|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
ย้อนกลับไปสิบปีที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือไอแพด แต่ทุกวันนี้อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) เหล่านี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือเครือข่าย 3G และ 4G ที่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ประกอบกับอุปกรณ์มีราคาถูกลงจนทำให้คนส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้ ปัจจุบัน (2561) มีผู้ใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะทุกประเภทประมาณ 46 ล้านคน [1] ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 90 มีโทรศัพท์มือถือใช้งาน โดยตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2560 สัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า [2] ทำให้โทรศัพท์มือถือประมาณร้อยละ 70 ของผู้ใช้เป็นโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟน
เมื่อผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา และสามารถค้นหาข่าวสารความรู้ที่ต้องการได้ด้วยตนเองผ่านเครื่องมือสืบค้น (search engine) หรือเว็บไซต์ต่างๆ และโซเชียลมีเดีย อีกทั้งการบริโภคข่าวสารออนไลน์ยังรวดเร็วและตรงตามความสนใจมากกว่า จึงแทบไม่มีความจำเป็นต้องรออ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้าหรือคอยติดตามอ่านนิตยสารที่ออกเป็นรายปักษ์หรือรายเดือนดังเช่นในอดีต
พฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารเปลี่ยนแปลงไปแทบจะสิ้นเชิงเช่นนี้เอง ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของหนังสือพิมพ์และนิตยสารลดลงราวร้อยละ 40 สวนทางกับการเติบโตของสื่อออนไลน์ที่เม็ดเงินโฆษณาพุ่งสูงขึ้นกว่า 5 เท่าตัว ประกอบกับต้นทุนหลักคือค่ากระดาษที่เพิ่มขึ้นทุกปี สื่อนิตยสารและหนังสือพิมพ์จึงตกอยู่ในภาวะยากลำบากและต่างก็ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด เช่น การปรับลดพนักงาน การลดจำนวนหน้าหนังสือ การออก free-copy การหันไปผลิตเนื้อหาออนไลน์ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังมีนิตยสารและหนังสือพิมพ์ทั้งเก่าและใหม่หลายสิบหัวที่ต้องยุติการตีพิมพ์ไปอย่างถาวร
2559-2560 สึนามิถล่มนิตยสาร
อันที่จริง การเกิดและดับของนิตยสารนั้นเป็นปรากฏการณ์ปกติ นิตยสารเก่าแก่ชื่อดังอย่างเช่น ลลนา และสตรีสาร ก็ยุติบทบาทไปตั้งแต่ปี 2538 และ 2539 ตามลำดับ แต่สถานการณ์ขาลงของวงการนิตยสารเริ่มปรากฏเค้าลางให้เห็นจากการอำลาแผงหนังสือของนิตยสารสรรสาระ ผู้หญิง และเปรียว ในปี 2557 และ 2558 จนกระทั่งปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งสึนามิของนิตยสารไทย เมื่อสิ่งพิมพ์เบอร์ใหญ่ที่ยืนหยัดมายาวนานต่างทยอยล้มหายตายจาก นิตยสารชื่อดังที่อยู่คู่บรรณพิภพไทยมายาวนานต้องปิดตัวไปไม่น้อยกว่า 15 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นสกุลไทย พลอยแกมเพชร อิมเมจ บางกอกรายสัปดาห์ ภาพยนตร์บันเทิง หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เนชั่นสุดสัปดาห์ ครัว ขวัญเรือน คู่สร้างคู่สม
click เพื่อชมภาพใหญ่ที่นี่
สื่อออนไลน์เกิดใหม่
ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หนังสือพิมพ์และนิตยสารพยายามปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ด้วยการดัดแปลงเนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
ฐากูร บุนปาน กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของวงการหนังสือพิมพ์ว่า “เมื่อตอนที่ตลาดหนังสือพิมพ์รุ่งเรืองถึงขีดสุดมีคนซื้อ 2.2 ล้านฉบับ ทุกวันนี้ขายได้ต่ำกว่า 2 ล้านฉบับ แต่จริงๆ แล้วผู้บริโภคข่าวไม่ได้น้อยลง เพียงแต่เปลี่ยนที่อ่านเท่านั้น มีผู้อ่านข่าวทางเว็บไซต์วันละหลายล้านคน และมีจำนวนผู้กดไลค์เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ นอกจากนี้สถิติยอดวิวเฟซบุ๊กไลฟ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้รู้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ ชอบพูด ชอบคุย ชอบให้มีคนสรุปให้ฟังก่อนอ่านเอง” [3]
นอกจากสื่อเก่าที่ผันมาทำสื่อดิจิทัลแล้ว ยังมีเว็บไซต์ข่าวสารเกิดขึ้นใหม่มากมายจนกลายเป็นปรากฏการณ์ เช่น The Standard, The MATTER, The Momentum, 101.world, waymagazine, The Cloud สื่อออนไลน์ใหม่ๆ เหล่านี้มีเนื้อหาและลีลาการนำเสนอข่าวที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าสื่อน้องใหม่จะมีสัดส่วนผู้อ่านน้อยกว่าสำนักข่าวกระแสหลัก แต่ก็มีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งสื่อเก่าที่ผันมาทำสื่อดิจิทัลและสื่อที่เกิดขึ้นใหม่มิใช่ทางเลือกในการอัพเดทข่าวสารอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นรูปแบบหลักในการบริโภคข่าวสารของคนในยุคปัจจุบันไปเสียแล้ว
ชัยพร ไตรวัฒน์ศิริวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสารสำหรับผู้ชาย UNLOCKMEN วิเคราะห์ว่า ในยุคแรกๆ สื่อออนไลน์เปรียบเป็น ‘น่านน้ำสีคราม’ (Blue Ocean) ที่มีผู้เล่นรายใหญ่น้อยมาก ความเย้ายวนของเม็ดเงินโฆษณาที่เทมาทางสื่อออนไลน์ดึงดูดให้เกิดผู้พัฒนาเนื้อหาหน้าใหม่ๆ จนกลายเป็น ‘น่านน้ำสีแดง’ (Red Ocean) ที่มีการแข่งขันสูง
“ปัจจุบันสื่อออนไลน์มากขึ้น บางคนเข้ามาทำตรงนี้ เพราะมองว่าง่าย เร็ว ถูก แค่มีมือถือหนึ่งเครื่องก็สามารถเป็น Publisher หรือ Blogger ได้ แต่ถ้าคิดจะจริงจัง และเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ในยุคที่มีสื่อออนไลน์มากมาย ต้องมีกระบวนการคิด กระบวนการทำงาน ทั้งกองบรรณาธิการ และทีมโปรดักชั่น ไม่ต่างกับการทำนิตยสารคุณภาพเล่มหนึ่ง” [4]
[1] ข้อมูลจาก “We Are Social” ดิจิทัลเอเยนซี่ และ “Hootsuite”
[2] ผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[3] https://www.matichon.co.th/economy/news_272310
[4] https://www.marketingoops.com/media-ads/unlockmen/