เสียงของใบชาและบรรณ สุวรรณโณชิน
จากสภาพวงการเพลงที่ตกต่ำทางด้านยอดจำหน่ายในปัจจุบัน ซึ่งเราก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอันยากลำบากนั้นไปให้ได้ และเรามิอาจปฏิเสธว่า ยอดขายคือสิ่งหล่อเลี้ยงที่ให้เราสามารถสร้างผลงานที่เป็นทางเลือกทำให้วง การเพลงไทยพัฒนาคุณภาพต่อไปได้
เราขอเป็นเพียงเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่ง ที่จะยึดมั่นในการสร้างผลงานเพลงที่เป็นแรงผลักดันให้คุณภาพเพลงไทยเป็นที่ยอมรับต่อๆ ไป
คือคำกล่าวที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของ ‘ใบชา song’ ค่ายเพลงไทยเล็กๆ แห่งหนึ่ง ได้สะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงของวงการเพลงไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด เป็นที่น่าสนใจว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ค่ายเพลงนี้สามารถยืนหยัดสร้างผลงาน เพลงได้ยาวนานกว่า 12 ปี
อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรม TK Music Ed. 2016: หลากหลายใน ใบชา song มาบอกเล่าเรื่องราวการบริหารค่ายเพลงและเส้นทางสายดนตรีของ บรรณ สุวรรณโณชิน โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง และศิลปินมากฝีมือ ที่บ่มเพาะประสบการณ์ทางดนตรีมายาวนาน จนทำให้เกิดค่ายเพลง ใบชา song ค่ายเพลงอิสระที่ทุ่มเทสร้างสรรค์เพลงไทยคุณภาพได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ความสนใจในด้านดนตรีของคุณบรรณเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น โดยเลือกจับเครื่องดนตรีอย่างคีย์บอร์ด เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่คนเลือกเล่นน้อย
“ตอนอายุสิบเจ็ดสิบแปด เริ่มต้นเล่นคีย์บอร์ดก่อน เพราะเพื่อนๆ ส่วนมากเล่นกีตาร์กันเยอะ ดูจากหนังสือแล้วก็หัดเล่นด้วยตัวเอง ยุคนั้นสาวๆ ยังไม่ชอบกัน เพราะชอบมือกีตาร์มากกว่า อย่าง ชัยรัตน์ เทียบเทียม หลังจากนั้นก็มีวงตอนอายุยี่สิบต้นๆ เป็นวงที่ไม่ใช่อาชีพ ซ้อมเยอะกว่าเล่น เพราะงานไม่ค่อยมี เวลาซ้อมก็มีความสุข ปัจจุบันเวลาเล่นดนตรีก็รู้สึกแบบเดิมตลอด รู้สึกมีความสุข เมื่อมีคนฟัง”
ความสุขในการเล่นดนตรีได้ทำให้วัยรุ่นที่รักการเล่นดนตรีคนหนึ่งพัฒนาตัวเอง ไปสู่การทำเพลง ก่อนที่จะสั่งสมฝีมือจนได้เป็นศิลปินเต็มตัวในนาม มิ้นท์กับแจ๊ค เมื่อปี 2539
“มิ้นท์กับแจ๊ค ทำกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง เพลงที่ดังแล้ววิทยุชอบเปิดคือ ‘เพลงของเรา’ เอาชื่อเพลงของพี่ป้อม อัสนีมารวมต่อกัน 57 เพลง ด้วยความที่เราชอบร้องเลียนเสียงพี่ป้อมอยู่แล้ว เลยลองแต่งเพลงดู ก็มีกระแสพอสมควร คนฟังคิดว่าพี่ป้อมออกอัลบั้มใหม่รึเปล่า”
จุดเริ่มต้นการเป็นศิลปินของบรรณนั้นสวยหรูในช่วงแรก เพราะเพลงนั้นติดหูคนฟังและได้รับความนิยมอยู่พอสมควร แต่หลังจากนั้นค่ายเพลงที่สังกัดอยู่ก็ต้องปิดตัวลง เขาจึงตัดสินใจใช้ประสบการณ์ทั้งหมดที่มีเปิดค่ายเพลงของตัวเองในชื่อ จานบินมิวสิค และมีตนเองเป็นศิลปินเดี่ยวของค่ายในนาม MINT เมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจพอดี
“ปี 2540 ต้มยำกุ้งกำลังร้อนเลย ทำไม่ถึงปีก็ไปเลย ชื่อจานบินเหมือนจานคว่ำ เงินคว่ำหายไปหมดเลย หลังจากนั้นก็ไปเปิดผับเปิดร้านอาหารก็เจ๊งอีก”
บรรณ พักจากเส้นทางดนตรีไปหลายปี จนกระทั่งปี 2547 จึงกลับมาเริ่มทำเดโมเพลงใหม่ด้วยตนเองทั้งหมดจนออกมาเป็นอัลบั้มที่ชื่อว่า ‘บราซิล’ ในแนวเพลงแบบ Ragtime และ Bossa Nova จนได้รับฉายา บรรณ บราซิล แจ๊ซติดดิน โดยมีเพลงชื่อเดียวกับชื่ออัลบั้มที่นำเอาชื่อนักฟุตบอลทีมชาติบราซิลมาต่อ กันถึง 29 คน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่หลายคนจดจำได้ และอัลบั้มนี้ยังได้ติด 1 ใน 5 อัลบั้มยอดเยี่ยมจากคมชัดลึกอวอร์ดอีกด้วย
ก่อนที่ในปีถัดมา วงการเพลงไทยก็ได้รู้จักกับค่าย ใบชา song อย่างเป็นทางการ ที่บรรณตั้งใจปลุกปั้นทุกอย่างด้วยตนเอง
“ชื่อใบชา song มาจากธุรกิจของที่บ้านที่ขายใบชาอยู่ย่านตลาดน้อย อยากใช้ชื่อนี้เพราะทำให้นึกถึงพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามา และออกแบบโลโก้เองด้วย ตอนนี้ไม่คว่ำแล้ว แต่มีต้นไม้งอกเงยสวยงามแทน”
ด้วยปณิธานและความตั้งใจในการทำเพลงคุณภาพ จึงทำให้เขาบริหารค่ายและทำเพลงในแบบอิสระ โดยไม่มีกรอบความคิดใดๆ แนวเพลงที่ออกมาจึงไม่มีการยึดติดกับแนวใดแนวหนึ่ง ทั้งเนื้อหา ทำนอง และการเรียบเรียงดนตรีจึงมีเอกลักษณ์ที่ใครๆ ก็จดจำได้
“ใบชา song มีหลายแนว มีแจ๊ซ โฟล์ก ป๊อป ลาติน ลูกทุ่ง world music ร็อกก็มีทำบ้าง แต่ที่โดดเด่นน่าจะเป็นลูกทุ่งกับลูกกรุง เพราะเราเป็นคนฟังดนตรีเยอะ พอเรามีไอเดียเยอะก็อยากทำขึ้นมา โดยไม่สนกระแสเท่าไร อยากทำก็ทำเลย แต่ในความกว้างก็มีเอกลักษณ์ของเนื้อร้อง คนฟังจะพอรู้ และคนที่อยู่ในแวดวงดนตรีก็จะฟังออกว่าเราเป็นคนทำ”
แม้ว่าศิลปินอัลบั้มแรกๆ ของค่ายที่ปล่อยออกมาจะไม่ประสบความสำเร็จและทำให้ขาดทุน แต่ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละ ท่ามกลางการแข่งขันของค่ายใหญ่ที่กำลังดุเดือด บรรณก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเพลงไทยอย่างไม่มีใครคาดคิด
“ตอนทำ 4 ชุดแรกก็ขาดทุน มันเหมือนหุ้นดิ่งสุด ด้วยธุรกิจทำให้เราขายไม่ได้มากเท่าที่ควร ก็ไม่ได้คิดอะไร ชุดต่อไปก็อยากทำลูกกรุงด้วย ตอนทำอัลบั้ม ‘ต้นฉบับเสียงหวาน’ คิดว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ก็เลยออกมาแบบเซอร์ไพรซ์มาก ไม่คิดว่าวัยรุ่นจะชอบด้วยซ้ำ ได้ยอดขายจากซีดีและกระแสด้วย ทำให้เราอยู่ได้ จากตอนนั้นถึงตอนนี้ก็ร่วม 12 ปีแล้ว”
