เมื่อปี 2013 นีล ไกแมน นักเขียนชาวอังกฤษที่มีผลงานแนว Dark Fantasy อันโด่งดังจากการ์ตูนชุด The Sandman ได้รับเชิญไปกล่าวในงานปาฐกถาประจำปีของ The Reading Agency องค์กรที่มีภารกิจสนับสนุนโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือ การส่งเสริมการอ่านและพัฒนาห้องสมุด บทปาฐกถาของเขาถูกนำมาเรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “Why our future depends on libraries, reading and daydreaming” เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนออนไลน์ นีล ไกแมน ไม่เพียงแต่จะพยายามพูดถึงบทบาทความสำคัญของห้องสมุด แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมจินตนาการแก่เด็กด้วยการอ่านนิทานหรือนิยาย ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องชี้แนะเนื้อหาให้เด็ก ขอเพียงสอนให้เด็กอ่านและทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก ปล่อยให้เด็กเลือกอ่านหนังสือเองอย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นต้นให้เด็กๆ เรียนรู้ไต่สูงขึ้นไปทีละขั้นด้วยตนเอง readWORLD แปลบทความบางส่วนมาเผยแพร่ แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการบรรยายจะมุ่งแสดงความคิดเห็นต่อต้านการปิดห้องสมุดหลายแห่งในอังกฤษที่เกิดขึ้นอย่างครึกโครมในเวลานั้น แต่เนื้อหาอีกหลายส่วนกลับมีความน่าสนใจ มิได้ล้าสมัยไปตามกาลเวลา |
Photo Neil Gaiman : Website themusingquill.com
การพูดเป็นการประกาศจุดยืนหรือความสนใจว่าคุณยืนอยู่ฝ่ายไหนและคุณมีอคติอะไร ดังนั้นผมกำลังจะพูดถึงความสำคัญของห้องสมุดและการอ่าน ผมกำลังจะแนะนำให้อ่านนิทานหรือนิยาย ให้อ่านเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดเท่าที่คนๆ หนึ่งสามารถจะทำได้ รวมทั้งจะขอร้องให้ผู้คนเข้าใจสิ่งซึ่งบรรณารักษ์และห้องสมุดกำลังเป็นอยู่ และพยายามรักษาทั้งสองอย่างนี้เอาไว้
ผมทำมาหากินด้วยการเขียนมากว่า 30 ปี ในฐานะนักเขียน ผมจึงมีอคติที่ให้ความสนใจกับนักอ่าน ในฐานะนักเขียนนิทานเด็กและนิยายสำหรับผู้ใหญ่ ผมจึงมีอคติที่ให้ความสนใจกับผู้อ่านนิทานและนิยาย รวมไปถึงต้องการให้ห้องสมุดและบรรณารักษ์ยังคงอยู่ เพื่อช่วยส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและเป็นสถานที่ที่การอ่านบังเกิดขึ้น ยิ่งในฐานะนักอ่าน ผมก็ยิ่งมีอคติกับการให้ความสนใจเรื่องพวกนี้อย่างมาก และในฐานะพลเมืองอังกฤษ ผมยิ่งมีอคติที่ให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้มากที่สุด
ผมมาพูดในวันนี้ ก็เพื่อจะบอกว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเราอ่าน
ผมเคยไปนิวยอร์ก ฟังการบรรยายเรื่องการสร้างคุกเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตมากในอเมริกา ธุรกิจนี้จำเป็นต้องวางแผนและมองเห็นถึงการเติบโตในอนาคต ผู้ลงทุนตั้งคำถามว่าจะต้องมีห้องขังสักเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ? ในอีก 15 ปีข้งหน้าจะมีนักโทษสักกี่คน? พวกเขาพบว่าการคาดประมาณการณ์ตัวเลขดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องยากเลย ด้วยการใช้อัลกอริธึมพื้นๆ เป็นฐานในการคำนวณ คือดูจากจำนวนเด็กอายุ 10-11 ปีในวันนี้ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกหรือที่ไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน
ผมไม่ได้จะบอกว่า สังคมที่มีผู้รู้หนังสือจะไม่มีอาชญากรรม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนเด็กที่อ่านไม่ออกหรือไม่ได้อ่านเพื่อความสนุกเพลิดเพลินกับจำนวนอาชญากรในอนาคต มันก็มีความเกี่ยวข้องกันที่มีส่วนถูกต้องอยู่เหมือนกัน และเป็นความสัมพันธ์ที่มาจากข้อเท็จจริงง่ายๆ ก็คือ.. คนที่อ่านออกเขียนได้นั้นล้วนแล้วแต่อ่านนิทานหรือนิยาย (มาตั้งแต่วัยเด็ก)
นิยายมีประโยชน์สองอย่าง อย่างแรก มันทำให้เสพติดการอ่าน เพราะเนื้อหาในนิยายจะขับดันให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป อยากพลิกอ่านหน้าต่อไปเรื่อยๆ แม้จะยากลำบาก แต่สุดท้ายมันก็ต้องจบ นั่นเป็นแรงขับดันที่แท้จริง การอ่านบังคับให้เราต้องเรียนรู้คำใหม่ๆ มีความคิดใหม่ๆ และค้นพบว่าการอ่านนั้นสนุก เมื่อรู้แล้ว ก็เหมือนอยู่บนถนนที่นำไปสู่การอ่านเล่มอื่นๆ อีก
ไม่นานมานี้ เราจะได้ยินแนวคิดว่าเรากำลังจะอยู่ในโลกยุค “หลังการอ่านออกเขียนได้” ในความหมายที่ว่าความสามารถในอ่านหรือเข้าใจถ้อยคำเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยหรือไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่แนวคิดที่ว่านั้นได้ผ่านไปแล้ว เพราะถ้อยคำสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม เราขับเคลื่อนโลกด้วยถ้อยคำ และทันทีที่โลกเชื่อมโยงกันกลายเป็นเว็บ เราจำเป็นต้องติดตาม สื่อสาร และทำความเข้าใจกันด้วยการอ่าน คนที่ไม่เข้าใจคนอื่น ไม่มามารถแลกเปลี่ยนความคิด ไม่สามารถสื่อสาร แปล หรือตีความอะไรได้
วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกให้อ่านออกเขียนได้คือการสอนให้ลูกอ่านและแสดงให้เห็นว่าการอ่านนั้นสนุก รวมทั้งสอนให้รู้วิธีค้นหาหนังสือสนุกๆ อ่าน จากนั้นปล่อยให้เขาอ่านเอง
ผมคิดว่าไม่มีหนังสือเลวสำหรับเด็ก ทุกวันนี้เราชอบแนะนำกันว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะสำหรับเด็กหรือเล่มไหนที่เด็กไม่ควรอ่าน โดยยกชื่อหนังสือ แนวหนังสือ หรือชื่อผู้เขียน แล้วก็ประกาศว่าหนังสือเรื่องนั้นๆ ไม่ดี เด็กๆ ไม่ควรอ่าน ผมเห็นมาหลายต่อหลายครั้ง Enid Blyton[1] และ RL Stine[2] และนักเขียนอีกเป็นโหลเคยถูกหาว่าเป็นนักเขียนที่ไม่ดี การ์ตูนก็เคยถูกหาว่าทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก
นั่นเป็นความคิดที่เหลวไหลและโง่มาก เด็กสามารถหาเรื่องที่ตัวเองชอบได้เสมอ ความคิดโง่ๆ อาจจะน่าสนใจสำหรับเขาก็ได้ อย่าลืมว่าทุกอย่างเป็นของใหม่เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้พบกับมัน เราไม่ควรทำให้เขารู้สึกไม่อยากอ่าน เพียงเพราะเราคิดไปเองว่ามีหนังสือเลวๆ ในโลกนี้และกลัวว่าเด็กกำลังจะอ่านสิ่งผิดๆ หนังสือนิยายที่เราไม่ชอบคือเส้นทางที่อาจนำไปสู่การอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เราชอบมากกว่า ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีรสนิยมแบบเดียวกัน
ผู้ใหญ่ที่หวังดีมักทำลายการอ่านของเด็ก เช่น ห้ามอ่านหนังสือที่เขาชอบ หรือสั่งให้อ่านหนังสือที่น่าเบื่อแบบที่ตัวเองชอบ เช่น หนังสือสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งก็เหมือนกับหนังสือ “ปรับปรุงตนเอง” สมัยวิคทอเรีย สุดท้าย เราจะเจอกับคนรุ่นที่เห็นว่าการอ่านนั้นไม่ใช่เรื่องเท่หรือน่าสนุก
เราต้องให้เด็กๆ รู้จักไต่บันไดการอ่าน การชอบอ่านอะไรก็ตามจะทำให้เขาไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่าทำอย่างที่ผมทำกับลูกสาวอายุ 11 ซึ่งกำลังอ่านหนังสือของ RL Stine แล้วจู่ๆ ผมหยิบหนังสือเรื่อง Carrie ของ สตีเฟ่น คิง ให้และบอกว่า “ถ้าชอบเล่มนั้น ก็น่าจะชอบเล่มนี้!” นับแต่นั้นมา ตลอดช่วงวัยรุ่น ฮอลลี่ ลูกสาวผมอ่านแต่หนังสือที่ปลอดภัยอย่างบ้านเล็กในป่าใหญ่ และยังมองผมอย่างแปลกๆ ถ้าผมพูดถึงสตีเฟ่น คิง
อย่างที่สอง นิยายสร้างความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ถ้าเปรียบเทียบกับการดูทีวีหรือหนัง ซึ่งเป็นการมองคนอื่นและสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่น แต่การอ่านอาศัยจากอักษรแค่ 26 ตัวและเครื่องหมายอีกนิดหน่อย ก็ทำให้เพียงตัวคุณคนเดียวที่เป็นผู้อ่านสามารถสร้างโลกและผู้คนขึ้นมาได้ด้วยการใช้จินตนาการ ทำให้คุณรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งต่างๆ ไปยังสถานที่หรือโลกที่ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน ได้เรียนรู้ผู้คนแวดล้อมหรือคนอื่นเหมือนกับว่าพวกเขาคือตัวคุณเอง เช่นเดียวกับที่มันทำให้ผู้อ่านได้กลายเป็นคนอื่นด้วย และเมื่อกลับมาสู่โลกความเป็นจริง บางสิ่งในตัวคุณก็จะเปลี่ยนไป
ความเห็นอกเห็นใจคือเครื่องมือสร้างความสามัคคีในหมู่คน ทำให้เราเป็นมากกว่าปัจเจกชนที่ลุ่มหลงอยู่กับตัวเอง และทำให้นักอ่านได้ค้นพบบางสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างหนทางเดินของเขาบนโลกใบนี้ว่า “โลกไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้เสมอไป ทุกสิ่งแตกต่างออกไปจากเดิมได้”
ผมเคยไปประชุมที่ประเทศจีนเมื่อปี 2007 เป็นการประชุมเรื่องของการรับรองให้นิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซี เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ผมถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนคนหนึ่งว่าทำไมก่อนหน้านี้นิยายวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้รับการยอมรับ และอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เขาตอบว่า ชาวจีนนั้นฉลาดและรู้จักสร้างสิ่งของต่างๆ มากมายตามที่มีคนสั่งให้ทำ แต่คนจีนกลับไม่รู้จักสร้างนวัตกรรมและประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ นั่นเป็นเพราะยังขาดจินตนาการ รัฐบาลจีนจึงส่งคนไปศึกษาดูงานในบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล ไมโครซอฟท์ กูเกิล เพื่อสัมภาษณ์สอบถามบุคลากรที่กำลังประดิษฐ์สิ่งของล้ำยุคว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาได้มาทำงานอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คำตอบที่พบก็คือคนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เคยอ่านนิยายวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก!
นิยายทำให้คุณได้มองเห็นโลกที่แตกต่าง มันพาคุณไปยังที่ต่างๆ ซึ่งคุณไม่เคยไป เมื่อคุณได้ไปเยือนโลกอื่นมาสักครั้งหนึ่ง ก็เหมือนกับการได้ลิ้มรสผลไม้วิเศษ คุณจะไม่มีวันลืมเลือนรสชาติหรือเนื้อหาในโลกที่คุณเคยผ่านพบหรือเติบโตขึ้นมาเลย
วิธีทำลายนิสัยรักการอ่านของเด็กอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้ไม่มีหนังสืออยู่รายรอบตัวเขา หรือทำให้พวกเด็กๆ ไม่มีสถานที่ไปอ่านหนังสือเหล่านั้น
ผมโชคดีที่เติบโตขึ้นมาโดยมีห้องสมุดท้องถิ่นที่ยอดเยี่ยม ผมมีพ่อแม่ประเภทที่วางใจปล่อยผมทิ้งไว้ที่ห้องสมุดได้ในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนระหว่างที่พวกท่านไปทำงาน และมีบรรณารักษ์ประเภทที่ไม่รังเกียจเด็กตัวเล็กที่ไม่ค่อยเชื่อฟัง ซึ่งมักจะรี่ไปยังห้องสมุดเด็ก แล้วลงมือสำรวจบัตรรายการเพื่อค้นหาหนังสือเรื่องผี เรื่องเวทมนตร์คาถา หรือเรื่องจรวด รวมถึงค้นหนังสือเรื่องผีดูดเลือด แม่มด นักสืบ หรือเรื่องราวมหัศจรรย์ต่างๆ
และเมื่อผมอ่านหนังสือในห้องสมุดเด็กจนหมดแล้ว ผมก็เริ่มอ่านหนังสือสำหรับผู้ใหญ่
บรรณารักษ์ที่ดีจะชอบหนังสือและชอบที่ได้เห็นหนังสือมีคนหยิบไปอ่าน พวกเขาสอนผมให้รู้จักยืมหนังสือข้ามห้องสมุด และดูเหมือนจะชอบที่มีหนอนหนังสือตัวน้อยเดินเข้าห้องสมุดด้วยแววตาตื่นเต้นและดวงตาเบิกโพลง พวกเขาไม่เคยทำตัวหัวสูงกับสิ่งที่ผมอ่าน แต่จะเข้ามาคุยว่าผมกำลังอ่านอะไร แล้วก็จะช่วยผมหาหนังสือเล่มอื่นๆ ที่อยู่ในชุดเดียวกัน
พวกเขาปฏิบัติต่อผมเฉกเช่นนักอ่านคนหนึ่ง ไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้ ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติต่อผมด้วยความเคารพ และผมไม่เคยถูกปฏิบัติด้วยความเคารพในฐานะที่เป็นเด็กแปดขวบมาก่อน
ห้องสมุดเกี่ยวข้องกับเรื่องเสรีภาพ เสรีภาพที่จะอ่าน เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการสื่อสาร ห้องสมุดเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษา ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่สิ้นสุดเมื่อเรียนจบจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ห้องสมุดเกี่ยวข้องกับความบันเทิง เกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ
ผมกังวลว่าผู้คนในศตวรรษที่ 21 จะเข้าใจความเป็นห้องสมุดและจุดประสงค์ของห้องสมุดแบบผิดๆ ถ้าคุณมีภาพความรับรู้ว่าห้องสมุดเป็นเสมือนชั้นบรรจุหนังสือ นั่นดูเหมือนจะเป็นความคิดที่โบราณและล้าสมัยในโลกซึ่งหนังสือที่ตีพิมพ์ส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงเป็นดิจิทัล
ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของข้อมูลสารสนเทศ เพราะข้อมูลสารสนเทศนั้นมีค่า และข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องยิ่งมีค่าเหลือคณา
จากประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มนุษย์มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของความขาดแคลนสารสนเทศ และการมีสารสนเทศที่จำเป็นเป็นสิ่งสำคัญและมีค่า(มาโดยตลอด) อาทิ จะเพาะปลูกเมื่อไหร่ จะหาสิ่งของต่างๆ ได้ที่ไหน บรรดาแผนที่ ประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดีเสมอ ข้อมูลสารสนเทศเป็นสิ่งมีค่า ใครที่ครอบครองหรือได้รับสารสนเทศสามารถคิดค่าบริการจากผู้อื่นได้
แต่เพียงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เคลื่อนออกจากระบบเศรษฐกิจแบบขาดแคลนสารสนเทศ มาเป็นระบบที่มีสารสนเทศท่วมทะลัก เอริก ชมิดท์ แห่งกูเกิลกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันนี้ ในทุกๆ สองวันเผ่าพันธุ์มนุษย์ผลิตข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากเท่ากับที่เราทำมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มอารยธรรมจนถึงปี 2003 (พ.ศ.2546) นั่นคิดเป็นข้อมูลประมาณ 5 เอ็กซาไบทส์ต่อวัน[3]
สิ่งที่ท้าทายได้กลับตาลปัตร ไม่ใช่การค้นหาว่าพืชพันธุ์ที่ขาดแคลนจะปลูกในทะเลทรายได้อย่างไร แต่เป็นการค้นหาว่ามีพืชพันธุ์พิเศษเฉพาะอะไรที่เติบโตได้ดีในป่า เรากำลังต้องการตัวช่วยนำทางไปสู่สารสนเทศที่ช่วยเราค้นพบสิ่งที่เราต้องการจริงๆ
ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้าไปเพื่อสารสนเทศเช่นว่านั้น และหนังสือเป็นเพียงส่วนปลายของยอดภูเขาน้ำแข็งสารสนเทศ เพียงแต่ห้องสมุดเป็นสถานที่ซึ่งมอบสารสนเทศให้แก่คุณด้วยหนังสือได้อย่างอิสระและถูกกฎหมาย
ห้องสมุดยังเป็นสถานที่สำหรับผู้คนซึ่งไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ได้มีโอกาสเข้าถึงโลกออนไลน์โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือในเวลาที่คุณกำลังหางาน สมัครงาน หรือการรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากรัฐ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ให้บริการทางออนไลน์มากขึ้นทุกที บรรณารักษ์ก็สามารถช่วยเหลือด้วยการแนะนำวิธีการเข้าถึงความรู้และสารสนเทศให้แก่ผู้คนเหล่านี้ได้
ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ และเปิดให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงสารสนเทศนั้นได้อย่างเท่าเทียม มันคือพื้นที่ของชุมชน เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เป็นแหล่งพำนักพักพิงให้หลบลี้หนีจากโลกจริง และเป็นที่ที่มีบรรณารักษ์ทำงาน
ห้องสมุดในอนาคตจะเป็นอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่เราควรจะจินตนาการถึงเสียตั้งแต่บัดนี้
การอ่านออกเขียนได้มีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา ในโลกของข้อความและอีเมล สารสนเทศซึ่งอยู่ในรูปของการเขียน ทำให้เรายิ่งจำเป็นต้องอ่านและเขียน เราต้องการพลเมืองโลกที่สามารถอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว เข้าใจสิ่งที่กำลังอ่าน เข้าใจถึงความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อย และเข้าใจอย่างกระจ่างได้ด้วยตนเอง
