในที่นี้ หมายถึงการอ่านหนังสือทุกประเภท นอกเวลาเรียนหรือเวลาทำงาน รวมทั้งการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตด้วย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มวัยที่อ่านหนังสือมากที่สุด คือวัยเด็ก อ่านหนังสือร้อยละ 91.5 ตามด้วยเยาวชน ร้อยละ 90.1 วัยผู้ใหญ่ ร้อยละ 83.1 และวัยสูงอายุ ร้อยละ 57.8 ตามลำดับ
เมื่อแยกตามภูมิภาค ในภาพรวมปรากฏว่า ประชากรกรุงเทพมหานครอ่านหนังสือมากที่สุด ร้อยละ 94.6 ตามด้วยภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอีสาน และเมื่อพิจารณาตามช่วงวัยสำคัญคือวัยเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานครอ่านหนังสือมากที่สุดร้อยละ96.6 ตามมาด้วยภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ตามลำดับ
นอกจากนี้ สถิติดังกล่าวชี้ว่าหนังสือที่คนไทยอ่านมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 73.7 ตามด้วย วารสาร/เอกสารรายประจำ ร้อยละ 55.1 ตำรา ร้อยละ 49.2 นิตยสาร ร้อยละ 45.6 หนังสือทางศาสนา ร้อยละ 41.2 ส่วนนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น มีผู้อ่านร้อยละ 38.5 และแบบเรียนตามหลักสูตรร้อยละ 29.5 โดยสถานที่ที่ใช้อ่านหนังสือมากที่สุดคือที่บ้าน ตามด้วยสถานที่เอกชน ที่ทำงาน และสถานศึกษา
และท้ายสุดข้อมูลสถิติยังกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนการอ่านว่า วิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุดคือ ลดราคาหนังสือให้ถูกลง ปลูกฝังการอ่านผ่านครอบครัว ให้สถานศึกษารณรงค์รักการอ่าน รวมถึงการจัดทำห้องสมุดประชาชนในชุมชน และการปรับเนื้อหาหนังสือให้อ่านง่ายขึ้นด้วย
ข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นเครื่องมือหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการอ่าน ความรู้ และความเข้าใจของประชากร เพื่อสนับสนุนแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างยุทธศาสตร์ เป้าหมายการดำเนินงานของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามความเป็นจริง
โดย ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้กล่าวถึงสถิติการอ่าน พ.ศ.2556 นี้ว่า “ในสังคมไทยยังคงพบว่ามีอัตราในการใช้เวลากับการอ่านน้อย เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้เชื่อว่านิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของทรัพยากรบุคคลของประเทศ ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสังคมไทยให้สามารถเทียบเคียงได้กับนานาประเทศต่อไปในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวก็พบว่า ยังมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ เพราะสาเหตุต่างๆ กัน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือปัญหาการไม่อ่าน เพราะไม่รักการอ่านหรือไม่สนใจ พบมากถึงร้อยละ 18.1 ของผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ที่ต้องร่วมมือกับองค์กรการศึกษา หน่วยงานภาครัฐเอกชนตลอดจนพันธมิตรต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ต่อไป
ดร.ทัศนัย ยังเน้นย้ำอีกว่า การรายงานสถิติการอ่านครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับประชากรของประเทศไทยในทุกช่วงวัยได้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต