|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
แนวคิด ‘พื้นที่ที่สาม’ หรือ Third Place เกิดขึ้นในเมืองที่มีอัตราความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ค่อนข้างสูง ทำให้คนรุ่นใหม่มีความต้องการพื้นที่ซึ่งไม่ใช่บ้าน ที่ทำงานหรือโรงเรียน สำหรับทำงาน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และพบปะพูดคุยหาไอเดียกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นหนึ่งปรากฏการณ์เด่นทางสังคมของไทยในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างเช่นกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการออกแบบพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์
แนวคิด ‘พื้นที่ที่สาม’ มีส่วนทำให้ห้องสมุดปรับพื้นที่การอ่านให้มีบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ปลั๊กไฟ และ WiFi ซึ่งจำเป็นสำหรับทำงานหรือค้นคว้าด้วยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหรืออุปกรณ์ไร้สาย เช่นเดียวกันกับพื้นที่การอ่านที่ไม่ใช่ห้องสมุด ซึ่งปรากฏเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในด้านหนึ่งการขยายตัวของพื้นที่ลักษณะดังกล่าวเหมือนกับเป็นคู่แข่งของห้องสมุด ซึ่ง ณ เวลานี้ไม่ได้ผูกขาดการให้บริการพื้นที่การอ่านอีกต่อไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง Third Place ก็ทำให้เห็นถึงทิศทางของการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนในปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับแหล่งเรียนรู้สาธารณะทุกประเภท
Third Place ที่ไม่ใช่ห้องสมุดมีหลายลักษณะ เช่น คาเฟ่หรือร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มซึ่งออกแบบกายภาพร้านให้น่านั่งพบปะสังสรรค์และอ่านหนังสือ co-working space ซึ่งให้บริการเช่าพื้นที่เป็นรายวันหรือรายชั่วโมงสำหรับทำงาน ประชุม หรือทำการบ้าน ถูกออกแบบให้มีที่นั่งทั้งแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม และห้องประชุมกลุ่มย่อย บางแห่งมีบริการเครื่องพิมพ์ จอทัชสกรีน หรือกระดานอัจฉริยะ (smart board) สำหรับประชุม learning common เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับการเรียนรู้และจัดกิจกรรมที่หลากหลาย สิ่งที่ดูจะขาดเสียไม่ได้เลยสำหรับ ‘พื้นที่ที่สาม’ คือกาแฟและอาหารว่าง บางแห่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษาซึ่งจำเป็นต้องอ่านหนังสือดึกๆ คนรุ่นใหม่หรือคนทำงานฟรีแลนซ์ซึ่งทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ และบางแห่งให้บริการแม้กระทั่งพื้นที่ให้งีบนอน หลังจากตรากตรำอ่านหนังสือหรือทำงานยาวนานหลายชั่วโมง
Click เพื่อชมภาพใหญ่
ที่มาภาพ : Facebook@toofasttosleep