เป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ห้องสมุดประสบกับปัญหาทางสองแพร่ง เนื่องจากบทบาทในฐานะแหล่งเก็บรักษาหนังสือและสื่อสารสนเทศเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้นั้น เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลที่รุกคืบเข้ามาแทนที่จนมีผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต Wi-Fi อีบุ๊ค และเว็บไซต์แอมะซอน
โลอิดา การ์เซีย-ฟีโบ (Loida Garcia Febo) นายกสมาคมห้องสมุดอเมริกัน บอกว่า ห้องสมุดพยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยการกำหนดบทบาทใหม่ให้ชัดเจนขึ้น และใช้เวลาไปไม่น้อยเพื่อให้ได้เงินทุนมาสร้างสิ่งซึ่งเรียกว่าเป็น... “การริเริ่มโครงการใหม่อันน่าอัศจรรย์ ซึ่งในท้ายที่สุดได้กลายเป็นปรากฏการณ์ให้เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีห้องสมุดใหม่หลายสิบแห่งเกิดขึ้นทั่วโลก หน้าตาของมันดูไม่เหมือนกับภาพของห้องสมุดซึ่งเป็นคลังหนังสือดังที่เห็นกันคุ้นเคยมาเมื่อในอดีตอีกต่อไป
ห้องสมุดจำนวนมากก้าวหน้าไปไกล มีสิ่งอำนวยความสะดวกแปลกใหม่ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเดินออกจากบ้านมาเข้าห้องสมุด บางแห่งถึงกับเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นให้แวะเข้ามาเยี่ยมชม ทุกวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นห้องสมุดมีสวนพักผ่อนบนหลังคา มีระเบียงไว้หย่อนใจชมทิวทัศน์ มีพื้นที่สำหรับการเล่นหรือแสดง ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเล่นเกม ศูนย์รวมวัยรุ่น ห้องจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ภัตตาคารหรือร้านอาหาร มีแม้กระทั่งระฆังใบยักษ์ที่จะส่งเสียงดังกังวานก้องโถงห้องสมุดทุกครั้งเมื่อมีคุณแม่ให้กำเนิดทารกตัวน้อยออกมาลืมตาดูโลกเป็นสมาชิกใหม่ในเมืองแห่งนั้น[1]
ห้องสมุดหลายแห่งมีพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งสอดคล้องกับผู้ประกอบการอิสระที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นแค่สถานที่ทางเลือกนอกเหนือจากร้านกาแฟหรือ Co-working Space ทั่วไป เพราะห้องสมุดบางแห่งยังจัดห้องประชุมไว้เฉพาะสำหรับให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ได้พบปะกับลูกค้าที่มีศักยภาพด้วย บรรณารักษ์หัวการค้าบางคนยังมีความสามารถในการให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเงิน หรือจัดอบรมให้ความรู้เพิ่มทักษะจำเป็นในการประกอบธุรกิจอีกด้วย
ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่สาธารณะซึ่งมอบบริการที่ไม่สามารถหาได้ที่บ้าน ถ้าหากยี่สิบปีที่แล้วคือการให้บริการอ่านและยืมคืนหนังสือ ห้วงเวลาปัจจุบันก็คือการนำเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพงเกินกว่าจะซื้อหาไว้ใช้มาให้บริการ อาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ สตูดิโอผลิตสื่อภาพและเสียง หรือมิเช่นนั้นผู้ใช้บริการก็เข้ามาเพื่อทดลองใช้งานอุปกรณ์บางอย่าง ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจซื้อของจริง ถ้าหากราคาไม่สูงจนเกินไป
ความต้องการพบปะสังสรรค์กันของผู้คนที่มีเป้าประสงค์แตกต่างหลากหลาย มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การออกแบบก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น ห้องสมุดยุคใหม่หลายแห่งถึงกับว่าจ้างสถาปนิกชั้นนำระดับโลกมาสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่ใครได้เห็นแล้วต้องตกตะลึงอ้าปากค้าง
