เบื้องหลังความคิดและจินตนาการ
ของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21
ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต
เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น
แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ
ซีรี่ส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานของนักออกแบบเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ แร็ม โกลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยอง ยี (Eun Young Yi) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)
Photo : Website driade.com
โตโย อิโตะ สถาปนิกเชื้อสายญี่ปุ่น เกิดที่ประเทศเกาหลีใต้ พ่อของเขาเป็นนักธุรกิจที่มีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาโบราณของเกาหลีและภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น ต่อมาเขาได้ติดตามครอบครัวย้ายกลับไปบ้านเกิดของพ่อในชนบทที่จังหวัดนากาโน่ วัยเยาว์ของอิโตะดูจะแตกต่างจากสถาปนิกที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ตรงที่เขาไม่มีแรงดลใจหรือความใฝ่ฝันใดๆ ที่จะเป็นสถาปนิกเลย ความชื่นชอบของเขาเห็นจะมีแต่เรื่องเบสบอล จนเมื่อเข้าศึกษาระดับอนุปริญญาด้านการออกแบบที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผลงานการออกแบบการบูรณะสวนสาธารณะอูเอโนะของอิโตะได้รับรางวัลชนะเลิศจากมหาวิทยาลัย เขาจึงเริ่มหันมาสนใจด้านสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง
ในปี 1979 อิโตะก่อตั้งบริษัทสถาปนิกของตัวเองชื่อ “Urbot” มาจากคำว่า urban และ robot ซึ่งเปลี่ยนเป็น Toyo Ito & Associates, Architects ในเวลาต่อมา บริษัทของเขาได้ชื่อว่าเป็นสถานที่แจ้งเกิดของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นรุ่นเยาว์ที่มีพรสวรรค์หลายคน อิโตะนิยามสถาปัตยกรรมว่าเป็นเสมือน “อาภรณ์” ที่ห่อหุ้มชาวเมือง ซึ่งจำเป็นต้องใคร่ครวญถึงดุลยภาพระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิต “สาธารณะ” ของปัจเจกชน หลักการพื้นฐานในการออกแบบคือ “บ้านสำหรับทุกคน” สิ่งที่ต้องคิดเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ อาคารนั้นสร้างขึ้นทำไม และมีใครบ้างที่ถูกลืมไป
แนวคิดของอิโตะได้รับการวิจารณ์ว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองในเรื่องความเลื่อนไหล ความต่อเนื่อง ความไม่สิ้นสุด ความเรียบง่าย ความสมดุล ความใกล้ชิดธรรมชาติ ฯลฯ โดยได้รับอิทธิพลมาจากนักปรัชญาทั้งตะวันออกและตะวันตก เช่น มูเนะสึเกะ มิตะ (Munesuke Mita) ชาวญี่ปุ่น และ กิลส์ เดอลูซ (Gilles Deleuze) ชาวฝรั่งเศส
แม้ว่าในเวทีนานาชาติ โตโย อิโตะ จะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสถาปนิกที่มีชื่อเสียงหรือประสบการณ์มากนัก แต่ชื่อของเขาก็ติดอยู่ในโผที่เข้าชิงรางวัล Prizker Prize มาตลอดช่วง 10 ปี จนกระทั่งได้รับรางวัลดังกล่าวในปี 2013 ผลงานที่เป็นจุดสูงสุดในการทำงานของเขาก็คือเซนไดมีเดียเทค (Sendai Mediatheque) ส่วนผลงานที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ โรงละครแห่งมหานครไถจง ประเทศไต้หวัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะบาโรกนานาชาติ ประเทศเม็กซิโก
เซนไดมีเดียเทค (Sendai Mediatheque)
เซนได, ญี่ปุ่น
แนวคิดในการสร้างเซนไดมีเดียเทคเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1989 เมื่อสมาคมศิลปะแห่งจังหวัดมิยางิต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่รวมถึงห้องสมุด โดยได้เลือกท่ารถบัสเก่าเป็นสถานที่ก่อสร้าง หลังจากรับฟังเสียงประชาชนจึงได้มีการประกวดแบบ ซึ่งผลงานของโตโย อิโตะ ได้รับการคัดเลือกจากผลงานทั้งหมด 235 ชิ้น อิโตะนำเสนอความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่ง “เลื่อนไหล” แทนที่จะมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับธรรมชาติ โดยบูรณาการมีเดียและระบบทันสมัยกับสิ่งแวดล้อมของเมืองอย่างร่วมสมัย
Photo : Website kmckitrick.wordpress.com
เซนไดมีเดียเทคสร้างเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในปี 2001 อาคารเป็นทรงลูกบาศก์โปร่งใส มองเห็นพื้นชั้นเฉียบบางที่เรียงร้อยกันไว้ด้วยกลุ่มท่อคล้ายกิ่งก้านของต้นไม้ ในยามกลางวันอาคารดูผสมกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ตอนกลางคืน แสงภายในอาคารเปล่งประกายประดุจตะเกียงกลางเมือง ผนังกระจกใสสะท้อนถึง “ความอนันต์” คือการเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ภายในอาคารและพื้นที่นอกอาคารอย่างไม่สิ้นสุด หากยืนอยู่บริเวณชั้นล่างซึ่งเป็นที่ตั้งของคาเฟ่ ร้านหนังสือ และร้านขายของที่ไม่มีผนังกั้น สามารถมองผ่านกระจกออกไปเห็นถนนโจเซ็นจิ ราวกับทางเดินของอาคารเป็นส่วนเชื่อมต่อของถนนเส้นนั้น
แนวคิดในการออกแบบของอิโตะสอดคล้องกับพันธกิจของเซนไดมีเดียเทค “รัฐบาลปลื้มที่เราทำให้ที่นี่ ‘ไร้อุปสรรค’ ซึ่งหมายถึงผู้มีความบกพร่องทางร่างกายด้านต่างๆ ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึง แต่ผมยึดเอาความหมายในด้านอิสรภาพจากอุปสรรคในการบริหารจัดการ จากสารสนเทศที่อยู่บนฐานของข้อความตัวอักษร (text-based) ซึ่งเข้าถึงได้ยาก ให้ปราศจากอุปสรรคในการเข้าถึง รวมทั้งขจัดอุปสรรคทางสถาปัตยกรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่าพื้นที่จะต้องถูกใช้งานไปในทิศทางใด”
Photo : Website smt.jp
อาคารมีทั้งหมด 7 ชั้น มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับคอลเลกชั่นภาพยนตร์และเสียง รวมทั้งบูธสำหรับรับชมหรือตัดต่อวีดิทัศน์ โรงภาพยนตร์ คาเฟ่ และร้านหนังสือ “อาคารนี้มีพื้นที่อิสระมากมาย คือพื้นที่ที่ไม่ได้ตั้งใจให้บริการแบบเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่นผู้ใช้บริการสามารถใช้พื้นที่ระหว่างท่อเสาและบริเวณรอบๆ เช่นเดียวกับที่พวกเขาใช้ถนนของเมืองสำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย ผมหวังว่ามีเดียเทคจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับกระบวนการคิดเกี่ยวกับเมือง”
เซนไดมีเดียเทคออกแบบเป็นพิเศษให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรง แผ่นพื้นทำจากโครงเหล็กรูปรังผึ้งประกอบกับคอนกรีตมวลเบา ท่อแต่ละกลุ่มมีทั้งส่วนที่ติดยึดกับแผ่นพื้นและส่วนที่ต้านแรงโน้มถ่วง โดยอาคารปราศจากคานรับน้ำหนัก ช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือน เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งมีจุดศูย์กลางใกล้กับเมืองเซนได อาคารหลังนี้เสียหายเฉพาะส่วนตกแต่งภายใน แต่โครงสร้างหลักเสียหายน้อยมาก จนเรียกได้ว่าแทบไม่เสียหายเลย
คลิปวิดีโอภาพเหตุการณ์เซนไดมีเดีเทคเมื่อเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ปี 2011
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ (Tama Art University Library),
โตเกียว, ญี่ปุ่น
โตโย อิโตะ เป็นผู้ออกแบบห้องสมุดแห่งใหม่ให้กับมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ วิทยาเขตฮาชิโอจิ (Hachioji) ชานเมืองโตเกียว ห้องสมุดตั้งอยู่ระหว่างประตูหลักของมหาวิทยาลัยกับศูนย์กลางของวิทยาเขต ผู้บริหารได้ตั้งเป้าหมายให้ห้องสมุดมีบทบาทหลักในการสะท้อนตัวตนของมหาลัย ซึ่งได้แก่การสร้างแรงบันดาลใจที่สร้างสรรค์ เป็นสถานที่สำหรับการร่วมมือ การคิดใคร่ครวญ และการผ่อนคลาย เปิดกว้างให้ผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ได้หลากหลายลักษณะ รวมถึงการนอนเล่นพักผ่อนสมอง
ถึงแม้ว่าที่นี่จะเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัย แต่กลับมีปริมาณผู้เยี่ยมชมที่ไม่ใช่บุคลากรของมหาวิทยาลัยสูงมาก ในปี 2006 ห้องสมุดแห่งเดิมก่อนปรับปรุงมีผู้ใช้บริการ 38,000 คน ขณะที่ปี 2012 ห้องสมุดแห่งใหม่มีผู้ใช้บริการกว่า 86,000 คน
Photo : Website mahno.com.ua
ห้องสมุดเป็นอาคารสองชั้นและมีชั้นใต้ดิน โครงสร้างหลักทำมาจากเหล็กและปูนไร้สีสัน ผนังอาคารทำด้วยกระจกเพื่อให้เกิดความรู้สึกเลื่อนไหลกลมกลืนระหว่างห้องสมุดกับสิ่งแวดล้อมภายนอก การออกแบบภายในเรียงรายด้วยซุ้มโค้งซึ่งทำหน้าที่เป็นเสารับน้ำหนักและยังให้ความรู้สึกอ่อนโยนงดงาม สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือ พื้นของห้องสมุดชั้นล่างถูกออกแบบให้มีความลาดเอียง 3 องศา ส่งผลให้ชั้นวางหนังสือและเฟอร์นิเจอร์ต้องถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้เข้ากับความเอียง และมีสุนทรียภาพที่กลมกลืนกับเหลี่ยมมุมต่างๆ ของอาคาร
Photo : Website mahno.com.ua
ห้องสมุดวิทยาเขตฮาชิโอจิให้บริการหนังสือด้านศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นประมาณ 77,000 เล่ม หนังสือต่างประเทศ 47,000 เล่ม และหนังสือโบราณอีก 1,500 เล่ม ชั้นล่างเป็นแกลเลอรี่ศิลปะรองรับการสัญจรของผู้คนที่ผ่านไปมาอย่างคึกคัก มีโซนค้นหาภาพยนตร์ซึ่งดูคล้ายเคาน์เตอร์บาร์ มีตู้กระจกขนาดใหญ่จัดแสดงนิตยสารฉบับใหม่เพื่อให้นักศึกษาเลือกอ่านขณะรอรถบัส นอกจากนี้ชั้นบนยังมีเครื่องจักรสำหรับการผลิตสิ่งพิมพ์อย่างมืออาชีพ
ห้องสมุดใหม่ได้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งทุกคนสามารถค้นพบ “การปฏิสัมพันธ์” กับหนังสือและมีเดียตามสไตล์ของตัวเอง ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินราวกับเดินเข้าไปในป่าหรือโถงถ้ำ ด้วยรูปลักษณ์ที่สัมพันธ์กันอย่างอ่อนละมุน และก่อให้เกิดบรรยากาศที่สร้างสรรค์ปกคลุมไปทั่วมหาวิทยาลัย
Photo : Website mahno.com.ua
พิพิธภัณฑ์ศิลปะบาโรกนานาชาติ (International Museum of the Baroque)
ปวยบลา, เม็กซิโก
ในอดีตเม็กซิโกตั้งอยู่ในชัยภูมิที่สำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นจุดบรรจบของศิลปะวิทยาการจนได้รับการเรียกขานว่า “New Spain” อีกทั้งรัฐปวยบลา (Puebla) ยังได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกด้วยกลิ่นอายของยุคบาโรก เป็นที่มาให้ท้องถิ่นริเริ่มพิพิธภัณฑ์ศิลปะบาโรกนานาชาติขึ้น เพื่อเป็นแลนด์มาร์คร่วมสมัยที่ดึงดูดผู้สนใจเรื่องราวด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ นำเสนอทั้งภาพวาด ประติมากรรม แฟชั่น สถาปัตยกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ วรรรกรรม และอาหาร
