“เราไม่ได้มีเกรดให้ ถ้าคุณไม่ทำก็ไม่มีสิ่งที่ต้องการเห็น… เท่านั้นเอง” เวิร์กช็อปประชาธิปไตยของ Human ร้าย, Human Wrong
18 เมษายน 2565
70
“Human ร้าย, Human Wrong Workshop เป็นกิจกรรมฝึกปฏิบัติการและกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะ เพื่อฝึกฝนทักษะศิลปะและการคิดเชิงวิพากษ์แก่ผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการคัดเลือก ภายใต้การฝึกปฏิบัติการเหล่านี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีการสื่อสารสาธารณะผ่านงานศิลปะร่วมสมัย การใช้เครื่องมือ และพื้นที่ศิลปะในการตีความและถ่ายทอดข้อความที่จะสื่อสาร รวมไปถึงการทำความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชนและการถกเถียงอย่างมีเหตุผลด้วยวิธีคิดเชิงวิพากษ์”
นี่คือคำอธิบายโครงการ Human ร้าย, Human Wrong ในหน้าเว็บไซต์ของ Book Re:public ร้านหนังสือ ชุมชน และพื้นที่รวมตัวของเหล่านักคิดในเชียงใหม่ ‘อ้อย’ รจเรข วัฒนพาณิชย์ คือนักเคลื่อนไหว, NGO, นักเดินทาง เจ้าของรางวัลสตรีผู้กล้าหาญ International Women of Courage จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประจำปี 2559 และผู้ก่อตั้งร้านหนังสือดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553
ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาศึกษาหนังสือและร่วมวงเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นอยู่บ่อย บรรยากาศของสังคมจะคุกรุ่น เรียบนิ่ง หรือรอการลุกไหม้ จุดยืนและการทำงานของ Book Re:public ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
รจเรขยังคงเปิดร้านหนังสือ เลือกขายหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง วรรณกรรม การศึกษา มานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็เป็นที่พักพิงของมิตรสหายสายวิพากษ์ และกิจกรรมเพื่อเยาวชนที่หลากหลายควบคู่ไปด้วย เช่น คิด Space (Critical Thinking workshop) และ Human ร้าย, Human Wrong ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560
รจเรขออกแบบโครงการ Human ร้าย, Human Wrong ที่มีระยะเวลาโครงการนาน 3-4 เดือน ผู้เข้าร่วมราว 20 คน ร่วมกันกับทีมงานเพื่อนำเสนอรูปแบบการเรียนรู้แบบคู่ขนานไปกับความรู้กระแสหลัก
สถานการณ์ความตื่นรู้ทางการเมืองของเยาวชนในตอนนี้มาไกลจนถึงการตั้งคำถามกับการศึกษาในห้องเรียน กฎระเบียบ หลักสูตรในสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมที่ควรถูกรื้อถอนในโรงเรียน ไปไกลจนเราเห็นคอนเซ็ปท์การศึกษาหลากหลายที่เยาวชนต้องการ
ความรู้แปรสภาพเป็นเรื่องราวนอกตำรา แปรเป็นชีวิต แปรเป็นสังคมที่พวกเราอยู่ ความโกรธแปรเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เรารู้ว่าศักยภาพของการอยากมีชีวิตที่ดีขยายได้มากขนาดไหน แปรเป็นความรัก และการสู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้ข้อจำกัดของเสรีภาพ
จุดกำเนิดของโครงการ Human ร้าย, Human Wrong
