ในวันนี้ (20 เมษายน 2555) ได้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีใน “โครงการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ” (เรียนรู้...สนุกเล่น...หยั่งลึกสัมผัสไทย) เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนการเรียนรู้ และกระจายองค์ความรู้ต่างๆ ของไทย ปลูกฝังในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้กว้างขวางครอบคลุมในทุกภาคส่วนของประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ทัดเทียมกับนานาประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. กล่าวว่า สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นองค์กรที่มีพันธกิจหลักในการสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ การสร้างทัศนคติและปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การคิด และการแสวงหาความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่หน่วยงานที่มีบทบาทด้านการศึกษาและการเรียนรู้ทั้ง 4 หน่วยงาน จะได้ร่วมมือกันในการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีคุณค่า และจะเป็นการริเริ่มและสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ อีกหลายโครงการ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนไทย รวมถึงช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงความรู้ของเด็กไทยทั้งในพื้นที่ใกล้หรือห่างไกลได้อย่างเท่าเทียมกัน
“ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนิน “โครงการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ” (เรียนรู้...สนุกเล่น...หยั่งลึกสัมผัสไทย) โดยการส่งมอบสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ของ สอร.ทุกชุด พร้อมจัดอบรมการใช้สื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้แก่บุคลากรของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนนำร่อง ปีละ 200 แห่ง และจะเริ่มจัดอบรมครั้งแรกประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีโรงเรียนและศูนย์ไอซีทีชุมชนที่ได้รับมอบสื่อการเรียนรู้จำนวน 202 แห่ง พร้อมรับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อส่งเสริมการเรียนรู้ รวม 212 คน ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าจะมีเด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 100,000 คน นอกจากนี้ เนื้อหาสาระที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงาน จะสามารถนำเสนอและเผยแพร่ผ่านอุปกรณ์ไอทีทุกประเภทที่เป็นช่องทางเพื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์พีซี โน๊ตบุ๊ค แท๊ปแล็ต และสมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงองค์ความรู้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชนและประชาชนคนรุ่นใหม่”
นางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ เผยแพร่ และสืบทอดศิลปะวิทยาการ มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ เอกสาร หนังสือและศิลปกรรมต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายด้านมรดกศิลปวัฒนธรรม เป็น 1 ใน 3 กลุ่มเครือข่ายของกรมศิลปากร ได้มีการจัดทำข้อมูล องค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็น เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของภาคีทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันขยายโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ที่มีสาระความเป็นไทย ตลอดจนสร้างจิตสำนึกค่านิยมความเป็นไทย
ด้านนายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า โครงการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะนี้ จะเป็นแนวทางหนึ่งของการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อครูและนักเรียนในสังกัด สพฐ. อีกทั้งช่วยเสริมให้มีช่องทางการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการเรียนการสอนของครูและนักเรียนไทยประสบความสำเร็จได้ ถือเป็นโครงการสร้างสรรค์และพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทย
“เนื่องจาก สพฐ.เห็นว่า โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อการเรียนรู้ประเภท Audio และ e-Book ที่มีสาระหรือองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อการศึกษาหาความรู้ จึงเห็นว่าสื่อต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามโครงการนี้ จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การสร้างเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการสร้างเสริมความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมได้เป็นอย่างดี โดยจะมีการนำสื่อดังกล่าวไปเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ของ สพฐ.เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานในลักษณะอินทราเน็ต หรือบรรจุเป็นชุดดีวีดี เพื่อการเรียนรู้เป็นรายบุคคลแบบออฟไลน์ต่อไป”
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวในตอนท้ายว่า ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้กับประชาชนโดยเท่าเทียม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ได้มีการดำเนินการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในที่สาธารณะฟรี (Free Public WiFi) จำนวน 20,000 จุดทั่วประเทศ และตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน ล่าสุดแล้วเสร็จไปกว่า 1,880 ศูนย์ ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายจัดตั้งครบทุกตำบล เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา และเสริมศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรบุคลากรของประเทศ
“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยลดการเหลื่อมล้ำการเข้าถึงองค์ความรู้ระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานสังคมไทยให้ไปสู่สังคมแห่งฐานความรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นในสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น กระทรวงไอซีที พร้อมทั้งผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนทั่วประเทศยินดีให้ความร่วมมือในโครงการนี้อย่างเต็มที่ และหวังอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือและประสานงานด้านอื่นๆ ในโอกาสต่อไป”