TK Reading Club ตอน วรรณกรรมแฟนตาซี
เอ่ยถึงวรรณกรรมเเฟนตาซี เชื่อว่าหลายคนคงมี ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เป็นหนังสือในดวงใจที่ทำให้เริ่มต้นอ่านนิยายแฟนตาซี ประกอบกับหนังสือจากต่างประเทศที่นำมาแปลขายในไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น The chronicle of Narnia ,Tom's midnight garden, percy jackson เป็นต้น ก็ทำให้นักอ่านในไทยกลายเป็นคอแฟนตาซีโดยไม่รู้ตัว
แต่สำหรับวงการวรรณกรรมแฟนตาซีของไทย อาจยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างมากนัก จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ของหนังสือ ‘เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา’ ที่ทำยอดขายฮิตติดอันดับขายดีที่สุด จนมีการพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสร้างชื่อเสียงให้กับ คุณปุ้ย – กัลยาณี สุขษาสุณี เจ้าของนามปากกา กัลฐิดา ที่ คว่ำหวอดในวงการแฟนตาซีมากว่า 10 ปี ผลิตผลงานออกมามากมาย เช่น The Draker's Story, Alarmery นครแก้ว, Calendar Castle เเละ M. House จ้างมา . . . ป๋าจัดให้ เป็นต้น
TK Reading Club ประจำเดือนพฤษภาคม 2558 จึงไม่รักช้า ชักชวนเเฟนหนังสือที่หลงใหลในโลกเเฟนตาซีมาล้อมวงพูดคุยกับเจ้าของผลงาน ที่บอกเล่าประสบการณ์การสร้างโลกแฟนตาซีอย่างไม่หวงวิชา โดยคุณปุ้ยเล่าให้ฟังว่า เป็นคนหลงรักการอ่านมาก เมื่อวันหนึ่งพี่ชายชวนเขียนนิยายรัก เธอเลยเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรก แต่พบว่าไม่เป็นตัวของตัวเองนัก จนกระทั่งได้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งพาเธอโลดแล่นเข้าไปในโลกแฟนตาซี แถมยังจุดประกายให้ฮึดสู้เพื่อเป็นนักเขียนแฟนตาซีอีกด้วย
วรรณกรรมแฟนตาซีคืออะไร
“นิยายแฟนตาซีเหมือนหนังสือ ตำราเรียน สารคดี ที่ต้องการให้นักอ่านได้รับสารอะไรบางอย่าง ต่างจากนิยายรัก ที่ต้องถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องความรักออกมา ซึ่งคนเขียนนิยายรักต้องเก่งมากๆ มีประสบการณ์สูง แต่สำหรับนิยายแฟนตาซี ถ้าคุณทำการบ้านมากพอ คุณก็สร้างโลกใบหนึ่งได้ โดยที่โลกใบนี้เป็นของเรา แต่ความยากคือ ต้องคิดว่าจะสร้างอาคารยังไง เสื้อผ้า อุณหภูมิเป็นแบบไหน ที่พูดมานี้กว่าเราจะเข้าใจอย่างจริงจังก็เขียนนิยายไป 10 ปีแล้ว เมื่อก่อนคิดแค่ว่า โลกของเราจะใส่อะไรก็ได้ แต่พอเขียนไปเรื่อยๆ รู้เลยว่าเอาแต่ใจไม่ได้ เขาก็มีโลกของเขา”
