TK Forum 2017 “Better Library and Learning Space: Trends and Ideas”

2 Feb 2017 08:30 - 16:30
ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา 12

Banner897_2017.jpg

          ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมการแสวงหาข้อมูลความรู้และการเข้าถึงสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมส่งผลโดยตรงต่อบทบาทของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลก ผลกระทบรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป บ้างถึงกับปิดตัวยุติการให้บริการ บ้างยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางผู้ใช้อันเบาบาง คงมีเพียงจำนวนไม่มากนักที่เกิดการปรับตัวจนสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความหลากหลายยิ่งขึ้นได้

          ห้องสมุดที่ปรับตัวและมีแนวโน้มจะดำรงบทบาทสำคัญทางสังคมอยู่ได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นห้องสมุดซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ (space utilization) อันเกิดขึ้นมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมความต้องการของผู้ใช้บริการและสอดคล้องกับบริบทชุมชนได้อย่างถูกต้อง

          อย่างไรก็ตาม จุดหมายของการปรับตัวและพัฒนาห้องสมุดยุคใหม่นั้น คือการพัฒนาคน

          หากพิจารณาในรอบสิบห้าปีที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนมากมายมหาศาล เกิดสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่พลิกโฉมหน้าสังคมเศรษฐกิจโลกให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและสิ้นเชิง

          ในขณะเดียวกันการกำเนิดขึ้นของชนดิจิทัลที่กล้าตั้งคำถามต่อสิ่งเดิมและลงมือทำด้วยการเปลี่ยนมุมคิดหรือเปลี่ยนกระบวนการจนนำมาสู่นวัตกรรมใหม่ที่ใครก็คาดไม่ถึง กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญของยุคสมัย ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ทั้งในแง่มุมทางธุรกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามมา

          ห้องสมุดอนาคตนอกจากจะอำนวยความสะดวกในด้านการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศและให้บริการทรัพยากรความรู้อันเป็นภารกิจตามปกติแล้วจึงมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับรูปแบบหรือวิธีการเรียนรู้ของผู้ใช้งานในโลกยุคดิจิทัล รวมทั้งยังส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถใช้ความรู้สร้างนวัตกรรม ในกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะ ‘นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์’ ได้กลายเป็นแก่นสาระใจกลางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว โดยมีองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้คือการส่งเสริมการรู้ดิจิทัล (digital literacy) และขยายขอบเขตไปสู่ความคล่องแคล่วทางดิจิทัล (digital fluency) ในที่สุด

          องค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องสมุดยุคใหม่ ตลอดจนการใช้พื้นที่แหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคน จึงล้วนน่าสนใจและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการก่อรูปความคิดและเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทย และนำมาสู่แนวคิดหลักในการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี TK Forum 2017 ภายใต้หัวข้อ “Better Library and Learning Space: Trends and Ideas” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจแนวโน้มนวัตกรรมห้องสมุดและการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และตัวอย่างโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ได้รับรางวัลระดับโลก โดยหวังว่าผู้ฟังจะเกิดแนวคิดใหม่และเป็นแรงบันดาลใจในการนำไปปรับใช้พัฒนาต่อไป

          TK Forum เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2552 และมีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ครอบคลุมหัวข้อการอ่านและการเรียนรู้ในมิติต่างๆ โดยเน้นนำเสนอประสบการณ์ แนวคิด และองค์ความรู้สากล มาเผยแพร่สู่สังคมไทย เพื่อจุดประกายความคิดให้เกิดการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พัฒนา และปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทไทย หัวข้อการประชุมสัมมนาที่ผ่านมา อาทิ “ข้อเสนอนโยบายการอ่านของไทย จากประสบการณ์ต่างประเทศ: สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้” (2553) “อ่านเพื่อนบ้าน: ประสบการณ์ส่งเสริมการอ่านของสิงคโปร์ ลาว และเวียดนาม” (2554) “Towards ASEAN Citizenship with Books and Reading” (2554-2556) “Learning in the Digital Era” (2557) “Library Futures: Challenges and Trends” (2558) และ “Library Innovation and Learning in the 21st Century” (2559)

 

เว็บไซต์งาน TK Forum 2017

Related Content