ห้องสมุดใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนภาพจำที่ผู้คนเคยมีต่อห้องสมุดแบบเดิม ผ่านสื่อโซเชียลที่กลายเป็นไวรัลจนดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม หนังสือจึงไม่ใช่จุดขายของห้องสมุดยุคใหม่อีกต่อไป แต่กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบอาคารและการตกแต่งภายใน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัด ซึ่งได้เข้ามาบดบังรัศมีแทนที่หนังสือไปแล้ว
ต่อไปนี้คือตัวอย่างห้องสมุดสุดสร้างสรรค์ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน และที่กำลังจะเปิดให้บริการ ซึ่งกำลังถูกกล่าวขานกันอยู่ในหมู่นักท่องเที่ยวเวลานี้
ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ ‘โอดิ’ (Helsinki Central Library Oodi)
เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ประเทศฟินแลนด์ฉลองเอกราชครบรอบ 101 ปีที่เป็นอิสระจากรัสเซีย หนึ่งวันก่อนหน้านั้นชาวฟินแลนด์ได้รับของขวัญวันครบรอบนี้ด้วยห้องสมุดกลางแห่งใหม่ในกรุงเฮลซิงกิ ชื่อว่า ‘โอดิ’ (Oodi)
รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองเฮลซิงกิได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 68 ล้านยูโร ขณะที่รัฐบาลกลางสมทบให้อีกกว่า 30 ล้านยูโร สร้างสรรค์อาคารห้องสมุดตั้งอยู่ ณ จุดตรงกันข้ามกับรัฐสภาแห่งชาติพอดี โดยมีบริษัท เอแอลเอ อาร์คิเตกทส์ (ALA Architects) เป็นผู้ออกแบบอาคาร ชนะคู่แข่งที่เข้ามาเสนองานที่มีจำนวนถึง 543 ราย
ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ ‘โอดิ’ ใช้พื้นที่เพียงหนึ่งในสาม สำหรับการให้บริการหนังสือ ที่เหลือคือพื้นที่เพื่อการเรียนรู้
Photo: Tuomas Uusheimo
พื้นที่รองรับปริมาณหนังสือที่มีไว้ให้บริการอ่านหรือยืมคืน มีสัดส่วนอยู่ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่รวม 185,000 ตารางฟุต หรือราว 17,000 ตารางเมตร โดยมีหุ่นยนต์ช่วยในเรื่องการขนส่งภายใน ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลุ่มซึ่งออกแบบไว้สำหรับการประชุม พบปะ และการทำเวิร์คช็อปหรือลงมือปฏิบัติ
ชั้นบนสุดเรียกว่า “สวรรค์หนังสือ” (book heaven) ทั่วบริเวณตกแต่งด้วยไม้กระถาง ผู้ใช้บริการสามารถนั่งเหยียดแขนขาได้ตามสบายบนพื้นพรมขนสัตว์คุณภาพสูงชนิดพิเศษ พื้นที่ชั้นสอง สำหรับจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป มีอุปกรณ์อย่างเช่น จักรเย็บผ้า เครื่องพิมพ์และเครื่องสแกน เครื่องตัดเลเซอร์ และพื้นที่สำหรับงานเชื่อมโลหะด้วยเครื่องบัดกรี นอกจากนั้นยังสำรองพื้นที่สำหรับจัดตลาดนัดและเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและใหม่ได้มีโอกาสพบปะกับคู่ค้าหรือลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นห้องสมุดยังจัดโต๊ะหรือเคาน์เตอร์กลางไว้สำหรับเป็นศูนย์รวมข้อมูลกิจการของบริษัทร้านค้าต่างๆ ให้กับผู้เยี่ยมชมที่สนใจ
เดือนมีนาคม 2562 มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมห้องสมุดโอดิแตะหลัก 1 ล้านคน แอนนา มาเรีย โซอินวารา (Anna-Maria Soininvaara) ผู้อำนวยการห้องสมุดโอดิบอกว่า มีนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก กลุ่มหลักมาจากประเทศในยุโรป รองลงมาคือจีน ญี่ปุ่น และอเมริกา โดยทั่วไปผู้มาเยี่ยมชมอยากมาเห็นและทดลองใช้พื้นที่เมกเกอร์สเปซ และมักจะถามว่าหนังสืออยู่ที่ไหน เพราะบนชั้นหนังสือจะมีที่ว่างเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งเสมอ เนื่องจากมีคนหยิบยืมออกไปอ่าน
วีดิทัศน์แนะนำ ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ ‘โอดิ’
พิพิธภัณฑ์วรรณกรรม (Museum of Literature)
ดับลิน, ไอร์แลนด์
บรรยากาศอันรื่นรมย์ของพิพิธภัณฑ์วรรณกรรม
Photo : Conor Healy
ที่สวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์คในเมืองดับลิน มีอาคารทรงจอร์เจียนขนาดใหญ่สามตึก อาคารหลังหนึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ ริชาร์ด แคสเซล (Richard Cassels) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ริชาร์ด แคสเซิล (Richard Castle) ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ด้านหลังของอาคารดังกล่าวเป็นสวนสไตล์วิกตอเรียนที่เปิดให้ผู้คนได้ค้นหาความลับมากมายในโอเอซิสกลางเมืองหลวงแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือต้นสตรอเบอรี่อายุกว่า 200 ปี
พื้นที่และอาคารส่วนนี้เดิมเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยดับลิน (University College Dublin) ซึ่งเคยเป็นสถานศึกษาของนักเขียนชาวไอริชที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคน วันที่ 20 กันยายน 2562 ตึกเหล่านี้เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก ในชื่อ “พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมไอร์แลนด์ (Museum of Literature Ireland หรือ MoLI)
Photo : ©Scott Tallon Walker Architects
ภายในพิพิธภัณฑ์จะได้พบกับโรงละครเก่าที่เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) [2] ใช้เป็นสถานที่เริ่มต้นลงมือเขียนเนื้อหาบทหนึ่งในหนังสือเรื่อง “ภาพชีวิตวัยเยาว์ของศิลปิน” (A Portrait of the Artist as a Young Man) และยังจัดแสดงหนังสือเรื่อง “ยูลิสซีส” (Ulysses) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เตียงนอนของเจอราร์ด แมนลีย์ ฮ็อปกินส์ (Gerard Manley Hopkins) [3] ที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จดหมายส่วนตัวหลายฉบับของเจมส์ จอยซ์ ก็ถูกนำออกมาจากแหล่งเก็บสะสมเพื่อใช้ในการจัดแสดงที่นี่ด้วย
Photo : ©Scott Tallon Walker Architects
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีห้องอ่านหนังสือและห้องสมุดเพื่อการวิจัยซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เจมส์ จอยซ์ บริเวณสวนยังจัดที่นั่งไว้สำหรับให้ผู้ใช้สามารถนั่งทำงานท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติได้อีกด้วย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ไซมอน โอคอนเนอร์ (Simon O’Conner) กล่าวว่า พวกเขาต้องใช้ความมุ่งมั่นพยายามอย่างสูงในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนทั่วไป เพื่อที่จะนำสถานที่เก่าแก่ในดับลินอย่างเช่นบ้านและสวนที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ มาปรับปรุงใหม่และเปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ และเขายังตื่นเต้นอย่างมากที่พิพิธภัณฑ์ได้มีสถานีวิทยุเป็นของตัวเอง เพื่อออกอากาศเรื่องราวสาระต่างๆ เกี่ยวกับวรรณกรรรมและพิพิธภัณฑ์ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
“นักวิชาการ นักดนตรี นักเขียน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในเมือง สามารถหยุดแวะเข้ามาเยี่ยมชม (ฟัง) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ตลอดเวลา ที่นี่คือสิ่งที่มีลมหายใจและมีชีวิตชีวา”
สมุดโน้ตงานเขียนเรื่อง “ยูลิสซีส” ของ เจมส์ จอยซ์
Photo : Museum of Literature Ireland
ห้องสมุดกลางคัลการี (Calgary New Central Library)
คัลการี, แคนาดา
รถไฟแล่นลอดผ่านใต้อาคารห้องสมุดกลางแห่งใหม่เมืองคัลการี
Photo : Michael Grimm
ความแปลกใหม่ของห้องสมุดกลางแห่งใหม่ในเมืองคัลการี คือถูกออกแบบให้สร้างคร่อมทางรถไฟรางเบาซึ่งมีอยู่แล้วก่อนหน้า ลักษณะอาคารชั้นล่างบริเวณโถงต้อนรับจากทางเข้าจึงมีรูปทรงเป็นสะพานโค้งเพื่อให้ขบวนรถไฟลอดผ่านได้ ภายในห้องสมุดจึงจัดเก้าอี้ไว้ในโซน “ห้องนั่งเล่น” สำหรับให้ผู้ใช้บริการได้นั่งชมขบวนรถไฟวิ่งแล่นผ่านไปมาตลอดทั้งวัน
ห้องสมุดกลางแห่งใหม่เปิดให้บริการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นการก่อสร้างใหม่บนพื้นที่ของห้องสมุดกลางแห่งเดิมซึ่งมีขนาดเล็กเกินไปจนไม่อาจรองรับความต้องการใช้งานของประชาชน เนื่องจากจำนวนประชากรเมืองคัลการีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ห้องสมุดกลางแห่งเดิมเปิดใช้งาน ขณะที่ห้องสมุดกลางแห่งใหม่มีพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 60
บรรยากาศห้องสมุดกลางคัลการี
Courtesy of Snøhetta
ประสบการณ์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับมีตั้งแต่ “ความสนุก” ไปจนถึง “ความจริงจัง” ผ่านเส้นทางที่เดินเวียนขึ้นไปตามบันไดแต่ละชั้น ที่ชั้นล่างมีร้านกาแฟสองแห่ง ศูนย์เยาวชน พื้นที่สำหรับเด็ก และโรงหนังขนาด 320 ที่นั่ง ส่วนชั้นบนสุดเป็นห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นพื้นที่ห้องสมุดแบบดั้งเดิม พื้น ผนัง และเพดาน ทำด้วยไม้แผ่นจากธรรมชาติ เคท ธอมป์สัน (Kate Thompson) รองประธานด้านการพัฒนาในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาห้องสมุดแห่งใหม่ บอกว่า “ห้องนี้เงียบสงัดอยู่เสมอแม้ว่าจะไม่มีป้ายติดผนังขอให้งดใช้เสียง ใครที่ก้าวเข้ามาจะรู้สึกราวกับว่าทุกคนกำลังจดจ่ออยู่กับการอ่านและศึกษาค้นคว้าภายในโอเอซิสที่ทำด้วยไม้”
บรรยากาศห้องสมุดกลางคัลการี
Courtesy of Snøhetta
คัลการีเป็นหนึ่งในหลายเมืองของแคนาดาที่กำลังจะมีห้องสมุดขนาดใหญ่เกิดใหม่ (new super-library) อาทิเช่นที่เมืองออตตาวา รัฐบาลท้องถิ่นใช้งบประมาณ 192.9 ล้านเหรียญในการก่อสร้างห้องสมุดแห่งใหม่และมีกำหนดเปิดในปี 2567 ซึ่งจะกลายเป็นจุดไฮไลต์แห่งใหม่ในการชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำออตตาวา พื้นที่ส่วนหนึ่งในห้องสมุดแห่งนี้ยังใช้สำหรับการจัดนิทรรศการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติแคนาดาอีกด้วย ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมืองเอดมันตัน มลรัฐแอลเบอร์ตา ก็มีแผนเปิดตัวห้องสมุดมิลเนอร์แห่งใหม่ (new Milner Library) จุดขายของที่นี่คือโต๊ะจอสัมผัสขนาด 65 นิ้วตรงล็อบบี้ทางเข้า เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นใหม่สำหรับให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลป์ดิจิทัล เล่นเกม หรือตอบแบบสอบถาม
วีดิทัศน์นำชมห้องสมุดกลางคัลการี
หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ (Qatar National Library)
โดฮา, กาตาร์
หอสมุดแห่งชาติกาตาร์
Photo : www.moltenigroup.com
หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวดัตช์ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) และเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนเมษายน 2561 ว่ากันว่าพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความเคารพต่อการเรียนรู้ของประเทศ
เมื่อเดินผ่านทางเข้าห้องสมุดเข้ามา จะพบกับหนังสือที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางจำนวนเกือบหนึ่งล้านเล่ม ในจำนวนนี้เป็นหนังสือเด็ก 137,000 เล่มและหนังสือสำหรับวัยรุ่น 35,000 เล่ม ดร.โซฮาอีร์ วัสตาวี (Sohair Wastawy) กรรมการบริหารห้องสมุด บอกว่า “สถาปนิกออกแบบและสร้างทางเข้าห้องสมุดให้มีความลาดเอียง เวลาที่เราเดินเข้ามาจึงดูเหมือนกับว่ากองหนังสือเหล่านี้กำลังค่อยๆ โผล่ออกมาจากพื้น ซึ่งมีความหมายว่าห้องสมุดคือแหล่งที่หยิบยื่นหนังสือมาให้กับผู้คนที่กำลังแสวงหาความรู้”
Photo : Delfino Sisto Legnani and Marco Cappelletti
เพดานกระจกความสูง 72 ฟุต เปิดให้แสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาเต็มที่ เพราะความรู้เปรียบเหมือนแสงสว่าง ดังนั้นแสงสว่างจึงจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ยังมีส่วนที่เรียกว่า “ห้องสมุดมรดกสำคัญ” (The Heritage Library) มีห้องเก็บรักษาวัตถุเก่าแก่ที่มีความสำคัญของประเทศและภูมิภาค จำนวน 11 ห้อง ทุกห้องอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 20 ฟุต หากมองดูเผินๆ ก็เหมือนแหล่งขุดค้นโบราณคดี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความหมายว่ามรดกล้ำค่าเหล่านี้เป็นรากฐานของชาติหรือรากฐานของแผ่นดิน
หอสมุดแห่งชาติกาตาร์จัดกิจกรรมมากถึงเดือนละ 80-90 กิจกรรมโดยผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
Photo : Qatar National Library
ทุกเดือน วง ‘กาตาร์ฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา’ (Qatar Philharmonic Orchestra) จะจัดแสดงดนตรีให้สาธารณะรับชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งใน 80 ถึง 90 กิจกรรมที่ห้องสมุดจัดเป็นประจำทุกเดือนโดยผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันหนึ่งคือการถักนิตติ้ง บรรดาผู้หญิงจะเข้ามาที่ห้องสมุดทุกวันพฤหัสและรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันกว่าสี่ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีห้องปฏิบัติการสอนเขียนเพลง การผลิตสื่อสำหรับเผยแพร่ออกอากาศ และพื้นที่เล่นสำหรับเด็กๆ ทุกช่วงวัย
“โดยทั่วไป ชาวกาตาร์ไม่ค่อยมีพื้นที่ชุมชนในลักษณะแบบนี้ มีแค่เพียงร้านกาแฟหรือร้านค้าไว้พบปะกัน แต่ตอนนี้ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ที่คนทั้งครอบครัวสามารถเข้ามาทำกิจกรรมได้ตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย” ดร.โซฮาอีร์ กล่าว
วีดิทัศน์แนะนำหอสมุดแห่งชาติกาตาร์
ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่ (Tianjin Binhai Library)
เทียนจิน, จีน
Photo: © Ossip van Duivenbode
ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่ สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ใหม่ในย่านปินไห่ เป็นแผนพัฒนาที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2552 โดยการรวมพื้นที่สามเขตของเมืองเทียนจิน ซึ่งเป็นเมืองท่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน
ห้องสมุดเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2560 เพียบพร้อมทุกสิ่งที่ห้องสมุดจำเป็นต้องมี ไม่ว่าจะเป็นห้องอ่านหนังสือ พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ชั้นหนังสือและคลังจัดเก็บทรัพยากรทุกประเภท แต่ทว่าผู้เข้าเยี่ยมชมส่วนใหญ่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมาใช้บริการของห้องสมุด พวกเขาเดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อที่จะมาชมสถาปัตยกรรมอันน่าอัศจรรย์ที่สร้างสรรค์โดยบริษัท MVRDV ของเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับสถาปนิกท้องถิ่นชาวจีนจากหน่วยงานที่ชื่อ “สถาบันออกแบบและวางแผนเมืองเทียนจิน”
ห้องออดิทอเรียมทรงกลมและชั้นหนังสือจริง (ผสมหนังสือปลอม)
บริเวณพื้นที่โถงกลาง เป็นจุดเซลฟี่ยอดนิยมของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมห้องสมุด
Photo: © Ossip van Duivenbode
สัปดาห์แรกที่เปิดบริการมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมห้องสมุดเฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 คน ผู้คนต่อคิวเป็นแถวยาวเหยียดล้นออกไปถึงถนนเพื่อรอเข้ามาในห้องสมุด
ห้องสมุดมีพื้นที่ใช้สอย 363,000 ตารางฟุต (ประมาณ 33,700 ตารางเมตร) จากทางเข้าเป็นห้องโถงรับรองขนาดใหญ่ ทั่วทั้งห้องถูกทาเป็นสีขาวตั้งแต่พื้นไปตลอดจนเพดาน ตรงกลางโถงมีห้องออดิทอเรียมทรงกลมที่เรียกชื่อเล่นว่า “ดิ อาย” (the eye) เป็นสิ่งดึงดูดสายตา ผนังโดยรอบห้องโถงกลางเป็นชั้นหนังสือที่มีความสูงจากพื้นจรดเพดาน ออกแบบให้มีความคดโค้งเหมือนลูกคลื่น ชั้นหนังสือที่อยู่ในระดับซึ่งคนสามารถหยิบดูได้จะมีหนังสือจริงๆ ให้เลือกหยิบและเปิดอ่าน แต่ชั้นหนังสือที่อยู่สูงเกินมือเอื้อมถึงไปจนสุดเพดานจะทำเป็นแผ่นอะลูมิเนียมพ่นสีเลียนแบบให้ดูเหมือนสันหนังสือ เมื่อมองเผินๆ จึงดูเหมือนกับมีหนังสืออัดแน่นอยู่เต็มชั้นรายรอบห้อง
ห้องออดิทอเรียมทรงกลมและชั้นหนังสือจริง (ผสมหนังสือปลอม)
บริเวณพื้นที่โถงกลาง เป็นจุดเซลฟี่ยอดนิยมของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมห้องสมุด
Photo: © Ossip van Duivenbode
พื้นที่ส่วนนี้เองที่กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับถ่ายเซลฟี่หรือโพสต์ลงอินสตาแกรม ในขณะที่โซนห้องสมุดแบบที่เห็นกันทั่วไปนั้นจะอยู่ในห้องถัดไปจากบริเวณโถงกลาง ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีผู้คนแวะเวียนไปชมกันมากคือชั้นดาดฟ้า ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบอาคารห้องสมุด
วีดิทัศน์นำชมห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่
ห้องสมุดกลางออสติน (Central Library in Austin)
ออสติน, เท็กซัส, สหรัฐอเมริกา
Photo : website glassdoor.com
ห้องสมุดกลางในเมืองออสตินเปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ด้วยความเชื่อแบบชาวเท็กซัสคือ ‘ยิ่งใหญ่ยิ่งดี’ เป็นอาคาร 6 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 200,000 ตารางฟุต (ประมาณ 18,500 ตารางเมตร) มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของห้องสมุดกลางแห่งเดิมซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไม่ถึงครึ่งไมล์
ห้องสมุดกลางออสตินตั้งอยู่ใกล้กับ โชแอลครีก (Shoal Creek) และทะเลสาบเลดี้เบิร์ด (Lady Bird Lake) ซึ่งมีธรรมชาติอันสวยงาม ทำให้ห้องสมุดมีจุดดึงดูดผู้ใช้และผู้เยี่ยมชมในเรื่องของทัศนียภาพภายนอก สถาปนิกออกแบบให้มีระเบียงเชื่อมกับห้องอ่านหนังสือทั่วทั้งอาคาร เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเดินออกไปสัมผัสใกล้ชิดกับความงามของธรรมชาติได้ตลอดเวลา
โลอิดา การ์เซีย-ฟีโบ (Loida Garcia Febo) นายกสมาคมห้องสมุดอเมริกัน ซึ่งได้เข้าไปเยี่ยมชมห้องสมุดแห่งนี้บอกว่า “การออกแบบของที่นี่ให้ความรู้สึกสงบ ชุมชนจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการได้เข้าถึงห้องสมุดแบบนี้ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งช่วยให้ผู้คนสามารถหลีกเร้นออกจากความสับสนวุ่นวาย”
ห้องสมุดกลางออสติน สุขสงบ ใกล้ชิดธรรมชาติ พื้นที่เรียนรู้สำหรับผู้รักความสงบอย่างแท้จริง
Photo : Jonh Anderson
ภายในห้องสมุดกลางออสตินยังมี “ห้องสมุดเมล็ดพันธุ์” ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเบิกเอาออกไปเพาะปลูกเองได้ที่บ้าน อีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีความโดดเด่นคือที่นี่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เอาไว้ใช้เองเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในอาคาร อีกทั้งยังเก็บกักน้ำฝนบรรจุถังเอาไว้ถึง 373,000 แกลลอน หรือประมาณ 1.4 ล้านลิตร ไว้สำหรับใช้กับห้องน้ำและใช้รดน้ำต้นไม้หรือสนามหญ้า
Photo : Jonh Anderson
ยังมีพื้นที่แปลกๆ อยู่บนชั้น 5 ที่เรียกว่า “สวนสัตว์เปิดเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นพื้นที่อิสระให้ผู้ใช้ห้องสมุดได้ทดลองใช้หรือเล่นอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมี (หรือมีราคาสูงจนไม่สามารถจะซื้อหาและเป็นเจ้าของ) แต่ห้องสมุดนำมาสาธิตหรือจัดแสดง โดยให้ทดลองใช้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปบนแท็บเล็ต การทดสอบหลอดไฟ Wifi อัจฉริยะ การสร้างโมเดลด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ และการบันทึกเพลงที่ห้องสตูดิโอ
วีดิทัศน์แนะนำห้องสมุดกลางออสติน
ไดค์มัน บยอร์วิกา (Deichman Bjørvika)
หรือห้องสมุดประชาชนออสโล (Oslo’s public library)
ออสโล, นอร์เวย์
ไดค์มัน บยอร์วิกา หรือห้องสมุดประชาชนออสโล คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 2563
ถูกออกแบบเพื่อที่จะมองเห็นและถูกมองเห็น
Photo : Atelier Oslo
ห้องสมุดไดค์มันสาขาหลักแห่งใหม่ (new main branch of Deichman) หรือห้องสมุดประชาชนออสโล ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในย่านบยอร์วิกา ตามกำหนดการจะแล้วเสร็จและเปิดบริการในช่วงฤดูใบไม้ผลิ [4] ปี 2563 ห้องสมุดถูกวางบทบาทให้เป็นแลนด์มาร์กของเมือง เป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ ความรู้และคุณค่าของเมือง และเป็นศูนย์กลางความบันเทิง
ห้องสมุดนี้ถูกออกแบบเพื่อที่จะมองเห็นและถูกมองเห็น (to see and be seen) ยอดสูงเหนือหลังคาอาคารสามารถมองเห็นได้จากย่านกลางเมืองของกรุงออสโล และจากสถานีรถไฟ ประตูทางเข้าขนาดมหึมาหันไปทางทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ เพื่อต้อนรับผู้เยี่ยมเยือนจากทุกสารทิศ ถ้ามองออกมาจากภายในห้องสมุดจะเห็นทิวทัศน์อันน่าตื่นตาของกรุงออสโล อาทิ ฟยอร์ด (fjord) [5] ความเขียวขจีของเมือง และเนินเขาสลับซับซ้อนเป็นลอน