นอกจากนี้คุณปุ้ยยังกระซิบว่า เพิ่งเข้าใจตอนหลังว่านิยายกำลังภายในที่ชอบอ่าน ก็ถือเป็นนิยายแฟนตาซีของจีนเหมือนกัน เหมือนของไทยที่มีเพชรพระอุมา รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ทวิภพ (มีความแฟนตาซีตรงกระจกที่ย้อนเวลาได้) เป็นต้น
กว่าจะเป็นวรรณกรรมแฟนตาซี
“นักเขียนทุกคนต้องเป็นคนช่างสังเกต ต้องเข้าใจโลกของตัวเองก่อน เช่น ลักษณะการกินอาหารของคนแต่ละชาติ การวางมือท่าทาง นั่นคือการช่างสังเกตของนักเขียนเพื่อนำมาบรรยาย รวมถึงต้องสังเกตว่า อยากสร้างโลกแบบไหน จะเป็นโลกของเรานี่แหละ แต่มีจินตนาการเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอันนี้ต้องสังเกตโลกความจริง หรืออยากสร้างโลกอลังการก็ต้องมาลงรายละเอียด ภาษา วิถีชีวิต การแต่งกาย อาหาร กฎหมาย แล้วค่อยสังเกตจากความเป็นจริง บวกกับนำมาปรับใช้ให้กลมกลืนกับโลกที่เราจะสร้าง ซึ่งการหารายละเอียดนี้นานมาก เราให้เวลาสร้างโลกกับการวางพล็อตเรื่องนานประมาณเกือบ 2 ปี แต่ในระหว่าง 2 ปีนี้ เราก็เขียนเรื่องอื่นไปด้วย บางทีการสร้างโลกจะเอาเดี๋ยวนี้มันไม่ได้ เหมือนเป็นบุพเพสันนิวาส บางครั้งเราหาแทบตายก็ไม่เจอ แต่อยู่ดีๆ ก็เจอ เช่นเรื่อง Calendar Castle มีพล็อตนานมาก อยากเขียนนิยายเกี่ยวกับปฏิทิน วัน เทศกาล แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออก จนวันหนึ่งไปเที่ยวคฤหาสน์ที่อังกฤษ ทุกอย่างที่คิดไว้มันก็จุดประกายออกมา แต่เพราะเราเตรียมข้อมูลมาก่อน ทุกอย่างเลยเห็นภาพชัด รวมแล้วใช้เวลาทั้งหมดจนภาพต่อเสร็จ 2 ปีครึ่ง”
“นัก เขียนห้ามใจร้อนเด็ดขาดนะ ต้องใจเย็นว่ายังไม่ถึงเวลาของมัน แต่ระหว่างรอต้องเตรียมการให้พร้อม การจัดเก็บข้อมูลต้องสำคัญ บางทีชื่อคิดไม่ออก ก็จดไว้สั้นๆ ว่า อยากได้ชื่อลึกลับหน่อย บ่งบอกถึงความมืด เป็นต้น ที่สำคัญเราไม่เลือกสิ่งที่คิดได้ตั้งแต่แรก แต่รอให้ตกตะกอนก่อน อย่างเรื่อง The Draker's Story วางโครงเรื่อง 2 ปี แล้วเขียนอีก 3 ปี รวมแล้ว 5 ปี ซึ่งการตกผลึกสำคัญมาก เพราะเราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ถ้ายังมีเวลาอยู่เราต้องรอให้ได้ ต้องทำให้ดีที่สุดในทรัพยากรตรงนั้น”
คุณสมบัติของนักเขียนแฟนตาซีที่ดี
คุณปุ้ยสรุปคุณสมบัติของนักเขียนให้ฟังว่า
1. ช่างสังเกต สำคัญมาก เพราะไม่มีครูที่ไหนมาสอนได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ตาของคุณ เช่น ลองมองต้นไม้ต้นนี้สิ ทำไมงอกกลีบไปทางขวา เพราะแสงมาทางนี้หรือเปล่า ทำให้เวลาเขียนฉากอธิบายเรื่องต้นไม้ เราจะได้รู้ว่าแสงมาทางไหน รู้จักองค์ประกอบภาพ
