วิถีโอรังอัสลีกับการอยู่ร่วมกันในโลกปัจจุบัน
เราเคยได้คำว่า ‘เงาะป่าซาไก’ เป็นชื่อเรียกติดปากของชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่อาศัยทางภาคใต้ ซึ่งเรามักได้ยินกันผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ หากแต่ความจริงแล้วชื่อเรียกนี้มีความหมายที่ไม่ดีนัก ‘เงาะ’ มาจากลักษณะของเส้นผมที่หยิกเหมือนผลไม้ ส่วน ‘ซาไก’ ในภาษามาเลเซียหมายถึงทาสหรือผู้รับใช้ และในภาษามลายูหมายถึงความแข็งแรง ป่าเถื่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชื่อเรียกที่ฟังดูแล้วไม่ดีต่อผู้ถูกเรียกมากนัก
‘โอรังอัสสี’ คือชื่อเรียกที่เป็นการให้เกียรติพวกเขามากที่สุด แปลว่า คนพื้นเมืองดั้งเดิม สะท้อนถึงความเป็นมาของชนพื้นเมืองมีความเป็นมานานนับพันปี ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในราชการของมาเลเซีย แสดงให้เห็นการให้เกียรติในฐานะคนกลุ่มแรกที่อพยพมายังคาบสมุทรมลายูและเป็นบรรพบุรุษของชาวมลายู
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK park Yala) จัดแสดงนิทรรศการ โอรังอัสลี วิถีคนไพร ชวนมาเรียนรู้และทำความรู้จักกับโอลังอัสลีในหลากแง่มุม ทั้งภาษา วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ผ่านนิทรรศการและภาพถ่ายจากศิลปินและช่างภาพท้องถิ่น รวมไปถึงการเสวนาในหัวข้อ “วิถีคนไพรในยุคปัจจุบัน” โดยคุณมารีแย มิซายะลง ผู้ใกล้ชิดอัสลีฝ่ายหญิง เจ้าหน้าที่ประจำโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 จังหวัดยะลา และ คุณซูไฮมี มีนา ผู้เชี่ยวชาญและผู้ใกล้ชิดโอรังอัสลีฝั่งอัยเยอร์เวง ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน อบต.อัยเยอร์เวง ที่เคยใช้ชีวิตและศึกษาความเป็นอยู่ของชาวอัสลีมาอย่างใกล้ชิด มาพูดคุยถึงการปรับตัวของชาวอัสลีในยุคสมัยปัจจุบัน
จากการศึกษาของ ดร.เฮลมุท ลูคัส แห่งสถาบันสังคมศึกษาและมานุษยวิทยาและพิพิธภัณฑ์ชนพื้นเมืองมาเลเซีย ได้ระบุไว้ว่า ชาวอัสลีอยู่ในกลุ่มของนิกรอยด์ที่เมื่อหลายล้านปีก่อนแผ่นดินเอเชียและแอฟริกาติดกันเป็นผืนเดียว กลุ่มนิกริโตได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแถบเอเชียตอนใต้ในหมู่เกาะอันดามัน แหลมมลายู ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งยังคงสืบเชื้อสายมายาวนานกว่าพันปีแล้ว ปัจจุบันในประเทศไทยชาวอัสลีอาศัยอยู่ในแถบจังหวัดในภาคใต้ แถวทิวเขาบรรทัดและสันกาลาคีรี ทั้งจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
“ทุกวันนี้พวกเขายังใช้ชีวิตอยู่แบบเดิมทุกอย่าง ที่เปลี่ยนแปลงไปมีแค่การรับปรับตัวให้เข้ากับอารยธรรมใหม่ๆ ที่เข้ามา อย่างเรื่องการแต่งตัวที่เริ่มมาสวมใส่เสื้อผ้าเหมือนกับเรา แต่ก่อนจะใช้เปลือกไม้มาทำเป็นเครื่องนุ่มห่ม ซึ่งในป่าดิบชื้นอากาศจะหนาวมาก ชาวบ้านในพื้นที่จึงแบ่งปันเสื้อผ้าให้” คุณมารีแยเล่าถึงการปรับตัวของชาวอัสลีที่ได้สัมผัสมา
นอกจากเรื่องเครื่องแต่งกายแล้ว เรื่องของอาหารการกินก็ยังชาวอัสลีก็ยังต้องปรับตัวด้วย “จากเดิมที่อาหารจะหาจากในป่าทั้งหมด เมื่อเริ่มมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านมากขึ้น จึงทำให้เริ่มปรับตัวเองเพื่อให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น” คุณซูไฮมีอธิบายเหตุผลในการปรับตัว ก่อนที่คุณมารีแยจะช่วยเสริมว่า “แต่ก่อนเขาจะขุดมันกินเป็นอาหารหลัก สมัยนี้จะกินข้าวหรืออาหารสำเร็จรูปอย่างปลากระป๋องแทนแล้ว เพราะหัวมันเริ่มหายากขึ้น แต่ก็ยังมีการล่าสัตว์เล็กอย่างพวกนก กระรอก ทาก ไก่ป่า ซึ่งแต่ก่อนมีการล่ากวางมากินด้วย แต่เดี๋ยวนี้เลิกกินเนื่องจากเป็นสัตว์สงวน เป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่าได้มาก”
