Photo : Website frameweb.com
เป็นธรรมดาของทุกๆ ปี สมาพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ หรือ IFLA (The International Federation of Library Associations) จะประกาศรางวัลห้องสมุดประชาชนยอดเยี่ยมแห่งปี หรือ Public Library of the Year ซึ่งสำหรับปี 2018 นั้น ห้องสมุดที่ได้รับการคัดเลือก คือ ห้องสมุดของเมือง เด็นเฮลเดอร์ (Den Helder) ประเทศเนเธอร์แลนด์
เด็นเฮลเดอร์เป็นเมืองชายฝั่งและเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ในอดีตเป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งมายาวนานหลายร้อยปี ดังเช่นในปี 1795 กองเรือดัตช์ถูกกองกำลังทหารม้าจากประเทศใกล้เคียงโจมตี หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองเด็นเฮลเดอร์ก็ถูกกองกำลังเยอรมันยึดเป็นฐานทัพ และตกเป็นเป้าหมายในการทิ้งระเบิดทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร
ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เมืองให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูย่านใจกลางเมืองที่เคยถูกทำลาย โดยวางแผนที่จะสร้างพื้นที่ใหม่ที่เจิดจ้ามีชีวิตชีวา ซึ่งคาดหวังว่าสามารถช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานให้กับชาวเมืองได้ด้วย แผนพัฒนาดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับบริบทของเมืองที่จำนวนประชากรกำลังลดลง และผู้คนรุ่นใหม่มีสายสัมพันธ์ที่จืดจางกับท้องทะเล
“เมืองกำลังต้องการพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนกับห้องนั่งเล่น”
ห้องสมุดเมืองเด็นเฮลเดอร์ สร้างขึ้นโดยดัดแปลงมาจากอาคารโรงเรียนที่เก่าแก่นับร้อยปี จึงใช้ชื่อว่า “School 7” เพื่อให้คงเค้าอดีตความเป็นโรงเรียนเอาไว้ เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2016
สถาปนิกใช้แนวคิด “a literacy stepping stone” [1] มาเป็นไอเดียในการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สร้างห้องสมุดให้เป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนสามารถมานั่งอ่านหนังสือ จิบกาแฟ หรือใช้อุปกรณ์สื่อสารหรือ smart device ต่างๆ เพื่อท่องโลกออนไลน์ ห้องสมุดพยายามเชื่อมโยงเมืองและผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นแทนที่จะวางชั้นหนังสือบังผนังด้านหน้าต่าง ก็พยายามวางเลี่ยงเพื่อให้สามารถมองเห็นวิวเมืองได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดรับแสงจากธรรมชาติให้เข้ามาภายใน
ห้องสมุดออกแบบ “พรมลายไม้” เพื่อนำสายตาผู้ใช้บริการเข้าไปยังพื้นที่แบบเปิด (open space) ซึ่งเดิมเคยเป็นห้องเรียน และโชว์โครงหลังคาดั้งเดิมที่ทำจากไม้ ห้องเรียนบางส่วนถูกปรับให้เป็นห้องนั่งเล่นที่ใช้วางเก้าอี้บีนแบ็ก (Bean Bag) สำหรับเอนนอนอ่าน ส่วนบริเวณที่แต่เดิมเคยเป็นห้องส้วม 3-4 ห้องติดกัน ก็ถูกปรับให้เป็นห้องอ่านหนังสือแบบเดี่ยว ซึ่งเหมาะเจาะพอดิบพอดีทั้งขนาดที่นั่งสำหรับนักอ่าน 1 คน และบรรยากาศที่ต้องจดจ่อใช้สมาธิในการศึกษาค้นคว้า
อาคารหลังเก่าบางส่วนนั้นไม่สามารถรองรับน้ำหนักชั้นหนังสือได้ สถาปนิกจึงออกแบบสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาใกล้ๆ กัน แล้วผสมผสานฟังก์ชั่นการเรียนรู้รูปแบบอื่นนอกเหนือจากการอ่านเอาไว้ด้วยกัน เช่น โรงละครและร้านกาแฟ
Photo : Website marsinterieur.nl
ห้องสมุดเมืองเด็นเฮลเดอร์ หรือ School 7 เป็นมากกว่าสถานที่สำหรับยืมคืนหนังสือ ผู้อำนวยการห้องสมุดกล่าวว่า พวกเขาต้องการทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าห้องสมุดเหมือนกับบ้าน ซึ่งทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้อพยพและคนต่างชาติต่างภาษา สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่ School 7 เป็นเสมือนบ้านหลังที่สาม (third place) ซึ่งจะมาอ่านหนังสือก็ได้ นั่งทำงานก็ได้ หรืออาจจะมาร่วมกิจกรรม เรียนภาษา และหลักสูตรต่างๆ แม้กระทั่งมาขอใช้บริการพื้นที่ห้องสมุดเพื่อจัดงานแต่งงาน หรือจัดปาร์ตี้วันเกิด ทุกอย่างนั้นเป็นไปได้ทั้งสิ้น ณ ที่แห่งนี้ เหตุผลเพราะพวกเขาเชื่อว่า ห้องสมุดมีบทบาทสำคัญในด้านการเป็นจุดพบปะทางสังคม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบาทด้านสารสนเทศและการศึกษา
สำหรับห้องสมุดที่เคยได้รับรางวัล Public Library of the Year ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ 5 ปี ได้แก่
ปี 2014 ห้องสมุดเครจีเบิร์น (Craigieburn Library) ประเทศออสเตรเลีย (อ่านได้ที่นี่ )
ปี 2015 ห้องสมุดคิสตา (Kista Public Library) ประเทศสวีเดน (อ่านได้ที่นี่ )
ปี 2016 ห้องสมุด Dokk1 ประเทศเดนมาร์ก (อ่านได้ที่นี่ )
ปี 2017 ไม่มีห้องสมุดที่ได้รับรางวัล
เป็นที่น่าสังเกตว่า ห้องสมุดที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่เป็นของประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งแต่ละประเทศล้วนมีชื่อเสียงในเรื่องของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เน้นประโยชน์ใช้สอยและการเอาชนะข้อจำกัด ทั้งสิ้น
VIDEO คลิปวิดีโอเรื่อง School 7 nominated for Public Library of the Year 2018
[1] stepping stone คือหินที่ใช้เหยียบก้าวข้ามลำธารตื้นๆ ความหมายในที่นี้คือ วิธีการที่จะก้าวไปข้างหน้าหรือก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไป
ที่มาเนื้อหาและภาพ :
เว็บไซต์ designinglibraries.org.uk
เว็บไซต์ frameweb.com
เว็บไซต์ dutchnews.nl
เว็บไซต์ marsinterieur.nl
เผยแพร่ครั้งแรก มกราคม 2562