TK Reading Club ตอน แสตมป์เบอรี่ ในตอน ซีรี่ส์ 7’s
อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ในตอน “แสตมป์เบอรี่ ในตอน ซีรี่ส์ 7’s” เพื่อร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่จากนักเขียนยุคดิจิทัลที่แจ้งเกิดจากโลกออนไลน์ "คุณแสตมป์เบอรี่" พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคนนักอ่านผ่านมุมมองที่แตกต่าง โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากคุณแสตมป์เบอรี่มาร่วมเสวนาด้วย ทั้งยังมีแฟนคลับตามมาให้กำลังใจอย่างอบอุ่นทีเดียว
ภาพ 001 บรรยากาศกิจกรรม TK Reading Club
ซีรี่ส์ 7’s (The Special Seven Series) คือเซตหนังสือ 7 เล่มที่เล่าเรื่องของวัยรุ่นยุคใหม่ 7 คนที่มีความเป็นสุดยอดในแต่ละด้าน ทั้งรูปร่างหน้าตา มันสมอง รวมไปถึงความฮอต เท่ เพอร์เฟ็กต์ อัจฉริยะ ฯลฯ ซึ่งไม่มีใครในอินเตอร์พาร์กมีคุณสมบัติทัดเทียมได้
รู้จักแสตมป์+เบอรี่
พิไลมาศ ค้ำชู หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “แสตมป์เบอรี่” เล่าที่มาของชื่อให้ฟังว่ามาจากชื่อเล่นคือแสตมป์ รวมกับความชอบสะสมของเกี่ยวกับเบอรี่ รวมเป็น “แสตมป์เบอรี่” (แต่น้อง ๆ แฟนคลับมักจะเรียก “แม่แตมป์”) ปัจจุบันทำงานนักเขียนเป็นอาชีพหลัก
คุณแสตมป์เบอรี่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เริ่มอ่านนิยายและวรรณกรรมที่โตมาเรื่อย ๆ จากนั้นก็เริ่มเขียนหนังสือตอนชั้นมัธยม โดยเขียนเองอ่านเอง จนกระทั่งวันหนึ่งคุณพ่อนำคอมพิวเตอร์ไปซ่อม ไฟล์งานเขียนที่เก็บไว้จึงหายไปหมด ทำให้คุณแสตมป์เบอรี่เลิกเขียนไปช่วงหนึ่ง และกลับมาเขียนอีกครั้งช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเพราะได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือเรื่อง “หนุ่มฮอตสาวเฮี้ยว รักเปรี้ยวอมหวาน” ของ Guiyeoni (ควียอนี) เป็นแนวอีโมติคอนของสำนักพิมพ์แจ่มใส ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรงในช่วงนั้น จุดประกายให้คุณแสตมป์เบอรี่กลับมาเขียนอีกครั้งเพราะอยากลองเขียนอีโมติคอนที่สามารถแสดงฟีลลิ่งได้เลยและมีส่วนในการเพิ่มอรรถรส เช่น บางทีใช้แทนการประชดได้ด้วย คุณแสตมป์เบอรี่เสริมว่า ถ้าไม่ค่อยเข้าใจว่าอีโมติคอนแต่ละอันสื่อถึงอะไร เมื่อก่อนมีรวบรวมและอธิบายอยู่ที่หน้าหลังของนิยาย นอกจากนี้ในอินเทอร์เน็ตก็มีผู้รวบรวมไว้เช่นกัน
เข้าสู่วงการ
คุณแสตมป์เบอรี่เล่าให้ฟังว่าเมื่อเขียนนิยายตีพิมพ์ เริ่มจากการเขียนนวนิยายเรื่อง “รักสุดเซอร์ไพรส์ของยัยขี้โม้” เป็นเรื่องแรก แต่เรื่องที่ส่งตีพิมพ์เป็นเรื่องแรกคือ “ยัยเวอร์จิ้นปิ๊งรักนักเพลย์บอย” เป็นเล่มแรกของเซต Psycho (ไซโค) ซึ่งเล่าเรื่องกลุ่มวงดนตรี 5 คนมา จากนั้นเล่มต่อมาก็เพิ่มเป็นวัยรุ่นหกคนที่ทำผิดแล้วกลับตัวกลับใจ จนมาเรื่องล่าสุดเป็นซีรี่ส์เกี่ยวกับวันรุ่นที่สุดยอดที่สุด 7 คนในอินเตอร์พาร์ก ซึ่งเป็นเมืองเกิดใหม่ รัฐบาลต้องการจะโปรโมต จึงตั้งวัยรุ่นที่สุดยอดที่สุด เช่น รวยที่สุด สวยที่สุด เพลย์บอยที่สุด ฯลฯ 7 คนเป็นทูต ซึ่งทุกคนจะมีคู่หมด คุณแสตมป์เบอรี่กล่าวว่าก่อนที่จะมาเขียนแนวนี้เมื่อก่อนก็ลองเขียนมาหลายแนวแล้ว เช่น นางเอกสามสิบสี่สิบ ค่อนข้างจะเป็นผู้ใหญ่คล้ายแนวของคุณทมยันตี แต่เขียนแล้วรู้สึกไม่อิน ไม่ใช่แนวของตน จึงลองเขียนแนวรักใส ๆ ของวัยรุ่น โดยหยิบเอาเนื้อหามาจากเรื่องรักของวัยรุ่นใกล้ ๆ ตัว