Human ร้าย, Human Wrong พัฒนามาจากโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย เป็นกระบวนการที่เราต้องการให้คนรู้เท่าทันปัญหาทางการเมือง คืออย่างน้อยที่สุดเราก็รู้ว่าที่ผ่านมา 10 ปี ปัญหาการเมืองไทยมันเหมือนจะซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนจนเกินกว่าจะทำความเข้าใจ เพียงแต่ว่ามันอนุญาตให้คุณพูดได้อย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้มันไม่เคยถูกสอน ไม่เคยอยู่ในแบบเรียน
ความรู้กระแสหลักคือ ความรู้ที่ชนชั้นนำหรือรัฐที่ให้เรารู้เท่าที่เขาอยากให้เรารู้ เขาก็ขีดกรอบไว้ว่าเขาอยากให้เรารู้แค่ไหน แต่การเรียนรู้มันไม่สิ้นสุด อย่างน้อยที่สุดมันต้องมีความรู้คู่ขนานนอกห้องเรียนให้คุณได้เลือก ดังนั้นมันก็ต้องมีความรู้คู่ขนานที่ผ่านการทำงานวิจัย หรือทำงานอะไรมาหมดแล้ว ไม่ใช่เป็นความรู้ที่มาพูดกันเอาเองหรือเป็น gossip
เพราะฉะนั้น Human ร้าย, Human Wrong ออกแบบมาเพื่อให้คนได้เรียนรู้ประเด็นปัญหาทางสังคมที่มันเกิดขึ้น และเพิ่มทักษะของตัวเองในการที่จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงในจุดที่ตัวเองยืนอยู่
วิธีการออกแบบ Human ร้าย, Human Wrong โครงการที่โจทย์กว้างมาก ประเมินขอบเขตอย่างไร
เอาจริงๆ แล้วเราทำกันแบบโคตรธรรมชาติ แต่มีธงแน่ๆ ว่าปีนี้เราต้องการธีมเรื่องอะไร เช่น เรื่องความเป็นมนุษย์ (ปีที่ 3) ซึ่งมันใหญ่และนามธรรมมาก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องชวนนักมานุษยวิทยาสิ ก็นึกถึงอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จักรกริช สังขมณี ที่ไปลงพื้นที่ ไปคลุกคลี ไปเหลาประเด็นให้มันครบขึ้น อย่างน้อยให้ผู้เข้าร่วมชัดเจนในความคิดของตัวเอง ส่วนปลายทาง งานศิลปะจะเป็นยังไงนั่นก็อีกเรื่องหนึ่งนะ
หรือที่เราเชิญคุณหนุ่ม โตมร ศุขปรีชา มาบรรยายเรื่องงานเขียน น่าสนใจว่าสิ่งที่คุณโตมรมาบรรยายเอาไปใช้ได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่มาสอนให้น้องเขียนหนังสือเป็น ในที่สุดแล้ววิธีคิด การใช้ผัสสะ การให้ความรู้สึก สิ่งเหล่านี้มันทำให้น้องมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นในประเด็นที่ตัวเองสนใจ บางเรื่องมันแตะผิวเผินไม่ได้ ถ้าคุณแค่หาข้อมูลมาใส่แปะๆ แล้วเอาไปทำงาน เรารู้สึกว่าอันนั้นมันง่ายไปนิดหนึ่ง แต่เราคิดว่าคุณน่าจะทำหรือคิดอะไรได้ลึกและกว้างขึ้นกว่านั้น
ในตอนนั้น (ยุคคสช.) เราสนใจนักเรียนศิลปะ เพราะนักเรียนศิลปะเมืองไทยน่าจะมีพื้นที่ที่ได้ออกแบบงานที่เป็น conceptual art ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาทางสังคมและการเมืองบ้าง แต่ละปีหลักสูตรจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว มันเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราประเมินกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนว่ามันคืออะไร แล้วก็เรียนรู้เรื่องความเป็นมาของประเด็นปัญหาต่างๆ ได้เรียนรู้ประเด็นปัญหาชุมชน และการฝึกทักษะทางด้านศิลปะ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กศิลปะมาสมัครทั้งหมด บางปีเด็กศิลปะก็น้อยกว่าเด็กสาขาอื่นด้วยซ้ำ
ทำไมระยะเวลาต้องยาวถึง 3 - 4 เดือน