แม้เรื่องเครื่องแต่งกายและอาหารการกินจะปรับเปลี่ยนไป แต่ในเรื่องของภูมิปัญญาอย่างเรื่องที่พักอาศัย ชาวอัสลีก็ยังคงรักษาขนบดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี ‘ทับ’ คือชื่อเรียกของที่พัก มีลักษณะเป็นเพิงชั่วคราว ใช้ไม้ไผ่เป็นเสาหลัก หลังคามุงด้วยใบไม้ โดยชาวอัสลีบางกลุ่มเริ่มย้ายที่พักเข้ามาบริเวณชายป่าจึงมีการสร้างทับที่เป็นบ้านยกพื้นหลักเล็ก หลังคามุงด้วยสังกะสี ปูพื้นด้วยไม้กระดาน เนื่องด้วยชาวอัสลีมีการย้ายที่พักไปเรื่อยๆ ทุก 15 วันจึงทำให้การสร้างที่พักเป็นแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพราะพวกเขาถือว่ายังไงก็ยังอาศัยอยู่ในผืนป่า ซึ่งเป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ของพวกเขาแล้ว
“การใช้ชีวิตประจำวันของชาวอัสลีจะอยู่กับไฟตลอด ในแต่ละทับจะมีกองไฟเสมอ ซึ่งในป่าดิบชื้นกลางวันจะร้อนมากและกลางคืนจะหนาวมาก จึงมีการก่อกองไฟ ทำให้ในทับอุ่นสบายตอนกลางคืน” คุณซูไฮมีเล่าถึงภูมิปัญญาที่น่ายกย่อง นอกจากนั้นยังมีเรื่องของทักษะในการแสวงหาวัสดุจากธรรมชาติอย่างการนำยอดของต้นหลาวชะโอนมาแกะก้านแข็งๆ ออกแล้วนำมาผูกเชือกรอบเอว เพื่อนำมาใช้เป็นผ้าอนามัยอีกด้วย
อย่างที่กล่าวไปว่า ป่าเปรียบเสมือนบ้านของชาวอัสลี จากประสบการณ์ตรงที่คุณซูไฮมีได้สัมผัสกับชาวอัสลีมาทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า วิถีชีวิตของพวกเขาไม่เคยห่างจากป่าเลย “วันหนึ่งผมเข้าป่าลึกแล้วหลงป่าคนเดียว แล้วอัสลีก็ตามหาจนเจอ เขาเป็นนักแกะรอยที่ดีมาก อย่างรอยเท้าปกติ ถ้าดินนุ่มหรือเปียกจะสามารถเห็นรอยเท้าที่เดินผ่านได้ แต่ถ้าดินแข็งจะไม่เห็นรอยแล้ว เขาจะให้เทคนิคการสังเกตดินที่ติดมากับรองเท้าจากตรงหนึ่งมาอีกตรงหนึ่ง เขาดูละเอียดดินทรายทุกเม็ด เขาจำได้หมดเพราะป่าเป็นบ้านของเขา”
ในฐานะที่เราต่างเป็นคนเมืองที่มีอารยธรรมและวิถีชีวิตที่ก้าวไกลกว่าชาวอัสลี การอยู่ร่วมกันไม่มีสิ่งดีใดจะดีไปกว่าความเข้าใจซึ่งกันและกัน “เดิมทีพวกเขาจะกลัวชาวบ้าน เจอชาวบ้านจะวิ่งหนีเลย เพราะเขารักสันโดษ แต่ก่อนจะไม่มีภาพถ่ายคู่กับเขาแบบนี้เลย ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเขาไว้ใจเราแล้ว ซึ่งจริงๆ เขาเป็นคนน่าคบมาก เป็นคนซื่อ อาศัยอยู่กันแบบง่ายๆ จริงใจ แต่จะไว้ใจคนยากหน่อย” คุณมารีแยเล่าถึงที่มาของภาพถ่ายคู่กับชาวอัสลีที่ต้องอาศัยความจริงใจเพื่อแลกกับความเชื่อใจมา “การใช้ชีวิตของเขาทำให้เราเห็นว่า การที่เขาอยู่ในป่าไม่มีเงินก็อยู่ได้ แต่จะให้เขามาอยู่ในเมืองอาจอยู่ไม่ได้ จึงไม่อยากให้คนภายนอกเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ป่า เพราะเขาไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกป่าได้ ป่าคือบ้านของเขา”
“เขาคือพระเอกในป่า การออกมาใช้ชีวิตข้างนอกยังไงก็ลำบากกว่าอยู่แล้ว อยากให้เราช่วยกันรักษาบ้านของเขา ช่วยกันดูแลป่าไม้ให้คงอยู่ต่อไป” คุณซูไฮมีทิ้งท้ายถึงหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับชาวอัสลี ซึ่งไม่ว่าวิถีชีวิตของเราจะแตกต่างกันแค่ไหน แต่ถ้ามีความเข้าใจกันแล้ว ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย