ห้องสมุดกลางแห่งแมนเชสเตอร์ (Manchester Central Library) Photo : www.reddit.com
มหานครแมนเชสเตอร์เป็นศูนย์กลางระดับโลก เนื่องจากมีประชากรหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับสองของอังกฤษและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึงสี่หมื่นแปดพันล้านปอนด์ มีประชากร 2.6 ล้านคนและธุรกิจกว่า 90,000 แห่ง เมื่อมองไปในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า แมนเชสเตอร์มีพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโต เงินลงทุนของภาครัฐ ประชากร โครงสร้างขั้นพื้นฐาน และธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ แมนเชสเตอร์เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองแห่งห้องสมุด เพราะเต็มไปด้วยห้องสมุดที่สำคัญและมีคุณภาพหลายแห่ง
กลยุทธ์ของห้องสมุดเมือง
ผู้บริหารในสภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ได้ลงมติเห็นชอบในยุทธศาสตร์ห้องสมุดเมืองล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 โดยได้พัฒนาโมเดลใหม่ในการให้บริการด้านห้องสมุด ข้อมูลและเอกสารสำคัญที่ทันสมัย มีคุณภาพ ยั่งยืน ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ห้องสมุดในแมนเชสเตอร์ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย สภาเทศบาลเมืองได้จัดสรรเงินลงทุนมูลค่าสูงเพื่อสร้างห้องสมุดผ่านแผนงานการก่อสร้าง การปรับปรุงให้ทันสมัย การเปลี่ยนแปลง/การปรับเปลี่ยน และการบูรณะต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เครือข่ายห้องสมุดร้อยละ 75 ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก
ในด้านโครงสร้างการวางแผนทางยุทธศาสตร์ ห้องสมุดได้ยึดมติร่วมในระดับชาติว่าห้องสมุดควรจะมอบบริการเนื้อหา 5 หัวข้อหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ใช้ ได้แก่ การอ่าน สุขภาพ ดิจิทัล ข้อมูล และการเรียนรู้ บริการห้องสมุดยังสนับสนุนจุดมุ่งหมายหลักของสภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ เช่น การยกระดับความสามารถในการรู้หนังสือ (ทั้งในด้านทักษะการอ่านและด้านดิจิทัล) การลดการพึ่งพาผู้อื่น การรักษาไว้ซึ่งชุมชนละแวกบ้าน ท้องถิ่น และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เยาวชนและการเข้าถึงบริการ
ห้องสมุดแมนเชสเตอร์ ศูนย์ข้อมูลและหอจดหมายเหตุ (Manchester Libraries, Information and Archives) มีบริการแบบครอบจักรวาลให้กับเด็กและเยาวชนในแมนเชสเตอร์ โดยเป็นพันธมิตรหลักกับโรงเรียนในการเพิ่มความสำเร็จทางการศึกษา และมีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรื่องนี้สำคัญมากเนื่องจากแมนเชสเตอร์ยังมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากในหลายๆ เขตปกครอง
กิจกรรมต่างๆ เช่น การเยี่ยมชมห้องสมุด กิจกรรมในช่วงวันหยุดและฤดูร้อน การเล่านิทานสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ รวม 16 ช่วงต่อสัปดาห์ โครงการหนังสือเล่มแรก (Bookstart) สื่อและชมรมทำการบ้าน ห้องสมุดดิจิทัลสำหรับเยาวชน และ โค้ดคลับ (Code Club) [1]
วีดิทัศน์ กิจกรรมค่ายการอ่านฤดูร้อนสำหรับเยาวชน
การถือกำเนิดใหม่ของห้องสมุดกลางแห่งแมนเชสเตอร์
ในปี พ.ศ. 2551 สภาเมืองแมนเชสเตอร์ได้มีมติที่จะบูรณะห้องสมุดกลาง ด้วยเงินลงทุน 48,000,000 ปอนด์ อาคารแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นอัญมณีทางสถาปัตยกรรมที่งดงามในใจกลางเมืองแมนเชสเตอร์ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนชีวิตด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของภูมิภาค
ห้องสมุดกลางแห่งแมนเชสเตอร์เปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557 และได้ต้อนรับผู้มาเยือนถึง 1.4 ล้านคนในปีแรก ความพิเศษอยู่ที่การบริการแบบครบวงจร (one–stop shop) และเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศด้านประวัติศาสตร์ครอบครัวและพื้นเมือง โดยจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแมนเชสเตอร์และผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ ดิจิทัล ภาพถ่าย และภาพยนตร์
ทั้งนี้ ได้มีการจดทะเบียน “กองทุนพัฒนาห้องสมุดกลางแห่งแมนเชสเตอร์” (Manchester Central Library Development Trust) ด้วยเงินทุนกว่า 800,000 ปอนด์ จากผู้คนในแวดวงธุรกิจและผู้มีจิตกุศล เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการในห้องสมุดกลางเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนชาวแมนเชสเตอร์
บรรยากาศภายในห้องสมุดกลางแห่งแมนเชสเตอร์ (Manchester Central Library) Photo : www.matherandco.com
บริการด้านข้อมูลและธุรกิจ
ห้องสมุดทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลางแห่งข้อมูล” เพื่อตอบคำถามที่ซับซ้อนด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลทางธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งงาน สิทธิของประชาชน ข้อมูลพื้นที่และชุมชน การเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ข้อมูลช่วยในการเรียนรู้/ทำการบ้านสำหรับเยาวชน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตา
เจ้าหน้าที่จะให้บริการข้อมูลทั้งที่เป็นการตอบคำถามแบบเห็นหน้า ทางโทรศัพท์ และทางอีเมล รวมทั้งบริการตอบคำถามระบบอัตโนมัติทางโทรศัพท์ ส่วนนี้ของห้องสมุดยังเก็บหนังสืออ้างอิง หนังสือพิมพ์และวารสาร และเป็นที่ตั้งของศูนย์ธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญาแห่งใหม่ของแมนเชสเตอร์ หรือ Manchester Business and Intellectual Property Centre (BIPC) ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อยอดมาจากห้องสมุดพาณิชย์ (Commercial Library) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2462 โดยความร่วมมือกับห้องสมุดบริติชไลบราลี (British Library) นำมาซึ่งทรัพยากร เงินสนับสนุน และการตลาดที่เพิ่มขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการห้องสมุดวิสาหกิจ (Enterprising Libraries) ที่สนับสนุนโดยรัฐมนตรีกระทรวงชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ห้องสื่อ (Media Lounge) และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)
ห้องสมุดกลางทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางทางดิจิทัลของเมืองแมนเชสเตอร์ ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีเครือข่ายความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ความเร็วสูงพิเศษมีประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงสตาร์ทอัพ
การให้บริการต่างๆ เช่น บริการตอบคำถามทางธุรกิจ การใช้โซเชียลมีเดียในการทำการตลาด การประชุมหรือการสัมมนาผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (videoconferencing) กล้องถ่ายวิดีโอและโทรทัศน์แบบ 4K[2]และแว่นตา Google Glass และในอีกไม่นานจะมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้บริการด้วย
ห้องสื่อ (Media Lounge) มีบทบาทหลักในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรม ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียนรู้ สร้างสรรค์ และแสวงหาความบันเทิง กลุ่มผู้ใช้บริการที่คาดว่าเป็นเป้าหมาย คือ กลุ่มครีเอทีฟ (รวมถึงนักดนตรี ช่างภาพ ศิลปินด้านทัศนศิลป์ เป็นต้น) ผู้ที่ต้องการทำงานในสาขาสื่อดิจิทัล และผู้ประกอบการและผู้สร้างนวัตกรรม
บริการต่างๆ สำหรับเด็กและเยาวชน
ด้วยเงินช่วยเหลือจำนวนมากที่มีผู้มอบให้กับกองทุนเพื่อการพัฒนาห้องสมุดกลาง เมืองแมนเชสเตอร์จึงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพภายในห้องสมุดของเด็กและโปรแกรมกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ สนใจการเรียนรู้และการรู้หนังสือ
