ออกแบบการเรียนรู้ของสังคม ด้วยการช่วยให้คนได้ตามหา "จุดนับหนึ่ง"
19 เมษายน 2565
135
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบการเรียนรู้ของ กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park คือการหา ‘จุดนับหนึ่ง’ เขาเชื่อว่าหากเริ่มมองเห็นจุดแรกได้ เราจะมองเห็นจุดที่สอง สาม สามจุดหนึ่ง สี่ สี่จุดห้า และอื่นๆ ตามมา และเมื่อเอาจุดต่างๆ มาเชื่อมโยงต่อกันก็จะกลายเป็นภาพการเรียนรู้เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และทุกคนล้วนมีแผนภาพนั้นเป็นของตัวเอง
เพราะเชื่อในความสวยงามของความแตกต่างหลากหลายของการเรียนรู้ ภารกิจหนึ่งของ TK Park คือการช่วยให้คนได้หา ‘จุดนับหนึ่ง’ ของตัวเองให้เจอ ผ่านการสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทยและอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย พร้อมกับหนังสือและกิจกรรมมากมายที่จะเอื้อให้ทุกคนได้วาดภาพเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง
บทสัมภาษณ์ใน deep ครั้งนี้จะยิงสปอตไลต์ไปที่ ‘จุดนับหนึ่ง’ ตั้งแต่วัยเด็กของกิตติรัตน์ ไปจนถึงวิสัยทัศน์ของเขาในการผลักดันให้ TK Park เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับทุกคน และแน่นอนเป็นพื้นที่ที่ให้คนในสังคมได้ ‘เชื่อมต่อจุด’ ให้กันและกัน
‘จุดนับหนึ่ง’ ในการเรียนรู้ของคุณคืออะไร
ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนที่มีความสนใจหลายอย่าง มีงานอดิเรกเยอะ อาจจะเยอะเกินไปหน่อยจนกินเวลาเรียนไปบ้าง (ยิ้ม) ผมชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ชอบสะสมแสตมป์ ชอบสะสมเหรียญ ชอบเลี้ยงปลา ทุกครั้งที่เริ่มต้นทำกิจกรรมใหม่ก็ต้องเริ่มต้นศึกษาเรียนรู้ อย่างตอนเลี้ยงปลา ช่วงแรกๆ ก็สงสัยว่าทำไมเลี้ยงแล้วตายเยอะจัง แล้วสมัยก่อนมีหนังสือน้อย และยังเด็กเกินกว่าจะบอกพ่อแม่ได้ว่าขอไปห้องสมุด ก็เลยต้องหาวิธีเรียนรู้เอาเอง ตอนนั้นผมใช้วิธีเข้าไปคุย เข้าไปถาม คนแรกที่ไปถามเลย คือคนขาย นั่นคือจุดนับหนึ่งของผม
จากนั้นก็เป็นเรื่องหนังสือ หนังสือเล่มแรกที่ผมประทับใจคือหนังสือที่คุณครูในชั้นเรียนเอามาขาย เป็นหนังสือแปลเกี่ยวกับฉลาม ตอนนั้นอยู่ป.3 อ่านแล้วอินมาก รู้หมดทุกอย่าง มีกี่ชนิดในประเทศไทย อะไรดุ อะไรไม่ดุ มันขยายพันธุ์กันยังไง ทำอะไรกันอยู่ตรงไหน นั่นคือจุดถัดไปของผม คือการสร้างความผูกพันระหว่างความสนใจกับหนังสือขึ้นมา
แล้วมันก็ต่อไปเรื่อยๆ พอเริ่มสนใจเรื่องอื่นๆ ผมก็จะหาจุดนับหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วก็หาจุดถัดไปด้วยหนังสือ มันก็จะแตกออกไปเป็นหลายอย่าง ถ้าเป็น mindmap ก็จะเริ่มเห็นการขยายตัวจากความสนใจเล็กๆ ชอบเลี้ยงปลา อ่านหนังสือปลา สะสมของที่เกี่ยวข้องกับปลา คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างให้ท้ายด้วย กิ่งก้านก็เลยยิ่งแตกไปกันใหญ่ (หัวเราะ)
