อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านมาร่วมเปิดมุมมันส์ของวรรณคดีไทยกับ วิว ชนัญญา เตชจักรเสมา เจ้าของผลงานวรรณคดีไทยไดเจสต์ พร้อมแขกรับเชิญสุดเซอร์ไพรส์คือ “ฮ่องเต้” พิธีกรรายการช่างประจำบ้าน ทางช่องอมรินทร์ทีวี ในกิจกรรม TK Reading Club ตอน “รามเกียรติ์” ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 2 อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มนักอ่านที่มาให้กำลังใจอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในงานยังมีการถ่ายทอดสด (live) ผ่านทางช่องทางของ TK park อีกด้วย
จากความชอบวัยเด็กสู่วรรณคดีไทย
ฮ่องเต้เผยว่าโดยส่วนตัวชอบสัตว์ประหลาดและชอบความเป็นไทยเมื่อโตขึ้นมาจึงชอบสะสมหัวโขนมีหน้าทอง ขาว เขียว มีความสวยงามและรู้จักวิวตั้งแต่สมัยที่ตนเรียนชั้นประถมศึกษาและวิวเรียนชั้นอนุบาล ชอบความเป็นไทยคล้าย ๆ กัน
ส่วนวิวเล่าว่า สนใจวรรณคดีตั้งแต่อยู่อนุบาล โดยความสนใจเริ่มมาจากการดูนิทานที่มีภาพประกอบพร้อมคำบรรยาย
น้องๆ นักอ่านหลายคนในห้องก็ร่วมเล่าเรื่องความสนใจหนังสือและวรรณคดีของตนเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มสนใจตั้งแต่ชั้นอนุบาล
รามเกียรติ์เป็นของไทยหรือไม่
คราวนี้วิวและฮ่องเต้เปิดโอกาสให้นักอ่านในห้องร่วมแสดงความเห็นก่อน น้องนักอ่านคนหนึ่งในห้องแสดงความเห็นว่าถ้าใช้คำว่ารามเกียรติ์ก็ต้องเป็นของไทย แต่ถ้าใช้คำว่ารามายณะจะเป็นของอินเดีย
นักอ่านอีกท่านร่วมแสดงความเห็นว่าไม่ใช่ของไทย เนื่องจากเคยคุยกับเพื่อนชาวอินโดนีเซียก็พบว่าเขาก็มีเรื่องคล้ายรามเกียรติ์ของเราเหมือนกัน แต่ต่างกันในบางรายละเอียด
ส่วนวิวกล่าวว่าต้องคิดก่อนว่าของไทยแปลว่าอะไร เราแบ่งอย่างไรว่าอะไรคือไทย อย่างมหาภารตะเรียกว่าของไทยไหมหรืออิเหนาของไทยไหมส่วนตัวมองว่าความเป็นไทยคือเลือกรับจากภายนอกประเทศมาปรับใช้ รามเกียรติ์ก็คือรับมาจากรามายณะและนำมาปรับ มีบางฉากที่เปลี่ยน เช่น หิรันตยักษ์ม้วนแผ่นดินในตอนต้น ของอินเดียไม่ได้นำมานับรวมกันแต่ของเราเอามายำเป็นเรื่องเดียว หรือตอนหนุมานถูกทำโทษก็ถูกทำโทษตามแบบความเป็นไทย เป็นการปรับใช้ ไม่ใช่ไทย 100% เหมือนทุกอย่างในประเทศที่เป็นเส้นแบ่งที่เบลอมากๆ ควรศึกษาเส้นทางและอิทธิพลมาสู่ไทยมากกว่า
วิวเสริมว่ารามเกียรติ์มีอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว เช่น จะกินข้าวก็มีพระรามลงสรง เข้าป่าก็มีกระเช้าสีดา ดูมวยก็มีหนุมานถวายแหวน คือสามารถตัดตอนมาเล่นโขนได้โดยคนดูไม่งง ต่างจากเรื่องอิเหนาถ้าตัดมาก็อาจไม่เข้าใจ แต่รามเกียรติ์ตัดตอนไหนก็เข้าใจว่ายักษ์ต้องรบกับลิง
