Photo : TEDSalon Berlin
มนุษย์สามารถรับรู้ได้ดีที่สุดผ่านประสาทสัมผัสในการมองเห็น โลกของความรู้ซึ่งเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นสื่อดิจิทัลจึงเอื้อต่อการเติบโตของคอนเทนต์ที่มีลักษณะเป็นภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่อาชีพ “คนสร้างภาพ” จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งช่างถ่ายภาพ นักออกแบบกราฟิกและแอนิเมชั่น บริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาสำรวจพบว่าอาชีพที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงสุด คือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ซึ่งรวมถึงนักนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualizer) ซึ่งเป็นอาชีพที่คนทั่วไปอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาชีพนี้ ผ่านชีวิตและผลงานของฮานส์ โรสลิ่ง (Hans Rosling) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และสถิติศาสตร์ชาวสวีเดน ผู้ซึ่งเผยให้เห็นถึงความสนุกของตัวเลขสถิติและความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังข้อมูล
ฮานส์ มีเทคนิคการนำเสนอข้อมูลแตกต่างจากนักสถิติทั่วไปซึ่งอยู่ในโลกของตัวเลขและตารางอันซับซ้อน แต่เขาพยายามหาวิธีอธิบายมันอย่างง่ายๆ ด้วยสื่อชนิดต่างๆ และเทคโนโลยีภาพสามมิติ ผลงานอันน่าทึ่งของเขาคือการบอกเล่าเรื่องราวของประชากร 200 ประเทศทั่วโลกในช่วง 200 ปี ด้วยข้อมูลสถิติกว่า 120,000 ตัวเลขจาก UN และการศึกษาภาคสนามเพิ่มเติม ประมวลออกมาเป็นกราฟิกให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจในเวลาเพียง 4-5 นาที
ฮานส์และอูล่า ลูกชายของเขาซึ่งช่วยทำงานในมูลนิธิ Gapminder ได้สะท้อนบทเรียนสำคัญจากประสบการณ์การทำงานว่า บ่อยครั้งที่ความเห็นของมวลชนแย่เสียยิ่งกว่าการเดาสุ่ม เขาได้เริ่มโครงการทดลองสนุกๆ โดยสร้างแบบสอบถามวัดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสังคมโลก เช่น
- ผู้หญิงในโลกนี้ได้รับการศึกษาเฉลี่ย 3 5 หรือ 7 ปี
- ปริมาณผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติในศตวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คงที่ หรือลดลงครึ่งหนึ่ง
- ใน 20 ปีมานี้คนที่ยากจนแบบไม่มีอันจะกินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คงที่ หรือลดลงครึ่งหนึ่ง
- เด็กทั่วโลกได้รับวัคซีน 20 50 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
เขาพบว่าชาวสวีเดน ผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัย รวมทั้งสื่อมวลชนของสหรัฐ ยุโรป และสวีเดน มีโอกาสตอบคำถามเหล่านี้ได้ถูกต้องน้อยกว่าลิงชิมแปนซีที่อ่านหนังสือไม่ออกเสียอีก !!!
ทั้งสองอธิบายว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากอคติส่วนบุคคล ข้อมูลที่ล้าสมัย และอคติที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับสัญชาตญาณของมนุษย์ที่อาศัยความกลัวเป็นแรงผลักดันในการวิวัฒนาการ การรับรู้แบบฝังหัวที่ผิดพลาดมีอย่างน้อย 4 เรื่องคือ หนึ่ง เชื่อว่าทุกสิ่งจะต้องแย่ลง สอง เชื่อว่าช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ สาม เชื่อว่าประเทศที่เศรษฐกิจดีเป็นปัจจัยให้ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี และสี่ เมื่อคนเรารับรู้สิ่งที่ตรงกับความกลัวของตัวเอง เช่น แผ่นดินไหว ฉลาม คนต่างศาสนา ผู้ก่อการร้าย ก็มักจะใส่สีใส่ไข่จนมันน่ากลัวกว่าที่มันเป็น
เช่นนั้นแล้ว หากมนุษย์ยึดถือในกฎแห่งความเป็นกลางมากยิ่งขึ้นก็จะเปลี่ยนโลกการรับรู้ให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น มันเป็นเรื่องจำเป็นเพราะตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะคาดเดาถึงเรื่องในอนาคตให้ถูกต้องแม่นยำ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าโลกจะไม่ได้แย่มากเท่าที่เราคิด แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้นอีก เพื่อให้เป็นโลกที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ คนหรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังที่ฮานส์ได้ตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่า การให้การศึกษาแก่ผู้หญิงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลโดยตรงต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมในอีก 10-20 ปีถัดไป เห็นได้ชัดเจนจากอัตราการตายของทารกที่ลดลงแปรผกผันกับระยะเวลาและระดับการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าปัจจุบันผู้หญิงในโลกจะได้รับการศึกษาในจำนวนปีที่เกือบเท่าผู้ชาย แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจุบัน
ฮานส์ โรสลิ่ง ได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกในปี 2012 เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017 ด้วยโรคมะเร็งในวัย 68 ปี
รวบรวมและเก็บความจาก
TEDSalon Berlin 2014
TEDxChange | September 2010
เผยแพร่ครั้งแรก มีนาคม 2560