เจอจุดนับหนึ่งแล้ว แล้วอะไรคือจุดนับสองของคุณ
บางทีมันไม่ได้เจอหนึ่งแล้วต้องไปสองนะ บางทีไปสามจุดหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันกลับมาสองใหม่ ค่อยมาเชื่อมกันทีหลัง คือนอกจากตอนนั้นจะมีงานอดิเรก ผมก็ยังชอบขีดเขียนด้วย ชอบวาด ชอบทำงานสร้างสรรค์ นั่นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมเริ่มเชื่อมโยงมันขึ้นมา ตอนนั้นเลือกเรียนสถาปัตย์ ซึ่งคิดง่ายๆ ว่าถ้าเรียนทางนี้อยากจะสร้างอะไรก็สร้างได้ แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ผมค้นพบว่า มันคือความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ความคิด’ ‘ภาพ’ และ ‘มือ’ นอกจากนั้นการเรียนสถาปัตย์เต็มไปด้วย ‘กระบวนการ’ จะส่งแบบอาจารย์ได้คุณต้องไปที่ site งาน ไปวิเคราะห์ ไปสำรวจ แล้วถึงจะสร้าง solution ออกมาเป็นงานดีไซน์ ระหว่างนั้นเกิดกระบวนการมากมาย ต้องคุยกับอาจารย์ คุยความคิด คุยไปคุยมา ตีไปตีมา เหมือนตีปิงปอง แล้วสุดท้ายถึงจะสร้างผลงานออกมาเป็นการนำเสนอซึ่งต้องใช้กระบวนการสื่อสาร
หลังจากจบจากเมืองไทยผมมีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ ไปได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นสถาปนิกระดับโลก ชื่อ Daniel Libeskind อาจารย์เป็นคนเก่งมาก ในคลาสเรียนแม้แต่ฝรั่งนี่ถ้าฟังแกรู้เรื่องได้สักครึ่งหนึ่งก็ถือว่าสุดยอดมาก สิ่งที่ผมได้จากอาจารย์ คือ การดีไซน์เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ‘สิ่งที่มองเห็น’ และ ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’ และทำให้มันเกิด ‘ความหมาย’ ขึ้นมา ผมก็ถามว่า แล้วถ้าเราออกแบบสิ่งมองไม่เห็น เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนจะเข้าใจความคิดของเรา เพราะมันมองไม่เห็น อาจารย์ถามกลับมาว่า ‘คุณรักแม่ไหม’ คุณคิดว่าความรักที่คุณมีกับแม่ มันมีอยู่จริงไหม เราบอกมี คุณจับต้องมันได้ไหม ไม่ได้ นั่นแหละคือข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่มันจับต้องไม่ได้ มันมีอยู่ และคนสัมผัสได้ ถ้าคนสัมผัสได้เราก็ออกแบบได้ ตัวอย่างงานของอาจารย์คือ Jewish Museum ที่เบอร์ลิน ทางในอาคารจะเป็นทางเดินแบบซิกแซก และถ้าจะเข้าอาคารนี้ได้จะต้องไปเข้าจาก German Museum ที่อยู่ข้างๆ ต้องเดินผ่านทางที่อยู่ใต้ดิน ไม่มีทางเข้าจากบนพื้นดิน นี่คือการออกแบบ ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’ คือการออกแบบความรู้สึกของคนที่เดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ให้สัมผัสถึงข้อความบางอย่าง
ผมเรียนจบกับอาจารย์ Daniel ที่ UCLA ผมบอกกับอาจารย์ว่ายังไม่อยากกลับเมืองไทย ยังอยากเรียนอีก ผมควรจะเรียนอะไร อาจารย์แนะนำให้ไปเรียนรู้ภาพที่กว้างขึ้นกว่าการออกแบบ architecture ให้ไปสนใจภาพที่ใหญ่กว่านั้นคือ ภาพของเมือง ภาพของผู้คน ผมก็เลยไปเรียนต่อด้านผังเมืองที่ Columbia ในนิวยอร์ก ซึ่งบริบทต่างจากที่ L.A. โดยสิ้นเชิง