เมื่อพูดคุยถึงเรื่องโขน น้องๆ นักอ่านในห้องหลายคนก็บอกว่าชอบดูโขนตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ นักอ่านผู้ใหญ่หลายท่านร่วมเล่าว่าดูแล้วประทับใจ แม้กลับมาก็ยังจำเสียงพากษ์ได้
นักอ่านท่านหนึ่งซึ่งร่ำเรียนมาทางนาฏศิลป์เล่าว่าโขนมีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีการไหว้ครูเพราะต้องการให้ผู้เล่นโขนมีสติ โขนต้องมีความอ่อนช้อย ผิดพลาดไม่ได้ เครื่องทรงหนัก ต้องแข็งแรงและมีความอดทนสูง อยากให้คนอนุรักษ์และสืบสาน
ฮ่องเต้เสริมว่าโขนมีทั้งการวาดหน้าโขน วาดฉาก มีส่วนของเนื้อหา โขนคือการรวมทุกศาสตร์
ส่วนวิวเสริมว่า ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า บทละครรามเกียรติ์ ดังนั้นแค่อ่านมันไม่สามารถเติมเต็มได้ แต่ต้องดูด้วย
วรรณคดีเป็นสิ่งที่ควรบูชาไว้บนหิ้ง?
วิวเล่าว่าคำว่าบูชาไว้บนหิ้งไม่ใช่คำพูดเล่นๆ เพราะสมัยก่อนมีจริงๆ คิดว่าเป็นของสูง ทิ้งไว้บนหิ้งจนกรมศิลป์ไปดูก็พังไปแล้ว
นักอ่านคนหนึ่งร่วมแสดงความเห็นว่า อินเดียไม่ค่อยคิดมากเรื่องการนำรามายณะมาดัดแปลง เช่น โฆษณาขายรถก็นำราวณะ (ทศกัณฐ์ แต่มีรูปลักษณ์ต่างจากของไทยคือ มี 10 หน้าที่ยาวเป็นแผงออกไปด้านข้าง) มาตัดเศียรตัวเอง หรือใส่หมวกกันน็อคเพื่อนรณรงค์ใส่หมวก และทั้งที่เขานับถือเทพแต่ก็ไม่ซีเรียส ต่างจากของไทยมีดราม่าทศกัณฐ์แคะขนมครก
นักอ่านอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษาเอกประวัติศาสตร์บอกว่า เข้าใจว่าคนรุ่นเก่าเขาก็ยังอยู่ จึงยังมีคนที่รับไม่ได้อยู่ ส่วนตัวคิดว่าสามารถนำมาปรับได้ทุกอย่าง แต่ควรจะทำให้เหมาะสม เช่น มีโฆษณาชิ้นหนึ่งของไทยโดนแบน เพราะมีทศกัณฐ์ไปเที่ยวสวนลุมฯตอนกลางคืน แต่ส่วนตัวคิดว่าควรจะเอาลงมาจากหิ้งเพราะหากอยู่บนหิ้งก็ไม่ได้เผยแพร่สู่คนรุ่นหลัง
นักอ่านอีกท่านเสริมว่า เรามีวัฒนธรรมน่าจะเอามาต่อยอดได้ มันก็จะมีคุณค่าและมูลค่า ถ้าเก็บไว้บนหิ้งอย่างเดียวจะมีแต่คุณค่า ไม่มีมูลค่า ถ้าจะเข้าหาคนรุ่นใหม่ก็ลองทำเกมไหม วางตามจุดท่องเที่ยวในไทยได้ ทำรามเกียรติ์เป็นอย่างอื่นได้ไหม น่าจะต่อยอดได้
ถึงตรงนี้ฮ่องเต้เสริมว่าตนเคยออกแบบเกมใหม่นานมากแล้ว อย่างไมยราพก็ออกแบบคาแรคเตอร์ใหม่แล้ว แต่ขาดการสนับสนุนทางการเงินหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ
วิวช่วยสรุปว่า นักอ่านทุกคนในห้องเห็นตรงกันและไม่มีใครโหวตว่าควรเอาวรรณคดีไว้บนหิ้ง
รามเกียรติ์อ่านยาก?
