อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงเปิดค่าย TK Young Writer 2012 ให้เยาวชนอายุระหว่าง 16-23 ปี เข้าร่วมอบรม เพื่อฝึกฝน พัฒนาตัวเอง ก่อนลงสู่สังเวียนของอาชีพนักเขียน ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม - 16 กันยายน 2555 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8
ในวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2555 เป็นวันเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่น้องๆ ก่อนจะลงไปซ้อมใหญ่ ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวการทำงานของกองบรรณาธิการนิตยสาร เนื้อหาต่างๆ ของนิตยสาร การบริหารจัดการ การพิสูจน์อักษร การสัมภาษณ์ รวมถึงการเขียนงานวรรณกรรม
ในช่วงเช้า คุณเปิ้ล -เบญจวรรณ แก้วสว่าง ฝ่ายพิสูจน์อักษร จากนิตยสาร happening และ a day ได้พูดคุยในหัวข้อ “เขียนอย่างไรไม่ให้ผิด” โดยการเขียนให้ถูกต้อง มีหัวใจสำคัญอยู่ถึง 9 ข้อ ได้แก่
1. ให้คิดสงสัยว่าคำที่เราเขียน ถูกหรือไม่ เช่น เมื่อเขียนแล้วควรพิจารณาคำที่ใช้เขียนอยู่ตลอดเวลา เช่น คำว่า “น่ารัก” ไม่ใช่ “หน้ารัก” หรือคำว่า “กฎหมาย” ต้องใช้ตัว ฎ.ชฏา ไม่ใช่ ฎ.ปฎัก
2. ความถูกต้องของข้อมูลเฉพาะ กรณีมีชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ หรือมีคำศัพท์เฉพาะ ต้องมีการตรวจทาน
3. อย่ามองข้ามคำง่ายๆ โดยเฉพาะคำพ้องเสียง มักจะเขียนผิดเสมอ อย่างคำว่า “สูญเสีย” มักจะเขียนผิดเป็น “ศูนย์เสีย” หรือการใช้คำที่คนทั่วไปใช้จนชิน เช่นคำว่า “เท่” ที่ชอบใช้ผิดเป็นคำว่า “เท่ห์”
4. ให้ความสำคัญของการเว้นวรรค เพราะการเว้นวรรคเป็นเน้นอารมณ์ ให้อารมณ์ในการอ่านที่แตกต่างกัน ซึ่งตามปกติจะใช้การเคาะเว้นวรรคเพียงครั้งเดียว
5. ตัดคำที่ไม่จำเป็น คำซ้ำ คำฟุ่มเฟือย เวลาเขียน นักเขียนส่วนใหญ่จะชอบใช้คำฟุ่มเฟื่อยหรือใช้ซ้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะ คำเชื่อม เช่น มัน ที่ ซึ่ง อัน
6. ตรวจสอบคำที่ถูกต้องจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน การเลือกใช้ภาษาจะต้องมีหลักยึดเพื่อการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา การตรวจสอบคำจากพจนานุกรมจะน่าเชื่อถือที่สุด ในบางกรณีอาจจะต้องใช้พจนานุกรมฉบับอื่นในการพิจารณาประกอบกันด้วย โดยเฉพาะงานเขียนที่ต้องใช้คำราชาศัพท์
7. เป็นคนอ่านเยอะ ช่างสังเกต นอกเหนือจากหนังสือที่ตัวเองสนใจแล้ว จะต้องให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัว ข่าวสังคมหรือหนังสือที่ไม่ค่อยได้อ่านด้วย เพื่อเพิ่มพูนให้ตัวเองมีความรู้ที่กว้างขวาง อย่างการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ที่มีคำศัพท์ยากๆ ก็เป็นการฝึกให้สะสมศัพท์
8. อ่านทวนซ้ำ เป็นการฝึกแก้ไขผลงานด้วยตัวเอง กรณีไปสัมภาษณ์บุคคล จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลและจะต้องมีเวลาเพื่อตริตรอง ว่าบทสัมภาษณ์นั้นจะมีผลกระทบต่อผู้อื่นหรือไม่
9. ในหนังสือหนึ่งเล่ม ควรมีหลักในการใช้คำเดียวกัน ถ้าเป็นการเขียนคำทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศ ตลอดทั้งบทความหรือตลอดทั้งเล่ม ควรจะใช้คำเหมือนกัน เช่น ถ้าจะใช้คำว่า “ดนตรีร็อค” ก็ควรจะเขียนคำว่า “ร็อค” ไปตลอดทั้งบทความ ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นคำว่า “ร็อก” ในบางตอน