เราให้ความสนใจกับตัวกระบวนการมาก เพราะฉะนั้นมันถึงได้ยาวแบบนี้ จากที่เราทำโครงการมา 4 ปีภายใต้รัฐบาลชุดนี้ รูปแบบการทำงานที่ให้ผู้เข้าร่วมทำงานแบบ individual อาจทำให้เขามุ่งแต่พัฒนางานของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี ทุกคนทำประเด็นน่าสนใจ แต่เราอยากให้เขาลองทำงานเป็นทีมกันบ้างเพราะเด็กรุ่นนี้โตมาอยู่คนเดียว หาความรู้ด้วยตัวเอง เป็น Digital native ที่เก่งเองเรียนรู้เองได้ แต่การทำงานเป็นทีมเป็นทักษะฝึกการเรียนรู้ ฝึกให้เข้าใจคน ถ้าจะรู้จักกันอย่างลึกซึ้งให้ทำงานด้วยกันได้ คุณต้องปรับจูนเข้าหากัน
ปีที่ 5 นี้เราจึงเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ ถ้าเราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม การทำงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น การทำแคมเปญก่อนที่จะ action ในประเด็นปัญหาต่างๆ เราควรจะคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง งานรณรงค์คือการโน้มน้าวให้คนเห็นด้วยกับเราและร่วมปฏิบัติการเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ารณรงค์ไป ทำไปแล้วคนน้อยลงๆ แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงได้ยังไง เราลงมือทำในเรื่องใหญ่ๆ คนเดียวไม่ได้ ถ้าไม่มีใครเห็นความสำคัญและเอาด้วยกับเรา
เจอปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ปีนี้มันไม่จบในชิ้นงาน ปีที่ผ่านๆ มา เราแสดงงานเสร็จก็แยกย้ายกันกลับ แต่งานรณรงค์ที่แต่ละทีมอยากทำมันโคตรใหญ่เลย (หัวเราะ) มันเป็นปัญหาที่เราเองก็ shape ไม่ลงเหมือนกัน อย่างเช่น ทีมหนึ่งบอกว่าอยากให้เชียงใหม่มีขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โห ใหญ่มาก เราจึงตั้งคำถามกับน้องว่ามันไม่เคยมีใครทำเรื่องนี้จริงๆ เหรอ มันมีคนพูดเรื่องนี้มาเป็น 10 ปี 20 ปีแล้วนะ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงเพราะอะไร ปัญหามันอยู่ตรงไหน ก็ไปจบตรงที่ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วคนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่เคยลุกขึ้นมาส่งเสียงว่ารัฐต้องจัดสรรขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพให้เราได้แล้วนะ
แล้วเราก็คิดต่อว่าทำยังไงให้เกิดมีการลงชื่อของคนเชียงใหม่ แต่ว่าปัญหามันก็ใหญ่โตมาก น้องยังเรียนหนังสืออยู่ แต่ก็อึดอัด เขาก็อยากทำให้เกิด มันเลยทำให้เรารู้ว่าเยาวชนประเทศนี้เป็นเยาวชนที่มีความคิด อยู่ที่ว่าผู้นำจะคัดสรรเด็กแบบไหนให้อยู่ต่อในประเทศนี้และสร้างสรรค์งานกันได้
อีกทีมหนึ่งสนใจเรื่องการมีพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นพื้นที่ที่เป็นอิสระจริงๆ เป็นพื้นที่สาธารณะที่รัฐต้องจัดหาให้ ไม่ใช่มีให้แต่ค่าใช้จ่ายสูงมากหรือมีเงื่อนไขเยอะแยะไปหมด ทำยังไงให้มีพื้นที่ที่รองรับเด็กจบใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ฟรี พวกเขาก็เลยคิด Freeative space ขึ้นมา คือฟรีทั้งการให้เสรีภาพทางความคิดในการที่จะสร้างสรรค์งาน แล้วก็ฟรีทั้งค่าใช้จ่าย รัฐต้องส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่เต็มที่ในการทำงานสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
เหมือนกับว่าถ้างานแคมเปญนี้เกิดขึ้นได้จริง คนเชียงใหม่ก็ได้ประโยชน์ไม่ใช่โครงการเล็กๆ แล้ว (หัวเราะ)
เขาไม่ได้คิดแค่เรื่องของเขา นึกออกไหม โอเค เรื่องที่เขาคิดเป็นเรื่องที่เขาได้ประโยชน์ด้วย แต่เขาไม่ได้ประโยชน์คนเดียว มันเป็นความพยายามที่จะให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนอีกทีมหนึ่งเป็นทีมนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่อยากให้มีพื้นที่เปิดให้นักศึกษาได้ใช้ 24 ชั่วโมง เพราะทีมนี้เห็นว่าพฤติกรรมของนักศึกษาคือการใช้ชีวิตตอนค่ำไปถึงค่ำคืน และมันปลอดภัยมากกว่าที่จะให้พวกเขาขี่มอเตอร์ไซค์กลางคืนออกไปใช้พื้นที่ข้างนอก ถนนหนทางก็มีไฟแต่ไม่สว่าง มันมืดหลายจุด เด็กขี่มอเตอร์ไซค์มาก็เกิดอุบัติเหตุบ้าง เปลี่ยวบ้าง และเด็กที่อยู่หอพักควรได้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีพื้นที่ที่รองรับการทำงานของเด็กได้เต็มที่ แล้วก็มีการสร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเราก็เห็นว่าหากมีพื้นที่แบบนี้ในมหาวิทยาลัยน่าจะดีกว่าปล่อยให้นักศึกษาออกไปใช้ชีวิตกันเองที่อาจจะไม่ปลอดภัยพอ
เมื่อขอบเขตของปัญหาใหญ่ขึ้นมาก เราช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้าง
นอกจากเวิร์กช็อปการทำงานแคมเปญและเป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลาแล้ว ทีมงานก็ต้องลงพื้นที่กับสมาชิกทีมต่างๆ เพื่อดูว่า เวลาไปคุยกับผู้คนที่อยู่แถวนั้นควรจะเข้าไปอย่างไร คุยยังไง ไม่ได้ปล่อยให้เขาทำเองไปเลย เราอัปเดตกับน้องตลอดเวลา หรือบางครั้งเราก็แนะนำ อันนี้คิดจะทำใช่ไหม ทำ ลงไปด้วยกัน ไปดูเลย ซึ่งมันเป็นการเรียนรู้ที่ดีมากเลยนะ เหมือนประเด็นมันใหญ่ก็จริง แต่อย่างที่เราบอกตอนต้นว่าเราไม่ต้องการผลปลายทางที่มันประสบความสำเร็จ แต่ช่วงระหว่างทางต้องได้เรียนรู้อะไรร่วมกันบ้าง ถึงต้องบอกว่าในงานที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคุณต้องไปคุยกับคนเยอะๆ หาแนวร่วมให้มาก
ถามในแง่กระบวนการลึกอีกนิด เราต้องเข็นเด็กแค่ไหน
โคตรเหนื่อยเลยนะ (หัวเราะ) โดยเฉพาะในวัยที่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ในที่สุดแล้วเราก็เชื่อว่าความรับผิดชอบต้องมา เราเข้าใจนะว่าเราไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ทำงานแล้วมีเกรดให้ คุณทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ไม่ได้เกี่ยวว่าคุณจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้มันไม่มีอะไรที่ให้พวกเขาได้ในแง่รูปธรรมจับต้องได้ เพียงแต่เราต้องกระตุ้นแรงขับภายในของพวกเขาให้มากพออย่าการ์ดตก เพราะทำเรื่องใหญ่มันท้อได้ตลอดเวลา และอีกอย่างถ้าคุณไม่ทำก็ไม่มีสิ่งที่ต้องการเห็นเท่านั้นเอง เมื่อจบโครงการคุณก็ได้วิธีคิดได้กระบวนการไป แต่ถ้าคุณทำงาน คุณก็ได้แสดงผลงาน ได้นำเสนอความคิดของคุณผ่านงานของคุณ แล้วมันก็จะเป็นตัวตนของคุณและทีม เขาต้องคิดเองเพราะเขาโตแล้ว ต้องคิดแล้วว่าตัวเองต้องประมาณไหนถึงจะไปสู่สิ่งที่ตัวเองได้วางเอาไว้