น้องนักอ่านคนหนึ่งบอกว่าอ่านยากเพราะไม่ชอบอ่านหนังสือ แม่ซื้อมาให้อ่านก็ไม่ชอบ ฮ่องเต้เสริมว่า ไม่ชอบอ่านเหมือนกันเลย (ทั้งห้องหัวเราะ) คนไม่ชอบอ่านหนังสือก็เป็นคนดีได้ วิวบอกว่าเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือก็ไม่แปลก เป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมรับ
นักอ่านท่านหนึ่งเสริมว่า ตอนยังเป็นเด็กก็รู้สึกว่าอ่านยากมากเพราะเป็นร้อยกรอง ภาษายาก ทำให้ตีความยากและเข้าใจยาก แต่ก็โดนบังคับให้ท่องตอนเรียน รู้สึกท้อ ต่างจากตอนนี้ที่มีฉบับที่ย่อยมาแล้วหลายรูปแบบ
วิวกล่าวว่าอย่ามองว่ามันคือภาษาไทย ให้มองว่ามันคืออีกภาษานึง เราเริ่มต้นทีแรกควรจะอ่านแบบย่อยง่าย ๆ ไปก่อน เลเวลเบสิกก่อนจนเข้าใจมากขึ้นก็ค่อย ๆ ขยับมาอ่านต้นฉบับ ส่วนตัวเชียร์ให้อ่านเวอร์ชันต้นฉบับ เพราะฉบับย่อยมามีรายละเอียดที่ตกหล่น
นักอ่านอีกท่านหนึ่งเสริมว่าเห็นด้วยว่าควรกลับไปอ่านเวอร์ชันเดิม ซึ่งจะได้อรรถรส สมัยนี้ง่ายขึ้นมาก เปิดกูเกิ้ลได้เยอะแล้ว ไม่เข้าใจตรงไหนก็ค้นเพิ่มเติมได้ และทำให้มีความรู้มากขึ้นด้วย
ชอบฉากไหนมากที่สุด
นักอ่านคนหนึ่งบอกชอบตอนสีดาลุยไฟ เพราะทำให้เห็นวัฒนธรรมไทย-อินเดียว่าหญิงต้องบริสุทธิ์ จริง ๆ ผู้หญิงเป็นแค่เครื่องประดับของผู้ชาย ฮ่องเต้เสริมว่าถ้าเป็นเฟมินิสต์ก็จะเรียกว่าผู้หญิงเป็นแค่ “object” (วัตถุ) วิวเสริมว่า พระรามของไทยบางเวอร์ชันบอกว่าที่โวยวายเพราะเชื่อ แต่แกล้งทำเพื่อให้ไม่สีดาตกเป็นที่ครหา
นักอ่านคนหนึ่งบอกว่าชอบมารีศที่แปลงร่างเป็นกวางเพราะทำหน้าที่จนตัวตาย วิวเสริมว่ามารีศเป็นอสูรจากรามายณะ
น้องนักอ่านคนหนึ่งบอกว่าชอบฉากที่อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ไปลวงกองทัพพระราม น้องนักอ่านอีกคนบอกว่าชอบตอนท้าวมาลีวราชว่าความ เพราะแม้จะเป็นปู่ของทศกัณฐ์แต่ก็มีความเที่ยงธรรม ตัดสินให้คืนสีดาแก่พระราม
น้องนักอ่านคนหนึ่งบอกว่า ชอบตอนหนุมานเจอมัจฉานุเพราะดราม่าดี วิวเสริมว่า มัจฉานุต้องกล้ามากในการตัดสินใจช่วยหนุมานซึ่งจะไปช่วยพระราม เพราะยักษ์ไมยราพชุบเลี้ยงมา แต่ก็ชาญฉลาดที่บอกใบ้ว่ามาทางไหนก็ไปทางนั้น เป็นคอนฟลิกต์ (conflict) ที่เหมือนภาพยนตร์
ส่วนวิวบอกว่าชอบชมพูพาน เป็นเหมือนตัวแถมที่พระอิศวรยกให้พาลีกับสุครีพตอนที่ยกหนุมานให้ ชมพูพานมาจากขี้ไคลพระอิศวร เป็นการบ่งบอกว่าอะไรของเทพก็ศักดิ์สิทธิ์
วรรณคดีไทยขาว-ดำ?
