|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
ระยะเวลาเพียง 10 ปี หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของนักอ่านทั่วโลก ทั้งที่เป็นส่วนเสริมและแทนที่หนังสือกระดาษ มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ยอดขายอีบุ๊คในระดับโลกทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
กระทั่งปี 2559 เริ่มมีสัญญาณว่าการเติบโตของอีบุ๊คชะลอตัวลงคล้ายกับเข้าสู่จุดอิ่มตัว แต่ถึงแม้ยอดขายจะไม่ร้อนแรงเท่ากับช่วงก่อนหน้า มูลค่าการจำหน่ายอีบุ๊คโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี ทว่าความกังวลว่าอีบุ๊คจะเข้ามาเป็นคู่แข่งหรือแทนที่หนังสือกระดาษ กลับค่อยๆ ลดลงจนไม่มีใครเชื่อว่าหนังสือจะสาบสูญไปดังที่เคยสันนิษฐานคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
สำหรับประเทศไทย อีบุ๊คในระยะแรกๆ มีลักษณะเป็นไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น งานวิจัยหรือบทความวิชาการ การบุกเบิกร้านจำหน่ายอีบุ๊คออนไลน์เริ่มต้นเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุปกรณ์ประเภท e-reader เข้ามาจำหน่าย และโทรศัพท์มือถือสามารถทำงานได้มากกว่าเพียงแค่การสื่อสารข้อมูลเสียง ทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านอีบุ๊คได้ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชั่นผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device)
ในวงการห้องสมุด จากเดิมที่การใช้งานอีบุ๊คจะแพร่หลายอยู่เฉพาะในส่วนของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ก็เริ่มมีห้องสมุดประเภทอื่นทดลองให้บริการยืมคืนอีบุ๊คควบคู่ไปกับการให้บริการหนังสือและสื่อรูปแบบเดิม เช่น อุทยานการเรียนรู้ (TK park) และหอสมุดแห่งชาติ ถือเป็นการเพิ่มช่องทางเข้าถึงความรู้และสารสนเทศได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่จำเป็นต้องซื้อหาจากร้านหนังสือออนไลน์
บทความซึ่งจัดทำโดย PwC Thailand ระบุว่า ยอดจำหน่ายอีบุ๊คของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 14 ต่อปี จากมูลค่าตลาด 2,960 ล้านบาทในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 5,705 ล้านบาทในปี 2565 และส่วนแบ่งการตลาดของอีบุ๊คจะเพิ่มจากร้อยละ 7.4 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 14.1 ในปี 2565[2] บทวิเคราะห์ดังกล่าวค่อนข้างจะเป็นมุมมองเชิงบวก และอิงอยู่กับมูลค่าตลาดหนังสือสูงถึงประมาณ 40,000 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลจากผู้จำหน่ายหนังสือของไทยระบุว่ามูลค่าตลาดหนังสือนั้นอยู่ที่ประมาณ 26,000 ล้านบาทและภาพรวมมีการเติบโตไม่มากนัก[3]
มุมมองเชิงบวกดังกล่าวมาจากปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดอีบุ๊คที่ค่อนข้างเด่นชัด แนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของคนไทยเป็นไปอย่างแพร่หลาย ปริมาณผู้ใช้อุปกรณ์โมบายโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่เกือบร้อยละ 70 เป็นโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นข้อมูลดาต้าก็เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในระยะเวลาเพียง 4 ปี (2557-2560) สวนทางกับปริมาณการใช้งานข้อมูลเสียงหรือเพื่อโทรศัพท์พูดคุยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผลสำรวจการอ่านของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลับชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และความนิยมใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ในการเข้าถึงสารสนเทศด้วยการดู ฟัง หรืออ่านนั้น ส่งผลให้การอ่านหนังสือกระดาษลดลงเป็นลำดับ จากร้อยละ 99.3 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 96.1 ในปี 2558 และร้อยละ 88.0 ในปี 2561 ส่วนการอ่านเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีตัวเลขสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากความแพร่หลายของอุปกรณ์ไอที โดยในการสำรวจปี 2558 พบว่านักอ่านเกินกว่าครึ่งหนึ่งอ่านเนื้อหาจากสื่อที่ไม่ใช่หนังสือกระดาษ หรือร้อยละ 54.9 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75.4 ในปี 2561 แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือรูปแบบของสื่อที่ใช้อ่านนั้นเป็นอีบุ๊คเพียงร้อยละ 1.9 ในปี 2558 และขยับเป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2561 ถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับหนังสือกระดาษหรือการอ่านผ่านสื่อสังคมออนไลน์
อีบุ๊ค-ออดิโอบุ๊ค โอกาสที่อาจหลุดลอย
หากคำนวณฐานคนอ่านอีบุ๊คจากข้อมูลผลสำรวจการอ่านข้างต้น พบว่าผู้อ่านอีบุ๊คจะมีอยู่ประมาณ 9 แสนคนเศษ ถึงแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับนักอ่านหลายสิบล้านคน แต่ในมุมมองธุรกิจแล้วจำนวนผู้บริโภคขนาดนี้ย่อมไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะผู้อ่านอีบุ๊คน่าจะเป็นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาค่อนข้างสูง มีกำลังซื้อ คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี นิยมความทันสมัยทันโลก สนใจหาความรู้ใหม่ๆ และตัดสินใจใช้จ่ายไม่ยากเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ที่สนใจ
รวิวร มะหะสิทธิ์ ผู้บริหาร MEB ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า ตลาดอีบุ๊คของไทยมีมูลค่าประมาณ 600-700 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 5 ของตลาดหนังสือ จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เทียบกับสหรัฐอเมริกาอีบุ๊คมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 20 ไทยอาจจะใช้เวลาอีก 3-5 ปี เฉพาะร้านหนังสือออนไลน์ MEB มีอีบุ๊คในระบบประมาณ 70,000 เล่ม[4]
ห้องสมุดนอกมหาวิทยาลัยก็มีอีบุ๊คไว้ให้เลือกอ่านอยู่ในระดับหลักหมื่นรายการ อาทิ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของทีเคพาร์ค ซึ่งเปิดให้บริการปี 2558 มีอีบุ๊ค 22,409 รายการ เป็นหนังสือภาษาไทย 12,844 รายการ ภาษาต่างประเทศ 9,565 รายการ[5] ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของหอสมุดแห่งชาติ เปิดให้บริการปี 2561 มีอีบุ๊คประมาณ 18,000 รายการ ประกอบด้วยทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ 14 ฐาน เป็นทรัพยากรสารสนเทศมากกว่า 10,000 รายการ วารสารและหนังสือพิมพ์รวมแล้วกว่า 7,400 ชื่อเรื่อง และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อีกประมาณ 700 ชื่อเรื่อง[6] ถือว่ายังมีปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับหนังสือกระดาษหรืออีบุ๊คภาษาต่างประเทศที่จำหน่ายทั่วไป
ในระยะแรกๆ การจัดทำอีบุ๊คภาษาไทยพบกับอุปสรรคอย่างมาก เนื่องจากการดัดแปลงหนังสือที่เคยตีพิมพ์แล้วให้เป็นอีบุ๊ค ติดขัดเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน ผู้ออกแบบภาพศิลป์ และสำนักพิมพ์ ซึ่งมีความซับซ้อนคลุมเครือ แต่ละเล่มมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดทอนแรงจูงในการผลิตอีบุ๊คภาษาไทย แต่ภายหลังเมื่อมีการจัดสรรผลประโยชน์ในการจำหน่ายหนังสือที่ชัดเจนมากขึ้น การตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่เพื่อวางจำหน่ายจึงมักมีการผลิตเป็นอีบุ๊คควบคู่กันไปด้วย แต่ถึงกระนั้นรายได้จากการขายอีบุ๊คภาษาไทยยังมีสัดส่วนน้อยมาก เพราะคนยังคงนิยมอ่านหนังสือกระดาษ
ผลสืบเนื่องจากปริมาณอีบุ๊คภาษาไทยที่มีจำนวนไม่มากเท่าที่ควรในช่วงแรก ทำให้ความหลากหลายของเนื้อหากลายเป็นปัญหาที่ตามมา ถึงแม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะมีนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตผลงานเป็นอีบุ๊คให้เห็นอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเขียนเป็นตอนๆ ให้ผู้ติดตามอ่านทางออนไลน์ก่อน เมื่องานเขียนนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นจึงค่อยจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มกระดาษพร้อมกับฉบับอีบุ๊ค เนื้อหาของอีบุ๊คประเภทนี้จึงตอบโจทย์ความต้องการของนักอ่านเพียงบางกลุ่มเท่านั้น
ทุกวันนี้ เมื่อนักอ่านเริ่มคุ้นเคยและลองอ่านอีบุ๊คมากขึ้น แต่กลับมีคู่แข่งสำคัญคือแพลตฟอร์มสื่อที่สามารถดูหรือฟังได้ด้วย อาทิเช่นยูทูปหรือพอดแคสต์ ซึ่งมีความดึงดูดน่าสนใจและเป็นช่องทางในการแสวงหาข่าวสารความรู้หรือความบันเทิงที่มีทั้งปริมาณและความหลากหลายมากกว่า อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นฟรีคอนเทนต์หรือไม่มีค่าใช้จ่าย รวมไปถึงโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาสั้น กระชับ หรือเป็นตอนๆ สอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านผ่านหน้าจอของคนในยุคปัจจุบัน