กลุ่มนักอ่านเป้าหมาย
กลุ่มนักอ่านเป้าหมายที่วางไว้คือเด็กมัธยม แต่ก็แล้วแต่นักอ่านซึ่งก็เริ่มต้นที่อายุน้อยมาก แฟนคลับเด็กสุดคือ 8-9 ขวบ จึงไม่เขียนอะไรที่ทำร้ายเด็กมากเกินไป ต้องให้เด็กรู้ว่าอะไรดีไม่ดี มีการเพิ่มภาพประกอบช่วย เช่นเลิฟซีนก็มีภาพกอดกันเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แจ่มใสจะคัดไม่ให้หวือหวามากอยู่แล้ว ถ้าเป็นแฟนคลับวัยรุ่นก็ยังมักจะมาปรึกษาปัญหาชีวิต เพราะเขาคิดว่าเรามีประสบการณ์มากกว่า เป็นแม่’แตมป์ (หัวเราะ)
นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นแนวรักใส ๆ วัยรุ่นมาก คุณแสตมป์เบอรี่จึงเคยคิดว่าคนโตจะเข้าใจไหม แต่ที่ผ่านมาก็มีหลายเพศวัย เช่น คุณแม่ คุณครูที่อ่านเพื่อสกรีนให้ลูกหรือวัยรุ่น แต่หลายคนก็กลายมาเป็นแฟนคลับเอง หรือแฟนคลับเป็นเด็กผู้ชายก็มี ดีใจที่งานเข้าถึงทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ ดีใจเวลาคนอ่านมีความสุข เหมือนเป็นโลก ๆ หนึ่งของเรา
แต่งนิยายสไตล์ “แสตมป์เบอรี่”
คุณแสตมป์เบอรี่เผยเคล็ดลับการแต่งนวนิยายว่าเริ่มที่การคิดคาแร็คเตอร์ตัวละครขึ้นมาก่อน แล้วจึงคิดพล็อตให้ต่างกัน เช่น ตัวละครที่ดังที่สุด ก็เซตฉากให้อยู่ในวงการบันเทิง เป็นการสร้างตัวละครก่อนแล้วจึงมีพล็อต แต่บางเรื่องก็เกิดปิ๊งพล็อตขึ้นมาพร้อม ๆ กันเลย ตัวละครแต่ละตัวมีคาแร็คเตอร์ต่างกันชัดเจน จึงไม่สับสน ในส่วนฉากและสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่อง ได้จินตนาการและแต่งขึ้นมาเองหมด เพราะไม่อยากให้เกิดข้อมูลผิดพลาดหากอ้างอิงจากสถานที่จริง แต่ก็มีการนำชื่อสถานที่จริงมาใช้ด้วย เช่น อินเตอร์พาร์ก ก็มาจากชื่อหอพักในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะชื่อเท่ดี
ไร้พล็อตแต่ใช่จะไร้อุปสรรค
คุณแสตมป์เบอร์รี่เผยว่าแม้จะไม่มีพล็อตเรื่อง แต่งสด ดูเหมือนแต่งไปเรื่อย ๆ จะไม่มีปัญหา แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะอุปสรรคก็คือตัน ขณะที่ถ้าวางพล็อตไว้ก่อน เราก็แค่เขียนไปตามพล็อตที่วางไว้ ซึ่งก็จะง่ายกว่า ส่วนวิธีแก้เวลานึกไม่ออก เขียนต่อไปไม่ได้ก็คือหยุดไว้ก่อน ทำอะไรไปก่อน หาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เช่น อ่านหนังสือของคนอื่น ดูซีรี่ส์เกาหลี ไปเที่ยว เป็นต้น
แฟนคลับโตขึ้น นวนิยายยังอายุเท่าเดิม
คุณแสตมป์เบอรี่กล่าวเพิ่มเติมว่าเคยลองเขียนแนวรักแบบผู้ใหญ่ ๆ แล้ว แต่ไม่ชอบ เหมือนยังไปไม่ถึง เรายังวัยรุ่นอยู่ ผู้เขียนโตขึ้นเรื่อย ๆ แฟนคลับก็โตขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เราอายุมากขึ้นแต่ก็ยังขายเสื้อผ้าวัยรุ่นได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปขายเสื้อผ้าผู้ใหญ่ พอเด็กโตขึ้นเขาอาจจะไปอ่านแนวอื่นที่โตขึ้น แต่ก็มีนักอ่านรุ่นใหม่เข้ามาก็ไม่เป็นไร คิดว่าแนวนี้ยังโตได้อีก
อยากเป็นนักเขียนต้องเริ่มจากอะไร
อยากเป็นนักเขียนก็ต้องเริ่มจากเป็นนักอ่านมาก่อน เพื่อดูว่านวนิยายมีแนวไหนยังไงบ้าง แล้วหาแนวที่ตัวเองชอบให้เจอ และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ได้แพลนว่าจะหยุดเขียนเมื่อไหร่ คงจะเขียนไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นอาชีพแรกในชีวิต คิดว่าทำอาชีพนี้ได้ดีที่สุด
Chestina Inkgirl