Photo : Website cemex.com
อาคารนี้ออกแบบโดย โตโย อิโตะ สร้างเสร็จเมื่อปี 2016 เขากล่าวว่า “อยากจะให้อาคารนี้งอกงามขึ้นจากแผ่นดินเหมือนกับน้ำพุ” อิโตะ สะท้อนเอกลักษณ์ของศิลปะบาโรกผ่านหลักคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม 3 ประการ ได้แก่ ความเลื่อนไหล เนื่องจากกระแสบาโรกได้แหวกขนบที่เคร่งครัดแบบเรอเนสซองที่มีมาก่อนหน้า เป็นการเปลี่ยนผ่านทัศนะที่มองว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า หรือคล้ายกับแนวคิดในปัจจุบันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับธรรมชาติ อิโตะจึงออกแบบโครงสร้างอาคารหลังนี้ด้วยคอนกรีตที่ก่อรูปเป็นแผ่นคดโค้งประกบกัน แทนที่จะเป็นผนังสี่เหลี่ยมแบบทั่วไป แสงที่สวยงาม สำหรับบาโรกแล้วแสงเป็นสัญลักษณ์ของการเผยวจนะของพระเจ้า อิโตะออกแบบให้ภายนอกพิพิธภัณฑ์ดูยุ่งเหยิงเหมือนเขาวงกต ทว่าเส้นทางเดินภายในอาคารเชื่อมร้อยกันอย่างเป็นระบบ โดยมีโดมรับแสงสว่างจากท้องฟ้าช่วยนำทางเกิดเป็นประสบการณ์ที่ตราตรึงใจ ความเป็นธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะกลางเมือง ซึ่งผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสความงามของธรรมชาติระหว่างทาง อิโตะได้ออกแบบสระน้ำรูปจันทร์เสี้ยวโอบรอบอาคาร เพื่อสร้างภาพที่สัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์และธรรมชาติรายรอบ นอกจากนี้ อาคารยังมีระบบกักเก็บน้ำฝนและหมุนเวียนของเสีย
Photo : Website dezeen.com
พื้นที่ชั้นล่างประกอบด้วยนิทรรศการถาวรและชั่วคราว ห้องออดิทอเรี่ยม 300 ที่นั่ง จุดจำหน่ายตั๋วและประชาสัมพันธ์ มีห้องวิจัยและการศึกษา ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถชมวิธีการเก็บรักษาชิ้นงานยุคบาโรกหรือศึกษาเอกสารต้นฉบับจากห้องสมุด และมีร้านอาหารซึ่งสามารถลิ้มรสตัวอย่างเมนูในยุคบาโรกได้ด้วย ส่วนใจกลางห้องโถงตกแต่งด้วยม้านั่งขนาดใหญ่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่นผสมผสานกับงานฝีมือของท้องถิ่น
พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในเม็กซิโกมักเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับท้องถิ่น มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับนานาชาติ ทว่ากลับมีคำวิจารณ์ยกย่องว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือไม่ได้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา หากแต่อยู่ที่เม็กซิโก นั่นก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะบาโรกนานาชาติแห่งนี้
Photo : Website dezeen.com
ที่มาเนื้อหา
https://en.wikipedia.org/wiki/Toyo_Ito
https://en.wikipedia.org/wiki/Sendai_Mediatheque
https://en.wikipedia.org/wiki/Tama_Art_University_Library
https://www.dezeen.com/2007/09/11/tama-art-university-library-by-toyo-ito/
https://www.dezeen.com/2016/04/29/museo-internacional-del-barroco-toyo-ito-fluted-white-concrete-walls-baroque-art-museum-mexico/
เผยแพร่ครั้งแรก พฤษภาคม 2560