ตลาดอีบุ๊คภาษาไทยจึงมีมูลค่าไม่สูง แม้จะมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี แต่ก็ไม่หวือหวา ฟากฝั่งผู้ผลิตเนื้อหาก็ยังไม่ลงทุนกับตลาดนี้มากนักตราบใดที่ยังไม่เห็นแนวโน้มความต้องการจากผู้อ่าน แม้จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเทคโนโลยีพื้นฐานมีความพร้อมอย่างมากแล้วก็ตาม
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) อีกประเภทที่น่าสนใจคือ หนังสือเสียงหรือออดิโอบุ๊ค (Audio Book) มีสัดส่วนการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อประชากรโลกใช้อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) เพิ่มมากขึ้น ในสหรัฐอเมริกาประชากรร้อยละ 26 นิยมฟังออดิโอบุ๊ค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งอายุต่ำกว่า 35 ปี[7] ร้านออดิโอบุ๊คที่ใหญ่ที่สุดคือ Audible มีออดิโอบุ๊คจำหน่ายมากกว่า 4.2 แสนรายการ[8]
สำหรับประเทศไทย ออดิโอบุ๊คยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการผลิตแบบไม่แสวงหากำไรเพื่อรองรับการใช้งานของผู้มีความบกพร่องทางสายตา ส่วนการผลิตในเชิงพาณิชย์มีต้นทุนในการอัดเสียงโดยนักอ่านที่มีทักษะ จึงทำให้ราคาจำหน่ายออดิโอบุ๊คสูงกว่าอีบุ๊คและหนังสือกระดาษ ยิ่งทำให้การตัดสินใจซื้อออดิโอบุ๊คเป็นไปได้ยาก
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท อุ๊คบี จำกัด ให้ความเห็นถึงปัจจัยที่ทำให้ตลาดออดิโอบุ๊คยังไม่เติบโตว่า “ปัจจุบันออดิโอบุ๊คยังขาดความหลากหลาย เป็นเหมือนปัญหาไก่กับไข่ เมื่อออดิโอบุ๊คมีจำนวนน้อยคนฟังก็น้อย เมื่อคนฟังน้อยการผลิตก็น้อยตามไปด้วย แต่ตลาดหนังสือในต่างประเทศใหญ่กว่า เมื่อผลิตแล้วมีคนฟังเยอะก็คุ้มที่จะทำ ตลาดก็จะพัฒนาได้เร็วกว่า
“บริบทของไทยไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่นในอเมริกา การอ่านอีบุ๊คหรือฟังออดิโอบุ๊คมีมาตั้งแต่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน การพัฒนาเทคโนโลยีสอดคล้องไปกับสิ่งที่ผู้คนใช้งานกันอยู่แล้ว แต่พวกเราเป็น mobile first คอมพิวเตอร์เครื่องแรกคือสมาร์ทโฟน พฤติกรรมการใช้งานส่วนใหญ่คือเข้าเฟซบุ๊ก ยูทูป หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพื่อติดตามข่าวสารสั้นๆ แต่ไม่ได้คุ้นเคยกับการใช้งานสื่อที่ต้องจดจ่อยาวๆ เช่นการอ่านหนังสือทั้งเล่มหรือฟังทั้งเรื่อง ในขณะที่สื่อประเภทพอดแคสต์น่าจะเติบโตได้มากกว่า เพราะใครๆ ก็สามารถผลิตขึ้นเองได้ มีรูปแบบเหมือนเป็นการชวนคุยเรื่องราวจิปาถะแบบสนุกๆ ไปพร้อมกับสาระ ซึ่งเมื่อสื่อมีปริมาณมากผู้ฟังก็มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น”[9]
อีบุ๊คและออดิโอบุ๊คนั้นเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกันเพียงแค่วิธีการอ่าน คือเป็นหนังสือที่อ่านเอง (อีบุ๊ค) กับหนังสือที่ฟังคนอื่นอ่านให้ฟัง (ออดิโอบุ๊ค) ในต่างประเทศได้รับความนิยมสูงไม่ต่างจากหนังสือกระดาษ เป็นรูปแบบการอ่านที่ไม่ได้แปลกแยกไปจากการอ่านหนังสือทั่วไป และมักจะมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่มีสีสันน่าสนใจเกิดขึ้นเป็นระยะ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงสารสนเทศทั้งที่เป็นความรู้และความเพลิดเพลินได้เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือเล่ม
แต่สำหรับประเทศไทย ในรอบ 10 ปีมานี้ยอดขายอีบุ๊คอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตามอง แต่ก็ไม่สามารถชดเชยยอดขายที่ลดลงของหนังสือกระดาษได้ ส่วนออดิโอบุ๊คนั้นแทบจะไม่ปรากฏข่าวหรือข้อมูล ด้วยสาเหตุและข้อจำกัดทั้งหลายดังที่กล่าวมาจึงเป็นเรื่องยากที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะสร้างปรากฏการณ์หรือมีบทบาทต่อวงการหนังสือและการอ่านของไทย หรือมิเช่นนั้นคงต้องรอจนกว่าจะเกิดเทคโนโลยีพลิกผันเข้ามาเปลี่ยนโฉม
[1] https://www.economist.com/graphic-detail/2014/10/09/turning-the-pixelated-page?fsrc=scn/fb/wl/dc/turningpixelated
[2] The Global Entertainment & Media Outlook 2018-2022 อ้างถึงใน https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20180628.html
[3] https://www.prachachat.net/marketing/news-45120
[4] https://www.prachachat.net/ict/news-204960
[5] ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561
[6] ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561
[7] Global Audiobook Trends and Statistics for 2018
[9] สัมภาษณ์โดย ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้