วิวบอกว่าวรรณคดีไทยแบ่งขั้วตัวละครเป็นขาว-ดำก็เยอะ แต่ยุคหลังๆ ก็มีความสมัยใหม่มากขึ้น มีความกลมมากขึ้น อย่างเรื่องรามายณะ ผู้ที่บูชาพระศิวะก็ให้ราวณะหรือทศกัณฐ์ดีกว่า
ฮ่องเต้เสริมว่าในรามายณะ ตัวละครที่รู้สึกว่าร้ายคือนางไกยเกษีที่เสี้ยมลูกชายว่าต้องยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเหตุให้พระราม พระลักษมณ์ และนางสีดาต้องออกจากเมืองไป น้องนักอ่านอีกคนเสริมว่านางค่อมก็ร้ายที่ไปยุแยงนางไกยเกษี วิวกล่าวว่าไม่ได้ร้ายที่สุด เพราะตอนพระรามเด็กๆ ไปแกล้งนางค่อมก่อน
วิวกล่าวว่าตัวละครที่คิดว่าร้ายคือ นางสำมนักขา แต่ก็มีความน่าสงสารเพราะเพิ่งถูกพี่ฆ่าสามีมา
น้องนักอ่านคนหนึ่งกล่าวว่ารู้สึกว่าฤๅษีนารทมุนีที่มีหน้าที่เล่าทุกอย่างให้พระอิศวรฟังร้าย เพราะเป็นคนช่างยุแยง นอกจากนี้ยังมีน้องนักอ่านอีกคนหนี่งเสริมว่า คิดว่าพระอิศวรก็ร้ายที่ให้พรไปเรื่อยๆ วิวเสริมว่าจริงๆ ก็ให้พรแทบทุกคน ในฮินดูคือเป็นหน้าที่ที่ต้องให้พรแก่ผู้ที่บูชา
วิวกล่าวสรุปว่าตัวละครในรามเกียรติ์ไม่ได้ขาว-ดำมาก เพราะต่างมีเหตุผลในการกระทำของตนเอง
#ทีมทศ หรือ #ทีมราม
ด้วยกระแสการตั้งทีม ติดแฮชแท็ก วิวกล่าวว่าเราเชียร์ได้ ตั้งทีมได้ แต่ต้องมีความรู้จริงๆ ไม่ใช่บอกว่า #ทีมทศ เพราะทศกัณฐ์ไม่เคยทำให้สีดาเสียใจ ไม่ใช่ เพราะนางสีดาร้องไห้จนแทบจะฆ่าตัวตายก็มี
วิวเสริมว่าส่วน #ทีมพระราม ในเวอร์ชันอินเดีย พระรามจะมีบทบาทเยอะ เท่ บู๊ และเก่ง มีความเป็นผู้นำให้ลิงรัก แต่ของไทย พระรามเป็นกษัตริย์ ต้องยกไว้ ทำอะไรไม่ค่อยได้
ส่วนฮ่องเต้บอกว่าเป็น #ทีมกุมภกรรณ เพราะอยู่ดี ๆ ก็ถูกพี่บังคับให้ไปรบ เป็นผู้ที่ไม่มีพิษมีภัยกับใคร เอาแต่นอนเฉยๆ
พักเรื่องยักษ์ไปเรื่องรัก
นักอ่านแสดงมองว่าทศกัณฐ์ไม่ได้รักสีดาจริงๆ แต่แค่ใคร่ อีกทั้งนางสีดามีสตอรี่ที่เป็นเมียพระราม แม้แต่พระรามก็ไม่ได้รัก เหมือนเป็นเกมการเมืองมากกว่า ผู้ที่รักที่สุดอาจจะเป็นพ่อคือพระชนก วิวเสริมประเด็นนี้ว่า แท้ที่จริงพระชนกอาจจะนำสีดาเข้ามาในเมืองเพราะเป็นตัวทำให้บ้านเมืองสมบูรณ์ก็ได้ ฮ่องเต้จึงสรุปว่าไม่มีใครรักนางสีดาจริงเลย อยู่ในดินไปเถอะ (ทุกคนในห้องหัวเราะ)