ห้องสมุดคือประตูที่เปิดไปสู่อนาคต แต่โชคร้ายที่เราพบว่าทั่วโลกนั้น มีรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งกำลังหาทางปิดห้องสมุดเพียงเพื่อลดภาระงบประมาณ โดยไม่ตระหนักว่าพวกเขากำลังขโมยอนาคตเพื่อมาใช้จ่ายในปัจจุบัน พวกเขากำลังปิดประตูที่ควรจะเปิดเอาไว้ตลอดเวลา
ผมคิดว่าเราทุกคนมีความรับผิดชอบต่ออนาคต ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบและภาระผูกพันที่มีต่อเด็กๆ จนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และต่อโลกที่พวกเขาพำนักอยู่ พวกเราทุกคน-ในฐานะนักอ่าน นักเขียน และพลเมือง- ต่างมีพันธะผูกพัน ผมคิดว่าผมได้พยายามและเปล่งเสียงบางอย่างถึงภาระผูกพันเหล่านี้ ไว้ ณ ที่นี้
ผมเชื่อว่าเรามีความผูกพันกับการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ทั้งในสถานที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ ถ้าเราอ่านเพื่อความสนุก และคนอื่นเห็นเรากำลังอ่าน เราก็กำลังเรียนรู้ เรากำลังบริหารจินตนาการของเรา เราแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดี
เรามีภาระในการสนับสนุนห้องสมุด ด้วยการใช้งานห้องสมุด กระตุ้นคนอื่นให้ใช้ห้องสมุด และต่อต้านการปิดห้องสมุด ถ้าคุณไม่ให้คุณค่าแก่ห้องสมุดเสียแล้วคุณก็จะไม่ให้คุณค่ากับสารสนเทศ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาด้วยเช่นกัน คุณกำลังทำให้เสียงแห่งอดีตเงียบสงัดลง และคุณกำลังทำลายอนาคต
พวกเราทั้งหลาย ผู้ใหญ่และเด็ก นักเขียนและนักอ่าน มีความผูกพันกับการฝันกลางวัน (หรือการจินตนาการ) มันง่ายมากที่จะเสแสร้งว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แสร้งว่าเราอยู่ในสังคมโลกที่มีขนาดใหญ่โตและเราเป็นเพียงปัจเจกชนตัวเล็กๆ ที่ไร้ค่า เป็นอณูในกำแพง เป็นปลายข้าวในทุ่งนา
แต่ความจริงก็คือ ปัจเจกชนนี่แหละที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ปัจเจกชนนี่แหละคือผู้สร้างอนาคต และพวกเขาลงมือเปลี่ยนแปลงมันด้วยการจินตนาการว่า ทุกสิ่งนั้นแตกต่างออกไปได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม
เคยมีคนถามอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ว่าทำอย่างไรเราจึงจะทำให้เด็กฉลาด เขาตอบว่า “ถ้าต้องการให้ลูกของคุณเป็นเด็กฉลาด ก็อ่านนิทานให้เขาฟัง และถ้าต้องการให้เขาฉลาดมากขึ้น ก็อ่านนิทานให้เขาฟังมากขึ้นหลายๆ เล่ม”
ไอน์สไตน์เข้าใจคุณค่าของการอ่านและการจินตนาการ ผมหวังว่าเราจะมอบโลกที่เด็กๆ ของเราจะได้อ่าน เป็นโลกที่มีเพื่อการอ่าน จินตนาการ และความเข้าใจกัน
แปลและเรียบเรียงจากบทความเรื่อง “Why our future depends on libraries, reading and daydreaming” ผู้สนใจ อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.theguardian.com/books/2013/oct/15/neil-gaiman-future-libraries-reading-daydreaming
[1] นักเขียนนิยายสำหรับเยาวชน แนวสืบสวน ลึกลับ ผจญภัยในวัยเรียน เช่นหนังสือชุด 5 สหายผจญภัย (The Famous Five) 7 สหายนักสืบ 4 สหายผจญภัย 6 สหายไขปริศนา