สมัยเรียนที่ L.A. งานที่ส่งอาจารย์ต้องเป็นงานที่สร้างด้วยมือ เข้า shop ตัดไม้ ตัดเหล็ก ตัดพลาสติก แต่วันแรกที่เดินเข้า shop ที่นิวยอร์ก ผมถามว่า ทำไมพื้นที่เล็กจัง เขาเลยบอกว่าที่นี่ไม่ค่อยโฟกัสที่การสร้างงานด้วยมือ เป็นการส่งงานแบบ paperless เป็น virtual หมด นี่คือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และเป็นจุดที่ผมต้องเอาทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบตอนเลี้ยงปลากัด หรือทำงานอดิเรก มาใช้ใหม่ คือการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล
ผมก็รู้สึกนะว่าตลอดเส้นทางที่เรียน ที่มีชีวิตมาจนถึงจบปริญญาโทใบที่ 2 เนี่ย อย่างที่หนึ่ง มันได้เรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเราก็สนุกกับสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างที่สอง ที่ทำให้การเรียนรู้สนุก คือ หนังสือ เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านจะมีหนังสือเยอะมาก เรื่องหนังสือนี้มีบทเรียนหนึ่งที่อาจารย์บอกมา แกบอกว่า ถ้าคุณอยากเก่งนะ คุณเรียนสาขาอะไรมาก็ตาม เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ อย่าเดินไป section ที่คุณเรียน ให้เดินไปดูอย่างอื่น เพราะนั่นคือสิ่งที่คุณไม่รู้ คุณจะไปดูสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วทำไม เพราะฉะนั้นเวลาผมเข้าร้าน ผมจะพยายามไม่เดินไปโซน architecture จะเดินไป business เดินไป psychology เดินไปอะไรโซนอื่นๆ แล้วก็ไปดูข้อมูลใหม่ๆ เพื่อนำมาทำงาน
จุดถัดมาเริ่มเข้าใกล้ TK Park แล้วหรือยัง
ประเด็นคือมันมีความสนใจเยอะไปหมดเลย เรารู้สึกว่าเราเรื่องเยอะ (หัวเราะ)
พอกลับมาเมืองไทย ผมมาสอนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สอนอยู่ 1 ปี ก็ได้เป็นหัวหน้าภาคของโปรแกรมสถาปัตย์ที่นั่น บริหารประมาณ 5 ปี ก็ได้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการที่ TCDC ในส่วนของ Business Development
ตอนสอน ผมก็ทำสตูดิโอด้วย เปิดแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ด้วย คือเขาเรียกว่างานงอก (หัวเราะ) เพราะเวลาเราออกแบบงานสถาปัตยกรรมหรือเราทำ exhibition design มันต้องออกแบบโต๊ะเก้าอี้ตามไปด้วย บางครั้งเราก็รู้สึกว่า งานที่เราสั่งทำให้ลูกค้า สวยจังเลย เราก็เลยเปิดแบรนด์ซะเลย ทำไปปีแรกก็ขายได้ แต่ตัวเฟอร์นิเจอร์มีผ้าบุ เและตอนนั้นมีโอกาสทดลองงานเฟอร์นิเจอร์กับผ้าหลายครั้ง มีทั้งงานที่ร่วมกับแม่ฟ้าหลวง และงานที่ออกแบบลายผ้าเอง ปรากฏว่าขายดี