นอกจากนี้ วิธีการใช้ไม้ยมกควรใช้ “ชิดหน้า-เคาะหลัง” คือให้พิมพ์ไม้ยมกติดกับอักษรตัวหน้า แล้วจึงเคาะเว้นวรรค รวมถึงการพิมพ์แบ่งวรรคตอน ควรเคาะหนึ่งครั้ง ส่วนข้อปัญหาว่าเมื่อไรควรจะเคาะเว้นวรรคนั้นให้ใช้ความรู้สึกตอนอ่านทบทวน เพราะการเว้นวรรคเปรียบเหมือนคนคุยกันที่ต้องมีการหยุดพักหายใจบ้าง
ฝ่ายพิสูจน์อักษรสาวได้เน้นย้ำว่า การจะเป็นนักเขียนที่ดี ควรจะมีการทำงานที่มีมาตรฐาน แม้จะเป็นคนเขียนเก่ง ฉลาด มีทักษะดี หรือมีผลงานดีเยี่ยมขนาดไหน ถ้าเขียนผิดก็ทำให้ผลงานนั้นไม่น่าสนใจ และการเขียนไม่ถูกต้องจะกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวนักเขียนไปตลอด
สำหรับช่วงพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานนิตยสาร เปิ้ลยังมาตอบข้อสงสัยให้กับผู้เข้าร่วมอบรมด้วย นอกจากนี้ยังมี คุณเอก-เอกพันธ์ ครุมนตรี ฝ่าย Art Director นิตยสาร happening และ คุณแป้ง-ณัฐจรัส เองมหัสสกุล บรรณาธิการนิตยสาร Computer Arts ร่วมพูดคุยโดยมี คุณวิภว์-วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการ นิตยสาร happening ดำเนินรายการ
สำหรับงานของคุณเอกนั้น เป็นฝ่ายที่มีหน้าที่ออกแบบรูปเล่ม ดูความสวยงามของหนังสือ ทั้งการวางตัวอักษร และการวางภาพในแต่ละหน้าของนิตยสาร นอกจากจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือมีความขยันและพยายามแล้ว สิ่งที่สำคัญในการทำงาน เอกสรุปได้ว่า คือการตรงต่อเวลา เรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงตำแหน่งของเขาเท่านั้น แต่รวมถึงทุกกระบวนการในการทำหนังสือ เพราะถ้าเกิดมีใครในทีมทำงานล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อตารางการออกหนังสือ กระทบต่อภาพรวมทั้งหมดของงาน
ส่วนความคิดเห็นในฐานะบรรณาธิการ คุณแป้งต้องการให้นักเขียนมีแรงบันดาลใจ และมีไฟในการทำงานอยู่ตลอด เพราะการทำงานหนังสือจะมีวงจรชีวิตที่อยู่ในรูปแบบเดิมๆ ในแต่ละเดือน ดังนั้นสิ่งที่นักเขียนและคนทำหนังสือควรมีคือการมีใจที่พร้อมจะเริ่มต้นใหม่อยู่ตลอดเวลา มีเรื่องที่อยากเล่าอยู่เสมอ มีแรงบันดาลใจใหม่ๆ มีความถูกต้อง และต้องรู้จักพักผ่อนให้เป็นเวลา
ช่วงเขียนอย่างไรไม่ให้ผิด และรับฟังประสบการณ์จากพี่ๆ
ในช่วงบ่าย คุณวิภว์-วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร happening บรรยายหัวข้อ “นิตย+สาร” เพื่อเรียนรู้กระบวนการการทำนิตยสาร คุณวิภว์แนะว่า สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อคิดจะเริ่มทำนิตยสารนั้น ต้องพิจารณาปัจจัย 4 ประการ คือ 1. สิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร คือเนื้อหาสาระที่สนใจและอยากนำเสนอ, 2. กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มผู้อ่าน วัย เพศ, 3. เงินทุนกับแผนธุรกิจ และ 4. ทีมงาน
ในการทำนิตยสารสักเล่ม คุณวิภว์สรุปว่าควรจะมี 3 ฝ่ายหลัก ที่เป็นกำลังสำคัญ คือ
1. ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในทางกฎหมาย บรรณาธิการอำนวยการ และบรรณาธิการบริหาร ซึ่งสองตำแหน่งนี้ จะมีหน้าที่คล้ายกันและอาจจะเป็นคนๆ เดียวกันก็ได้
