ความตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทของห้องสมุดเริ่มต้นเมื่อกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเติบโตและเริ่มส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลก ประเด็นที่ท้าทายคือห้องสมุดยังเป็นสิ่งจำเป็นต่ออนาคตหรือไม่ เมื่อใครๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา
มีนักคิดและบรรณารักษ์จำนวนหนึ่งได้เสนอวิสัยทัศน์ใหม่เกี่ยวกับห้องสมุดในอนาคตว่า ห้องสมุดจะไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของ “พื้นที่การอ่าน” หรือ “การยืมคืนหนังสือ” อีกต่อไป แต่ควรจะมีลักษณะเป็นชุมชนเพื่อการสร้างสรรค์และแบ่งปันความรู้ เป็นสถานที่เหมาะสำหรับการพบปะสนทนา รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคม ด้วยการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการสร้างความรู้
ห้องสมุดชั้นนำหลายแห่งของโลกเห็นพ้องกับแนวคิดนี้ และได้ออกแบบนวัตกรรมห้องสมุดให้มีชีวิตชีวาผ่านปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ความทรงจำ เรื่องเล่าอันทรงพลัง พร้อมกับการให้บริการข้อมูลความรู้ที่มีประสิทธิภาพและเท่าทันยุคสมัย ดังกรณีตัวอย่างห้องสมุดสาธารณะ 2 แห่งในเนเธอร์แลนด์ คือ DOK Library Concept Center และ Noord Oost Brabantse Bibliotheken ที่ดูเหมือนว่าจะก้าวไปไกลกว่าความเป็นห้องสมุดมีชีวิตที่เราคุ้นเคย
เมื่ออ่านจนจบ ลองคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองหรือชักชวนคนใกล้ตัวมาช่วยกันอภิปรายถกเถียงต่อสักนิด ว่าเราจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความคิดจากห้องสมุดสไตล์ดัตช์ทั้งสองแห่งนี้ มาปรับใช้กับการพัฒนาห้องสมุดในบ้านเมืองของเราได้อย่างไร
ห้องสมุดในฐานะผู้ตีแผ่เรื่องเล่าและความทรงจำ : DOK Library Concept Center
DOK Library Concept Center ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเดลฟท์ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ของเนเธอร์แลนด์ มีประชากรประมาณ 100,000 คน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 ในพื้นที่ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ง่าย ห้องสมุดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนเพลงและภาพยนตร์ (Discotake in Dutch) ส่วนห้องสมุด (Openbare Bibliotheek) และส่วนศิลปะ (Kunstcentrum)
ความโดดเด่นของ DOK Library Concept Center อยู่ที่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดึงดูดสายตา สามารถรองรับกับกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ โครงสร้างอาคารดัดแปลงมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต เน้นการออกแบบให้โปร่งโล่งเปิดพื้นที่ให้แสงจากด้านต่างๆ เข้าถึงผู้ใช้บริการ แต่ละห้องมีสีสันและการตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป ห้องสมุดเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนในยุคสมัยปัจจุบัน อาทิ โซฟาที่นั่งสบาย ห้องประชุม สัญญาณอินเทอร์เน็ต จุดเชื่อมต่อปลั๊กไฟ มุมกาแฟ หรือแม้กระทั่งเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่นและนินเทนโดวี ที่นี่มีแนวคิดว่า ถ้าห้องสมุดสามารถทำให้คนมีความสุข ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็จะใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดนานขึ้น เมื่อนั้นห้องสมุดก็จะยังมีอนาคตต่อไปได้
สีสันและแสงช่วยกระตุ้นบรรยากาศการอ่านที่แตกต่างกันออกไป เช่น ห้องกวีสีแดง ห้องวรรณกรรมเยาวชนสีน้ำเงิน
มูลเหตุที่กล่าวได้ว่า DOK Library Concept Center เป็นห้องสมุดที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก ไม่ใช่เพียงเรื่องทางกายภาพและการให้บริการที่ทันสมัย แต่เป็นเพราะการพลิกแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทและปฏิสัมพันธ์ของห้องสมุดที่ควรจะมีต่อผู้คนชาวเมืองเดลฟท์ ห้องสมุดพยายามที่จะเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจโดยคำนึงถึงพื้นฐานที่สัมพันธ์กับอนาคต อาศัยความสร้างสรรค์ นวัตกรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการสื่อสารที่มีคุณภาพ ห้องสมุดจึงได้ริเริ่มโครงการและกิจกรรมซึ่งมุ่งเน้นการเก็บเกี่ยวเรื่องเล่าความทรงจำ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แล้วแบ่งปันย่างก้าวแห่งชีวิตเหล่านั้นโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่โครงการ Delft Cultural Heritage Browser, DOK-Agora และ Tank U
Delft Cultural Heritage Browser
มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองถูกเก็บรักษาอยู่ในวัตถุ เอกสาร รูปภาพ โปสการ์ด ภาพยนตร์ เทปเสียง ฯลฯ ซึ่งห้องสมุดได้รวบรวมและดัดแปลงให้กลายเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ไว้หลายหมื่นรายการ ในระยะแรกเริ่มไฟล์เหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาห้องสมุดได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย TU Delft เพื่ออธิบายเรื่องราวที่ปรากฏในหลักฐานจดหมายเหตุ อีกทั้งยังร่วมกับพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเมืองเดลฟท์เพื่อสร้างแอพพลิเคชั่นจดหมายเหตุเมือง และร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยี Street Map เพื่อจัดทำแผนที่จดหมายเหตุดิจิทัล
ห้องสมุด DOK ได้นำ Microsoft Surface Table ซึ่งเป็นโต๊ะที่มีหน้าจอแบบสัมผัสมาใช้ในการนำเสนอเนื้อหา โดยตั้งไว้ใกล้ทางเข้าห้องสมุดในจุดที่ผู้ใช้บริการมองเห็นได้อย่างสะดุดตา ผลปรากฏว่าโต๊ะตัวนี้แทบไม่เคยว่าง รูปภาพที่อยู่ในฐานข้อมูลมีอัตราการเปิดดูจากโต๊ะอัจฉริยะสูงกว่าการใช้งานผ่านเว็บไซต์เสียอีก
วิดีโอสาธิตการใช้งาน แอพพลิเคชั่นบน Microsoft Surface Table
DOK-Agora
เป็นหนึ่งในโครงการที่ใหญ่ที่สุดว่าด้วยการตีแผ่เรื่องเล่าและความทรงจำ (story publisher) ของเมืองเดลฟท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์การสื่อสารระหว่างห้องสมุดกับคน และระหว่างคนกับคน ผ่านพลังจากเรื่องเล่าและการสนทนา ลองจินตนาการว่า จะเป็นเรื่องวิเศษขนาดไหนหากลูกหลานฉลองวันเกิดให้กับปู่ย่าตายาย โดยนำเรื่องราวอันทรงคุณค่าของพวกเขามาจัดแสดงไว้ที่ห้องสมุด กระบวนการก็คือ เจ้าหน้าที่จากห้องสมุดจะไปสัมภาษณ์ญาติและเพื่อนๆ ของเจ้าของเรื่องราว ไปเก็บข้อมูลยังสถานที่ที่เขาเคยอาศัยหรือเคยทำงาน เติมเต็มข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้วยวัตถุดิบชั้นเยี่ยมจากโครงการ Delft Cultural Heritage Browser นำมาตัดต่อเนื้อหา ใส่เพลงหรือภาพศิลปะที่พวกเขาชื่นชอบ แล้วมอบให้เป็นของขวัญแก่ชาวเมืองที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ในพื้นที่ห้องสมุดยังมีสถานีเรื่องเล่า ซึ่งมีลักษณะเป็นตู้บันทึกและอัพโหลดวิดีโอด้วยตนเอง รวมทั้งมีสตูดิโอเคลื่อนที่สำหรับถ่ายทำสารคดีซึ่งตระเวนไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนมัธยม เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองหัดสร้างวิดีโอเรื่องเล่าของตนเอง หรือสร้างสรรค์สปอตโฆษณาเพื่อรณรงค์ป้องกันปัญหาที่มักเกิดกับวัยรุ่น ผลลัพธ์จากกระบวนการนี้ ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเขียนสคริปต์ การทำสตอรี่บอร์ด ทักษะด้านมัลติมีเดีย ฯลฯ อย่างสนุกสนาน และเป็นการดึงเยาวชนรุ่นใหม่ให้ยังคงเห็นคุณค่าของห้องสมุด