พอแตกจาก 1 เป็น 2 มา อันนี้กำลังจะแตกเป็นอย่างที่ 3 แล้ว คือผ้าที่เอามาทำเฟอร์นิเจอร์มันเหลือ น้องสาวเขามาทางสายแฟชั่น เขาก็ชวนทำกระเป๋า ปีที่ 3 กระเป๋าก็เริ่มแขวนอยู่ในบูธเฟอร์นิเจอร์ ลองจินตนาการดูนะ เราขายของ มีเฟอร์นิเจอร์ มีผ้าบุ แล้วก็มีกระเป๋าผ้าแขวนอยู่ ครึ่งวันแรกกระเป๋าขายเกลี้ยงเลย เก้าอี้ยังอยู่ (หัวเราะ) เรากับน้องมองหน้ากัน เฮ้ย ขายกระเป๋าเหอะ (หัวเราะ) เปลี่ยนเลิก เลิกทำเฟอร์นิเจอร์ มาขายกระเป๋าแทน ก็ได้เปิดแบรนด์กระเป๋า Tote Bag ขึ้นมา จะเห็นว่าคือความสนใจมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่จังหวะชีวิต แต่ในทุกจังหวะมีการเรียนรู้อยู่เต็มไปหมด
จากที่ฟังมา คุณเชื่อมต่อจุดของการเรียนรู้อย่างหลากหลายมาก คุณคิดว่าอะไรที่เป็นตัวเชื่อมร้อยจุดต่างๆ ของคุณให้เป็นคุณอย่างทุกวันนี้
'กระบวนการดีไซน์’ ครับ การเรียนรู้สำหรับผมก็คล้ายๆ กระบวนการดีไซน์ คือมีกระบวนการแต่ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ ตัวกระบวนการนี่แหละที่เข้ามารับประกันว่าปลายทางจะพลาดก็พลาดน้อยหน่อย
ผมมาเข้าใจและเชื่อมต่อจุดของการเรียนรู้ที่หลากหลายของผมด้วยกระบวนการดีไซน์ ยิ่งในระยะหลังประมาณ 7 ปีที่แล้ว มีกระบวนการหนึ่งที่ผมให้คุณค่ามาก คือ Human-Centered Design คือการออกแบบที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างสินค้า หรือบริการโดยโฟกัสที่คน กระบวนการนี้เป็นการเปิดโลกสำหรับผม เพราะการออกแบบต้องเข้าใจมนุษย์ และความเข้าใจมันจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่ไปสัมภาษณ์ ถามตอบว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ เอาหรือไม่เอา ชอบหรือไม่ชอบ มันลึกกว่านั้น ต้องเข้าใจถึงแรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังการตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ด้วย
ช่วยขยายความเรื่อง Human-Centered Design ให้เข้าใจมากขึ้นอีกนิด สำหรับคนที่ไม่รู้จักกระบวนการนี้
คือการขายของหรืองานบริการ สิ่งสำคัญคือเราขายให้กับ ‘คน’ หากเราจะออกแบบผลิตภัณฑ์สักชิ้นให้เขาซื้อ ต้องถามว่าเราเข้าใจคนดีแค่ไหน ต้องเข้าใจมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ต้องมีเวลาคุยกับเขาบ่อยๆ คุยกับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นศาสตร์แรกที่ต้องมาคือ การเข้าใจคน มันเป็นศาสตร์แบบพื้นฐานมากๆ ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็คือ empathy การเข้าใจจิตใจของผู้คนในเชิงลึก
แต่เวลาที่เราศึกษากระบวนการใดกระบวนการหนึ่งก็ไม่ควรไปติดยึด สำหรับผมสักช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ผมเริ่มถอดบทเรียนแล้วพบว่ามันไม่มีกระบวนการไหนเลยที่เป็น perfect solution อย่างคนที่เชื่อมากๆ เรื่องการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ก็จะมีบางคนที่เป็นสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาต่อต้านว่า การออกแบบสินค้าและบริการที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางไม่เพียงพอนะ แล้วผึ้ง แมลง สัตว์ป่าล่ะ ถ้ายึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง อย่างอื่นจะอยู่ได้หรือเปล่า