2. ฝ่ายโปรดักชั่น จะมีทีมงานที่เป็นผู้จัดทำเนื้อหา ภาพถ่าย และจัดวางรูปเล่ม มีทั้งหัวหน้ากองบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ ช่างภาพ Art Director สไตล์ลิสต์ พิสูจน์อักษร และคอลัมนิสต์
3. ฝ่ายโฆษณาและการตลาด รวมถึงประชาสัมพันธ์
นอกจากนี้ยังมีฝ่ายอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนให้การทำงานแต่ละภาคส่วนเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ เช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายบัญชี ฝ่ายสมาชิก ฝ่ายบุคคล ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
ในนิตยสารเล่มหนึ่ง จึงอาจแบ่งทีมงานได้เป็น สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ คนเขียนหนังสือ และคนทำหนังสือ ซึ่งต้องมีการพูดคุยประสานงานทั้งการตลาดและกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการเขียนหนังสือ ในส่วนคอลัมน์ต่างๆ ที่ถือเป็นโครงสร้างสำคัญของหนังสือนั้น มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งข่าวสาร บทสัมภาษณ์ การ์ตูน ภาพประกอบ บทวิจารณ์-แนะนำ บรรณาธิการหนุ่ม ยังสาธิตขั้นตอนการทำงานนิตยสาร ด้วยการให้น้องๆ ขึ้นมาสวมบทบาท เป็นฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพการทำงานได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
เรื่องสุดท้ายที่เขาฝากเอาไว้ คือ ความสุขและความทุกข์ของคนทำนิตยสาร คุณวิภว์มองว่า การทำนิตยสารได้ให้ความสุขและความทุกข์ไปพร้อมๆ กัน ขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของผู้ทำงาน อย่างวิถีชีวิตของคนเขียนหนังสือ บางคนอาจจะดีใจที่ได้ทำงานในสิ่งที่รัก เช่น การดูหนังเพื่อเขียนบทวิจารณ์ อาจจะมีความสุขที่ได้ดูหนังบ่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะรู้สึกเบื่อที่ต้องมาดูหนังที่ไม่อยากดู เพราะกลายเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ หรือความเป็นอิสระของนักเขียน แม้จะมีอิสระมากแค่ไหน ไม่ต้องทำงานเป็นเวลา แต่ก็ต้องถูกกำหนดด้วยความมีวินัยของตัวเอง หรือรายได้ที่อาจจะไม่แน่นอน อาจจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฝีมือและความสม่ำเสมอ
คุณวิภว์ บูรพาเดชะ แนะนำขั้นตอนการทำงานของนิตยสาร
ถัดมาเป็นช่วง “การเขียนบทสัมภาษณ์” โดยมี คุณต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล คอลัมนิสต์อิสระ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการสัมภาษณ์ โดยจะต้องมีการเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนสัมภาษณ์ ควรมีการเตรียมตัว จดคำถามเป็นข้อๆ วางลำดับความสำคัญของคำถาม อาจจะแบ่งคำถามเป็นประเภทที่ต้องถามอย่างแน่นอน หรือคำถามสำรอง และต้องเตรียมเครื่องบันทึกเสียงให้พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ กรณีอุปกรณ์มีปัญหา บันทึกเสียงไม่ได้ สิ่งที่ควรจะทำ คือต้องรีบจดบันทึกสิ่งที่ยังจดจำได้ ให้เสร็จในทันที
ส่วนในช่วงสัมภาษณ์ อย่าเป็นเครื่องจักรที่ไปนั่งอ่านคำถาม ควรถามในสิ่งที่เราไม่รู้ อย่าถามในประเด็นเดิมๆ ควรทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์พูดในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยถามมาก่อน โดยผู้สัมภาษณ์จะต้องเป็นนักฟังที่ดีด้วย คอยฟังคำตอบ และพยายามถามกลับไป บางครั้งอาจจะต้องแกล้งทำเป็นไม่เห็นด้วย เถียงบ้าง เพื่อให้เกิดประเด็นใหม่ๆ เปิดเผยเบื้องหลังความคิดที่ซ่อนอยู่ และควรระมัดระวังคำถามละเอียดอ่อน ที่ไปเปิดเผยเรื่องส่วนตัวหรือความรู้สึกที่ไม่จำเป็น