เรื่องราวที่ถูกเก็บบันทึกไว้จะได้รับการเผยแพร่ในหลายหลายช่องทาง ไฮไลท์คือการใช้กำแพงจอภาพวิดีโอขนาดยักษ์ 33×10 ฟุต ส่วนช่องทางอื่นๆ ได้แก่ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือใช้เป็นวิดีโอประกอบนิทรรศการหรืองานเสวนา ผู้ที่มาใช้บริการในห้องสมุดจะได้รับรู้เรื่องราวความทรงจำที่ถูกแบ่งปัน ก่อให้เกิดสำนึกและความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคม
ทั้งนี้การนำเสนอวิดีโอที่บันทึกไว้จะคัดสรรให้สอดคล้องกับหัวข้อ (theme) ที่กำหนดไว้ซึ่งจะเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน ห้องสมุดได้ร่วมมือกับ TOP (Technical Meeting Point) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการจัดประชุมให้นักวิทยาศาสตร์และศิลปินที่มีนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ในการคิดหัวข้อซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะส่งอิทธิพลต่อเมืองในอนาคตข้างหน้า เมื่อเปลี่ยนหัวข้อใหม่ห้องสมุดจะจัดงานประชาสัมพันธ์ร่วมกับสภาเมืองเดลฟ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับชาวเมือง และเมื่อจะปิดตัวแต่ละหัวข้อก็จะมีการจัดกิจกรรมและงานเสวนา เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึงแก่นของเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าเหล่านั้น
กำแพงจอภาพวิดีโอ (video wall) และพื้นที่โล่งที่ปรับเปลี่ยนไปได้ตามกิจกรรมที่จัด
ไกลไปจากเมืองเดลฟ์ ห้องสมุดได้ทดลองทำโครงการลักษณะคล้ายกันในต่างประเทศด้วย คือ Shanachie Tour 2007 (Shanachie เป็นชื่อนักเล่านิยายปรัมปราชาวไอร์แลนด์ ซึ่งเดินทางเล่านิทานไปทั่วประเทศเพื่อแลกกับอาหารและที่พัก) บรรณารักษ์ 3 คน ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 สัปดาห์กว่า 5 พันไมล์ด้วยรถ RV เพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องเล่า สร้างเพื่อนใหม่ และแลกเปลี่ยนความคิดที่มีค่าซึ่งกันและกัน
Tank U
DOK Library Concept Center เชื่อว่ารูปแบบของข้อมูลและความรู้ในรุ่นลูกรุ่นหลานจะต้องเปลี่ยนไป หนังสืออาจกลายเป็นของหายากที่มีเก็บไว้ที่บ้าน ส่วนห้องสมุดจะเป็นที่เก็บข้อมูลดิจิทัล โครงการ Delft Cultural Heritage Browser และ DOK-Agora ดังกล่าวข้างต้นมุ่งเน้นการพาชาวเมืองย้อนกลับไปยังอดีต ส่วนโครงการ Tank U เกิดขึ้นเพื่อที่จะพาผู้อ่านกลับมายังปัจจุบันซึ่งเป็นยุคสมัยของเทคโนโลยี เพราะเล็งเห็นว่าอุปกรณ์โมบายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเชื่อมคนและเรื่องราวของพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน
Tank U เป็นจุดดาวน์โหลดห้องสมุดฉบับกระเป๋าตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั่วเมือง เช่น สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า โรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ บรรณารักษ์ได้คัดเลือกเนื้อหาทั้งที่เป็นแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ หนังสือเสียง รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ข้อมูลการท่องเที่ยว โดยการประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้เนื้อหามีคุณภาพ มีความหลากหลาย และมีพลวัตอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีอุปกรณ์โมบายสามารถดาวน์โหลดผ่านบลูทูธไว้อ่านที่ใดเมื่อใดก็ได้
บทเรียนสำคัญจากประสบการณ์การทำงานของ DOK Library Concept Center ก็คือ บรรณารักษ์สำหรับศตวรรษที่ 21 จะกลายเป็น media guide ทำหน้าที่ช่วยให้คนได้ค้นหาข้อมูลอย่างไม่มีอุปสรรคขวางกั้น ชี้แนะการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้ามา เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และไม่ลืมที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อที่จะเชื่อมโยงผู้คนให้มีปฏิสัมพันธ์ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเกิดแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต
ชุมชนนักอ่านในศตวรรษที่ 21 : Noord Oost Brabantse Bibliotheken
ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเนเธอร์แลนด์ ประกอบไปด้วยห้องสมุดสาขา 14 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการประชากรคน 2 แสนคน ซึ่ง 1 ใน 4 เป็นสมาชิกห้องสมุด มีเจ้าหน้าที่ 150 คน
Noord Oost Brabantse Bibliotheken เชื่อว่า ห้องสมุดในอนาคตควรจะมีหนังสือน้อยลงแล้วให้คุณค่ากับความสัมพันธ์เพิ่มขึ้น (less collection, more connection) เพราะหนังสือเป็นความรู้ทุติยภูมิ ในขณะที่ผู้คนและชุมชนเป็นขุมทรัพย์ของความรู้และและประสบการณ์อันประเมินค่ามิได้ ดังนั้นห้องสมุดในอนาคตไม่ควรจะหยุดบทบาทของตัวเองอยู่ที่การเป็นแค่ผู้ส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร แต่ควรสร้างโอกาสที่จะสัมผัสและสัมพันธ์กับชีวิตของชุมชนให้มากขึ้น
The Stalwart Readers
เป็นบุ๊คคลับที่แตกต่างออกไปจากขนบเดิมๆ ที่คนในพื้นที่เดียวกันมักจะอ่านหนังสือเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่เป็นโครงการที่หนอนหนังสือมาร่วมกันเพื่ออ่านงาน non fiction ซึ่งเลือกจากรายชื่อหนังสือที่บรรณารักษ์ได้คัดสรรไว้อย่างอิสระตามที่ตนสนใจสัปดาห์ละหนึ่งเล่ม โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2012 มีสมาชิกคน 40 คน อายุระหว่าง 30-70 ปี ระยะเวลาดำเนินงานแต่ละรอบประมาณ 1 ปี รวมแล้วสมาชิกแต่ละคนจะอ่านหนังสือประมาณ 40 เล่ม เป้าหมายของโครงการคือ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ดึงดูดให้คนสนใจหนังสือ อยากที่จะแบ่งปันความคิดจากการอ่าน รวมทั้งสร้างความผูกพันระหว่างผู้ใช้บริการกับห้องสมุด
รายชื่อหนังสือจัดทำโดยบรรณารักษ์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหนังสือประเภท non-fiction และมีนิสัยเป็นนักอ่านตัวยง คืออ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 เล่ม หัวข้อหลักของหนังสือสำหรับโครงการนี้มี 3 เรื่อง คือ เรื่องเล่าในยุคของเรา ความเป็นมนุษย์ และเรื่องเกี่ยวกับอนาคต ซึ่งหนังสือเหล่านี้จะช่วยให้เปิดโลกทัศน์ให้กับผู้อ่าน เกิดความคิดใหม่ๆ มีแรงบันดาลใจในชีวิต และพร้อมที่จะก้าวไปสู่สังคมศตวรรษที่ 21
เมื่อโครงการดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง บรรณารักษ์ได้พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า ชุมชนนักอ่าน The Stalwart Readers จะเริ่มเห็นข้อจำกัดบางด้านของห้องสมุด เพราะความรู้จากการอ่านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อเรื่องราวที่พวกเขาสนใจ บางครั้งสมาชิกจึงนำข่าวสารปัจจุบันมาอธิบายร่วมกับหนังสือที่เขาอ่าน บ้างก็ชักชวนกันไปโรงละคร หรือไปฟังการบรรยายที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักของหนังสือ หรือคนที่ชอบอ่านหนังสือคอเดียวกันก็อาจจะรวมตัวกันแยกไปเป็นกลุ่มย่อยๆ
นอกจากนี้ ห้องสมุดยังได้สร้างชุมชนนักอ่านในโลกออนไลน์ในรูปแบบเว็บบล็อก โดยนำเสนอเนื้อหาโดยสังเขปเกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่มที่อยู่ในรายชื่อ คัดลอกเนื้อหาบางตอนที่น่าสนใจ และบรรยายถึงคุณค่าที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้เข้ามาอยู่ในโครงการ ปัจจุบันรายชื่อหนังสือของเหล่านักอ่านมีถึงกว่า 2,000 เล่ม
The Stalwart Readers เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมห้องสมุดแห่งชาติ ของเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2013
บล็อกของชุมชนนักอ่าน The Stalwart Readers หรือ Lezers van Stavast ในภาษาดัตช์
Wisdom in times of crisis
ในช่วงที่สหภาพยุโรปประสบกับปัญหาหนี้สาธารณะซึ่งส่งผลกระทบให้ชาวดัตช์จำนวนหนึ่งต้องตกงาน Noord Oost Brabantse Bibliotheken มองเห็นโอกาสที่จะสร้างบทบาทใหม่ให้แก่ห้องสมุดในการเป็นที่พึ่งทางปัญญาในยามวิกฤต ให้กำลังใจผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาให้เห็นทางออกของชีวิต นั่นคือโครงการ Wisdom in times of crisis
โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี 2013 ห้องสมุดเห็นว่าผู้ที่ตกงานมีทั้งวัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่อยากสะท้อนให้ผู้อื่นรับฟัง ในขณะที่ห้องสมุดสามารถช่วยเหลือโดยแนะนำหนังสือที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน มุมมองใหม่ๆ และความรู้ที่จะมีส่วนช่วยให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดี ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากมีวงสนทนาที่ได้ผสานภูมิปัญญาจากหนังสือและภูมิปัญญาจากผู้อ่านเข้าไว้ด้วยกัน
ห้องสมุดเปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการครั้งละไม่เกิน 15 คน เพื่อให้กระบวนการสนทนาสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาจะมาพบปะกันที่ห้องสมุดทุกๆ 3 สัปดาห์ เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตามหัวข้อที่ห้องสมุดได้กำหนดขึ้นแต่ละครั้ง เช่นเรื่องความดีงาม 10 ประการสำหรับยุคทันสมัย สมาชิกก็จะอภิปรายเกี่ยวกับคุณค่าของความดีงามที่มีต่อตนและสังคม และยกตัวอย่างเรื่องราวจากประสบการณ์ หนังสือ เพลง หรือภาพยนตร์ ที่สะท้อนถึงคุณค่าเหล่านั้น บรรณารักษ์จะจัดทำรายชื่อหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการสนทนา พร้อมทั้งบอกเหตุผลว่าหนังสือเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับความดีงามอย่างไร สมาชิกโครงการ Wisdom in times of crisis เกิดความประทับใจในกิจกรรมนี้มาก เนื่องจากได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยได้อ่านหรือได้รับฟังมาก่อน โครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 7 เดือน สมาชิกสะท้อนสิ่งที่ได้รับจากโครงการว่า เขาเคารพผู้อื่นมากขึ้น ได้เรียนรู้ที่จะมีความอ่อนโยน มีความอดทนมากขึ้น มีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างขึ้น และได้อ่านหนังสือมากขึ้น
ในปี 2014 เกิดโครงการต่อเนื่องชื่อ Wisdom of Stories ซึ่งเน้นเรื่องคุณค่าของศิลปะกับการเยียวยา ซึ่งจะมีการแบ่งปันเรื่องเล่าที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และวิเคราะห์ว่าเรื่องเล่านั้นได้ช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงได้อย่างไร
ห้องสมุดสาขา Nistelrode ของ Noord Oost Brabantse Bibliotheken
ทั้งโครงการ The Stalwart Readers และ Wisdom in times of crisis ของ Noord Oost Brabantse Bibliotheken ต่างก็มุ่งเน้นให้ห้องสมุดสาธารณะมีบทบาทต่อพลเมืองและสังคมในด้านการสนับสนุนพื้นที่และความรู้ โดยเป็นสะพานเชื่อมคนและหนังสือเข้าไว้ด้วยกัน ก่อให้เกิดเป็นกลุ่มหรือชุมชนนักอ่านที่มีอัตลักษณ์ มีการพึ่งพาอาศัยกัน มีการแสวงหาความรู้ มีการรวมกลุ่มสนทนาและรับฟังกัน
บรรณารักษ์ คือหัวใจของชุมชนนักอ่านที่เกิดขึ้น ดังนั้น บรรณารักษ์ยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่เพียงเสมียนที่ทำงานในห้องสมุด แต่จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ทางสังคม เป็นทั้งนักล่าข้อมูล ผู้นำทางปัญญา ครู และผู้เชื่อมประสานอาณาจักรของข้อมูลกับความต้องการของผู้ใช้บริการ
รวบรวม แปล และเก็บความโดย นางสาวทัศนีย์ จันอินทร์ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, มิถุนายน 2558
แหล่งข้อมูล