ดังนั้นกระบวนการที่เป็น total solution เป็นคำตอบสุดท้ายทั้งหมดมันไม่มีจริง ต้องกลับไปที่เรื่องเดิมคือการหา ‘จุดนับหนึ่ง’ หรือ ‘บันไดขั้นแรก’ ให้ได้ก่อน แล้วที่เหลือขั้นที่ 2, 3, 4 จะตามมาเอง แบบนั้นถึงจะเป็น perfect solution คือเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาเองคนเดียว
สมมติว่าคุณต้องสวมหมวก Learning designer ที่ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กไทย คุณคิดว่าควรใช้กระบวนการอย่างไร
ผมคิดว่ามีกระบวนการ 2 ส่วน คือ ‘ภายนอก’ กับ ‘ภายใน’ ภายนอกคือการหาความรู้ ทักษะจากข้างนอกมาเติม ส่วนภายในสำหรับผมคือ ‘เป้าหมาย’ เด็กไทยจำนวนมากเป็นเด็กที่เรียนเก่ง แต่จุดอ่อนก็คือ อาจจะถูกเลี้ยงมาแบบประคับประคองมากไปหน่อย ยิ่งชนชั้นกลาง ยิ่งขาดประสบการณ์การเผชิญสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เราไม่มีคำว่า gap year เหมือนในต่างประเทศที่เปิดโอกาสให้เด็กออกจากอ้อมอกพ่อแม่ไปสู้ชีวิต เจอของจริง แล้วมาตอบโจทย์ตัวเองว่าอยากทำอะไรกันแน่ ส่วนมากเราก็จะถูกผลักดันให้เรียนจบมัธยมแล้วต่อเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีโอกาสได้ตั้งเป้าหมายซึ่งเป็นการใช้กระบวนการภายในตัวเอง
ถ้าเด็กมีโอกาสได้ตั้งเป้าหมายจากภายใน ขั้นตอนถัดมาคือการเติมตัวช่วยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ หรือทักษะต่างๆ เดี๋ยวนี้มีช่องทางมากมาย เราสามารถหาช่องทางที่เรารู้สึกเข้าถึงง่าย สบายใจ บางคนเรียนรู้จากการเห็น บางคนเรียนรู้จากการทำ บางคนเรียนรู้จากการพูดคุย คือรู้สึกสบายใจตรงไหนให้ไปตรงนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จสูตรเดียวสำหรับทุกคน แล้วก็พอมีเป้าหมาย มีช่องทางการเรียนรู้ สุดท้ายเรื่อง ‘กระบวนการ’ ถึงจะเข้ามาจับ ซึ่งก็จะมีหลากหลายตั้งแต่ กระบวนการคิด กระบวนการวิเคราะห์ การทดสอบไอเดีย การลงมือปฏิบัติ
กระบวนการไม่ควรมาเร็วเกินไป เพราะถ้ามันมาตั้งแต่ขั้นแรกๆ มันจะทำให้คนตื่นกลัว รู้สึกยุ่งยาก จะคิดอะไรสักอย่างมันต้องผ่านขั้นตอนมากมาย การเรียนรู้ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่สนใจ คือเป้าหมาย ทำให้รู้สึกว่าง่าย และสนุก แล้วกระบวนการค่อยเข้ามาทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้น และถ้าทำไปสักพักมันจะกลายเป็นเส้นทาง และเส้นทางก็จะสั้นขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนั้นเรียกว่า ‘ความเชี่ยวชาญ’ขั้นตอนเหล่านี้ก็จะเป็นวงจรการเรียนรู้ ถ้ามัน fail มันจะหมุนรอบใหม่มาหากระบวนการนี้ คือ หนึ่ง ตั้งเป้าหมาย สอง หาความช่องทางการเรียนรู้ และสาม สร้างกระบวนการ
หากเอาขั้นตอนการเรียนรู้สามขั้นตอนนี้ ย้อนกลับไปออกแบบตอนสมัยสนใจเรื่องปลา จะทำให้เรียนรู้เรื่องปลาได้เร็วขึ้นไหม
ถ้าจะย้อนกลับไปตอนช่วงนั้นก็ว่าอย่างที่ผมว่า คือถ้าเราเอากระบวนการไปจับมากเกินไปในช่วงต้นมันมักจะไม่ค่อยเวิร์ก ในช่วงต้นต้องทำให้รู้สึกสนุกสนานกับการเรียนรู้ และต้องรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้ มันมี 2 อย่างเอง
การจะทำให้เด็กรู้สึกสองอย่างนี้ได้ พ่อแม่ต้องมีทักษะ ในการ spot สิ่งที่ลูกเขาชอบ แต่ไม่ใช่
สูตรสำเร็จแบบเรียนเปียโน เรียน coding เรียนร้องเพลง (หัวเราะ) อันนั้นเป็นสิ่งที่พ่อแม่เสนอให้ลูก ไม่ใช่การ spot สิ่งที่เขาชอบ คือการเสนอก็ดีแต่ไม่ควรเสนอไปแบบผูกมัดมาก ให้ลอง การลองคือการเปิด safe zone ให้เขา พอเขาได้ลองเขาอาจจะต่อยอดจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 3 การเรียนร้องเพลงอาจจะไม่ได้ทำให้เขาเป็นนักร้อง แต่เปิดโอกาสให้เขาได้ค้นพบว่าเขาชอบแต่งเพลง คือการจะ spot สิ่งที่ลูกชอบได้ พ่อแม่ก็ต้องมีทักษะในการเข้าใจมนุษย์ เข้าใจคน ในที่นี้ก็คือลูก ต้องมีทักษะในการเข้าใจว่าถ้าเขาทำอย่างนี้แสดงว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ เขาอินหรือไม่อิน ถ้าเขาไม่อินก็อย่าไปฝืน เปลี่ยนเส้นทาง ช่วยให้เขาได้นับหนึ่ง เพราะถ้าเขานับหนึ่งได้ จุดที่ 2, 3, 4 จะตามมา เขาจะต่อยอดได้เอง
นำกระบวนการเรียนรู้มาปรับใช้กับ TK Park อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด
เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่ออยู่ในโซนปลอดภัย แต่มันมีอีกคำหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่ คือ urgency เป็นความเร่งด่วน เหมือนกับแผนกฉุกเฉิน คือถ้าไม่ทำมันคุณจะตาย อย่างสถานการณ์โควิดก็เป็น urgency ถ้าไม่ปรับตัว ก็จะไม่รอด จะสนุกอย่างเดียวไม่ได้ละ คำนี้มันจะมาพร้อมกับความกดดัน เพราะว่าถ้าคุณไม่ทำ คุณไม่รอด คุณไม่มีอะไรกิน คุณเจ๊ง
ที่ TK Park ก็มี urgency นะ อย่างพอมีโควิดมา ประชาชนจะมาใช้บริการเราไม่ได้ เราจึงต้องออกแบบบริการเพิ่ม ต้องมี Book Delivery นั่นเป็นสิ่งที่มาจากความพยายามจะคุยกับพนักงานให้ช่วยกันคิดโจทย์ที่ว่า ‘ถ้าเราไม่มีพื้นที่เลย TK ต้องทำงานได้’ นี่เป็นโจทย์ที่เราสร้างขึ้นในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพราะเราเป็น Learning Space เป็นห้องสมุด โควิดที่ทำให้คนออกจากบ้านไม่ได้เป็นความท้าทายที่สุดของเรา เมื่อความท้าทายมันเข้ามาก็ต้องคุยให้ชัดเจน เช่น ตอนนี้คนไม่ค่อยเข้ามาห้องสมุดแล้วนะ ยอดตก ทำยังไงดี
เมื่อพูดคุยเรื่องความท้าทายแล้วก็ต้อง ‘สร้างพื้นที่ปลอดภัย’ ให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น ผมมักจะบอกทุกคนว่า ‘ลองทำดู’ แต่ต้องมีกระบวนการนะ ไม่ใช่ว่าคิดอะไรได้ก็ทำ ถ้ามีกระบวนการ ผมก็จะให้ทำเลย ถ้า fail ก็ไม่เป็นไร ผมเชื่อว่าถ้ามีกระบวนการ fail ก็ fail น้อย และต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา คือไม่ใช่ fail ปุ๊บก็ ประเมินให้เขาตกไปเลย อย่างนี้มันก็ไม่ใช่