วิวกล่าวว่า มองว่าทศกัณฐ์แหมือนเก็บแต้มมากกว่า คือจับผู้หญิงที่ยาก ๆ มาทำเมีย ในเวอร์ชันอินเดียทศกัณฐ์โดนสาปว่าบังคับใครไม่ได้แล้ว เพราะถ้าไม่ยอมแล้วขืนใจผู้หญิง หัวจะระเบิด ถ้าเป็นเกม สีดาจึงถือเป็นเลเวลสูงสุด
ฮ่องเต้เสริมว่า สีดาคือเกียรติของพระรามตามชื่อ “รามเกียรติ์” หรือเกียรติแห่งพระราม
วิวสรุปว่า รักที่ซึ้งที่สุดในเรื่องน่าจะเป็นนางมณโฑเพราะไม่เคยทิ้งทศกัณฐ์ในทุกสถานการณ์ เรื่องรามเกียรตินี้ไม่ได้โฟกัสเรื่องความรัก โฟกัสที่เกียรติและสงคราม
อ่านรามเกียรติ์อย่างไรให้สนุก
ถึงช่วงสุดท้ายน้องๆ นักอ่านถามถึงเทคนิคในการจำชื่อตัวละคร เช่น จำเพื่อไปสอบ
ฮ่องเต้บอกว่า ไม่มีใครชอบทุกวิชา ไม่ใช่เรื่องผิด อาจจำเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ก็พอ วิวเสริมให้ลองปรับทัศนคติตัวเอง ต้องหามุมสนุกและสวยงามของมัน เช่น แก้สมการเลขก็มีความสุขกับมัน ถ้าเราอยากรู้แล้วสนุกมันจะไปของมันเอง ถ้าอ่านแล้วอินชอบ เราจะกระเสือกกระสนไปเอง อยู่ที่ความสนใจของเรา
ฮ่องเต้เสริมว่า เช่น เรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ก็เหมือนกัน เป็นภาพใหญ่ที่มีดีเทลเล็กๆ มีหลายเผ่าพันธุ์มาก ถ้าชอบก็จะสนุกและจำได้ไปเอง ซึ่งจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องจำก็ได้
ช่วงคำถามจากน้องๆ ในห้องเป็นช่วงที่สนุกสนานมากเป็นพิเศษ ใครถามก็จะได้รับเข็มกลัด Read More กันไปเลย มีทั้งคำถามยากๆ เช่น มีตัวละครกี่ตัว วิวตอบว่าหลายเวอร์ชัน ต่างชื่อกันก็มีตัวละครไม่เท่ากัน ฮ่องเต้เสริมว่าให้น้องไปอ่านแล้วนับมาบอกเราด้วย เรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งห้อง
วิวสรุปว่า วรรณคดีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แค่ต้องก้าวข้ามภาษาไป แล้วจะพบกับโลกใบใหม่หลังกำแพงภาษา ส่วนใครที่สนใจวรรณคดีสนุกๆ สามารถติดตามทางเพจและยูทูบของวิวได้ทางช่อง Point of View ส่วนฮ่องเต้เสริมว่าอ่านไปเถอะแล้วดีเอง
กิจกรรม TK Reading Club ตอน รามเกียรติ์ จบลงพร้อมความอบอุ่นและความสนุกสนาน วิทยากรและนักอ่านทุกท่านได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
...เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน...
Chestina Inkgirl