Photo: Jo Straube, Deichman
ภายในห้องสมุดจะมีห้องเก็บรักษา ‘ต้นฉบับลับ’ ที่จะไม่เปิดจนกว่าจะถึงปี 2657 หรืออีกเกือบหนึ่งร้อยปีข้างหน้า นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งของ “โครงการห้องสมุดอนาคต” ที่ก่อตั้งขึ้นโดยศิลปินชื่อ แคธี แพเทอร์สัน (Katie Paterson) โดยกำหนดว่านับตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2657 นักเขียนยอดนิยมหนึ่งคนจะสร้างสรรค์และเขียนต้นฉบับที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองไว้บนกระดาษที่ผลิตขึ้นเอง (โครงการนี้มีแปลงป่าปลูกต้นไม้ไว้จำนวน 1,000 ต้นเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตกระดาษไว้ใช้เอง) เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องทุกๆ ปีจนครบ 100 ปี สุดท้ายจึงจะนำต้นฉบับทุกชิ้นออกมาอ่านและเผยแพร่ต่อสาธารณะ
คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการเข้ามาห้องสมุดเพื่อใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับความบันเทิงมากกว่าการอ่าน เช่น ห้องฉายภาพยนตร์ โซนเกม (ซึ่งอนุญาตให้สมาชิกห้องสมุดใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และ Wi-Fi แรงๆ สำหรับต่อสู้กับทีมอื่นที่เล่นเกมอยู่ข้างนอก)... ดูเหมือนว่านี่เป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นให้เดินเข้ามาใช้งานในห้องสมุดได้
วีดิทัศน์การบรรยายเรื่อง “Planning the new Public Library in Oslo” โดยผู้อำนวยการห้องสมุด
ที่มาเนื้อหา: แปลและเก็บความ จาก “Where Libraries are the Tourist Attractions”, The New York Times ดูที่ https://www.nytimes.com/2019/08/10/travel/libraries-are-the-tourist-attractions.html?searchResultPosition=1
[1] หมายถึงระฆังยักษ์ที่บริเวณห้องโถงต้อนรับของห้องสมุด DOKK1 เมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้ที่เข้ามาใช้บริการจากห้องสมุด ในขณะเดียวกันก็มีความหมายที่ลึกซึ้งให้ตีความ เพราะราวกับจะเทียบเคียงให้ผู้คนรู้สึกว่าห้องสมุดนั้นมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับชีวิตใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น หรืออาจชี้ให้เห็นว่าห้องสมุดนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะอยู่ร่วมเคียงคู่ไปกับครรลองของชีวิตทุกคนในเมือง
[2] นักเขียนชาวไอริช เกิดที่เมืองดับลิน แต่จากบ้านเกิดไปอาศัยอยู่ที่ปารีสตั้งแต่วัยหนุ่ม เพราะต้องการหลีกหนีจากปัญหาสังคมและเรื่องศาสนา งานเขียนที่สำคัญได้แก่ “ยูลิสซีส” (Ulysses, ค.ศ.1922) “ภาพชีวิตวัยเยาว์ของศิลปิน” (A Portrait of the Artist as a Young Man, ค.ศ.1916) และ “มโนสำนึกของฟินเนกัน” (Finnegans Wake, ค.ศ.1939)
[3] กวีและพระนิกายเยซูอิต ซึ่งว่ากันว่าเป็นเกย์
[4] ประมาณปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
[5] พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็งจนเว้าแหว่ง มีลักษณะแคบและยาว เป็นอ่าวเล็กๆ ที่เว้าลึกเข้าไปในฝั่งระหว่างแผ่นดินสูงชันหรือระหว่างหน้าผาสูงชันตามเชิงเขา สามารถพบได้ในหลายประเทศ เช่น อะแลสกา (สหรัฐอเมริกา) บริติชโคลัมเบีย (แคนาดา) ชิลี กรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สก็อตแลนด์ (สหราชอาณาจักร)