เพลง ‘รักยุคไฮเทค’ ของ สวีทนุช ในอัลบั้ม ‘ต้นฉบับเสียงหวาน’ ได้นำรูปแบบของดนตรีไทยย้อนยุคอย่างลูกกรุงมาประยุกต์เข้ากับเนื้อหาสมัย ใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง และสามารถเจาะกลุ่มคนฟังที่เป็นวัยรุ่นได้อย่างน่าภูมิใจ นอกจากรูปแบบที่นำเอานักร้องเก่ามาร้องเพลงใหม่แล้ว ยังมีการนำเพลงเก่ามาทำใหม่อย่างอัลบั้ม ‘ใบชา song ร้องเพลงชาตรี’ และ ‘เฟื่องอารมณ์’ ที่นำเพลงของ ชรัส เฟื่องอารมณ์ มาร้องใหม่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น รวมไปถึงการนำเพลงลูกทุ่งมาทำใหม่ให้ถูกใจคนฟังยุคใหม่อีกด้วย แม้ทั้งหมดนี้จะต้องใช้เวลาบ่มเพาะอยู่นาน แต่ทั้งหมดนี้ก็ได้พิสูจน์ว่า เป็นเส้นทางที่บรรณได้เลือกไว้อย่างถูกต้องแล้ว
“ตอนนี้เราก็ทำตัวลอยๆ เหมือนเวลาอยู่ในน้ำ อย่าไปกระโจนหรือว่ายมาก ไหลไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังทำงานอยู่ เพียงแต่เราคอนโทรลอุปสรรคให้ไปตามแรงของเราที่ทำได้ ทำแล้วมีความสุขและได้อย่างใจเราด้วย สิ่งสำคัญที่สุดของค่ายคือความพอเพียง ยึดหลักของในหลวงท่านไว้ เราไม่ทำอะไรที่ฟุ้งเฟ้อเกินตัว อนาคตอยากทำเพลงให้หลากหลายมากขึ้น ยังมีโปรเจกต์เพลงเยอะแยะมากมายที่อยากให้ฟังและไม่มีใครเคยฟัง”
ค่ายใบชา song ถือเป็นค่ายแรกๆ ที่ปลุกกระแสให้คนกลับมาสนใจแผ่นเสียงอีกครั้ง หลังกระแสของการฟังเพลงออนไลน์เข้ามา หลายอัลบั้มของค่ายได้ถูกนำไปทำเป็นแผ่นเสียงคุณภาพสูง ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าให้กับเพลงและศิลปินกลับมาสู่สิ่งที่จับต้องได้อีก ครั้ง นอกจากนั้นเจ้าของค่ายยังตั้งใจให้ชาวต่างชาติหันมาสนใจเพลงไทยมากขึ้นและ ที่สำคัญคือการพัฒนาเพลงไทยไปพร้อมๆ กับพัฒนาสังคม
“จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ชาวต่างชาติสนใจว่ามีค่ายเพลงไทย แบบนี้ ช่วงหลังเราได้ความสนใจจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เราก็พยายามในจุดนี้อยู่ และจะมีเพลงเพื่อสังคมแทรกอยู่เรื่อยๆ มีทั้งรณรงค์ มีจิกกัดเสียดสีอยู่บ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ล่าสุดอย่างเพลงที่รณรงค์ให้คนรุ่นหลังมาดูแลคนแก่มากขึ้น ซึ่งบางทีก็ไม่น่าจะเป็นเพลงขาย แต่เราก็อยากจะทำขึ้นมาอย่างที่ตั้งใจไว้”
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีบนเส้นทางสายดนตรีของคนดนตรีที่ชื่อว่า บรรณ สุวรรณโณชิน ไม่เคยพบเจอกับอะไรง่ายๆ บทเพลงที่ไพเราะสำหรับคนฟัง ย่อมแลกมาด้วยความยากลำบากของคนสร้างผลงานเสมอ วงการเพลงคือสิ่งที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการเกื้อหนุนกันของทั้งสองฝ่าย ในเมื่อมีคนตั้งใจที่จะทำเพลงดีๆ ให้ฟัง คนฟังก็น่าจะตอบแทนด้วยการอุดหนุนให้พวกเขาได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผล งานดีๆ ต่อไป
“คิดว่าคงยังไม่มีใครหมดกำลังใจ อย่างน้อยก็มีเราคนหนึ่งที่บ้าทำอยู่ จะทำยังไงให้เราอยู่ได้ ก็คงต้องหาวิธีไป ไม่อย่างนั้นไอเดียของเราก็อยู่กับตัวไม่ได้ออกไปสู่โลกกว้าง คงมีคนแบบเราหลายคนที่ยังต่อสู้ในวงการเพลงอยู่”
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย