พื้นที่การเรียนรู้ต่อไปนี้ อาจมิได้เป็นสถาปัตยกรรมสวยงามที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อชิงรางวัล แต่เป็นตัวอย่างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีแนวคิดแปลกใหม่ ซึ่งพรมแดนที่กั้นแบ่งการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิตถูกลดเลือนเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน สอดคล้องกับแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ห้องทดลองเพื่อการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น, ออสเตรเลีย (University of Melbourne Learning Lab)
เดิมเคยเป็นอาคารบรรยายสำหรับวิชาเคมีขนาด 100 ที่นั่ง ต่อมาถูกแปลงเป็นห้องเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์และร่วมมือร่วมกัน (collaborative classroom) ขนาด 40 ที่นั่ง เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ของนักศึกษา เนื่องจากทั้งบุคลากรและนักศึกษาต่างรู้สึกไม่พึงพอใจกับการสอนด้วยการบรรยายแบบเดิม
ปัจจุบัน ห้องเรียนนี้ประกอบด้วยนักศึกษา 5 กลุ่ม กลุ่มละ 8 คน หรือนักศึกษา 10 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน คละระดับทักษะ 4 ระดับ พื้นที่แต่ละส่วนภายในห้องเรียนประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับการใช้งานของกลุ่ม จุดเสียบปลั๊กเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา กล้องถ่ายรูป และจอภาพแอลซีดีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ห้องทดลองเพื่อการเรียนรู้ฯ ยังติดตั้งอุปกรณ์สังเกตการณ์ระยะไกลและกล้องวีดิทัศน์ เพื่อใช้สำหรับการประเมินการเรียนรู้และบันทึกภาพตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ
ห้องดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์หลากหลาย มีความยืดหยุ่น และมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แสดงให้ประจักษ์ถึงความเป็นไปได้ในการแปลงพื้นที่เพื่อการเรียนรู้แบบดั้งเดิมในสถาบันการศึกษา ให้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งรองรับแนวทางการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น
Photo : Danny Munnerley
สถาบันบลิซซาร์ด วิทยาลัยควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน,สหราชอาณาจักร (Blizard Building, Queen Mary University of London)
อาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสถาบันบลิซซาร์ด ซึ่งเป็นสำนักงานสำหรับนักวิจัยและนักศึกษาสาขาชีวการแพทย์กว่า 500 คน ประกอบด้วยห้องทดลองแบบเปิด (open plan laboratory) และสำนักงาน พื้นที่สำหรับเทคโนโลยีเฉพาะทาง อาคารบรรยายรวมขนาด 400 ที่นั่ง ห้องประชุม และศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ห้องทดลองแบบเปิดทั้งหมดตั้งอยู่บนชั้นเดียวกันลึกลงไป 5 เมตรจากระดับพื้นดิน แต่กลับสว่างด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านมาจากชั้นบนของอาคาร ส่วนพื้นที่สำหรับทำงานของนักวิจัยถูกแยกไปอยู่ที่ชั้นลอย บริเวณนั้นมีม่านอัดอากาศ (air curtain) ที่ช่วยป้องกันไอระเหยจากห้องทดลองรั่วไหลเข้าสู่พื้นที่ทำงาน ม่านที่มองไม่เห็นเอื้อให้เกิดการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ต่างๆ เหนือห้องทดลองยังประกอบด้วยห้องประชุมและศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
อาคารแห่งนี้แก้ปัญหาหลายประการได้อย่างลงตัว พื้นที่ห้องทดลองแบบเปิดมีไว้สำหรับใช้งานร่วมกันและมีอุปกรณ์เฉพาะทางจัดเตรียมไว้ ทำให้นักกลุ่มวิจัยสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ได้ตามความเหมาะสม การที่ศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวภาพตั้งอยู่ชั้นบนเหนือพื้นที่ห้องทดลองหลัก ทำให้นักศึกษาได้มองเห็นการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงไปพร้อมกับการชื่นชมวัตถุจัดแสดงแบบอินเทอร์แอคทีฟ
วีดิทัศน์ บรรยากาศภายในสถาบันบลิซซาร์ด
อาคารหอสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์, เนเธอร์แลนด์ (Faculty of Architecture, TU Delft)
พื้นที่เพื่อการเรียนรู้แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นแทนที่อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลังเดิมที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ การสร้างอาคารหลังใหม่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้โครงสร้างน้ำหนักเบาเชื่อมระหว่างปีกของอาคารเดิมทั้งสองฝั่ง
มีการปรับพื้นที่สัญจร (circulation areas)[1
] ให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ตามอัธยาศัยและการสังสรรค์ซึ่งอาจใช้สำหรับทำงานหรือจัดบรรยายได้หากจำเป็น และลดพื้นที่เฉพาะสำหรับบุคคลและนักวิชาการให้น้อยลง แต่เพิ่มพื้นที่ให้นักศึกษาแบ่งกันใช้งานและพื้นที่สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานอื่นๆ ได้แก่ การประชุม การปฏิบัติงานที่ต้องใช้สมาธิ การโทรศัพท์ และการให้คำปรึกษากับนักศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
ผลลัพธ์ที่ได้คือพื้นที่ที่มีพลวัต ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานให้สอดรับกับกิจกรรมการเรียนรู้และการปฏิบัติงานหลากหลายประเภท พื้นที่เพื่อการเรียนรู้แห่งนี้ไม่เพียงแต่โดดเด่นด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงและเป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม แต่ยังเป็นที่ประจักษ์ด้านการออกแบบอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2552 และ 2553 (ปี ค.ศ. 2009 และ 2010) มีการประเมินผลเพื่อวิเคราะห์การใช้งานพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ นำไปสู่การลดจำนวนโต๊ะ แต่เพิ่มพื้นที่สตูดิโอสำหรับนักศึกษา
วีดิทัศน์ บรรยากาศภายในคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์
สถาบันการออกแบบแฮซโซ แพลตต์เนอร์ (ดี. สคูล) มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด, สหรัฐอเมริกา (The Hasso Plattner Institute of Design (d.school), Stanford University)
วัตถุประสงค์หลักของดี. สคูล คือเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษาและคณาจารย์ร่วมกันทำโครงงานสร้างสรรค์ซึ่งคำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลางเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลก รายวิชาและหลักสูตรต่างๆ มีรากฐานมาจากกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) โดยผนวกวิธีวิทยาทางวิศวกรรมศาสตร์และการออกแบบ ไอเดียทางศิลปศาสตร์ เครื่องมือทางสังคมศาสตร์ และมุมมองจากโลกธุรกิจ เข้าไว้ด้วยกัน
พื้นที่นี้ได้รับการออกแบบให้เอื้อต่อการจุดประกายกระบวนการสร้างสรรค์ เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกนำมาใช้เช่น จอภาพที่เคลื่อนย้ายได้ วอลเปเปอร์สามมิติ และผนังชนิดถอดประกอบได้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับการสอนและการวิจัยที่มีชีวิตชีวา
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้ คือพลวัตในการปรับใช้งานตามความเหมาะสมและการสร้างสรรค์ของทีมงาน ทั้งกระบวนการค้นคว้าและออกแบบ หลังจากนั้นวัสดุต่างๆ จะถูกโยกย้ายออกไป เพื่อใช้พื้นที่สำหรับนำเสนอและจัดแสดงผลงาน ไม่ได้มีสิ่งใดถูกครอบครองโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้จึงเป็นเหมือนตลาดอันเปี่ยมด้วยพลวัตเพื่อไอเดียและการแก้ปัญหาต่างๆ
วีดิทัศน์ แนวคิดในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ใน ดี. สคูล
อาคารแห่งนี้เป็นจุดให้บริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ห้องสมุดกลาง ศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษา ฝ่ายสนับสนุนการสอน งานบริการสารสนเทศและอาชีพสำหรับนักศึกษา ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)
ห้องสมุดกลางกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารบริการสารสนเทศ ให้บริการพื้นที่ค้นคว้าสำหรับนักศึกษากว่า 2,200 ที่นั่ง ถึงแม้ว่าห้องสมุดแห่งนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่พบได้ในหอสมุดวิชาการคุณภาพสูงแห่งอื่นโดยทั่วไป แต่ก็ฉีกแนวออกไปด้วยการจัดสรรพื้นที่สำหรับการศึกษาค้นคว้าถึง 27 ประเภท ซึ่งแตกต่างกันด้านทัศนวิสัย/ความเป็นส่วนตัว เทคโนโลยี และขนาดกลุ่มของนักศึกษา
พื้นที่บางประเภทอยู่ในส่วนกลางที่จอแจ มองเห็นได้ง่าย อยู่ติดกับพื้นที่อื่นของห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่ตั้งอยู่ถัดออกไป ในขณะที่พื้นที่บางประเภทถูกแยกออกไปที่ชั้นบนเพื่อให้เกิดความสงบสำหรับการศึกษาค้นคว้า
พื้นที่ตรงกลางระหว่างห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ฯ ถูกปกคลุมด้วยหลังคากลายเป็น “ห้องนั่งเล่น” สำหรับการเรียนรู้ตามอัธยาศัยและการพบปะสังสรรค์ พรมและต้นไม้เป็นสิ่งแบ่งแยกอาณาเขตอาณาเขตของศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุด มีการใช้ฉากฉลุกั้นพื้นที่แทนที่จะสร้างเป็นกำแพงถาวร
ความหลากหลายของประเภทพื้นที่และคุณภาพของการออกแบบก่อให้เกิดภูมิทัศน์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกและปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นในการใช้งานของพวกเขา ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แทนที่จะพยายามฝืนพฤติกรรมการใช้งานให้เข้ากับช่องนั่งอ่านหนังสือหรือโต๊ะทำงานที่จัดแบ่งไว้แล้ว
หอสมุดแห่งชาติประเทศอังกฤษ กรุงลอนดอน (The British Library)
หอสมุดแห่งชาติประเทศอังกฤษ ณ กรุงลอนดอนเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการและคาเฟ่หลายแห่ง คาเฟ่เหล่านี้เป็นจุดพบปะที่สำคัญสำหรับชุมชนนักวิชาการและผู้ใช้บริการหอสมุด รวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจจากกฎการห้ามใช้เสียงภายในห้องอ่านหนังสือ
พื้นที่สัญจรภายในหอสมุดฯ ถูกปรับเป็นพื้นที่สำหรับการทำงานอย่างไม่เป็นทางการหลายประเภท เช่น ที่นั่งซึ่งมีปลั๊กไฟ โต๊ะประชุมกลุ่มย่อย รวมทั้งการให้บริการ wi-fi ทั่วทั้งอาคาร พื้นที่ต่างๆ ภายในหอสมุดฯ ถูกแปลงเป็นพื้นที่สำหรับนั่งทำงานสาธารณะ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ทำงานฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัพ หรือคนที่แวะพักในเมืองชั่วคราวระหว่างรอต่อรถไฟหรือรอเข้าประชุม ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของพื้นที่อ่านหนังสือและพื้นที่ทำงานอาจไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน
หอสมุดฯ เป็นสถานที่ผสมผสาน ซึ่งผู้อ่านหนังสืออาจจำเป็นต้องโทรศัพท์หรือสนทนาผ่านโปรแกรมสไกป์ (Skype) พบปะกับเพื่อนร่วมงาน และหรือนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์
การใช้งานพื้นที่สัญจรของหอสมุดฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับมหาวิทยาลัย ซึ่งมักมีขนาดพื้นที่สัญจรมากถึงร้อยละ 30-40 ของพื้นทั้งหมดและปราศจากการใช้งาน
วีดิทัศน์ บรรยากาศภายในห้องสมุดอังกฤษ
อัลโตออนแทร็คส์ มหาวิทยาลัยอัลโต เมืองเฮลซิงกิ, ฟินแลนด์[2] (Aalto on Tracks, Aalto University)
พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในสถาบันการศึกษาเสมอไป หรืออันที่จริงแล้วไม่จำเป็นจะต้องได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ตั้งแต่แรกก็ได้
ในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) นักศึกษามหาวิทยาลัยอัลโตในเมืองเฮลซิงกิได้เช่ารถไฟ หรืออัลโตออนแทร็คส์ (Aalto-on Tracks) เพื่อให้นักศึกษาและคณาจารย์ราว 100 คนเดินทางไปงานแสดงสินค้าเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Expo) ในช่วง 10 วันของการเดินทาง กิจกรรมการเรียนรู้มากมายเกิดขึ้นภายในขบวนรถไฟ ได้แก่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเป็นผู้ประกอบการและอนาคตของธนาคารออนไลน์ การบรรยายเรื่องวัฒนธรรมรัสเซียและจีน การเรียนการสอนวิชาแนวทางการบริหารจัดการโครงการแบบจีน และกิจกรรม TEDx เคลื่อนที่[3] รวมทั้งกิจกรรมด้านกีฬา วัฒนธรรมและสังคมหลายประเภท
ประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบดังกล่าวถูกจัดซ้ำในปีถัดมา โดยคณะนักศึกษาได้เดินทางโดยเรือจากกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ไปยังเมืองเซาเปาลู ประเทศบราซิล เพื่อศึกษาประเด็นด้านความยั่งยืนและการพัฒนา ผ่านการเรียนรายวิชาที่นับหน่วยกิตและกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ งานอีเว้นท์ และการเยี่ยมชม
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับแนวทางการผสมผสาพื้นที่การเรียนรู้ การวิจัย และสันทนาการไว้ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ลิดรอนคุณภาพของประสบการณ์การเรียนรู้และการวิจัย
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาตินอกจากจะเป็นจุดหมายทางวัฒนธรรมและสันทนาการหลักของกรุงลอนดอนแล้ว ยังจัดกิจกรรมและให้บริการทรัพยากรต่างๆ ที่มุ่งให้การศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป การสร้างประสบการณ์ด้านการศึกษาดังกล่าวถูกเสริมด้วยศูนย์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติดาร์วิน (Darwin Centre) ซึ่งบูรณาการศูนย์ห้องทดลองและห้องเก็บตัวอย่าง โดยนำเสนอวัตถุจัดแสดงแบบอินเทอร์แอคทีฟ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังจัดการเรียนการสอนระดับมหาบัณฑิต 2 หลักสูตรร่วมกับราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London) เป็นฐานงานวิจัยสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 80 คน และเป็นศูนย์กลางของนักวิจัยและภัณฑารักษ์กว่า 300 คน ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับวัตถุศึกษา กว่า 70 ล้านประเภท
[1] พื้นที่สัญจรหรือ circulation areas หมายถึงพื้นที่เฉลียง ทางเดิน บันได และระเบียง ซึ่งเป็นทางผ่านของผู้ใช้อาคาร (ผู้แปล)
[2] มหาวิทยาลัยอัลโต เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ซึ่งก่อตั้งจากการผนวกรวมมหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองเฮลซิงกิจำนวนสามแห่ง โดยมุ่งเน้นการสอนแบบสหสาขาวิชาคือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและธุรกิจ (ผู้แปล)
[3] TEDx เป็นโครงการเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของ TED ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวความคิดใหม่ๆ ในรูปแบบ TED Talk โดย TEDx จะถูกจัดอย่างอิสระโดยอาสาสมัครในชุมชนหรือเมืองเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงสูงสุดระหว่าง TED กับประชาชนในชุมชนหรือเมืองนั้น (ผู้แปล)
ที่มาเนื้อหา
Eight inspirational learning spaces - from Digifest speaker, Andrew Harrison