ในบางปีบางคนก็จะมีปัญหาส่วนตัว เช่น เราจะไปเคี่ยวเข็ญคนที่บอกว่าตัวเอง depressed ได้ยังไง เขาทำไม่ได้อยากหยุดกลางคันก็ไม่เป็นไร หรือบางคนคิดงานไม่ออก คิดแล้วเครียด หนูหรือผมขอแค่นี้ได้ไหม ได้ เราไม่เคยบังคับใคร แต่ในที่สุดแล้วส่วนใหญ่คนที่เข้ามาเขาก็อยากไปให้สุดนั่นแหละต่อให้ท้อกลางทาง มันก็มีคนลุกขึ้นสู้ต่อแล้วก็ทำต่อ ซึ่งสมาชิกหลายคนก็จะบอกว่ากระบวนการตรงนี้เหมือนเป็นกระบวนการที่มาฝึกตัวเองเหมือนกัน
เห็นอะไรบ้างจากการเปลี่ยนทิศทางการออกแบบโครงการและผู้เข้าร่วมคิดโปรเจกต์อะไรกันบ้าง
เราไม่ได้คาดหวังผลที่มันต้องเกิดขึ้น 100% เราหวังเพียงว่ากระบวนการและเครื่องมือที่ให้ไปจะฝังอยู่ในตัวสมาชิกแต่ละคนเองว่าเวลาที่เราคิดจะทำงานอะไรสักอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คุณต้องวางแผนดีๆ เมื่อกำหนดว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร คุณก็ต้องเข้าใจเขาก่อนไหม คุณอยากดึงเขามาร่วมกับคุณ คุณต้องไปคุยกับเขาด้วยภาษาของเขาไหมเพื่อที่มันจะได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยกันได้ บางทีเราใช้ภาษาของตัวเองที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ มันก็จะอยู่ในกลุ่มของตัวเองตรงนั้น แต่เราไม่ได้เป็นโครงการที่มีเงินสนับสนุนให้ทำได้ยาวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตได้ขนาดนั้น ยกเว้นแต่ว่า ถ้าทีมไหนอยากทำต่อก็เขียน proposal ไปหาเงินหาทุนทำต่อ ถ้าอยากทำงานจริงจังคุณก็ต้องทำให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น กระบวนการการทำงานรณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงมันทำให้เขามีเครื่องมือเพื่อเอาไปคิดต่อได้ ไม่ใช่เฉพาะว่าจะต้องทำแคมเปญเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมระดับใหญ่นะ ในที่สุดแล้วเวลาที่จะต้องวางแผนทำงานหรือปฏิบัติการอะไรสักอย่างใน community ของตัวเอง เขาก็สามารถใช้เครื่องมือที่ฝึกกันไปในการทำงานได้ มันเป็นการทำงานแบบเป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว
ในขณะเดียวกันมันเหมือนได้สะท้อนตัวเองด้วยไหม เพราะแต่ละปีผู้เข้าร่วมหลากหลาย ทั้งอายุและโปรเจกต์ที่ทำ
ทุกปีเลย เปลี่ยนไปทุกปี จะเห็นว่าเรากับทีมงานไม่เคยมีหลักสูตรที่นิ่ง เราประเมินกันทุกปี พอประเมินแล้วมันก็จะมีการปรับเปลี่ยนในปีต่อไป หรือบางอย่างเอาของปีที่หนึ่งกลับมาใหม่ซิ เพราะน่าสนใจและน่าจะเหมาะกับกลุ่มนี้ อะไรประมาณนั้น
ความสนใจของทีมงานมันก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างเมื่อก่อนตัวเราไม่ได้เป็นคนที่มีพื้นฐานมาจากการเรียนศิลปะ แต่เราสนใจว่าเราจะเอางานศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการพูดคุยเรื่องประเด็นปัญหาสังคมและการเมืองได้ยังไง 4 ปีที่ผ่านมาทำให้เรารู้สึกว่าตัวเราเองพัฒนาในเรื่องของการมองศิลปะในเชิงที่เป็นศิลปะเพื่อทำงานกับสังคมในประเด็นปัญหาทางการเมือง อันไหนที่มันเวิร์ก ไม่เวิร์ก อันนี้เราเรียนรู้พอดูเป็นแล้ว ในปีสองปีแรกก็งง เอาผู้เชี่ยวชาญมาแล้วกัน แล้วก็นั่งฟัง (หัวเราะ) แต่นั่งฟังแล้วก็เรียนรู้ไปด้วย เราพูดอยู่เสมอว่าการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาเราเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เรามีบทบาทในการจัดการเท่านั้นเอง
