นิทรรศการปลากัด นักสู้แห่งสยาม (Siamese Fighting Fish) โดยอุทยานการเรียนรู้ TK park
“ปลากัดไทย (Siamese Fighting Fish)” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta spledens เป็นปลาน้ำจืดสายพันธุ์พื้นเมืองที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง แอ่งน้ำ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำบริเวณน้ำตื้น มักพบในจุดน้ำที่ค่อนข้างใส และน้ำนิ่ง หรือแหล่งน้ำที่มีต้นไม้น้ำขึ้น เช่น กก หญ้าปล้อง ธูปฤาษี เป็นต้น
ถ้าจะสืบค้นกลับไปในอดีต นอกเหนือจากการเลี้ยงไว้ดูเล่น ปลากัดยังเป็นปลาที่เด็กผู้ชายไทยนิยมแสวงหาเพื่อนำมาประกวดประขันกันมาแต่โบราณ ถูกเลี้ยงไว้เป็นเกมกีฬา และการประชันหลังฤดูการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื่องจากเป็นปลาที่มีนิสัยนักสู้โดยธรรมชาตินั่นเอง จนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตโดยเฉพาะในสังคมชนบท แต่มุมหนึ่งของการนำมากัดกันก็ทำให้ชาวบ้านได้ปลากัดที่แข็งแรงเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ปัจจุบันปลากัดถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้สวยงามยิ่งขึ้น ทำให้กระแสการเลี้ยงปลากัดเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เน้นความสวยงามหาใช่การกัดเพื่อพนันขันต่อเช่นอดีต ปลากัดจึงเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงสวยงามและนักกีฬาตัวโปรดของคนไทยมาอย่างยาวนาน รวมถึงเป็นปลาสวยงามที่มีการเพาะจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้มหาศาลให้แก่เกษตรกรในแต่ละปี
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และฟาร์มปลากัด ขวัญศิริ ฟาร์ม จึงร่วมกันจัดนิทรรศการ “ปลากัด...นักสู้แห่งสยาม (Siamese Fighting Fish)” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำความรู้จักกับปลาน้ำจืดพื้นเมืองที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมาช้านานในฐานะปลาที่เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม จนปัจจุบัน “ปลากัด” ได้กลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่วงการปลาสวยงามของไทย
หมายเหตุ : เนื้อหานิทรรศการได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สามารถรับชมวิดีโอย้อนหลังของกิจกรรมได้ที่ นิทรรศการปลากัด นักสู้แห่งสยาม
Exhibition borrowing
Download