2. ใจเย็น เวลาที่ตื่นเต้นมากที่สุด อยากเห็นฉากนี้มากไม่ควรเขียนนิยาย เพราะทำให้เราอยากไปถึงจุดนั้นเร็วๆ จนพลาดเรื่องราวระหว่างทาง อาจทิ้งของดีจำนวนมาก ดังนั้นต้องใจเย็น พยายามจดรายละเอียดว่าอยากเห็นภาพอะไร แล้วมองว่ากว่าจะไปถึงยังมีอะไรสำคัญอีกบ้าง แต่ถ้าระยะห่างระหว่างจุดที่เราเขียนอยู่ กับจุดที่เรานึกได้ ไม่ไกลกันมาก ก็ต้องรีบเขียน เพราะมันจะอิน แต่ถ้าระยะห่างนั้นยังอีกไกลก็ต้องใจเย็น
3. มีวินัย นักเขียนเป็นงานที่ไม่มีเจ้านาย แต่เจ้านายคือตัวเรา ต้องบริหารจัดการให้ดี โดยปกตินักเขียนคนหนึ่งเขียนนิยายได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง ก็นำเวลามาบริหารให้ดี ถึงเวลากินก็กิน เวลาพักก็พัก ให้ร่างกายสมดุล ที่สำคัญกำหนดไว้ว่าวันนี้จะเขียนกี่หน้า มีกำหนดส่งตอนไหน เป็นต้น
4. ตรงต่อเวลา งานเขียนไม่ใช่วันแมนโชว์ ต้องตรงต่อเวลา เพื่อส่งไปให้บรรณาธิการ ทำอาร์ต ทำงานออกแบบและขั้นตอนต่างๆ อีกมาก ดังนั้นอย่าลืมว่า คุณไม่ได้ทำงานคนเดียว
5. ไม่มีอีโก้ ใช้แต่ละอารมณ์ไม่ได้ ต้องใช้ความจริงด้วย เช่น คุณปุ้ยบอกกับทีมงานเสมอว่า ถ้าตัวเองมีจุดบกพร่องตรงไหนให้บอกได้เลย เพราะอยากเห็นสิ่งที่ดีที่สุดในงาน พอทีมบอกครั้งแรก แล้วเธอไม่โกรธ ทีมก็จะกล้าบอกต่อไป ซึ่งทุกครั้งมันไม่ใช่แค่ความคิดของใคร แต่เป็นความคิดของทีม ทำให้เธอเก่งขึ้น แต่ไม่ได้เก่งคนเดียว พวกเราเก่งกันทั้งทีม
ถ้าอยากเป็นนักเขียน ‘จงลงมือ’
สุดท้ายคุณปุ้ยสรุปให้ฟังว่า สำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นนักเขียน ให้เริ่มเขียนได้แล้ว
“ถ้าคนที่ฝันอยากเป็นนักเขียน คุณต้องเขียนแล้ว ไม่ต้องสนใจว่าจะได้เงินไหม มีใครอ่านไหม บอกแล้วว่าคนอ่านคนแรกคือตัวเรา ไม่มีใครอ่านก็ยังมีเราอ่าน แต่สักวันหนึ่ง ที่เราขวนขวายพัฒนาตัวเอง งานของเราจะเข้าตากรรมการ จนเขาเลือกไปตีพิมพ์เอง แล้วอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ ระหว่างที่อ่านให้หาสิ่งที่แปลกใหม่ แล้วเขียนเพื่อฝึกทักษะการเขียน ถ้าเราอยากให้คนอื่นเห็นเรา เราต้องไม่เหมือนคนอื่น ถ้าเราสร้างเรื่องที่นักอ่านตั้งคำถามกับเราได้ และเขียนฉีกแนวออกมาได้ แม้เรื่องจะไม่ติด 1 ใน 10 แต่บรรณาธิการก็จะหานิยายที่โดดเด่นของเรามาตีพิมพ์ได้เอง”
กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในทุกๆ วัน คุณปุ้ยยังคงตั้งใจเขียนหนังสือ และพัฒนางานตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีประโยคปิดท้ายที่กินใจสมาชิกทุกคนว่า “ทุกวันนี้ก็ยังสู้อยู่ หนังสือออกมาบนแผงแล้วเหนื่อยกว่า หนังสือจะขายดีไหม คนจะชอบหรือเปล่า แล้วยังสู้กับนักเขียนทั้งประเทศ ทำยังไงให้นักอ่านเห็นเรา วันใดที่เราหยุดสู้ คือวันที่เราไม่ได้เป็นนักเขียนแล้ว”