เงินสนับสนุนที่ได้รับจากมูลนิธิการ์ฟิลด์ เวสตัน (Garfield Weston Foundation) ทำให้สามารถแปลงสภาพห้องสมุดสำหรับเด็กแบบเดิมๆ ให้เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วยเทคโนโลยีและการฉายภาพ เด็กๆ จะสามารถค้นหนังสือ อ่าน พบปะกับนักเขียน และได้แรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้เพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะโดยผ่านทางสื่อดิจิทัลแบบมีปฏิสัมพันธ์
การจัดกิจกรรม
การจัดตั้งห้องสมุดกลางขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จุดหมายทางด้านวัฒนธรรมสำหรับนักท่องเที่ยว นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของแผนงานเปลี่ยนแปลงนี้ ก่อนหน้านี้ห้องสมุดกลางมีการจัดงาน กิจกรรม และนิทรรศการต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของห้องสมุดอยู่แล้ว
การจัดให้มีพื้นที่ใหม่ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับการแสดงบริเวณชั้นล่างของห้องสมุด พื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการใหม่ที่ชั้นใต้ดิน ชั้นวางสินค้าที่จัดนิทรรศการและการซ่อมแซมห้องคณะกรรมการมรดกทางวัฒนธรรม ห้องรับรองและสำนักงานบรรณารักษ์อันใหญ่โต และห้องประชุมใหม่อีก 3 ห้องบนชั้นหนึ่ง นับเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมที่ทำให้สามารถพัฒนาห้องสมุดให้กลายเป็นสถานที่ๆ สามารถใช้เป็นที่จัดกิจกรรม รองรับองค์กร ผลงานทางวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย และเพิ่มโอกาสที่จะส่งเสริมทรัพยากรที่มีอยู่ในห้องสมุดอีกด้วย
ห้องสมุดเสมือน
ห้องสมุดแมนเชสเตอร์เป็นผู้นำด้านการปฏิวัติทางดิจิทัลด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้บริการห้องสมุดเสมือน ทรัพยากรดังกล่าวประกอบด้วย พจนานุกรม สารานุกรม ข่าว และแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่หลากหลาย ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรออนไลน์ยังรวมถึงดนตรี หนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติฉบับย้อนหลังอีกมาก
เว็บไซต์ www.manchesterzoom.com สนับสนุนให้กลุ่มชุมชนใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่กำลังจะจัดขึ้น
เว็บไซต์ www.askaboutbusiness.org ให้บริการทรัพยากรสำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งให้บริการสอบใบขับขี่ภาคทฤษฎี
เว็บไซต์ www.yourlibraryapp.co.uk/manchester ให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และ e-audio เกือบ 35,000 รายการ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และยังสามารถใช้สแกนบาร์โค้ดของหนังสือใดๆ ก็ตามเพื่อตรวจสอบว่ามีอยู่ที่ห้องสมุดของแมนเชสเตอร์หรือไม่
Archives +
Archives+ เป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงมรดกทางประวัติศาสตร์และเอกสารหายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภาเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนสลากกินแบ่ง (Heritage Lottery Fund- HLF) จำนวน 1.55ล้านปอนด์ ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
Archives+ ได้จัดพื้นที่นิทรรศการที่น่าตื่นเต้นขึ้นภายในห้องสมุดกลางเพื่อมอบโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้ที่เข้าใช้บริการจำนวนมากได้ค้นพบความกว้างใหญ่ไพศาลของห้องเก็บเอกสารสำคัญ/เอกสารจดหมายเหตุ แลกเปลี่ยนเรื่องราวของตน และพบกับประสบการณ์ประวัติศาสตร์แห่งมหานครแมนเชสเตอร์ด้วยตนเอง โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยที่สุดเพื่อให้ได้ผลสูงสุด ทำให้การจัดแสดงในส่วน The Archives+ ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการจำนวนมาก
Introducing Archives+ from NWfilmarchive on Vimeo.
การพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด
เป้าหมายประการหนึ่งของบริการได้แก่การทำให้มั่นใจว่าทรัพยากรต่างๆ ของห้องสมุดสะท้อนให้เห็นภาพเมืองแมนเชสเตอร์ในศตวรรศที่ 21 ทั้งนี้ ห้องสมุดได้สะสมเอกสารสำคัญและหนังสือที่สำคัญมากมาย เช่น
- หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชุมชนที่หลากหลายของแมนเชสเตอร์
- ศูนย์ทรัพยากรด้านความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์
- เอกสารสำคัญด้านการควบคุมการก่อสร้างของสภาเทศบาลนครย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ. 2433
- ศูนย์เก็บรักษาข้อมูลสำคัญในรูปแบบเสียง ซึ่งเกี่ยวกับชีวิต ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียม
- เอกสารการจดทะเบียนการเกิด สมรส และการมรณะในแมนเชสเตอร์ตลอด 100 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
การเก็บรักษาข้อมูลในรูปดิจิทัล: เข้าถึงทางออนไลน์ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
มีบริการโปรแกรมแปลงสื่อให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อทำให้หนังสือและสื่อจำนวนมากที่มีอยู่ในห้องสมุดสามารถเข้าถึงทางออนไลน์ ปัจจุบันนี้สื่อดังกล่าวประกอบด้วย
- การแปลงข้อมูลประวัติศาสตร์ครอบครัวไว้ในรูปแบบดิจิทัล โดยร่วมมือกับ findmypast.co.uk และ ancestry.co.uk เพื่อจัดทำประวัติศาสตร์ของประชากรกว่า 10,000,000 ครอบครัวมีภาพถ่ายและสำเนาหลักฐานกว่า 4.1 ล้านชิ้น
- ภาพถ่าย ผู้สนใจสามารถเข้าชมภาพถ่ายโบราณของเมืองแมนเชสเตอร์จำนวนกว่า 100,000 ภาพ ได้ที่ Local Images Collection (www.images.manchester.gov.uk) Archives+, Flickr และ photostream [3]
- Greater Manchester Lives เป็นแค็ตตาล็อกที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเอกสารสำคัญด้านการศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่นและภาพถ่ายที่มีการสะสมไว้ในหอเก็บเอกสารสำคัญในมหานครแมนเชสเตอร์กว่า 1,000,000 รายการ และภาพถ่ายกว่า 100,000 รูป
- Archives+ blog บล็อกตีพิมพ์เรื่องราวและเนื้อหาจากการค้นคว้ารวบรวมของอาสาสมัคร มีผู้เข้าชมจำนวน 37,188 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2557-2558
สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ในอนาคต
สิ่งที่เมืองแมนเชสเตอร์ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการให้บริการห้องสมุดในอนาคต ได้แก่
- รายได้ / การบริหารเชิงพาณิชย์ เมืองแมนเชสเตอร์ประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ๆ ผ่านทางการค้าปลีก ร้านกาแฟ การให้ใบอนุญาต/การอนุญาตให้ผลิตซ้ำ (licensing / reproduction) และการค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติครอบครัว
- โอกาสการระดมทุนและหาผู้ให้การสนับสนุนมองหาผู้ให้การสนับสนุนอยู่อย่างต่อเนื่องและขอเงินช่วยเหลือเพื่อช่วยให้สามารถดำเนินการพัฒนาโปรแกรมกิจกรรมสำหรับห้องสมุดกลางต่อไปได้
- มุ่งเน้นการให้บริการใกล้บ้านการทำให้เป็นดิจิทัลทำให้สามารถนำเอกสารสำคัญและหนังสือที่เก็บไว้ในห้องสมุดกลาง ออกไปสู่ชุมชนและบ้านเรือนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วมหานครแมนเชสเตอร์ โดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชน ครอบครัว และโรงเรียน
- แผนงานทางวัฒนธรรม ต่อยอดความสำเร็จจากห้องสมุดกลางในฐานะสถานที่ทางวัฒนธรรมสำคัญของเมืองและชักชวนให้ศิลปินนำเสนอผลงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะ เพื่อช่วยทำให้ห้องสมุดใกล้บ้านเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมภายในชุมชน
- การแปลงและเก็บรักษาในรูปแบบดิจิทัลร่วมงานกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่องในการแปลงสิ่งที่เก็บรักษาไว้ในห้องสมุดให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ และมั่นใจว่าข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่มีคุณค่าจะยังสามารถนำมาใช้ได้ในอนาคต
- การให้อำนาจพยายามขยายฐานอาสาสมัครโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชนเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะและช่วยปูทางสู่อาชีพ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมแก่ชุมชนให้เข้ามามีบทบาทในโครงการมรดกชุมชนและโครงการจิตอาสาใกล้บ้านต่อไป
- การเรียนรู้ ทำงานร่วมกับโรงเรียน เยาวชน และพันธมิตรอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้มั่นใจว่าเอกสารสำคัญที่จัดเก็บไว้จะถูกใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะใหม่ๆ และสร้างความสำนึกในถิ่นที่อยู่อาศัย
- การเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตร ขยายขีดความสามารถต่อไปโดยการร่วมเป็นหุ้นส่วนกับพันธมิตรและอีก 9 เขตในพื้นที่มหานครแมนเชสเตอร์
วีดิทัศน์ โครงการ Books to Go ซึ่งนำหนังสือออกไปหาผู้คนที่ไม่สามารถเดินทางไปยังห้องสมุด ตั้งแต่ทารกจนถึงผู้สูงอายุ
บทสรุป
บริการด้านห้องสมุดในแมนเชสเตอร์ได้ปฏิรูปตัวเอง และความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การบริการของห้องสมุดในปัจจุบันได้รับความเชื่อถือในระดับสูงและถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญเป็นใจกลางของทุกชุมชนในพื้นที่เมือง ห้องสมุดต่างๆ ในแมนเชสเตอร์ได้ผ่านการปฏิรูปอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาได้แก่การลงทุนก้อนใหญ่ในการก่อสร้างอาคารห้องสมุดต่างๆ ทั้งนี้เพื่อทำตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้เกิดบริการห้องสมุดสำหรับประชาชนที่ทันสมัย มีคุณภาพ ยั่งยืน และครอบคลุม โดยให้บริการผ่านแผนงานที่ทำให้เกิดความทันสมัย การตกแต่งและเปลี่ยนอาคารห้องสมุดเสียใหม่ มุ่งเน้นการใช้ที่ตั้งร่วมกัน การพัฒนาด้านดิจิทัล การมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นของชุมชน และการเป็นพันธมิตร เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรและโอกาสด้านการลงทุนจะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ขณะนี้พื้นที่ห้องสมุดร้อยละ 70 ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สิ่งที่เปรียบเสมือนอัญมณีประดับยอดมงกุฏสำหรับห้องสมุดทั้งหลายในแมนเชสเตอร์ก็คือห้องสมุดกลางที่ได้รับการบูรณะและต่อขยายซึ่งเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 หลังจากปิดเพื่อปรับปรุงและตกแต่งใหม่นาน 4 ปีด้วยงบประมาณ 48,000,000 ปอนด์ ห้องสมุดแห่งนี้เป็นส่วนที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับบริการด้านห้องสมุดทั่วพื้นที่มหานครแมนเชสเตอร์ ปัจจุบันห้องสมุดแห่งนี้ประกอบด้วยห้องเก็บเอกสารสำคัญและศูนย์ความเป็นเลิศแห่งใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งเสริมสิ่งที่เก็บไว้ในห้องสมุดให้กับกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่ๆ พร้อมทั้งให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มเด็ก โรงเรียน ครอบครัว และชุมชนอันมีความหลากหลาย นอกจากนี้ห้องสมุดดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของห้องสมุดดนตรีเฮนรี วัตสัน (Henry Watson) ซึ่งรวบรวมงานดนตรีที่มีคุณค่าที่สุดชุดหนึ่งของห้องสมุดในประเทศอังกฤษ และยังพัฒนาแผนงานทางวัฒนธรรมอันประกอบด้วยกิจกรรมและนิทรรศการที่ดึงดูดผู้เยี่ยมชมกว่า 1,400,000 คนในปีแรกที่กลับมาเปิดให้บริการ
นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับห้องสมุดในมหานครแมนเชสเตอร์ ทั้งในด้านการสานต่อผลงานที่เป็นเลิศที่ได้เคยทำเอาไว้แล้ว และด้านการพัฒนาในอนาคต อันรวมถึงการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ๆ การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น การเป็นพันธมิตร และเทคโนโลยีใหม่ๆ ท่ามกลางสภาวะที่ยังคงต้องมัธยัสถ์เช่นในปัจจุบัน
ที่มาเนื้อหา
สรุปเนื้อหาจากเอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2558 (TK Forum2015) เรื่อง Manchester Libraries Transformation and Renewal Programme เขียนโดย นีล แมคอินเนส (Neil MacInnes) อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่
[1] ชมรมกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2555 โดย แคลร์ ซัทคลิฟ และ ลินดา แซนด์วิค และดำเนินงานโดยอาสาสมัครในธุรกิจด้านเทคโนโลยีโดยมุ่งหวังให้เยาวชนรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนระดับประถมศึกษาให้รู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคศตวรรศที่ 21 อันได้แก่การเขียนรหัสคำสั่งคอมพิวเตอร์ เด็ก ๆ จะได้ฝึกสร้างเกมส์คอมพิวเตอร์ แอนิเมชั่น และสร้างเว็บไซต์
[2] โทรทัศน์แบบ 4K หมายถึงโทรทัศน์ที่มีความละเอียดของหน้าจอระดับสูงมาก หรืออีกชื่อหนึ่งคือUltra High Definition