อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดนิทรรศการไขความลับแห่งท้องทะเล ชวนน้องๆ เรียนรู้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ทะเลผ่านหลักการทางวิทยาศาสตร์ ร่วมทั้งเปิดโอกาสให้น้องเยาวชนสัมผัสโลกใต้ท้องทะเลผ่านระบบนิเวศจำลอง พร้อมด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนรู้
มีนักวิทยาศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า
“เรารู้เรื่องของอวกาศหรือสิ่งที่อยู่นอกโลก มากกว่าส่วนที่อยู่ใต้ผืนน้ำหรือใต้ท้องทะเล” แม้ว่าโลกใต้ท้องทะเลลึกลับและน่าค้นหาอย่างยิ่ง ท้องทะเลถือเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในท้องทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวก
“แบคทีเรีย” จากนั้นจึงเริ่มมีวิวัฒนาการเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหาร และพัฒนาเป็นพืชและสัตว์ที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน จากวิวัฒนาการมานับพันล้านปี ท้องทะเลจึงเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมายที่น่าสนใจ จนเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ในท้องทะเล ความลับแห่งท้องทะเลจึงน่าเรียนรู้และค้นหาคำตอบถึงสิ่งมีชีวิตในโลกที่เรียกว่า “ทะเล”
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พาทุกคนดำดิ่งเพื่อค้นหาสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในท้องทะเลกับนิทรรศการ “ไขความลับแห่งท้องทะเล Expose a secret of the ocean” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 25 และ วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2555 ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เรียกความสนใจจากน้องๆ เยาวชนได้เป็นอย่างดี กับฐานกิจกรรมที่สนุกสนานและแฝงสาระความรู้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้น้องได้ลงมือปฏิบัติและสัมผัสกับตัวจริงของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ท้องทะเล
แม้ตัวเล็ก...แต่ยิ่งใหญ่ในทะเล ฐานกิจกรรมที่พาน้องๆ เยาวชนไปรู้จักกับ “แพลงก์ตอน” สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่บางชนิดเกือบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ที่ถือเป็นผู้ผลิตเบื้องต้นของระบบนิเวศในท้องทะเล เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่ร่วมอาศัยอยู่ในท้องทะเลอันกว้างใหญ่
ผศ.ดร.สมถวิล จริตควร อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายว่า “แพลงก์ตอน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำในท้องทะเล เคลื่อนที่ไม่ได้หรือสามารถเคลื่อนที่ได้เพียงเล็กน้อยและมีขนาดเล็ก โดยแพลงก์ตอนพืช ถือเป็นผู้ผลิตอาหารขั้นต้นของระบบห่วงโซ่อาหารทางทะเล ถ้าไม่มีแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ที่กินแพลงก์ตอนพืชก็จะไม่มีอาหารกิน กระทบถึงสัตว์ทะเลที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และกระทบต่อมาเป็นทอดๆ เพราะฉะนั้นหากไม่มีผู้ผลิตอาหารขั้นแรก ก็จะส่งผลเสียไปทั้งระบบ และยังส่งผลกระทบมาถึงคนด้วย ดังนั้นเราจึงต้องสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในทะเลเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทั้งน้ำเสียจากบ้านเรือน ชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ทำให้สิ่งมีชีวิตลดน้อยลง”
สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลต่างทำหน้าที่เกื้อกูลซึ่งกันละกัน ในฐานกิจกรรม สืบ เสาะ เลาะ หา สิ่งมีชีวิตในท้องทะเล จึงนำบ่อจำลองระบบนิเวศทางทะเล มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลหลากหลายได้สัมผัสทั้ง ปลาฉลาม ดาวทะเล ปลาผีเสื้อ หนอนทะเล ปะการัง และสัตว์ทะเลอีกหลายชนิด แสดงให้ถึงความสัมพันธ์ของสัตว์น้อยใหญ่ที่อยู่ร่วมกันในท้องทะเล
นอกจากบ่อจำลองระบบนิเวศแล้ว ยังมีสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่ใช้สำหรับการศึกษามาแสดง โดยเฉพาะปะการัง สัตว์ทะเลสวยงามที่มีหน้าตาคล้ายพืช จนหลายคนเข้าใจผิด เก็บขึ้นมาจากทะเลทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย ทั้งยังเสียหายจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.วิภูษิต มัณฑะจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า สถานการณ์ปะการังตอนนี้ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาว โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นถี่มาก ทำให้ปะการังในหลายพื้นที่ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มีสภาพที่แย่ลง แม้ตอนนี้จะค่อยฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าสภาพของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงไปอีกมาน้อยแค่ไหน
“สภาพของธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงก็ทำลายสิ่งมีชีวิตทางทะเลมากแล้ว ก็อยากฝากเอาไว้สำหรับน้องเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อเราไปท่องเที่ยวก็อยากให้เราบันทึกสิ่งที่เราพบเห็นและประทับใจ เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากเก็บ เก็บใส่ไว้ในความทรงจำ แต่ถ้าทุกคนอยากเก็บสิ่งที่พบเห็นกลับบ้านไปด้วยทุกคน ก็จะทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงเร็วขึ้น”
ด้าน น้องไนซ์ สุฑาทิพย์ มั่นศิลป์ นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กล่าวว่า การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะได้สัมผัสกับตัวจริงของสัตว์ทะเลที่นำมาให้ชมกันแล้ว ยังได้รับความรู้เพิ่มขึ้นด้วย อย่างเช่น เรื่องของปะการังฟอกขาว ซึ่งก็เคยได้ยินแต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่หลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรมก็ได้รู้ว่าการที่ปะการังฟอกขาวเกิดการจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ดังนั้นเราก็ควรหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติกันให้มากขึ้น เพราะว่าปะการังเป็นที่อยู่ของปลาและสัตว์ทะเลหลายชนิด
ขณะที่ คุณสุรีรัตน์ บุญฤทธิ์ ซึ่งพา น้องกูเกิล ลูกชาย มาร่วมกิจกรรม บอกว่า โดยปกติจะมาที่ TK park ประมาณเดือนละครั้งหรือ 2 ครั้ง เพราะนอกจากห้องสมุดแล้ว ก็จะมีกิจกรรมให้เด็กได้ร่วมทำตลอด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์ทั้งต่อเด็กและผู้ใหญ่ด้วย และครั้งนี้เป็นนิทรรศการที่เกี่ยวกับทะเล ซึ่งน้องกูเกิลสนใจนิทรรศการครั้งนี้มาก โดยเฉพาะแบบจำลองระบบนิเวศ เพราะว่าเขาเป็นคนที่ชอบดูปลาอยู่แล้ว นิทรรศการนี้ก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ใต้ทะเลมากขึ้น
“ทะเล” ถือเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก เพราะเป็นทั้งเส้นทางคมนาคม แหล่งท่องเที่ยว และที่สำคัญคือเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ของมนุษย์โลก แม้สภาพอากาศปัจจุบันทำให้ท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์ยิ่งกลับเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านั้น เพียงแค่เราไม่ทำลายสภาพแวดล้อมทุกๆ อย่างที่อยู่รอบตัวเรา เท่ากับเราได้รักษา “ท้องทะเล” ของเราด้วยเช่นกัน