สิ่งเหล่านี้มีข้อพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริงๆ โจทย์ความท้าทายในช่วงโควิด เราก็ได้ solution เรื่อง Book Delivery มันทำได้จริงๆ ทุกวันนี้ถ้าไม่มีพื้นที่ที่นี่ มีแค่โกดังอยู่ TK ก็ยังทำงานได้ ยังให้บริการผู้คนผ่านวิธีการอื่น ช่องทางอื่นได้
เป็นการสร้างโจทย์ให้องค์กรสร้างการเรียนรู้จากความท้าทาย
ครับ นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง พอความท้าทายมันเร็วขึ้น โลกเปลี่ยนเร็วขึ้น องค์กรก็จำเป็นต้องขยับได้เร็วขึ้น ต้องปรับวิธีคิด เพราะทรัพยากรมีจำกัด งบประมาณมีจำกัด ถ้างบประมาณมีน้อยลงแล้วเรายังทำแบบเดิม เราจะไม่สามารถสร้างผลลัพธ์แบบเดิมได้ นี่ก็เป็นความท้าทายที่ต้องคิดใหม่ แล้วก็ต้องหาวิธีการใหม่ ที่สร้าง impact ได้มากกว่าเดิม สร้างคุณค่าได้มากกว่าเดิม
ผมเรียนรู้วิธีคิดนี้จากตอนทำนิทรรศการหนึ่งสมัยอยู่ TCDC ไม่รู้ทันกันหรือเปล่า นิทรรศการชื่อ ‘กันดารคือสินทรัพย์’ เป็นงานที่บอกกับผู้คนว่า ในพื้นที่ที่มันมีความจำกัด แร้นแค้นยากจนที่สุดในประเทศไทย มีคุณค่า ในพื้นที่อันจำกัดเหล่านั้น เขาค้นพบเส้นทางที่จะอยู่รอดได้ เป็นนิทรรศการที่สะท้อนตัวเราว่า แล้วเราที่อยู่ในพื้นที่ที่มีมากมาย ข้อจำกัดของเราน้อยกว่าเขาเยอะ เรายิ่งต้องสร้างคุณค่าให้ได้มากกว่าสิ
คือคนอีสานแต่งงานกับชาวต่างชาติเยอะ ไปทำงานในต่างประเทศก็เยอะ แต่ไปอยู่ไกลแค่ไหนเขาก็จะส่งเงินกลับมาที่ประเทศไทย ส่งเงินให้กับญาติๆ นี่เป็นคุณค่าหนึ่งของคนอีสานคือเขามี สายสัมพันธ์ของครอบครัว ลองดูสิว่าที่ในช่วงเทศกาลต่อให้ยุ่งยากขนาดไหนเขาก็จะต้องกลับบ้าน กลับไปหาครอบครัว ทรัพยากรบางอย่างเขาอาจจะน้อยนะ แต่บางอย่างมันมีล้นเหลือ
สิ่งเหล่านี้เราพยายามทำให้คนได้เห็นว่า ลองค้นหาดูดีๆ คุณมีทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อีกเยอะมาก แม้คุณจะติดอยู่ในข้อจำกัดที่คุณมีอยู่ก็ตาม
จุดถัดไปของคุณคืออะไร
มันมีหลายจุดมากเหลือเกิน (หัวเราะ)
สมัยผมเรียน เคยมีคนบอกว่า ถ้าคุณรู้ว่าปลายทางจะเป็นอะไร คุณจะไม่อยากไป มันน่าเบื่อ ผมเลยไม่ชอบปลายทางที่ชัดเจนเกินไป ถึงแม้ว่ามันจะเจ๋งมากเลยแต่มันไม่ท้าทาย สมมติว่าเรารู้ว่าจบไปตรงโน้น เราต้องได้เงินเกษียณไปอย่างนี้ เราไปทำเกษียณอยู่ตรงนั้น ทำบ้านอยู่ตรงโน้น แค่เห็นภาพก็ไม่สนุกแล้ว (หัวเราะ) ผมมีแผนไว้คร่าวๆ แต่ก็เปิดโอกาส ทำให้มันหลวมๆ เอาไว้ เพราะความหลวมมันมีสิ่งที่‘คาดไม่ถึง’ อยู่ ซึ่งนั่นเป็นความสนุกสำหรับผม มันจะทำให้รู้สึกตื่นเต้น อยากรู้ตอนต่อไป
การมีจุดหลายจุดทำให้ชีวิตสนุก
สมัยเราคงจะเคยได้ยินคนบอกว่า ‘การเรียนรู้เป็นรูปตัว T’ คือรู้กว้างแล้วก็ลงลึก มาดูตัวเองนะ รู้สึกว่าเราเป็น T นะ มันมีหลายอย่างมากเลย ทางนี้ก็สถาปัตย์ ทางนี้ก็เรื่องต้นไม้ ทางนี้ก็เรื่องปลา ลงมาหลายทางจัด ตอนนี้ไม่เป็นตัว T แล้ว (หัวเราะ)