มีเหตุการณ์ประทับใจอะไรบ้าง
มีเหตุการณ์หนึ่งที่เราประทับใจมาก คือสมาชิกคนหนึ่งในโครงการปีที่ 4 เขาเป็นเด็กเนิร์ดแล้วสนใจประเด็นปัญหาสังคม แต่ว่ามีความกลัวอยู่ในตัวเองเยอะมาก กลัวว่าจะเป็นที่จับตามอง กลัวเพื่อนไม่คบ แล้วเขาถือว่านี่น่าจะเป็นโครงการที่ทำให้เขาได้เสนอหรือ express ความคิดของเขาออกมาผ่านชิ้นงาน แล้วกลายเป็นว่าเขาต้องก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง
ปีที่แล้วเป็นปีที่มีรัฐประหารในเมียนมาพอดี (เหตุการณ์ที่ประชาชนเมียนมาออกมาประท้วงด้วยการตีหม้อตีกะทะเพื่อไล่รัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564) จากคนคนหนึ่งที่ไม่เคยแอกชันอะไร จู่ๆ ก็ไปยืนตีกะละมังอยู่ที่ลานแถวอ่างแก้ว หลังจากนั้นก็เข้าร่วมกิจกรรมอีกเรื่อยๆ และรวบรวมเอาฟุตเทจจากการทำกิจกรรมเหล่านี้ออกมาเป็นชิ้นงานซึ่งเป็นชิ้นงานที่น่าสนใจมากด้วย
เรารู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเขาเองก็ไม่คาดคิด ตัวทีมงานเองก็ไม่คาดคิด คือเขาใช้กระบวนการของเราทำงานกับตัวเอง เพื่อก้าวข้ามผ่านความกลัวแล้วเขาโล่งใจมากขึ้น แล้วเขาก็บอกว่ามันเป็นประกาศนียบัตรที่ให้กับตัวเอง เขารู้สึกแฮปปี้ เหมือนได้รับใบปริญญาด้วยตัวเขาเองเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่เคยทำให้เขาได้
ถ้ามีคนมองว่า นี่คือการจัดเวิร์กช็อปล้างสมองเด็กล่ะ
ล้างสมองเด็กเหรอ คำนี้เกินไปมาก เหมือนไม่เชื่อในศักยภาพของผู้คน เราคิดว่าทัศนคติของคนมันเปลี่ยนได้ตามชุดข้อมูลหรือการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ หากความรู้ใหม่นั้นหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากพอ การเปลี่ยนทัศนคติหรือการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใจได้ ไม่เกี่ยวกับล้างสมองแต่อย่างใด
บางคนก็เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นภาพลบเนอะ (หัวเราะน้อยๆ) การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าคือการพัฒนาหรือเปล่าวะ อย่าเพิ่งไปตีกรอบ มีอคติกับมัน เพื่อนเราหลายคนทำการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน อย่างที่สมาชิกในโครงการบอกว่าขนส่งในเชียงใหม่มีก็เหมือนไม่มี มันก็ทำให้เขารู้สึกว่าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราว่าหลายคนก็เห็นด้วยนะ ลองรับฟังก่อนว่าสิ่งที่ออกมาจากการทำงานแต่ละครั้งคืออะไร ไม่ใช่ว่าทุกครั้งจะไปตีหัวรัฐ แต่รัฐเองก็ต้องรับฟังประชาชนคนเดินดิน เดินถนนว่าพบเจอปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งตัวเองที่นั่งอยู่ข้างบน ไม่เคยได้ลงมาเดินถนนกับชาวบ้าน คุณก็ต้องรับฟังคนที่เดินถนนสิ เราไม่อยากให้มองคำว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นภาพลบ
มองว่าการศึกษาที่แท้จริงคืออะไร
การเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้คนต่อผู้คน กลุ่มคนต่อกลุ่มคนน่ะ เพราะถ้ามันเรียนรู้กันได้จริงๆ มันจะนำพาสังคมหรือประเทศไปสู่ทางออกที่ดีกว่านี้เยอะ ดังนั้นถ้าการศึกษาถูกนิยามหรือจำกัดอยู่แค่ในรั้วสถาบันการศึกษา หรือมีคนมานั่งเลกเชอร์สอนๆๆ แล้วจบไป มันไม่เรียกว่าการศึกษา เพราะไม่ได้เกิดการเรียนรู้ มันไม่ใช่แค่ใบปริญญา แต่คือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดของผู้คนที่มีต่อสิ่งรอบข้างและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงมากกว่า
บางทีเราไม่ค่อยใช้คำว่าการศึกษาในการทำงานของเราเท่าไหร่นะ ในเวิร์กช็อปแต่ละครั้ง เราดูเรื่องเนื้อหาว่ามีทั้ง K A S (Knowledge Attitude Skill: ความรู้ ทัศนคติ ทักษะ) หรือไม่ อย่างเราทุกวันนี้ก็ต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ การคิดเชิงวิพากษ์ก็เป็นทักษะที่ต้องฝึกเลย หลายคนคิดว่าการศึกษาคือการศึกษาหาความรู้ แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องทักษะด้วย ดังนั้นสังคมควรให้ความสำคัญกับเด็กที่เรียนอาชีวะด้วย เพราะการศึกษาที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องมีทักษะที่จะทำมาหากิน อยู่รอดได้ในประเทศแบบนี้ด้วย เหนือสิ่งอื่นใดคุณต้องมีทัศนคติที่ดีพอที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์คนอื่นอย่างเคารพกันและกันได้
ในเมืองไทยไม่ค่อยสอนทักษะการเคารพเพื่อนมนุษย์น่ะ ให้แต่ความรู้ในแบบที่เขาอยากให้รู้ด้วยอีกต่างหาก
การศึกษาต้องให้ทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีกับผู้คน
การออกแบบเวิร์กช็อปในยุคสมัยของรัฐบาลนี้เป็นอย่างไรบ้าง
(หัวเราะ) เราทำเพราะว่ามันเหมือนถูกกดทับ รู้สึกว่าโดนจำกัดเสรีภาพ คำว่าประชาธิปไตย ใครพูดคำนี้เหมือนเป็นผู้ร้ายในสายตาของรัฐ แค่บอกว่าสิทธิมนุษยชนก็ร้ายแรงมาก เรามีความรู้สึกว่าทำไมวะ คำว่าสิทธิมนุษยชนหรือการเรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐานมันไม่ดียังไง มันเป็นสิ่งที่เป็นสากล คุณอย่าบอกว่าเป็นสินค้าของอเมริกา มันไม่ได้กำเนิดมาจากอเมริกาด้วยซ้ำ คุณต้องดูว่าโดยตัวเนื้อหาของมันคืออะไรไม่ใช่ไปแอนตี้ซะก่อน ในเมื่อเราก็เป็นมนุษย์ ถ้าเราเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ เราจะตระหนักว่า นี่เป็นหลักการสำคัญที่รับรองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่นั่นแหละ ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายดายด้วยการร้องขอจากรัฐ การออกแบบหลักสูตรแต่ละครั้ง มันจึงจำเป็นต้องอยู่บนวิธีคิดและหลักการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เราเข้าใจว่ามนุษย์เรามีสิทธิและเสรีภาพ และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นเป็นความจำเป็น ยิ่งหากเป็นรัฐที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนแบบนี้ยิ่งต้องส่งเสียงออกไปให้ดังพอ เหนื่อยเนาะ (ฮ่าๆ)
บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Learning Designer โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Deep Academy |