“การสัมภาษณ์ คือการไปนั่งอยู่ในอุณหภูมิเดียวกัน ไปอยู่ในสิ่งรอบๆ ตัวเหมือนกัน ไปดึงเอาความคิดของเขาออกมา โดยไม่จำเป็นต้องไปนั่งถามคำถามว่าคุณคิดยังไง”
ส่วนขั้นตอนหลังจากการสัมภาษณ์เสร็จแล้ว คือการทำบทสัมภาษณ์ ควรถอดเทปด้วยตัวเอง
ในการเขียน ควรจะตั้งชื่อบทสัมภาษณ์ที่ดี เขียนเปิดประเด็นให้น่าสนใจ และไม่ควรเขียนโดยใส่ตัวตนของผู้เขียนมากเกินไป เพราะบทสัมภาษณ์คือการนำสารของคนถูกสัมภาษณ์มานำเสนอ ในขั้นตอนนี้ต้องผ่านการเรียบเรียง ตัดทอนพวกคำพูดที่ไม่จำเป็นหรือคำที่พูดซ้ำๆ เช่นคำว่า “เอ่อ” “อ่า” “ยังไง” “แล้วแต่” รวมถึงการเลือกใช้สรรพนามให้เหมาะสม ถ่ายทอดบรรยากาศออกมาให้ได้ พยายามใช้ภาษาเขียน เช่นคำว่า “เขา” แทนคำว่า “เค้า” หรือคำว่า “อย่างไร” แทนคำว่า “ยังไง” บางเรื่องอาจจะต้องทำล้อมกรอบเพื่ออธิบายคำศัพท์หรือข้อมูลปลีกย่อยต่างหาก ผู้สัมภาษณ์ต้องมีความเป็นกลาง หลีกเลี่ยงการตัดสินถูกผิด และควรจะมีการตรวจสอบความถูกต้องอยู่เสมอ
นอกจากนี้ คุณต๊ะได้สรุปคุณสมบัติของนักสัมภาษณ์ที่ดีเอาไว้ว่า ควรจะเป็นคนช่างสังเกต เป็นนักฟัง นักถามที่มีมารยาท รู้จักกาลเทศะ ไม่อายที่จะเป็นผู้ไม่รู้ และมีทักษะการเขียน
คุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล เล่าประสบการณ์การสัมภาษณ์
การบรรยายสุดท้ายสำหรับวันนี้เรื่อง “วรรณกรรม ทำอย่างไร” โดย คุณคุ่น-ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2545 “ถ้าการสัมภาษณ์ เปรียบเป็นเหมือนร่างกายของนิตยสาร งานวรรณกรรมหรือเรื่องแต่งน่าจะเป็นตด”
เขาพูดเปิดเรื่อง เรียกเสียงหัวเราะจากผู้เข้าอบรม ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า นักเขียนดังๆ ในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะโตมาจากการเขียนเรื่องแต่งในนิตยสาร แต่ปัจจุบันกลับไม่ค่อยได้เห็นมากนัก งานวรรณกรรมกลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญสำหรับนิตยสารในยุคนี้
ประเด็นแรกที่เสนอในวันนี้คือ “เรื่องแต่ง คือการโกหกเพื่อสื่อความจริง” เพราะเรื่องแต่งมีที่มาจากความเป็นจริง อาจจะมีการหยิบยืมความจริงบางส่วน เช่นพื้นเพของตัวละคร ได้มาจากส่วนผสมของคนหลายๆ คน ซึ่งแตกต่างกับสารคดี ที่ต้องยึดความจริงไว้ทั้งหมด การแต่งเรื่องจึงมีเพื่อสื่อความเป็นไปในโลกที่มีอยู่จริง และมีสัญลักษณ์ที่ต้องการจะสื่อ เช่น การจะบอกถึงความโหดร้ายของสงคราม อาจจะไม่ต้องพูดถึงประวัติความเป็นมาของสงคราม หรือวันเวลาที่เกิดสงคราม แต่จะเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร ผ่านเด็กคนหนึ่ง ที่ไม่สามารถจะออกไปไหนได้ พบเจอผู้คน หรือเห็นเหตุการณ์ในสงคราม และรู้สึกอย่างไร
คุณปราบดายังเสริมอีกว่า คำถามที่มักจะได้ยินจากนักเขียนมือใหม่อยู่บ่อยๆ คือ “ไม่รู้จะเขียนอะไร” และ “ไม่มีอะไรจะเขียน” ซึ่งคำถามทั้งสองข้อมีความแตกต่างกัน คือคำถามแรก เป็นเรื่องปกติในการเริ่มต้นเขียนงาน คำถามนี้ถือเป็นการจุดประกายให้การเขียนเกิดขึ้น เพราะในช่วงแรก คนเขียนจะยังไม่รู้ว่าตัวเองคิดฝันอะไรอยู่ คำถามนี้จะค่อยๆ ถูกคลี่คลายกลายเป็นพล็อตหรือโครงเรื่องได้ในเวลาต่อมา แต่คำถามอันที่สองนั้น ถ้าเกิดคำถามนี้ขึ้น เขาแนะนำว่าไม่ควรเป็นนักเขียนต่อไปแล้ว เพราะในชีวิตจริง ของทุกอย่าง หรือเรื่องราวรอบๆ ตัวสามารถนำมาเขียนได้หมด ถ้าผ่านการคิด และวิเคราะห์
การเริ่มต้นเขียน จึงอาจจะเริ่มจากการมองผนังห้อง เปรียบเหมือนการมองบนกระดาษเปล่า เพื่อไม่ให้เป็นการตีกรอบตัวเองมากจนเกินไป ส่วนประเภทการเขียนนั้น นักเขียนหนุ่มสรุปว่า คนเราสามารถเขียนได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. เขียนสิ่งที่รู้, 2. เขียนสิ่งที่อยากรู้ เป็นการเริ่มต้นงานเขียนจากสิ่งที่ตัวเองไม่รู้มาก่อน ทำให้ผู้เขียนมีความกระตือรือล้นในการค้นหา และ 3. เขียนสิ่งที่อยากให้คนอื่นรู้ อาจจะเริ่มต้นอยากเผยแพร่ประสบการณ์หรือสิ่งที่อยากบอกเล่าแก่คนอื่นๆ ที่กำลังใช้ชีวิตคล้ายๆ กัน
ส่วนการคิดโครงเรื่องนั้น ควรเริ่มต้นจาการสร้าง “ตัวละคร” ก่อนเรื่องหรือเนื้อหา การสร้างตัวละครที่มีความสมบูรณ์ มีมิติ มีบุคลิก นิสัย อารมณ์ที่ชัดเจน จะสามารถนำไปสู่เรื่องราวได้เอง โดยจะต้องกำหนดให้ตัวละครมีความต้องการหรือความปรารถนาบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องราวได้อยู่ตลอดและทำให้ตัวละครมีชีวิต
ขั้นตอนสุดท้ายของการเขียน คือจะต้องมีการหวนกลับมาอ่านใหม่ เพื่อเป็นการทบทวน พิจารณาข้อบกพร่องและแก้ไขผลงาน นักเขียนหนุ่มยังได้เสนอสูตรของการเขียนเอาไว้คือ “10=6=20” หมายถึงว่า ถ้าเขียนได้ 10 หน้า ต้องมีการตรวจทานแก้ไขส่วนที่เกิดหรือไม่จำเป็นให้เหลือแค่ 6 หน้า และงานที่ผ่านการตรวจแก้ไขนี้จะทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนอ่านเรื่องราวที่มีเนื้อหาถึง 20 หน้า
บรรยากาศการพูดคุยเรื่องวรรณกรรมกับคุณปราบดา
น้องต้า-อมร จินดาทองดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม ได้บอกเล่าความประทับใจสำหรับกิจกรรมวันนี้ว่า การได้มาเจอกับรุ่นพี่ และเพื่อนๆ ที่สนใจในการเขียนและมีฝีมือทำให้ได้เปิดมุมมองความคิดใหม่ๆ และตื่นเต้นที่ได้เจอนักเขียนมืออาชีพมาร่วมถ่ายทอดความรู้ ทำให้อยากลองเขียนงานวรรณกรรมเพื่อนำเสนอบ้าง
น้องต้า-อมร จินดาทองดี เยาวชนผู้เข้าร่วมซ้อมใหญ่ครั้งนี้
ด้าน น้องวีร์-ปุณยวีร์ ธนสมบัติกุล นิสิตสาวอารมณ์ดี คณะนิติศาสตร์จากรั้วจามจุรี ร่วมบอกเล่าว่า เธอเคยลองเขียนบทความมาบ้าง และการอบรมวันนี้ทำให้ได้เห็นข้อบกพร่องในตัวเองที่ต้องฝึกอีกมาก ทั้งการพิสูจน์อักษร กลวิธีการเขียน และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือขยันทำการบ้าน หาแรงบันดาลใจ หาเรื่องที่น่าสนใจเพื่อเขียนคอลัมน์ อยากให้คนอ่านเปิดมาแล้วต้องหยุดอ่าน
น้องวีร์-ปุณยวีร์ ธนสมบัติกุล เยาวชนผู้เข้าร่วมซ้อมใหญ่ครั้งนี้
ก่อนจะแยกย้ายจากกันในวันนี้ น้องๆ ทั้ง 30 คน ต้องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อจัดทำหนังสือหรือนิตยสาร โดยมีพี่ๆ วิทยากร ได้แก่ คุณณัฐจรัส เองมหัสสกุล, คุณปราบดา หยุ่น และ คุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษากันอย่างใกล้ชิดตลอดโครงการ โดยผลงานที่น้องๆ ร่วมกันทำ จะได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของอุทยานการเรียนรู้ TK park ในโอกาสต่อไป
พลตรัย