แต่ว่าผมเคยจัด symposium อยู่อันหนึ่ง ชื่อ ‘Connect with dots’ คือ การต่อจุด สำหรับผมมันเป็นวิธีคิดที่สำคัญมาก เพราะว่ามันสะท้อนกระบวนการคิด และการหา solution ใหม่ๆ มีความยืดหยุ่น และเปิดใจว่า บางทีของที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย มันก็เชื่อมโยงกันได้ เชื่อมโยงกันแล้วเกิดขึ้นเป็นสิ่งใหม่ได้ เพราะฉะนั้นการเชื่อมจุดเป็นสิ่งที่สำคัญ เหมือนเวลาที่เราทำ Design thinking ที่เรามักจะแปะ post-it เอาไว้เยอะๆ นั่นคือการเชื่อมจุด มันเชื่อมแผ่นนู้นกับแผ่นนี้ เกิดเป็น solution ใหม่ขึ้นมา
ผมเชื่อว่าทักษะการเชื่อมจุด การเห็นหลายๆ ขาที่มันวิ่งลงมาจากหัวของตัว T คือการเกิดความหมายใหม่ แล้วก็ทำให้เราสนุก ถ้าไม่สนุก ไม่มีความหมาย เราก็ขี้เกียจทำ มันต้องสนุก เหมือนกลับไปเป็นเด็กๆ กันใหม่อีกรอบหนึ่ง
ทักษะอะไรที่เป็นทักษะสำคัญที่เราควรมีเพื่อที่เราจะไปเผชิญโลกแห่งความผันผวน
สำหรับผมคือ ‘การคิดบวก’ ผมไม่เคยแบบลำบากแบบสุดๆ แต่ก็ไม่เคยโชคดีแบบสุดๆ เหมือนกัน ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันทำให้กลายเป็นคนคิดบวกหรือเปล่า แต่ผมจะคิดว่ามันมีทางไปเสมอ ไปทางนี้ไม่ได้ มันจะมีทางอื่นไปได้เสมอ เวลาเรามองอะไรที่เป็นอุปสรรคหรืออะไรที่มันเป็น ความท้าทาย ก็จะไม่กลัว เพราเชื่อว่าเดี๋ยวมันจะมีทางไป ดังนั้น อย่ามัวบ่นกับโชคชะตา มาหาทางไปกันดีกว่า
ก็เลยรู้สึกว่า Mindset ของการคิดบวก มันค่อนข้างสำคัญในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้ เพราะมันช่วยให้เห็นว่าทุกอย่างมันไปต่อได้ ไม่ว่าจะมีความท้าทายมากขนาดไหน มีอุปสรรคมากขนาดไหน มันจะมีทางไป เดี๋ยวมันจะผ่านไป แต่ไม่ใช่นั่งรอรับกรรมนะ (หัวเราะ) คือเรานั่งอยู่เฉยๆ อุปสรรคมันก็มา เดินออกไปก็เจอ เพราะงั้นเดินดีกว่า อย่างน้อยเดินก็สนุกกว่านั่งอยู่เฉยๆ เดินออกไปเจอความท้าทาย เจอปัญหา เจอเส้นทางใหม่ๆ นั่งเฉยๆ อาจจะไม่มีทางเลือกหรือไม่มีทางไป
เขาบอก start up กว่าจะประสบความสำเร็จ ล้มไปเป็นร้อยครั้ง คนที่รอด คือคนที่ยังลุกขึ้นมาได้อยู่ คือคนที่ยังสู้ต่อไป หาทางทำต่อไป ผมรู้จัก start up อยู่คนหนึ่ง เขาทำด้านสุขภาพ ทำฟิตเนสให้คนออกกำลังกาย แต่ทำแล้วไม่ค่อยเวิร์ก ล้มลุกคลุกคลานอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายมาช่วง โควิด เขาก็ลุกขึ้นมาเฮือกสุดท้าย ก็ไปสั่งนำเข้าอุปกรณ์ออกกำลังกายที่บ้านเข้ามาขาย โอ้โห ขายดีมากเลย อยู่ดีๆ เขาก็ไปต่อได้ คือคนที่ล้มแล้วลุกขึ้นมาได้อยู่เรื่อยๆ ผมว่าเป็นคนที่น่ากลัว (หัวเราะ) คือมีความพยายามสูง และต้องมาพร้อมกับความคิดบวกนะว่า ‘ฉันยังไม่ตาย ฉันก็ยังจะไปเดินต่อได้ ปัญหาแค่นี้มันจิ๊บจ๊อย เดินต่อดีกว่า’ คนที่มีความอึดกับความคิดบวกนี้น่ากลัว ผมไม่กลัวคนเก่ง กลัวคนอึด (หัวเราะ) คนตายยาก ซอมบี้นี่น่ากลัวสุดละ (หัวเราะ)
บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Learning Designer โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Deep Academy |